ยุทธหัตถี หรือ การชนช้าง (อังกฤษ: Elephant duel) คือการทำสงครามบนหลังช้างตามประเพณีโบราณของกษัตริย์ในภูมิภาคอุษาคเนย์ เป็นการทำสงครามซึ่งถือว่ามีเกียรติยศ เพราะช้างถือเป็นสัตว์ใหญ่ และเป็นการปะทะกันซึ่ง ๆ หน้า ผู้แพ้อาจถึงแก่ชีวิตได้

ภาพยุทธหัตถีที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ
ภาพวาดในจินตนาการการใช้ช้างศึกออกสงครามของพระเจ้าเปารยะ สู้กับ กองทัพของอเล็กซานเดอร์มหาราช

ประวัติและลักษณะจำเพาะ แก้

การกระทำยุทธหัตถีเป็นประเพณีสงครามที่รับมาจากอินเดีย โดยช้างที่ใช้ เรียกว่า "ช้างศึก" โดยมากจะนิยมเลือกใช้ช้างพลายที่กำลังตกมัน ดุร้าย ก่อนออกทำสงครามจะกรอกเหล้าเพื่อให้ช้างเมา เกิดความฮึกเหิมเต็มที่ โดยจะแต่งช้างให้พร้อมในการรบ เช่น ใส่เกราะที่งวงหรืองาเพื่อรื้อทำลายค่ายคูของฝ่ายตรงข้าม เรียกว่า "ช้างกระทืบโรง" หรือล่ามโซ่หรือหนามแหลมที่เท้าทั้งสี่ ใช้ผ้าสีแดงผืนใหญ่ปิดตาช้างให้เห็นแต่เฉพาะด้านหน้าเพื่อไม่ให้ช้างตกใจและเสียสมาธิ เรียกว่า "ผ้าหน้าราหู"

ตำแหน่งของผู้ที่นั่งบนหลังช้างจะมีด้วยกัน 3 คน คือ ตำแหน่งบนคอช้าง จะเป็นผู้ทำการต่อสู้ โดยอาวุธที่ใช้สู้ส่วนมากจะเป็นง้าว ตำแหน่งกลางช้าง จะเป็นตำแหน่งที่จะให้สัญญาณและส่งอาวุธที่อยู่บนสับคับให้แก่คอช้าง โดยอาวุธได้แก่ ง้าว, หอก, โตมร, หอกซัด และเครื่องป้องกันต่าง ๆ เช่น โล่ เป็นต้น และตำแหน่งควาญช้างซึ่งจะเป็นผู้บังคับช้างจะนั่งอยู่หลังสุด และหากเป็นช้างทรงของพระมหากษัตริย์ จะมีทหารฝีมือดี 4 คนประจำตำแหน่งเท้าช้างทั้ง 4 ข้างด้วย เรียกว่า "จาตุรงคบาท" ซึ่งไม่ว่าช้างทรงจะไปทางไหน จาตุรงคบาทต้องตามไปคุ้มกันด้วย หากตามไม่ทันจะมีโทษถึงชีวิต

โดยมากแล้ว ผลแพ้ ชนะของการทำยุทธหัตถีจะขึ้นอยู่กับขนาดของช้าง ช้างที่ตัวใหญ่กว่าจะสามารถข่มขวัญช้างที่ตัวเล็กกว่า เมื่อช้างที่ตัวเล็กกว่าหนีหรือหันท้ายให้ หรือช้างตัวใดที่สามารถงัดช้างอีกตัวให้ลอยขึ้นได้ จะเปิดจุดอ่อนให้โจมตีได้ตรง ๆ การฟันด้วยของ้าวเพียงครั้งเดียวก็อาจทำให้ถึงชีวิตได้ โดยร่างอาจขาดหรือเกือบขาดเป็นสองท่อนได้ เรียกว่า "ขาดสะพายแล่ง" [1]

ช้างศึก แก้

ช้างที่จะถูกจัดให้เป็นช้างศึกนั้น ต้องเป็นช้างพลาย (ช้างเพศผู้) มีลักษณะตรงตามตำราคชลักษณ์ คือ รูปร่างใหญ่โตกำยำ หัวกะโหลกหนาและใหญ่ แก้มเต็มสมบูรณ์ หน้าเชิดหลังต่ำ งายาวใหญ่มีความโค้งและแหลมคมได้ที่ โดยที่ช้างเชือกที่ฝึกซ้อมมาเป็นอย่างดีและสามารถสู้เอาชนะช้างเชือกอื่นได้ จะถูกเรียกว่า "ช้างชนะงา"

