ยาซูโอะ ฟูกูดะ

(เปลี่ยนทางจาก ยะซุโอะ ฟุกุดะ)

ยาซูโอะ ฟูกูดะ (ญี่ปุ่น: 福田康夫โรมาจิFukuda Yasuo; เกิด 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2479) เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 91 ของประเทศญี่ปุ่น[1] และเป็นอดีตประธานพรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democratic Party หรือ LDP) ซึ่งครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่น[2]

ยาซูโอะ ฟูกูดะ
福田康夫
นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น
ดำรงตำแหน่ง
26 กันยายน พ.ศ. 2550 – 24 กันยายน พ.ศ. 2551
กษัตริย์จักรพรรดิอากิฮิโตะ
ก่อนหน้าชินโซ อาเบะ
ถัดไปทาโร อาโซ
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด16 กรกฎาคม พ.ศ. 2479 (87 ปี)
เมืองทากาซากิ จังหวัดกุมมะ
ประเทศญี่ปุ่น ญี่ปุ่น
พรรคการเมืองพรรคเสรีประชาธิปไตย
คู่สมรสคิโยโกะ ฟูกูดะ

นายฟูกูดะและคณะรัฐมนตรีของเขาเข้าดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2550 ภายหลังจากนายฟูกูดะได้รับการโปรดเกล้าแต่งตั้งจากสมเด็จพระจักรพรรดิในวันเดียวกันนั้น[1]ซึ่งตามมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น สมเด็จพระจักรพรรดิจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามการเสนอชื่อของรัฐสภา[3]

นายฟูกูดะเป็นผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเป็นเวลายาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองญี่ปุ่น โดยได้อยู่ในตำแหน่งดังกล่าวเป็นเวลาทั้งสิ้น 1,289 วันทั้งในรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีโยชิโร โมริ และนายกรัฐมนตรีจุนอิจิโร โคอิซูมิ[4]

นายฟูกูดะเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศญี่ปุ่นคนแรกที่บิดาเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเช่นกัน[5] นอกจากนั้น ในวัย 71 ปี นายฟูกูดะเป็นบุคคลที่มีอายุมากที่สุดที่เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นับตั้งแต่นายคิอิจิ มิยาซาวะเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 78 ในขณะที่เขามีอายุได้ 72 ปีเมื่อปีพ.ศ. 2534[6]

ประวัติก่อนเข้าสู่แวดวงการเมือง แก้

นายฟูกูดะเกิดที่เมืองทากาซากิ จังหวัดกุมมะ เขาเป็นบุตรชายคนโตของนายทาเกโอะ ฟูกูดะ นายกรัฐมนตรีคนที่ 67 ของประเทศญี่ปุ่น เขาศึกษาในระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนอาซาบุ และสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีจากคณะรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยวาเซดะในปีพ.ศ. 2502 หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว นายฟูกูดะได้เข้าทำงานที่บริษัทมารุเซ็งปิโตรเลียม เขาได้เติบโตในหน้าที่การงานจนได้เป็นหัวหน้าฝ่ายและทำงานที่บริษัทแห่งนี้จนถึงปีพ.ศ. 2518

ประวัติในแวดวงการเมือง แก้

นายฟูกูดะได้ทำงานเป็นหัวหน้าเลขานุการของบิดา ในช่วงที่บิดาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปีพ.ศ. 2519 ถึงปีพ.ศ. 2521 และเป็นเลขานุการส่วนตัวในช่วงที่บิดาดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเวลาต่อมา ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2522 ถึงปีพ.ศ. 2532

นายฟูกูดะได้ลงสมัครชิงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในนามพรรคเสรีประชาธิปไตยในเขตเลือกตั้งจังหวัดกุมมะ เขตที่สี่ ในปีพ.ศ. 2533 และได้รับชัยชนะ โดยเขาได้เป็นสภาชิกสภาผู้แทนราษฎรของเขตนั้นมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เขาได้รับเลือกให้เป็นรองผู้อำนวยการสำนักกิจการระหว่างประเทศของพรรคเสรีประชาธิปไตยในปีแรกของการดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายฟูกูดะยังได้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมาธิการต่างๆ เช่น ด้านการต่างประเทศ การเงิน และงบประมาณ ฯลฯ ทั้งในพรรคเสรีประชาธิปไตยเอง และในสภาผู้แทนราษฎร นอกจากนั้น เขายังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศในช่วงปลายปีพ.ศ. 2538 และตำแหน่งรองเลขาธิการพรรคเสรีประชาธิปไตยในช่วงปีพ.ศ. 2540 จนถึงปีพ.ศ. 2541

นายฟูกูดะดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีชุดที่สองของนายกรัฐมนตรีโยชิโร โมริตั้งแต่เดือนตุลาคม ปีพ.ศ. 2543 จนกระทั่งนายโมริพ้นจากตำแหน่งในเดือนเมษายน ปีพ.ศ. 2544 เมื่อนายจุนอิจิโร โคอิซูมิได้รับเลือกให้เป็นประธานพรรคเสรีประชาธิปไตยและนายกรัฐมนตรีในเดือนเมษายนนั้น นายฟูกูดะก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรีต่อไป เขาลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 ภายหลังจากยอมรับว่าเคยไม่ได้จ่ายเงินในส่วนของตนเข้าระบบเงินบำนาญสาธารณะ อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าเหตุผลที่ทำให้เขาลาออกอย่างฉับพลันคือความขัดแย้งที่เขามีกับนายกรัฐมนตรีโคอิซูมิ นอกจากตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้ว นายฟูกูดะยังได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาโอกินาวาตั้งแต่เดือนตุลาคม ถึงเดือนธันวาคม ปีพ.ศ. 2543 และตำแหน่งรัฐมนตรีกำกับดูแลความเสมอภาคทางเพศ ตั้งแต่เดือนมกราคม ปีพ.ศ. 2544 ถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2547

ในช่วงต้นถึงกลางปีพ.ศ. 2549 ชาวญี่ปุ่นต่างพากันจับตานายฟูกูดะในฐานะหนึ่งในผู้ที่สามารถจะก้าวขึ้นมาเป็นประธานพรรคเสรีประชาธิปไตยและนายกรัฐมนตรีต่อจากนายโคอิซูมิ แต่เขาได้ประกาศเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 ว่าจะไม่ขอรับการเสนอชื่อให้เข้าชิงตำแหน่งดังกล่าว ในเวลาต่อมา นายชินโซ อาเบะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีในขณะนั้นได้รับเลือกให้เป็นประธานพรรคเสรีประชาธิปไตย และได้รับเลือกจากรัฐสภาให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 90 ต่อจากนายโคอิซูมิ ในวันที่ 20 กันยายน และ 26 กันยายน พ.ศ. 2549 ตามลำดับ

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา จุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจนประการหนึ่งของนายฟูกูดะคือการที่นายกรัฐมนตรีของประเทศญี่ปุ่นจะต้องไม่ไปสักการะดวงวิญญาณของผู้เสียชีวิตในสงครามที่ศาลเจ้ายาซูกูนิซึ่งเป็นศาลเจ้าในศาสนาชินโตในเดือนมิถุนายน ปีพ.ศ. 2549 เขาได้ร่วมกับสมาชิกรัฐสภาอีก 134 คน ในการยื่นข้อเสนอให้จัดตั้งอนุสรณ์สถานซึ่งไม่มีความเกี่ยวพันกับศาสนาเพื่อระลึกถึงผู้เสียชีวิตในสงคราม โดยให้เหตุผลว่าเพื่อที่จะได้ไม่เกิดความเสี่ยงต่อการละเมิดรัฐธรรมนูญที่ได้แบ่งแยกศาสนจักรและอาณาจักรออกจากกันอย่างชัดเจน

โดยในวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2550 นายฟูกูดะได้เปิดเผยว่าเขาตัดสินใจไม่ลงชิงตำแหน่งประธานพรรคเสรีประชาธิปไตย ในปีพ.ศ. 2549 เพราะเขาไม่อยากให้ประเด็นการเยือนศาลเจ้ายาซูกูนิมาเป็นจุดสำคัญในการเลือกตั้งประธานพรรคฯ และครอบครัวของเขากับครอบครัวของนายอาเบะเองก็มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมากว่าสามชั่วคนแล้ว[7]

