ม้าน้ำ
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: 23–0Ma
ไมโอซีนตอนปลาย - ปัจจุบัน
ม้าน้ำมีชีวิต
ภาพวาดม้าน้ำหนามขอตัวผู้ (ซ้าย) อุ้มท้อง
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Syngnathiformes
วงศ์: Syngnathidae
วงศ์ย่อย: Hippocampinae
สกุล: Hippocampus
Rafinesque, 1810
ชนิด
อย่างน้อย 54 ชนิด
ชื่อพ้อง
  • Farlapiscis Whitley, 1931
  • Hippohystrix Whitley, 1940
  • Jamsus Ginsburg, 1937
  • Macleayina Fowler, 1907

ม้าน้ำ เป็นปลากระดูกแข็งที่อาศัยอยู่ในทะเลจำพวกหนึ่ง จัดอยู่ในวงศ์ย่อย Hippocampinae (ซึ่งมีอยู่ 2 สกุล คือหนึ่งสกุลนั้นคือ ปลาจิ้มฟันจระเข้สัน ที่อยู่ในสกุล Histiogamphelus มีรูปร่างคล้ายปลาจิ้มฟันจระเข้ผสมกับม้าน้ำ) ในวงศ์ Syngnathidae อันเป็นวงศ์เดียวกับปลาจิ้มฟันจระเข้และมังกรทะเล ในอันดับ Syngnathiformes

ศัพทมูลวิทยาและความเชื่อ แก้

สำหรับม้าน้ำนั้นจะมีอยู่เพียงสกุลเดียว คือ Hippocampus (กรีก: ιππος, hippos = ม้า, καμπος, kampos = สัตว์ประหลาดทะเล)[1]

ในเทพปกรณัมกรีกและโรมัน ม้าน้ำเป็นพาหนะของโพไซดอนหรือเนปจูน เทพเจ้าแห่งท้องทะเล ม้าน้ำเป็นสัญลักษณ์ของความแข็งแรง ในความเชื่อของชาวยุโรป ม้าน้ำเป็นทูตที่นำพาดวงวิญญาณของกะลาสีไปสู่ปรโลก นำดวงวิญญาณไปยังจุดที่พักจนกว่าดวงวิญญาณจะไปสู่สุคติ [2]

ในระยะแรกของการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ ด้วยรูปลักษณ์ที่แปลกทำให้นักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถจัดได้ว่าม้าน้ำเป็นสัตว์จำพวกใด จึงจัดให้เป็นสัตว์ที่แยกออกมาต่างหาก ก่อนที่จะมีการพบว่าแท้จริงแล้วม้าน้ำเป็นปลาและจัดให้เป็นปลากระดูกแข็ง และในระยะแรกยังไม่มีผู้ใดทราบว่า แท้ที่จริงแล้วม้าน้ำตัวที่คลอดลูก คือ ม้าน้ำตัวผู้ มิใช่ตัวเมีย [3]

ลักษณะและพฤติกรรม แก้

ม้าน้ำ เป็นปลาที่มีรูปร่างลักษณะแตกต่างไปจากปลาชนิดอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ มีกระดูกหรือก้างมาห่อหุ้มเป็นเกราะอยู่ภายนอกตัวแทนเกล็ด ส่วนหางของแทนที่จะเป็นครีบสำหรับว่ายน้ำไปมาอย่างปลาชนิดอื่น กลับมีหางยาวเหมือนสัตว์เลื้อยคลาน มีไว้เพียงเพื่อเกี่ยวยึดตัวเองกับพืชน้ำหรือปะการังในน้ำ มีครีบอกและมีครีบบางใสตรงเอวอีกครีบหนึ่งช่วยโบกพัดกระพือ โดยครีบทั้ง 2 นี้จะโบกพัดด้วยความเร็วประมาณ 20-30 ครั้งต่อวินาที ทำให้เคลื่อนไหวไปมาได้อย่างช้า ๆ ซึ่งโดยปกติแล้วม้าน้ำมักจะว่ายน้ำเป็นไปในลักษณะขึ้น-ลง มากกว่าไปมาข้างหน้า-ข้างหลังเหมือนปลาชนิดอื่น โดยถือเป็นปลาที่ว่ายน้ำช้าที่สุดในโลกอีกด้วย โดยว่ายได้เพียง 0.06 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น[4] ปากยื่นยาวคล้ายท่อไม่มีกราม ตรงปลายมีที่เปิด ใช้สำหรับดูดกินอาหาร จำพวกแพลงก์ตอนและสัตว์น้ำขนาดเล็ก ๆ อีกทั้งยังสามารถปรับเปลี่ยนสีลำตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ด้วย เพื่ออำพรางตัว[5]

