มาริษา อมาตยกุล

จ่าตรีหญิง มาริษา อมาตยกุล หรือ นางมาริษา ธรรมฐิติ นักร้องวงสุนทราภรณ์ เจ้าของเสียงเพลง "ริมฝั่งน้ำ" กับทรงผม "สวอน" ที่ผู้ชมจดจำคุ้นเคยตลอดมากว่า 60 ปี

มาริษา อมาตยกุล
สารนิเทศภูมิหลัง
เกิด22 ตุลาคม พ.ศ. 2482 (84 ปี)
มาริษา อมาตยกุล
จังหวัดธนบุรี ประเทศไทย
คู่สมรสประสงค์ ธรรมฐิติ
(2505 - 2545)
อาชีพทหารเรือ
นักแสดง
นักร้อง
ปีที่แสดงพ.ศ. 2501 - ปัจจุบัน
สังกัดวงดนตรีสุนทราภรณ์
วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์

ประวัติ แก้

เกิดที่ฝั่งธนบุรี กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2482 มีพี่น้อง 5 คน มีชื่อเล่นว่า แต๋ว เรียนที่โรงเรียนสตรีวรนาถ และต่อที่โรงเรียนสตรีวิทยา

ชีวิตนักร้อง แก้

มาริษา ชื่นชอบการร้องเพลงของสุนทราภรณ์เป็นพิเศษ โดยเฉพาะเพลงของมัณฑนา โมรากุลที่กำลังมีชื่อเสียงมากในขณะนั้น เธอจึงมักชอบครวญเพลงขับกล่อมคลายเหงาในยามปฏิบัติหน้าที่และยามว่างเว้นภารกิจ เพราะทุกวินาทีในคราบเครื่องแบบทหารรั้วของชาติ มาริษาไม่เคยละทิ้งฝันแห่งความตั้งใจที่อยากเป็นส่วนหนึ่งของวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์หรือวงดนตรีสุนทราภรณ์เลย

ขณะรับราชการที่กรมยุทธการทหารเรือ ติดยศจ่าตรี กองทัพเรือเล็งเห็นแววความสามารถ จึงส่งเธอเข้าประกวดร้องเพลงในรายการไนติงเกลทางโทรทัศน์ช่อง 7 เมื่อ พ.ศ. 2501 มาริษาเลือกขับร้องเพลงเสียงกระซิบจากเกลียวคลื่น ซึ่งเธอก็ไม่ได้รางวัลจากการประกวดเลยแต่การเข้าประกวดในครั้งนี้ทำให้มาริษามีโอกาสได้พบกับ ครูแก้ว อัจฉริยะกุล เพื่อนสนิทของครูเอื้อ สุนทรสนาน ครูแก้วจึงนำเธอไปฝากเข้าวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ โดยที่ครูเอื้อไม่ได้ให้มาริษาร้องเพลงทดสอบเลย มาริษาอยู่ในโครงการ "ดาวรุ่งพรุ่งนี้" ร่วมกับบุษยา รังสี และ อ้อย อัจฉรา ขณะที่ผู้ใหญ่ในกองทัพเรือคัดค้านด้วยความห่วงใย

หลังจากได้ทำงานที่กรมประชาสัมพันธ์และวงดนตรีสุนทราภรณ์ มาริษาได้รับเลือกให้ร้องเพลงรอคำรักร้องออกงานต่างๆ แต่ตอนบันทึกเสียงครูเอื้อได้มอบเพลงนี้ให้รวงทอง ทองลั่นธมนักร้องสุนทราภรณ์รุ่นพี่บันทึกแทน และนำเพลงพี่รักจริงให้มาริษาบันทึกเสียงเป็นเพลงแรก ต่อมาเธอได้โด่งดังอย่างสุดขีดเมื่อได้บันทึกเสียงเพลงจังหวะรุมบ้าชื่อ ริมฝั่งน้ำ ซึ่งกลายเป็นงานสร้างชื่อเสียง เมื่อมีการเปิดเพลงดังกล่าวตามสถานีวิทยุต่างๆ