นักวิชาการที่ทำการศึกษาเรื่องช้างในประเทศไทยเชื่อว่า ภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2310 ช้างต้นที่เป็นทั้ง ช้างศึกและช้างเผือก ในพระราชวังน่าจะอพยพหนีมาอยู่ยังเขาอ่างฤๅไน ซึ่งในสมัยโบราณช้างที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นช้างต้น จะอยู่ที่ ดงพญาเย็น หรือ ดงพญาไฟ ในปัจจุบัน

ในปัจจุบันนี้ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน จังหวัดฉะเชิงเทรา นักวิชาการเชื่อว่า ช้างป่าที่อาศัยอยู่ ณ ที่นี้น่าจะสืบเชื้อสายมาจากช้างศึกหรือช้างเผือกในสมัยโบราณ เพราะเนื่องจากเมื่อปี พ.ศ. 2549 เจ้าหน้าที่ของอุทยาน สามารถบันทึกภาพช้างป่าตัวผู้ ตัวหนึ่งที่มีลักษณะตรงตามลักษณะของช้างศึก และให้ชื่อช้างตัวนี้ว่า "รถถัง" และยังพบช้างป่าอีกตัวหนึ่งที่มีลักษณะตรงตามลักษณะช้างศึกอีกเช่นกัน อีกทั้งยังเป็นสถานที่พบช้างเผือกในรัชกาลที่ 9 อีกด้วย[2]

ยุทธหัตถีในประวัติศาสตร์ แก้

ประวัติศาสตร์ไทย แก้

การกระทำยุทธหัตถีในประวัติศาสตร์ไทย ปรากฏทั้งหมด 4 ครั้ง คือ

  1. การชนช้างระหว่างพ่อขุนรามคำแหงมหาราชกับขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด พ่อขุนรามคำแหงชนะ
  2. การชนช้างที่สะพานป่าถ่าน ระหว่างเจ้าอ้ายพระยากับเจ้ายี่พระยา เพื่อชิงราชสมบัติ ปรากฏว่าสิ้นพระชนม์ทั้งคู่
  3. ยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระมหาจักรพรรดิและสมเด็จพระสุริโยทัยกับพระเจ้าแปร ในปี พ.ศ. 2091 ที่ทุ่งมะขามหย่อง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สมเด็จพระสุริโยทัยถูกพระเจ้าแปรฟันพระอังสาจนสิ้นพระชนม์บนคอช้าง
  4. ยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชามังสามเกียด และยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระเอกาทศรถกับมางจาชโร เจ้าเมืองจาปะโร ในปี พ.ศ. 2135ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ชัยชนะ พระมหาอุปราชาถูกฟันพระอังสะขวาด้วยพระแสงของ้าว บนคอช้าง ส่วนสมเด็จพระเอกาทศรถก็ได้รับชัยชนะ เจ้าเมืองจาปะโรถูกฟันด้วยพระแสงของ้าวถูกคอขาดบนคอช้าง[1]

ประวัติศาสตร์สากล แก้

ในต่างประเทศ มีกษัตริย์นักรบหลายพระองค์ที่ใช้ช้างในสงครามและกระทำยุทธหัตถี เช่น พระเจ้าเปารยะ แห่งอินเดีย ที่ใช้กองทัพช้างสู้กับกองทัพของอเล็กซานเดอร์มหาราช ในพม่า พระเจ้าบุเรงนองและพระเจ้านันทบุเรงต่างก็เคยกระทำยุทธหัตถีและได้รับชัยชนะมาแล้วอย่างงดงามทั้ง 2 พระองค์ ในสิงหล พระเจ้าทุฏฐคามณิอภัย ก็กระทำยุทธหัตถีชนะ พระเจ้าเอเฬละ ของทมิฬ เป็นต้น

ยุทธหัตถีในวัฒนธรรมสมัยนิยม แก้

 
"ช้างศึก" สัญลักษณ์ของฟุตบอลทีมชาติไทยในอดีต

ยุทธหัตถีในวัฒนธรรมสมัยนิยมหรือวัฒนธรรมร่วมสมัย ปรากฏครั้งแรกในภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก ที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2484 ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่ใช้ทุนสร้างสูงมากโดยมีจุดมุ่งหมายในแนวชาตินิยมเพื่อปลุกใจคนไทยให้รักชาติ เนื่องจากเป็นสถานการณ์ตรงกับสงครามโลกครั้งที่สอง อำนวยการสร้างโดย นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในขณะนั้น[3]

