มาตราตวง เป็นมาตราที่นิยมก่อนการมีมาตราชั่ง และวัด โดยในสมัยโบราณนิยมใช้มาตราที่มีอยู่ในตัวเช่นมือ กำมือ ฟายมือ หรือใช้อุปกรณ์หาได้ง่ายๆ เช่นกะลามะพร้าว กระบุงสานจากไม้ไผ่ ซึ่งขนาดใหญ่เล็กแตกต่างกันไปในแต่ละที่แต่ละคน

ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 5 มีความคิดตั้งกระทรวงขึ้นเพื่อจัดการเกี่ยวกับการค้าขาย และจัดการเรื่องมาตรฐานการชั่งตวงวัดให้มีมาตรฐานเดียวกันทั้งในประเทศและการค้าระหว่างประเทศ โดยขอเป็นสมาชิกองค์กรระหว่างประเทศว่าด้วยการชั่งตวงวัดซึ่งได้รับการตอบรับเป็นสมาชิกในปี พ.ศ. 2455 (ค.ศ. 1912) และตราพระราชบัญญัติมาตรชั่งตวงวัด พ.ศ. 2466 เพื่อใช้กำหนดมาตรฐานการชั่ง ตวง วัดในประเทศ ให้สอดคล้องกัน

มาตราตวงในระบบเมตริก แก้

ในระบบเมตริก (เป็นชื่อเก่าของระบบหน่วย SI เปลี่ยนในการประชุมครั้งที่11 ของ CGPM ปี 1960) หน่วยวัดปริมาตรในระบบ SI (The International System of Units, SI) หน่วยแสดงปริมาตรจะใช้หนึ่งในเจ็ดหน่วยหลัก (SI Base Units) ของระบบ SI คือหน่วยแสดงปริมาณความยาวซึ่งมีชื่อว่าเมตร มาประกอบเข้าด้วยกัน ก็จะเป็น ลูกบาศก์เมตร (cubic metre, m^3) เช่น ใช้น้ำประปาไป 12 ลูกบาศก์เมตร (หรือทางประปาเรียกว่าใช้ไป 12 หน่วย) เป็นต้น หน่วยย่อยลงไปที่ใช้มาก คือ ลูกบาศก์เซนติเมตร, ซม^3 หรือ ซี.ซี. (cubic centimetre, cm^3) เช่น เบียร์กระป๋องมีความจุขนาด 330 ซม^3 เป๊บซี่หรือโค้กขนาด 325 ซม^3 แชมพูขนาด 400 ซี.ซี. น้ำปลา 700 ซม^3 เป็นต้น

สำหรับคำว่าลิตร (litre) เป็นหน่วยที่ใช้อยู่โดยกว้างขวาง ไม่ได้จัดเข้าในระบบหน่วย SI แต่สามารถใช้ร่วมกับระบบนี้ได้โดยใช้เงื่อนใขจากการตกลงกันของสมาชิก CIPM 50 ประเทศดังนี้

ความสัมพันธ์ระหว่างลิตรกับหน่วย SI เหล่านี้ คือ 1 L,l (1 ลิตร) = 1 l=1dm^3 = 10^3 cm^3= 10^-3 m^3 สัญลักษณ์ L และ l ใช้ได้ทั้ง 2แบบ เนื่องจากที่ประชุม CGPM (1979) เห็นว่าตัวเลขหนึ่ง 1 และตัวอักษรแอล l อาจทำให้สับสน

ก็มี ลิตร (litre หรือ liter, อังกฤษใช้ litre อเมริกันใช้ liter) สัญลักษณ์ใช้ l หรือ L (ตัวแอลเล็กหรือตัวแอลใหญ่) ใช้คำนำหน้าจากระบบ SI (SI prefixes) ซึ่งมีอยู่ตอนนี้ 20 ตัว เพื่อแสดงหน่วยใหญ่กว่าและ หน่วยย่อยลงมาของลิตร ตัวอย่างเช่น เดซิลิตร, ดล. (decilitre, dl) , เซนติลิตร, ซล. (centilitre, cl) , มิลลิลิตร, มล. (millilitre, ml) ซึ่งยังคงใช้กันมากในปัจจุบัน เช่น ระบุราคาน้ำมันเบนซิน ดีเซล แก๊สโซฮอล์ ว่าเป็นลิตรละเท่าไร บอกความจุของน้ำอัดลมในขวดเป็น 1.25 ลิตร, 2 ลิตร บอกความจุของวิสกี้ เบียร์ ไวน์ ในขวดเป็น l, dl, ml หรือ cl บอกความจุของแชมพูในขวดเป็น ml เป็นต้น

