ม้านิลมังกร สัตว์ประหลาดในวรรณคดีไทยเรื่องพระอภัยมณี ตามจินตนาการของสุนทรภู่ เป็นพาหนะของสุดสาคร โดยสุนทรภู่ได้รจนาถึงลักษณะของม้านิลมังกรไว้ว่า

ม้านิลมังกร
ตัวละครใน พระอภัยมณี
สร้างโดยพระสุนทรโวหาร (ภู่)
ข้อมูลตัวละครในเรื่อง
เผ่าพันธุ์ครึ่งม้าครึ่งมังกร
เพศกะเทย
คนสำคัญสุดสาคร (เจ้าของ)
พระนักสิทธิ์พิศดูเป็นครู่พักหัวร่อคักรูปร่างมันช่างขัน
เมื่อตัวเดียวเจียวกลายเป็นหลายพันธุ์กำลังมันมากนักเหมือนยักษ์มาร
กินคนผู้ปูปลาหญ้าใบไม้มันทำได้หลายเล่ห์อ้ายเดรฉาน
เขี้ยวเป็นเพชรเกล็ดเป็นนิลลิ้นเป็นปานถึงเอาขวานฟันฟาดไม่ขาดรอน
เจ้าได้ม้าพาหนะตัวนี้ไว้จะพ้นภัยภิญโญสโมสร
ให้ชื่อว่าม้านิลมังกรจงถาวรพูนสวัสดิ์แก่นัดดา

โดยที่สุนทรภู่แต่งให้ม้านิลมังกร ปรากฏตัวครั้งแรกที่ชายหาด เกาะแก้วพิสดาร และสุดสาครไปพบเข้า เป็นสัตว์ดุร้าย มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่าง ๆ สุนทรภู่ได้ให้รายละเอียดความเป็นมาของสัตว์ประหลาดนี้ โดยแต่งให้พระโยคีหรือพระฤๅษีแห่งเกาะแก้วพิสดาร ได้รับฟังคำบอกเล่าของสุดสาครแล้วเพ่งดูทางใน จึงรู้ถึงที่มาของสัตว์ประหลาดนี้ ว่า

พระทรงศีลยินสุดสาครบอก นึกไม่ออกอะไรกัดหรือมัจฉา

จึงเล็งญาณฌานชิดด้วยฤทธา ก็รู้ว่าม้ามังกรสมจรกัน

ครั้นลูกมีศีรษะมันเหมือนพ่อ ตัวตีนต่อจะเหมือนแม่ช่างแปรผัน

หางเป็นนาคมาข้างพ่อมันต่อพันธุ์ พระนักธรรม์แจ้งกระจ่างด้วยทางฌาน

จึงนึกว่าม้านี้มันมีฤทธิ์ จำจะคิดจับไว้ให้พระหลาน

ได้ตามติดบิตุรงค์พบวงศ์วาน สิทธาจารย์ดีใจจึงไขความ

ม้าตัวนี้ดีจ้านเจียวหลานเอ๋ย เป็นกะเทยเขี้ยวเพชรไม่เข็ดขาม

จับไว้ขี่มีสง่ากล้าสงคราม จะได้ตามบิตุเรศไปเขตคัน

กล่าวคือ สัตว์ประหลาดนี้เป็นลูกผสม เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างม้า (แม่) กับมังกร (พ่อ) ลูกที่ออกมาเป็นครึ่งม้าครึ่งมังกร ส่วนหัวเป็นมังกรเหมือนพ่อ ส่วนตัวจนถึงขาเป็นม้าเหมือนแม่ มีหางนาค และเป็นกะเทย (สุนทรภู่น่าจะได้ความคิดมาจากการผสมข้ามพันธุ์ม้ากับลา ทำให้ได้ลูกออกมาเป็นล่อ ซึ่งจะไม่สามารถสืบพันธุ์ต่อได้)

พระโยคีได้สอนมนต์ให้สุดสาครใช้กำราบม้ามังกร รวมทั้งให้ไม้เท้าวิเศษของตนไปใช้ต่อสู้กับม้ามังกรด้วย ในที่สุด ม้านิลมังกร ก็ถูกปราบจนเชื่องกลายเป็นสัตว์พาหนะของสุดสาคร และเป็นสัตว์เลี้ยงที่ซื่อสัตย์ภักดีต่อนาย จากการมาช่วยสุดสาครที่ตกหน้าผาจากการทำร้ายของชีเปลือย

ลักษณะของม้านิลมังกร ตัวเป็นม้าหัวเป็นมังกร หางเหมือนนาค ลำตัวเป็นเกล็ดสีดำแวววาว เหมือนดั่งชื่อ กินอาหารได้หลายอย่าง สันนิษฐานว่า สุนทรภู่จินตนาการมาจากกิเลนของจีน ในวรรณคดีของจีนเรื่องต่าง ๆ ที่เข้าสู่ประเทศไทยแล้วในเวลานั้น เช่น ไซ่ฮั่น[1] เพราะไม่ปรากฏสัตว์ลักษณะเช่นนี้ในความเชื่อหรือวรรณคดีเรื่องใดของไทยมาก่อน

ปัจจุบัน ม้านิลมังกรใช้เป็นทั้งสัญลักษณ์และฉายาของสโมสรระยองเอฟซี สโมสรฟุตบอลในระดับไทยลีกดิวิชัน 1

อ้างอิง แก้

  1. จุดประกาย 7 วัฒนธรรม, ม้าวิเศษในตำนานจีน โดย ดนุพล ศิริตานนท์. กรุงเทพธุรกิจปีที่ 29 ฉบับที่ 10191: วันพุธที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2559