บนหนทางสู่ตำแหน่งประธานพรรคเสรีประชาธิปไตยและนายกรัฐมนตรี แก้

ภายหลังจากนายชินโซ อาเบะได้ประกาศเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2550 ว่าจะลาออกจากตำแหน่งประธานพรรคเสรีประชาธิปไตยและตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายฟูกูดะได้ประกาศเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2550 ว่าจะลงชิงชัยในตำแหน่งประธานพรรคเสรีประชาธิปไตย ถ้าหากเขาได้เป็นประธานพรรคฯ นายฟูกูดะก็จะได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคเสรีประชาธิปไตยและพรรคโคเมซึ่งเป็นพรรคพันธมิตรร่วมรัฐบาลกุมเสียงข้างมากอยู่ให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป

นายฟูกูดะได้รับเสียงสนับสนุนอย่างเป็นทางการจากกลุ่มของสมาชิกรัฐสภาที่สังกัดพรรคเสรีประชาธิปไตยเป็นจำนวนถึงแปดในเก้ากลุ่ม โดยเฉพาะจากกลุ่มที่เขาสังกัดอยู่ ซึ่งนำโดยนายโนบูตากะ มาชิมูระรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนปัจจุบัน (กลุ่มนี้มีชื่อเป็นทางการว่าเซวะ เซซากุ เค็งกิวไก เป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร มีแนวทางอนุรักษนิยมและนิยมแนวคิดของเศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิก นายทาเกโอะ ฟูกูดะก่อตั้งกลุ่มนี้ในปีพ.ศ. 2505 ผู้นำกลุ่มคนก่อนรวมถึงนายโมริและนายชินตาโร อาเบะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ บิดาของนายชินโซ อาเบะ) นายฟูกูดะได้กล่าวกับที่ประชุมกลุ่มที่เขาสังกัดอยู่เมื่อวันที่14 กันยายน พ.ศ. 2550 ว่า “หากมันเป็นสถานการณ์ปรกติแล้ว ข้าพเจ้าคงจะไม่ลงสมัคร แต่[เวลานี้]ข้าพเจ้าจำต้องทำ เพราะว่าเวลานี้ไม่ใช่สถานการณ์ปรกติ เรากำลังเผชิญอยู่กับสถานการณ์ฉุกเฉิน” โดยที่ก่อนหน้านั้น เขาได้ใช้เวลาไปกับการหารือกับหัวหน้ากลุ่มต่างๆในพรรคฯ เพื่อหาเสียงสนับสนุนและกำหนดประเด็นเชิงนโยบายที่จะขับเคลื่อนร่วมกันในอนาคต ซึ่งรวมถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆของญี่ปุ่น การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคเอเชีย

นายฟูกูชิโร นูกางะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังซึ่งก่อนหน้านี้ได้แสดงท่าที่ว่าสนใจจะลงชิงตำแหน่งประธานพรรคเสรีประชาธิปไตย ได้ประกาศเมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2550 หลังจากหารือกับนายฟูกูดะว่าตนจะไม่ลงชิงตำแหน่งดังกล่าว และประกาศจะสนับสนุนนายฟูกูดะแทน โดยคู่แข่งคนสำคัญคนเดียวของนายฟูกูดะคือนายอาโซ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศที่ขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคเสรีประชาธิปไตยได้ไม่นานก่อนนายอาเบะจะประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานพรรคฯและนายกรัฐมนตรี

เมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2550 นายอาโซซึ่งได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคฯเพื่อประกาศลงชิงตำแหน่งประธานพรรคฯอย่างเป็นทางการ นายอาโซได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการจากกลุ่มในพรรคเสรีประชาธิปไตยเพียงกลุ่มเดียว ได้แก่ กลุ่มที่เขาเป็นหัวหน้าอยู่ซึ่งมีจำนวนสมาชิกเพียง 16 คนเท่านั้น ฉะนั้น ยุทธศาสตร์ของนายอาโซคือการที่เขาจะต้องชี้ถึงจุดอ่อนเรื่องความไม่โปร่งใสในการเลือกประธานพรรคฯที่เน้นแค่สิ่งที่เขาเรียกว่า “การตกลงกันลับๆ” ของกลุ่มต่างๆภายในพรรค และการที่เขาเน้นความสำคัญของคะแนนเสียงจากสาขาของพรรคในจังหวัดต่างๆ นายอาโซกล่าวว่าการเลือกตั้งฯที่มีรากฐานอยู่บนการงุบงิบตกลงกันระหว่างกลุ่มต่างๆของสมาชิกรัฐสภาจะเป็นการถอยหลังเข้าคลองโดยไม่คำนึงถึงความก้าวหน้าที่เกิดจากการปฏิรูปที่เกิดขึ้นภายใต้ยุคที่นายโคอิซูมิเป็นประธานพรรคฯ

สำนักงานพรรคเสรีประชาธิปไตยได้เปิดรับใบสมัครลงชิงตำแหน่งประธานพรรคฯในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2550 และการลงคะแนนเสียงได้มีขึ้นในวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2550 โดยสมาชิกรัฐสภาสังกัดพรรคเสรีประชาธิปไตยทุกคนจะมีคะแนนเสียงคนละหนึ่งคะแนน ในขณะที่สาขาพรรคในแต่ละจังหวัดจะมีคะแนนเสียงสาขาละ 3 คะแนน

ในวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2550 นายฟูกูดะชนะนายอาโซในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานพรรคเสรีประชาธิปไตยที่มีขึ้น ณ สำนักงานใหญ่ของพรรคฯในกรุงโตเกียว โดยนายฟูกูดะได้คะแนนเสียงทั้งสิ้น 330 คะแนน (254 คะแนนจากสมาชิกพรรคเสรีประชาธิปไตยที่เป็นสมาชิกรัฐสภา และ 76 คะแนนจากสาขาพรรค) ในขณะที่นายอาโซได้ 197 คะแนน (132 คะแนนจากสมาชิกพรรคเสรีประชาธิปไตยที่เป็นสมาชิกรัฐสภา และ 65 คะแนนจากสาขาพรรค)

คะแนนเสียงรวมทั้งสิ้นคือ 528 คะแนน (นับรวมบัตรเสียหนึ่งใบ) โดยสามารถแบ่งได้เป็นคะแนนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดพรรคฯ 304 คะแนน คะแนนจากสมาชิกวุฒิสภาในสังกัดพรรคฯ 83 คะแนน และอีก 141 คะแนนจากสาขาพรรคฯในจังหวัดทั้ง 47 จังหวัด

นายฟูกูดะซึ่งเป็นผู้นำของพรรคที่กุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้รับเลือกจากรัฐสภาให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 91 ของประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2550[8] โดยมีบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเพื่อชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกับนายฟูกูดะอีก 4 คน ได้แก่นายอิจิโร โอซาวะ ประธานพรรคประชาธิปไตยแห่งญี่ปุ่นซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร นายคาซูโอะ ชิอิซึ่งเป็นประธานพรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่น นายมิซูโฮะ ฟูกูชิมะประธานพรรคประชาธิปไตยสังคมนิยม และนายทามิซูเกะ วาตานูกิประธานพรรคโคกูมินชินโต

ในสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีการออกเสียงทั้งหมด 477 เสียง (นับรวมเสียงที่เป็นโมฆะด้วย 1 เสียง) นายฟูกูดะชนะการลงคะแนนโดยนับจากเสียงข้างมากจึงได้รับการเสนอชื่อจากสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นนายกรัฐมนตรี โดยเขาได้คะแนนเสียง 338 คะแนนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคเสรีประชาธิปไตยและพรรคโคเมซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ในขณะทีนายโอซาวะได้ 117 คะแนน นายชิอิได้ 9 คะแนน นายฟูกูชิมะได้ 7 คะแนน และนายวาตานูกิได้ 5 คะแนน