ม้าน้ำ เหมือนกับปลาชนิดอื่น ๆ ที่อยู่ในวงศ์เดียวกันนี้ คือ ตัวผู้จะเป็นฝ่ายอุ้มท้อง โดยมีอวัยวะตรงบริเวณหน้าท้องคล้ายถุง ใช้สำหรับเก็บไข่และฟักเป็นตัว เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ม้าน้ำตัวผู้จะปรับเปลี่ยนสีของลำตัวเพื่อดึงดูดม้าน้ำตัวเมีย จากนั้นตัวผู้จะใช้หางโอบกอดตัวเมียพร้อมกับแอ่นท้องประกบกับท้องเข้าหากัน ตัวเมียจะออกไข่ใส่ลงในถุงหน้าท้องของตัวผู้ และม้าน้ำตัวผู้ก็จะปล่อยน้ำเชื้อเข้าผสมกับไข่และฟักเป็นตัวอ่อนภายในถุงหน้าท้อง โดยใช้เวลาฟักเป็นตัวประมาณ 2 สัปดาห์ หรือ 1 เดือนแล้วแต่ชนิด[6] โดยจำนวนไข่ในแต่ละครั้งจะมีประมาณ 100-200 ฟอง มากที่สุดคือ 1,500 ฟอง ตามแต่ละชนิด มีระยะการตั้งท้องในแต่ละครั้งเว้นห่าง 28-30 วัน[3] แต่ม้าน้ำตัวผู้บางตัวเมื่อออกลูกในตอนเช้า พอถึงตอนค่ำก็สามารถอุ้มท้องใหม่ได้เลยทันที โดยม้าน้ำถือว่าเป็นปลาที่ออกลูกและแพร่ขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว แต่จะมีเพียงไม่กี่ตัวเท่านั้นที่เจริญเติบโตจนกลายเป็นตัวเต็มวัยในเวลาต่อมา[6]

เมื่อคลอด ม้าน้ำตัวผู้จะบีบกล้ามเนื้อส่วนท้องและพ่นลูกม้าน้ำทั้งหมดออกจากกระเป๋าหน้าท้อง โดยที่ม้าน้ำมีพฤติกรรมแบบคู่เดียวตลอดทั้งชีวิต กล่าวคือ จะจับคู่อยู่กันเพียงตัวเดียว หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีอันเป็นไป ก็จะไม่หาคู่ใหม่[7]

ชนิด แก้

ม้าน้ำ มีความยาวโดยเฉลี่ยประมาณ 15 เซนติเมตร ตามแต่ละชนิด โดยขนาดเล็กเช่น ม้าน้ำจำพวกม้าน้ำแคระ จะมีความยาวเพียง 2.5 เซนติเมตรเท่านั้น มีการแพร่กระจายพันธุ์ในทะเลเขตอบอุ่นทั่วทั้งโลก และยังพบได้ตามแหล่งน้ำกร่อย เช่น ตามปากแม่น้ำต่าง ๆ เช่น ปากแม่น้ำเทมส์ ในประเทศอังกฤษ[3] ปัจจุบันพบทั้งหมด 54 ชนิด[8] ส่วนม้าน้ำที่พบได้ในน่านน้ำไทยมีประมาณ 6 ชนิด ได้แก่