ต่อมา จึงปรากฏอีกครั้งในยุคปัจจุบัน เมื่อปี พ.ศ. 2544 ในภาพยนตร์เรื่อง สุริโยไท จากการกำกับของ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ที่สร้างจากวีรกรรมของสมเด็จพระสุริโยทัย ในสงครามพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ ซึ่งฉากยุทธหัตถีที่เป็นซีเควนสุดท้ายนั้น ถ่ายทำที่สวนพฤกษศาสตร์และสวนรุกขชาติ ตำบลพุแค อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี[4][5]

ปรากฏครั้งที่ 3 ในภาพยนตร์แอนิเมชัน เรื่อง ก้านกล้วย ในปี พ.ศ. 2549 โดยบริษัทกันตนา ซึ่งเป็นเรื่องราวที่แต่งขึ้นของเจ้าพระยาปราบหงสาวดี ช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในสงครามยุทธหัตถี กับ พระมหาอุปราชามังสามเกียด เมื่อปี พ.ศ. 2135 ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จอย่างมากในการเข้าฉายทั้งคำวิจารณ์และรายได้ จนกระทั่งมีการสร้างเพิ่มเป็นซีรีส์ทางช่อง 7 และภาค 2 ในปี พ.ศ. 2552

และครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2557 ในภาพยนตร์เรื่อง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งมีทั้งหมด 6 ภาค ภาคที่มีการรบในลักษณะนี้คือภาค 5 ชื่อเดียวกับชื่อการรบในลักษณะนี้ และสร้างเรื่องมาแบบเดียวกันกับภาพยนตร์ก้านกล้วย ต่างกันเพียงแค่การสร้างภาพยนตร์ซึ่งเรื่องนี้ใช้นักแสดงมาแสดง ไม่ใช่ทำเป็นแอนิเมชันแบบภาพยนตร์ก้านกล้วย[6]

สำหรับในภาพยนตร์ต่างประเทศ อย่าง ภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด เรื่อง อเล็กซานเดอร์ มหาราชชาตินักรบ ในปี พ.ศ. 2546 ก็มีฉากของยุทธหัตถี ถึงการทำสงครามระหว่างกองทัพม้ามาซีโดเนียของอเล็กซานเดอร์มหาราช กับกองทัพช้างของพระเจ้าเปารยะ ซึ่งจบด้วยการนองเลือดและการสูญเสียเป็นอย่างมากของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งสถานที่ถ่ายทำก็คือ สวนพฤกษศาสตร์และสวนรุกขชาติ สถานที่เดียวกับใช้เป็นที่ถ่ายทำฉากยุทธหัตถีในสุริโยไทนั่นเอง[5]

สำหรับการใช้เป็นสัญลักษณ์ ช้างศึกถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของฟุตบอลทีมชาติไทย และมีฉายาว่า "ช้างศึก" อีกด้วย[7]

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 "005 กำเนิดอยุธยา และวาระสุดท้าย สุริโยไท โดย ธีระภัทร และสุเนตร ชุตินธรานนท์". ชมรมพุทธคุณ.
  2. รุ่งรัตน์ธวัชชัย, ปิยาณี (June 2014). ""ช้างมรดก" ที่ผืนป่าตะวันออก". นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-16. สืบค้นเมื่อ 2016-09-18.
  3. "พระเจ้าช้างเผือก ถ่ายช้างได้ดีที่สุดในโลก". thaifilm. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-02-06. สืบค้นเมื่อ 2010-03-25.
  4. "เมืองไทยในหนังต่างประเทศ (2)". trueinside. 9 December 2015. สืบค้นเมื่อ 11 May 2016.
  5. 5.0 5.1 "อเล็กซานเดอร์ มหาราชชาตินักรบ". พันทิปดอตคอม. สืบค้นเมื่อ 11 May 2016.
  6. "ยุทธหัตถี.....สงครามยิ่งใหญ่ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและชนชาติไทย". gotoknow. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-06-08. สืบค้นเมื่อ 2010-03-25.
  7. โกล อาเซียน (2013-12-09). "ศึกข้ามสายพันธุ์: รู้จักฉายาทุกทีมในซีเกมส์ 2013". โกลดอตคอม. สืบค้นเมื่อ 2016-09-18.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้