มาริษามีน้ำเสียงที่เข้มแข็งแกมหวาน ต่างจากนักร้องหญิงในยุคนั้น จึงมักได้รับเลือกให้ร้องเพลงทำนองออกสากลหรือเพลงแนวจังหวะไมเนอร์ แนวโรแมนติก เช่น เพลงยัง เกาะสมุย เดือนหงาย สาส์นสวาท คลื่นกรรม หนี้รัก และด้วยความชื่นชอบเสียงของมัณฑนา โมรากุลมาก จึงมักได้เพลงเก่าๆที่มัณฑณาขับร้องไว้นำมาขับร้องใหม่ เช่น สาริกาชมเดือน รักอะไร สร้างระเบียบ เสียงดุเหว่า ชมดอกฟ้า บ้านแสนสุข และนอกจากน้ำเสียงที่ไพเราะแล้วสิ่งหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ประจำตัวของเธอ คือ ผมทรงสวอนซึ่งเป็นที่จดจำของบรรดาแฟนเพลงมาจนถึงทุกวันนี้

หลังจากที่สิ้นเสาหลักอย่างครูเอื้อ สุนทรสนานไป เหล่าเพื่อนพ้องน้องพี่ ต่างอำลาชีวิตข้าราชการไป แต่มาริษายังยืนหยัดรับราชการอยู่ที่กรมประชาสัมพันธ์ กระทั่งได้ดำรงตำแหน่ง ผอ.ส่วนบริหารการดนตรีก่อนเกษียณอายุข้าราชการในปี 2543 ซึ่งในขณะรับราชการมาริษาได้มีส่วนร่วมในการจัดคอนเสิร์ต "เสียงสวรรค์วันประชา" ที่เชื้อเชิญเหล่านักร้องรุ่นเก่าลายครามกลับคืนสู่เวที เพื่อหารายได้มอบให้ทายาทครอบครัวศิลปิน ถือเป็นความภาคภูมิใจส่วนหนึ่งที่เธอได้มีโอกาสช่วยเหลือพี่น้องศิลปินด้วยกัน

ชีวิตส่วนตัว แก้

มาริษาสมรสกับ นายประสงค์ ธรรมฐิติ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2505 มีบุตรหนึ่งคน ชื่อ ปัทมา ธรรมฐิติ มาริษายังมีหลานชายที่อยู่ในวงการนักร้องด้วยกัน คือ ตู้ ดิเรก อมาตยกุล

ตัวอย่างผลงาน แก้

ผลงานการแสดง แก้

ผลงานเพลง แก้

ริมฝั่งน้ำ , ฝนตั้งเค้า , เดือนหงาย , เพียงปลายก้อย , เกาะสมุย , รักอะไร , อยากมีรักหวาน , สาริกาชมเดือน , หงส์สะบัดบาป , กรงที่ขังใจ , ประชดอารมณ์ , ยัง , อย่าทำให้ช้ำอีกเลย , สาส์นสวาท , นี่หรือเธอรัก , หนี้รัก , คลื่นกรรม , รักหนึ่งในดวงใจ , ตลุงเสดสา , อี่นาย , สร้างระเบียบ , รักที่หวัง , กลางวันจันทร์จาก , เดือนโกง , ยากใจ , สาริกาชมเดือน, รักที่หวัง, นี่หรือเธอรัก, คุณขาอย่าลวง, พี่รักจริง (คู่ สมศักดิ์ เทพานนท์) , บ้านนาราตรี (คู่ สมศักดิ์ เทพานนท์) , รื่นเริงใจ (ร่วมกับ ศรีสุดา รัชตะวรรณ วรนุช อารีย์) ไร้รักไร้ผล (ร่วมกับ ศรีสุดา รัชตะวรรณ วรนุช อารีย์) , สามนัด (ร่วมกับ เลิศ ประสมทรัพย์,ศรีสุดา รัชตะวรรณ,วรนุช อารีย์) ดำเนินทราย ร้องคู่กับวินัย จุลบุษปะ ต้นฉบับมัณฑนา โมรากุล,วินัย จุลบุษปะ เป็นต้น ฯลฯ[1]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้