มารดาของวิสต์เลอร์

การจัดสีเทาและดำ: มารดาของวิสต์เลอร์ของจิตรกร หรือที่รู้จักกันสั้นๆ ว่า มารดาของวิสต์เลอร์ (ภาษาอังกฤษ: Arrangement in Grey and Black: The Artist's Mother หรือ Whistler’s Mother) เป็นภาพเขียนสีน้ำมันที่เขียนโดยเจมส์ แม็คนีลล์ วิสต์เลอร์จิตรกรชาวอเมริกัน ที่ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ออร์เซย์[1] ที่ปารีสในประเทศฝรั่งเศส วิสต์เลอร์เขียนภาพ “มารดาของวิสต์เลอร์” ในปี ค.ศ. 1871

มารดาของวิสต์เลอร์
ศิลปินเจมส์ แม็คนีลล์ วิสต์เลอร์
ปีค.ศ. 1871
ประเภทจิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบ
สถานที่พิพิธภัณฑ์ออร์เซย์, ปารีส
“การจัดสีเทาและดำหมายเลข 2” (ทอมัส คาร์ไลล์)

ภาพอยู่ในกรอบที่วิสต์เลอร์ออกแบบเอง แม้ว่าจะเป็นภาพเขียนที่เป็นสัญลักษณ์ของศิลปะอเมริกันแต่ภาพเขียนแทบจะไม่ได้กลับไปตั้งแสดงในสหรัฐอเมริกานอกจากนำไปแสดงรอบประเทศระหว่างปี ค.ศ. 1932 และ ค.ศ. 1934, ตั้งแสดงที่หอศิลป์แห่งชาติในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในปี ค.ศ. 1994 และในปี ค.ศ. 2004 ที่สถาบันศิลปะแห่งดีทรอยต์ และครั้งสุดท้ายที่พิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์แห่งบอสตันระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน ค.ศ. 2006

ประวัติ แก้

แอนนา แม็คนีลล์ วิสต์เลอร์นั่งเป็นแบบให้วิสต์เลอร์เขียนในห้องนั่งเล่นในกรุงลอนดอน มีเรื่องหลายเรื่องที่เกี่ยวกับภาพเขียนนี้เช่นแอนนานั่งเป็นแบบแทนผู้เป็นแบบอีกคนหนึ่งที่ผิดนัด อีกเรื่องหนึ่งก็ว่าวิสต์เลอร์จะให้ตัวแบบยืนแต่แอนนาไม่แข็งแรงพอที่จะยืนเป็นแบบเป็นเวลานานๆ

งานเขียนแสดงที่งานแสดงศิลปะครั้งที่ 104 ของราชสถาบันศิลปะในกรุงลอนดอนในปี ค.ศ. 1872 แต่เกือบจะไม่ได้ตั้งแสดงเพราะไม่ผ่านการพิจารณาโดยคณะกรรมการของสถาบันซึ่งเป็นการทำให้เกิดความแตกร้าวระหว่างวิสต์เลอร์และวงการศิลปะในอังกฤษ ภาพนี้จึงเป็นภาพสุดท้ายที่วิสต์เลอร์ส่งเข้าพิจารณาโดยราชสถาบันศิลปะ

ผู้ชมในสมัยวิคตอเรียไม่ยอมรับภาพเขียนที่ตั้งแสดงในเพียงฐานะ “การจัดสี” ฉะนั้นวิสต์เลอร์จึงต้องเพิ่มคำขยายความ “มารดาของวิสต์เลอร์ของจิตรกร” เข้าไปข้างหลังชื่อเดิมภาพเป็น “การจัดสีเทาและดำ: มารดาของวิสต์เลอร์ของจิตรกร” ซึ่งทำให้ภาพได้รับชื่อที่เป็นที่รู้จักกัน หลังจากทอมัส คาร์ไลล์ (Thomas Carlyle) ได้ชมภาพแล้วก็ตกลงนั่งเป็นแบบในภาพที่คล้ายคลึงกัน ที่เรียกว่า “การจัดสีเทาและดำหมายเลข 2” ภาพแรกจึงกลายเป็น “การจัดสีเทาและดำหมายเลข 1” ทำนองโดยปริยาย

ต่อมาวิสต์เลอร์เอาภาพไปจำนำซึ่งในที่สุดในปี ค.ศ. 1891 โดยพิพิธภัณฑ์ลักเซ็มเบิร์กในปารีสก็ซื้อต่อ งานของวิสต์เลอร์ที่รวมทั้งภาพนี้มีผู้เลียนแบบกันมากทั้งการวางท่าที่คล้ายคลึงกันและการจำกัดการใช้สี ภาพลักษณะนี้จึงเป็นที่นิยมกันโดยเฉพาะในหมู่จิตรกรอเมริกันที่ตั้งถิ่นฐานในต่างประเทศ สำหรับวิสต์เลอร์การที่มีภาพตั้งแสดงในพิพิธภัณฑ์ก็เป็นการช่วยทำให้มีชื่อเสียงเพิ่มขึ้นและเป็นที่รู้จักในบรรดาผู้อุปถัมภ์ผู้มีฐานะดี ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1884 วิสต์เลอร์เขียน:

“ลองคิดดู —ที่ได้เข้าไปในพิพิธภัณฑ์และได้เห็นงานเขียนของตัวเองแขวนบนผนังของลักเซ็มเบิร์ก —ทำให้คิดถึงการที่ถูกปฏิบัติในอังกฤษ —และได้มาพบกับความนับถือทุกหนทุกแห่งที่นี่...และรู้ว่าทั้งหมดนี้ ...เหมือนกับถูกหยามโดยสถาบันและพรรคพวก! ทั้งหมดนี้ราวกับความฝัน”

วิสต์เลอร์ผู้ที่สนับสนุนความคิดที่ว่า “ศิลปะเพื่อศิลปะ” (art for art's sake) อย่างแข็งขันมีความรู้สึกสนเท่ห์และรำคาญที่ผู้ชมภาพเพียงในมุมมองของ “ภาพเหมือน” ในปี ค.ศ. 1890 วิสต์เลอร์เขียน:

“ลองดูภาพมารดาของวิสต์เลอร์ของผม, แสดงที่ราชสถาบันศิลปะใน “การจัดสีเทาและดำ” นั่นแหละคืองานเขียน สำหรับผมแล้วก็น่าสนใจที่เป็นภาพของแม่ของผม แต่สำหรับสาธารณชนใครเป็นตัวแบบควรจะมีความสำคัญแค่ไหนเล่า?”

จากความคิดเห็นนี้และไม่ว่าความสัมพันธ์ของวิสต์เลอร์กับมารดาจะเป็นอย่างไร ภาพนี้ก็ถูกใช้กันไปต่างๆ ในสมัยวิคตอเรียและต่อมาโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาในการเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นแม่, ความรู้สึกต่อพ่อแม่ และคุณค่าของครอบครัวโดยทั่วไป ตัวอย่างเช่นเมื่อไปรษณีย์สหรัฐออกแสตมป์ “มารดาของวิสต์เลอร์” พร้อมกับคำขวัญ “เพื่อเป็นอนุสรณ์และเป็นเกียรติแก่แม่ทั้งหลายในสหรัฐอเมริกา”

ทั้งงาน “มารดาของวิสต์เลอร์” และ “ทอมัส คาร์ไลล์” ได้รับแกะโดยช่างแกะ ภาพพิมพ์อังกฤษริชาร์ด เจอร์ซีย์ (Richard Josey)[1] เก็บถาวร 2005-12-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

ต่อมาการตีความหมายทางสัญลักษณ์ของสาธารณชนยิ่งไกลออกไปกว่าเดิม และภาพถูกนำไปใช้ในการโฆษณาทางการค้า และ งานล้อต่างๆ

“มารดาของวิสต์เลอร์” ในวัฒนธรรมสมัยนิยม แก้

 
แสตมป์ “มารดาของวิสต์เลอร์” ค.ศ. 1934
  • ภาพเขียนปรากฏในภาพยนตร์ บีน เดอะมูฟวี่ ในปี ค.ศ. 1997 เมื่อ มิสเตอร์บีนแสดงโดยโรวัน แอตคินสันถูกส่งตัวไปสหรัฐอเมริกาจากอังกฤษเพื่อไปดูและการจัดตั้งภาพเขียนในพิพิธภัณฑ์ที่แคลิฟอร์เนีย หลังจากที่จามใส่ภาพโดยไม่ได้ตั้งใจมิสเตอร์บีนก็เช็ดภาพด้วยผ้าเช็ดหน้าแต่ทำใบหน้าในภาพเลอะเทอะด้วยหมึกสีน้ำเงิน มิสเตอร์บีนพยายามทำเอาหมึกออกโดยใช้น้ำยาล้างสีซึ่งไม่แต่จะทำให้หมึกหลุดแต่ทั้งใบหน้าด้วย ในที่สุดก็ต้องเอาโปสเตอร์มาแทน
  • “มารดาของวิสต์เลอร์” เป็นชื่อตอนแรกของรายการโทรทัศน์ “Arrested Development” ของ ฟ็อกซ์บรอดแคสติง
  • ในตอนหนึ่งของการ์ตูนของฮัล ซีเกอร์ “Batfink” ที่กล่าวถึงภาพเขียนมีค่าชื่อ “มารดาของวิสต์เลอร์ยายของวิสต์เลอร์”
  • ในในภาพยนตร์ “The Naked Gun 2½: The Smell of Fear”

อ้างอิง แก้

  1. Musée d'Orsay: About, ARTINFO, 2008, สืบค้นเมื่อ 2008-07-30

ดูเพิ่ม แก้