ความสัมพันธ์ของหน่วยเหล่านี้คือ 1 l (1 ลิตร) = 10 dl = 100 cl = 1000 ml

หน่วยที่ใหญ่กว่าลิตรก็มี เช่น เดคาลิตร, ดคล. (decalitre, dal) ซึ่งเท่ากับ 10 ลิตร เฮคโตลิตร (hectolitre, hl) ซึ่งเท่ากับ 100 ลิตร เป็นต้น

ระบบอังกฤษมี ลูกบาศก์ฟุต (ft^3) ลูกบาศก์นิ้ว (in^3) ซึ่ง 1 ft^3 = 28.317 l (ลิตร) = 28,317 cm^3 = 0.028317 m^3

1 in^3 = 1.6387 x 10^–5 m^3

หน่วยปริมาตรของต่างประเทศที่เราได้ยินกันยังมี แกลลอน (gallon) 1 แกลลอน = 4.546 ลิตร (British Imperial gallon) ส่วนแกลลอนของสหรัฐอเมริกา (U.S. gallon) ไม่เท่ากับของอังกฤษ กล่าวคือ 1 U.S. gallon = 3.785 ลิตร

สำหรับน้ำมันปิโตรเลียม ยังมีการใช้หน่วย บาร์เรล (barrel) โดยที่ 1 บาร์เรลเท่ากับประมาณ 158.9873 ลิตร และ 1 บาร์เรล = 35 แกลลอนอังกฤษ (เท่ากับ 159.11 ลิตร) ส่วนในสหรัฐอเมริกา 1 บาร์เรล = 42 แกลลอน (เท่ากับ 158.97 ลิตร)

สำหรับการตวงวัดเหล้าในบาร์ ยังมีการใช้ถ้วยตวงที่มีขีดบอกปริมาตรเป็น ออนซ์ (onze) ด้วย (ซึ่ง ออนซ์ มีที่ใช้ทั้งในแบบปริมาตรและแบบน้ำหนัก) และมีการใช้หน่วย ควอต (quart) ซึ่ง 1 ควอต = 32 ออนซ์ และ 1 แกลลอน = 4 ควอต

การตวงยา อาหาร และส่วนผสมในการทำอาหาร ยังอาจมีการใช้ หน่วย ช้อน ด้วย เช่น ให้รับประทานยาครั้งละ 1 ช้อนชา, 1 ช้อนโต๊ะ ซึ่ง 1 ช้อนโต๊ะ = 3 ช้อนชา

ในเรื่องการตวงเหล้า การตวงวัดในบาร์ การตวงวัดในเรื่องเกี่ยวกับการปรุงอาหาร ยังมีหน่วยอื่น ๆ บางอย่างด้วย เช่น ไพนท์ (Pint) เพค (Peck) บุเชล (Bushel) ถ้วยตวง (Cup) เป็นต้น และมีความสัมพันธ์กับหน่วยตวงอื่น ๆ เช่น 1 เพค = 8 ควอต 4 เพค = 1 บุเชล 1 ถ้วยตวง = 8 ออนซ์ เป็นต้น

มาตราตวงของไทยโบราณ แก้

มีการใช้ ทะนาน ถัง ตวงสิ่งของ ซึ่งเรามักจะคุ้นเคยกับเรื่องการตวงของแข็งมากกว่า เช่น เราคงทราบเรื่องการละเล่นของเด็กไทยอย่างหนึ่งที่มีเนื้อร้องตอนเล่น ว่า

 “รีรีข้าวสาร สองทะนานข้าวเปลือก
 เลือกท้องใบลาน เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน
 คดข้าวใส่จาน พานเอาคนข้างหลังไว้” [1]

ทะนาน เป็นเครื่องตวงอย่างหนึ่ง ทำด้วยกะลามะพร้าว [2] โดยที่ 20 ทะนานเป็น 1 ถัง แล้วยังมี ทะนานหลวง ซึ่งเท่ากับ 1 ลิตรในระบบเมตริก ด้วย

นอกจาก ถัง แล้ว ยังมีอีกคำคือ สัด ซึ่ง สัด ก็เป็นภาชนะสานที่ใช้ตวงข้าว ส่วนถังนั้นสมัยโบราณทำด้วยไม้ คงมีการใช้ ถัง กับ สัด ปน ๆ กัน แต่ถัง กับ สัด มีขนาดไม่เท่ากัน ไม่ควรใช้แทนกัน ดังมีคำกลอนจากนิราศภูเขาทองของสุนทรภู่ [3] ตอนหนึ่ง ซึ่งนำคำ ถัง กับ สัด ไปเปรียบเทียบกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ไม่ยุติธรรม ว่า