  • ม้าน้ำหนาม (H. spinosissimus) อาศัยอยู่ในบริเวณน้ำค่อนข้างลึกและสภาพน้ำค่อนข้างใส มีสีสันสวยงาม มักจะมีสีออกน้ำตาลแดง มีลายจุดสีออกขาว เป็นแถบกว้างคาดบริเวณลำตัว มีหนามมากค่อนข้างแหลมและยาว แต่มีขนาดเล็กกว่าม้าน้ำดำ
  • ม้าน้ำแคระ (H. mohnikei) มีขนาดเล็กที่สุด พบเห็นไม่บ่อยนัก ลำตัวตัวสีดำ อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่ง เกาะอยู่ตามสาหร่ายทะเล บริเวณที่เป็นพื้นทราย
  • ม้าน้ำหนามขอ (H. histrix) มีลักษณะที่แตกต่างไปจากชนิดอื่น คือ มีปากขนาดยาวกว่า มีหนามที่เหนือตาและมีส่วนหน้าที่ยาวอย่างเห็นได้ชัด มีหนามบนหัว หนามตามลำตัวและหางจะแหลม บริเวณปลายหนามจะมีสีดำเข้ม เมื่อเอามือไปสัมผัสจะรู้สึกว่าเกี่ยวติดมือ หนามที่หางมีความยาวเท่า ๆ กัน

ความสำคัญต่อมนุษย์ แก้

 
ม้าน้ำแห้งที่ใช้สำหรับทำยาจีน ในเมืองกวางโจว

ม้าน้ำ เป็นปลาที่นิยมทำเป็นยาจีนตามตำราการแพทย์แบบจีน ด้วยเชื่อว่าบำรุงกำลังและเสริมสมรรถนะทางเพศ โดยจะทำไปตากแห้งและขายเป็นชั่งน้ำหนักขาย ทำให้ม้าน้ำทั่วโลกในปีหนึ่ง ๆ ถูกจับเป็นจำนวนมากเพื่อการนี้ และยังถูกนำไปทำเป็นเครื่องประดับอีก จนกลายทำให้เป็นสัตว์หายากและใกล้สูญพันธุ์ในบางชนิด โดยในปี ๆ หนึ่งมีจำนวนม้าน้ำกว่า 25 ล้านตัวในตลาดยาแผนโบราณของเอเชีย[6]

นอกจากนี้แล้ว ความที่เป็นปลาที่มีรูปร่างแปลก มีขนาดเล็กน่ารัก ทำให้เป็นที่นิยมเลี้ยงของผู้ที่นิยมการเลี้ยงปลาตู้ด้วย ซึ่งในปัจจุบัน มีม้าน้ำบางชนิดสามารถนำมาเพาะขยายพันธุ์ในที่เลี้ยงได้แล้ว[9]

อ้างอิง แก้

  1. Duvernoy, HM (2005). "Introduction". The Human Hippocampus (3rd ed.). Berlin: Springer-Verlag. p. 1. ISBN 3-540-23191-9.
  2. Venefica, A. "Symbolic Meaning of the Seahorse". Whats-Your-Sign.com.
  3. 3.0 3.1 3.2 "ท่องโลกกว้าง: David Attenborough's Natural Curiosities Sr.2 - Spinners and Weavers". ไทยพีบีเอส. 23 March 2015. สืบค้นเมื่อ 25 March 2015.[ลิงก์เสีย]
  4. ปลาทะเลตอนที่ 2, แฟนพันธุ์แท้ รายการ: ศุกร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2549 ทางช่อง 5
  5. เรื่องน่ารู้ของม้าน้ำ
  6. 6.0 6.1 6.2 หน้า 16, พ่อนี้มีบุญคุณอันใหญ่หลวง. "สัตว์ก็มีหัวใจ" โดย แพทริเซีย เอดมันส์. เนชั่นแนลจีโอกราฟิก ฉบับภาษาไทย ฉบับที่ 173: ธันวาคม 2558
  7. "ม้าน้ำ" ปลาประดับมีชีวิต โดยอุราณี ทับทอง
  8. FishBase, Genus: Hippocampus
  9. การเพาะเลี้ยงม้าน้ำ

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Hippocampus ที่วิกิสปีชีส์