ในขณะที่ในวุฒิสภาซึ่งมีการออกเสียงทั้งหมด 240 เสียง (นับรวมเสียงที่เป็นโมฆะด้วย 1 เสียง) นายฟูกูดะไม่ได้ชนะการลงคะแนนจึงไม่ได้รับการเสนอชื่อจากวุฒิสภาให้เป็นนายกรัฐมนตรี โดยนายโอซาวะซึ่งเป็นหัวหน้าของพรรคที่ครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาได้รับชัยชนะในการลงคะแนนโดยนับจากเสียงข้างมากจึงได้รับการเสนอชื่อจากวุฒิสภาให้เป็นนายกรัฐมนตรี ในการลงคะแนนเสียงรอบแรก ไม่มีผู้ใดได้เสียงข้างมาก โดยนายโอซะวะได้คะแนนเสียง 117 คะแนน ในขณะที่นายฟูกูดะได้ 106 คะแนน นายชิอิได้ 7 คะแนน นายฟูกูชิมะได้ 5 คะแนน และนายวาตานูกิได้ 4 คะแนน จึงต้องลงคะแนนใหม่อีกครั้ง การลงคะแนนเสียงรอบสองนี้คัดเอาเฉพาะผู้มีคะแนนสูงสุดสองคนในรอบแรก ได้แก่ นายโอซาวะและนายฟูกูดะ โดยสมาชิกวุฒิสภาที่ได้ลงคะแนนสนับสนุนนายชิอิ นายฟูกูชิมะ และนายวาตานูกิในรอบแรกต่างก็ได้เทคะแนนสนับสนุนนายโอซาวะทำให้นายโอซาวะได้เสียงข้างมากไป โดยนายโอซาวะได้ 133 คะแนน ในขณะที่นายฟูกูดะได้ 106 คะแนนเท่าเดิม

เนื่องจากบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกจากมติของทั้งสองสภานั้นไม่ใช่บุคคลเดียวกัน ทั้งสองสภาจึงต้องจัดให้มีคณะกรรมาธิการร่วมระหว่างทั้งสองสภาเพื่อหามติร่วมว่าจะเลือกนายฟูกูดะหรือนายโอซะวะเป็นนายกรัฐมนตรี แต่คณะกรรมาธิการร่วมดังกล่าวก็ไม่สามารถหาข้อยุติได้ ฉะนั้น กระบวนการคัดเลือกนายกรัฐมนตรีจึงต้องอาศัยอำนาจตามมาตราที่ 67 ของรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นที่ให้ถือมติของสภาผู้แทนราษฎรเป็นมติของรัฐสภาในกรณีที่บุคคลที่ได้รับการคัดเลือกจากมติของทั้งสองสภานั้นไม่ใช่บุคคลเดียวกัน และกรรมาธิการร่วมฯก็ไม่สามารถหาข้อยุติได้ ด้วยเหตุนี้ นายฟูกูดะซึ่งเป็นบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกจากมติของสภาผู้แทนราษฎรจึงได้รับการคัดเลือกจากรัฐสภาให้เป็นนายกรัฐมนตรี[8][9]

นายฟูกูดะและคณะรัฐมนตรีได้เข้าเฝ้าฯสมเด็จพระจักรพรรดิในวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2550 โดยสมเด็จพระจักรพรรดิได้โปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้นายฟูกูดะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการในวันเดียวกันนั้น[10]

การลาออกจากตำแหน่งนายกรํฐมนตรี แก้

ในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2551 นายฟูกูดะได้แถลงว่าจะลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและตำแหน่งประธานพรรคเสรีประชาธิปไตยอย่างกะทันหันเมื่อเวลา 21.30 น.ตามเวลาท้องถิ่น โดยให้เหตุผลหลักว่าโครงสร้างอำนาจการเมืองในรัฐสภาในปัจจุบันทำให้เขาและคณะรัฐมนตรีไม่สามารถทำให้เขาดำเนินนโยบายบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ เขาได้ย้ำว่าเหตุผลในการลาออกของเขานั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับเหตุผลในการลาออกของนายอาเบะผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อนหน้าเขา อนึ่ง การลาออกของเขามีขึ้นก่อนสมัยประชุมรัฐสภาที่จะพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญต่างๆจะเริ่มขึ้นในวันที่ 12 กันยายน

นายฟูกูดะพร้อมคณะรัฐมนตรีของเขาได้ลาออกจากตำแหน่งพร้อมกันในวันที่ 24 กันยายน เพื่อเปิดทางให้รัฐสภาได้ลงคะแนนเสียงเลือกนายกรํฐมนตรีคนใหม่ในวันเดียวกันนั้นเอง

