มินต์จูเลป

ค็อกเทลที่มีต้นกำเนิดในตอนใต้ของสหรัฐ

มินต์จูเลป (อังกฤษ: mint julep) เป็นเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์หรือค็อกเทลที่มีส่วนประกอบหลัก ได้แก่ วิสกีเบอร์เบิน น้ำตาล น้ำ น้ำแข็งบดและมินต์สด มินต์จูเลปมีที่มาจากตอนใต้ของสหรัฐและเป็นเครื่องดื่มตามธรรมเนียมของการแข่งม้าเคนทักกีเดอร์บี

มินต์จูเลป
ค็อกเทลทางการของไอบีเอ
มินต์จูเลปในแก้วเงินแบบดั้งเดิม
ประเภทค็อกเทล
แอลกอฮอล์หลักตามปริมาตร
การเสิร์ฟออนเดอะร็อกส์; เทลงบนน้ำแข็ง
สิ่งตกแต่งมาตรฐานช่อมินต์
ภาชนะมาตรฐานแก้วเงินหรือแก้วไฮบอล
วัตถุดิบที่
กำหนดโดย
ไอบีเอ
การเตรียมขยี้มินต์ให้พอช้ำ ผสมกับน้ำและน้ำตาลในแก้วไฮบอล เติมน้ำแข็งและเบอร์เบินก่อนคนให้เข้ากันจนเย็น ตกแต่งด้านบนด้วยช่อมินต์
มินต์จูเลป โดยสมาคมบาร์เทนเดอร์นานาชาติ

มินต์จูเลปดั้งเดิมมีส่วนประกอบ 4 อย่าง ได้แก่ ใบมินต์ วิสกีเบอร์เบิน น้ำเชื่อมธรรมดาและน้ำแข็งบด โดยทางใต้ของสหรัฐและเคนทักกีนิยมใช้สเปียร์มินต์ การเตรียมมินต์จูเลปที่ถูกต้องยังคงเป็นที่ถกเถียงเนื่องจากบาร์เทนเดอร์แต่ละคนเตรียมต่างกัน มินต์จูเลปจัดอยู่ในกลุ่มเครื่องดื่มที่เรียกว่า "สแมช" เช่นเดียวกับโมฮิโต ซึ่งมินต์หรือส่วนประกอบอื่นจะถูกบดหรือตำเพื่อให้น้ำและน้ำมันหอมระเหยออกมาเสริมรสชาติให้เครื่องดื่ม มินต์จูเลปดั้งเดิมเสิร์ฟในแก้วพิวเตอร์หรือแก้วเงินและจับถือที่ก้นหรือขอบแก้วเพื่อรักษาความเย็น[1] ปัจจุบันมินต์จูเลปส่วนใหญ่เสิร์ฟในแก้วโอลด์แฟชัน แก้วคอลลินส์หรือแก้วไฮบอลพร้อมหลอด

คำว่า "จูเลป" หมายความทั่วไปถึงเครื่องดื่มรสหวานโดยเฉพาะยาน้ำเชื่อม คำนี้มาจากคำว่า "julepe" ในภาษาสเปนซึ่งรับมาจากคำว่า golâb (گلاب) ในภาษาเปอร์เซียที่หมายถึงน้ำดอกไม้เทศ[2] มินต์จูเลปมีต้นกำเนิดในตอนใต้ของสหรัฐประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 18 มีการกล่าวถึงมินต์จูเลปแรกสุดในปี ค.ศ. 1770 และในบทละครเสียดสี The Candidates และ A Short Poem on Hunting ของรอเบิร์ต มันฟอร์ดที่ 3[3] นอกจากนี้ยังมีหลักฐานของมินต์จูเลปในใบสั่งยาที่ปรากฏใน เมดิคัลคอมมูนิเคชันส์ (Medical communications) ค.ศ. 1784 ว่า "อาการเจ็บป่วยที่กระเพาะอาหาร มีอาการขย้อนบ่อยและกลืนลำบาก แพทย์จึงจ่ายยาก่ออาเจียน ยาระบายและมินต์จูเลป"[4]

ทาเวิร์นในรัฐเวอร์จิเนียหลายแห่งเริ่มมีโรงน้ำแข็งสำหรับทำค็อกเทลเย็นในคริสต์ทศวรรษ 1780 มีการกล่าวถึง "จูเลปเย็น" ครั้งแรกในโฆษณาวิกวัมการ์เดนส์ในเมืองนอร์ฟอล์กเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1807[3] ขณะที่ในรัฐนิวยอร์กช่วงคริสต์ทศวรรษ 1830 มีจูเลปที่เสิร์ฟพร้อมน้ำแข็งบดขนาดเล็กเรียกว่า hailstone julep หรือ hailstorm julep[3] บางครั้งจูเลปใช้ยินแทนเบอร์เบิน นอกจากนี้ในหนังสือ Bar-Tenders Guide: How to Mix Drinks or The Bon-Vivant's Companion ฉบับค.ศ. 1862 ของเจอร์รี ทอมัสระบุสูตรจูเลปที่ใช้แอลกอฮอล์ต่างกัน 5 สูตร ได้แก่ กอญัก บรั่นดี ยิน วิสกี้และไวน์โมแซล[5]

มินต์จูเลปเป็นเครื่องดื่มตามธรรมเนียมของการแข่งม้าเคนทักกีเดอร์บีที่เมืองลุยส์วิลล์ รัฐเคนทักกี ธรรมเนียมนี้เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1938 โดยได้รับการส่งเสริมจากสนามแข่งม้าเชอร์ชิลดาวส์ที่จัดการแข่งขัน เดิมสูตรมินต์จูเลปที่นี่ใช้เอิร์ลีไทมส์ซึ่งเป็นวิสกี[6] จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2015 มีการเปลี่ยนมาใช้โอลด์ฟอเรสเตอร์ที่เป็นเบอร์เบินแทน[7][8]

อ้างอิง แก้

  1. "Mint Julep Ritual". Bencaudill.com. 1937-03-30. สืบค้นเมื่อ 2010-07-30.
  2. "julep - Definition & Meaning". Merriam-Webster. May 28, 2023. สืบค้นเมื่อ June 7, 2023.
  3. 3.0 3.1 3.2 Wondrich, David (2020-03-07). "The Lost African-American Bartenders who Created the Cocktail". The Daily Beast (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2020-05-19.
  4. Medical communications: Volume 1 - Page 242 by Society for Promoting Medical Knowledge in 1784
  5. Thomas, Jerry (1862). Bar-Tender's Guide: How to Mix Drinks or The Bon Vivant's Companion. New York: Dick & Fitzgerald, Publishers. pp. 43–45. ISBN 978-1440453267.
  6. "Early Times Whiskey Review - The Whiskey Reviewer". whiskeyreviewer.com.
  7. "Kentucky Derby® – Old Forester". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-01-03. สืบค้นเมื่อ 2016-03-13.
  8. "Mint Julep - 2018 Kentucky Derby & Oaks - May 4 and 5, 2018 - Tickets, Events, News". www.kentuckyderby.com.