บทบาทในเวทีระหว่างประเทศ แก้

นายฟูกูดะมีนโยบายพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งต่างจากนายอาโซที่มีท่าทีที่แข็งกร้าวมากกว่าต่อประเทศเพื่อนบ้าน โดยนายอาโซเคยกล่าวว่าจีนกำลังจะเป็น “ภัยคุกคามอย่างใหญ่หลวง” ต่อญี่ปุ่น

เขายังได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศว่าเป็นผู้นำในการให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาประชากรและการพัฒนาในหมู่นักการเมืองและผู้กำหนดนโยบาย

ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปีพ.ศ. 2548 เป็นต้นมา นายฟูกูดะได้ดำรงตำแหน่งประธานองค์การสมาชิกรัฐสภาแห่งเอเชียด้านประชากรและการพัฒนา (Asian Forum of Parliamentarians on Population and Development หรือ AFPPD)[11] ซึ่งมีสำนักงานเลขาธิการอยู่ที่กรุงเทพมหานคร นายฟูกูดะได้ทำหน้าที่ในการเดินทางไปยังประเทศต่างๆในภูมิภาคเพื่อเป็นประธานในการประชุมสมาชิกรัฐสภาในประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับประชากรและการพัฒนา

ความเกี่ยวพันกับประเทศไทย แก้

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดการประชุมสมาชิกรัฐสภาระหว่างประเทศว่าด้วยการดำเนินการตามโครงการปฏิบัติการของ การประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยประชากรและการพัฒนา (IPCI/ICPD) ครั้งที่ 3 ที่ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 และได้พระราชทานพระราชวโรกาสให้นายฟูกูดะในฐานะประธานองค์การสมาชิกรัฐสภาแห่งเอเชียด้านประชากรและการพัฒนาและประธานดำเนินการในการประชุมเฝ้าฯด้วย[12]

รายละเอียดครอบครัว แก้

นายฟูกูดะได้สมรสกับนางสาวคิโยโกะ ยาซูดะ โดยมีบุตรชายสองคนและบุตรสาวหนึ่งคน

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 "Japan's new leadership sworn in". BBC News. เรียกข้อมูลวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2550
  2. "Fukuda Elected LDP Chief, Will Become Prime Minister". Bloomberg.com. เรียกข้อมูลวันที่ 26 กย. 2550.
  3. "The Constitution of Japan" เก็บถาวร 2007-03-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. วุฒิสภาญี่ปุ่น. เรียกข้อมูลวันที่ 26 กย. 2550.
  4. "Fukuda triumphs in LDP race / New leader eyes 'revival' of party after winning 63% of vote"[ลิงก์เสีย]. Daily Yomiuri Online. เรียกข้อมูลวันที่ 26 กย. 2550.
  5. "Fukuda elected prime minister in Diet faceoff" เก็บถาวร 2012-07-18 ที่ archive.today. The Japan Times Online. เรียกข้อมูลวันที่ 26 กย. 2550.
  6. "FACTBOX-Fukuda wins parliamentary backing as prime minister". Reuters UK. เรียกข้อมูลวันที่ 26 กย. 2550.
  7. "Yasukuni issue kept me out of '06 presidential race: Fukuda". The Japan Times Online. เรียกข้อมูลวันที่ 29 กย. 2550.
  8. 8.0 8.1 "LDP leader Fukuda elected prime minister". Mainichi Daily News. 2007-09-25. สืบค้นเมื่อ 2007-09-26.[ลิงก์เสีย]
  9. "Fukuda installed as Japanese PM", BBC News, September 25, 2007.
  10. "Japan's new leadership sworn in", BBC News, September 26, 2007.
  11. "56th AFPPD Executive Commitee Meeting: New Office Bearers" เก็บถาวร 2007-08-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. AFPPD Newsletter. เรียกข้อมูลวันที่ 26 กย. 2550.
  12. "สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดการประชุม IPCI/ICPD" เก็บถาวร 2007-06-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. ภาพ-ข่าว-วุฒิสภา. เรียกข้อมูลวันที่ 26 กย. 2550.