“ จะยกหยิบธิบดีเป็นที่ตั้ง ก็ใช้ถังแทนสัดเห็นขัดขวาง

จึ่งจำลาอาวาสนิราศร้าง มาอ้างว้างวิญญาณ์ในสาคร”

มีข้อมูล พระราชบัญญัติ มาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2466 (รัชกาลที่ 6)
มาตรา 13 ข้อ 2 วิธีประเพณี โดยระบุว่า นาม, อัตรา และ อักษรย่อ ตามลำดับ
  • เกวียนหลวง ให้เท่ากับ สองพันลิตร (กว.)
  • บั้นหลวง ให้เท่ากับ พันลิตร (บ.)
  • สัดหลวง ให้เท่ากับ ยี่สิบลิตร (ส.)
  • ทะนานหลวง ให้เท่ากับ หนึ่งลิตร (ท.)

(ทนาน เขียนตามที่ปรากฏใช้ในพระราชบัญญัตินี้ ปัจจุบัน พจนานุกรมใช้ ทะนาน)

ไม่มีระบุเกี่ยวกับถังว่าเป็นเท่าไร

ยังมีหน่วยโบราณอื่น ๆ ที่มีขนาดน้อยกว่า ทะนาน เป็นการวัดโดยประมาณ เช่น

  • 4 กำมือ (มุฏฐิ) = 1 ฟายมือ (กุฑวะ)
  • 2 ฟายมือ = 1 กอบมือ (ปัตถะ)
  • 2 กอบ = 1 ทะนาน (นาฬี หรือ นาลี) เป็นต้น[4]

ขนาด “ฟายมือ” คือ เต็มอุ้งมือ หรือ เต็มฝ่ามือที่ห่อเข้าไป

จะเห็นว่า หน่วยสำหรับการตวงก็มีมากพอสมควร ขึ้นอยู่กับความนิยม วัสดุรอบตัว ถัง กระบุง กะลา อวัยวะต่างๆ มือ แขน ซึ่งบางครั้งมีขนาดไม่แน่นอน อาจเกิดความไม่แน่ใจจนเกิดเป็นอุปสรรคในการวัดที่ดีพอสำหรับใช้งาน ควรเลือกใช้มาตราตวงที่มีมาตรฐานน่าเชื่อถือได้เพียงพอสำหรับการใช้งานนั้นๆ

หากจะหาปริมาตรตามหน่วยโบราณ เทียบกับหน่วยหลวง อาจคิดย้อนจาก

  • 1 หยิบมือ = 150 เมล็ดข้าวเปลือก
  • 4 หยิบมือ = 1 กำมือ = 600 เมล็ดข้าวเปลือก
  • 4 กำมือ = 1 ฟายมือ = 2,400 เมล็ดข้าวเปลือก
  • 2 ฟายมือ = 1 กอบมือ = 4,800 เมล็ดข้าวเปลือก
  • 4 กอบมือ = 1 ทะนาน = 19,200 เมล็ดข้าวเปลือก
  • 20 ทะนาน = 1 สัด = 384,000 เมล็ดข้าวเปลือก
  • 50 สัด = 1 บั้น = 19,200,000 เมล็ดข้าวเปลือก
  • 2 บั้น = 1 เกวียน หรือ 100 ถัง = 38,400,000 เมล็ดข้าวเปลือก

โดยเอาปริมาตรเมล็ดข้าวเปลือกเป็นเกณฑ์ (ไม่ทราบว่าเมล็ดข้าวเปลือกพันธุ์ใดที่โบราณใช้)

อ้างอิง แก้

  1. ผะอบ โปษะกฤษณะ, “การละเล่นของไทย”, สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ ฉบับอิเล็กทรอนิกส์, โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ , 2545
  2. ราชบัณฑิตยสถาน, “พจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493” , พิมพ์ครั้งที่ 4, 2503
  3. สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, “ชีวิตและงานของสุนทรภู่”, พิมพ์ครั้งที่ 10, สำนักพิมพ์เสริมวิทย์บรรณาคาร, 2518
  4. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส, “สารานุกรมพระพุทธศาสนา”, พิมพ์ครั้งที่ 2, มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2539
  • นิทัศน์ จิระอรุณ, “เรื่องของมาตราวัด”, ข่าวสารคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ปีที่ 11 ฉบับที่ 52, ต.ค. – ธ.ค. 2547, หน้า 1 - 4
  • ราชบัณฑิตยสถาน, “สารานุกรมไทย เล่ม 13” , พิมพ์ครั้งที่ 2, บริษัทรุ่งศิลป์การพิมพ์, 2524, หน้า 8470 - 8478
  • พระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2466,ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 40 หน้า 183 วันที่ 27 ธันวาคม
  • Bureau International des Poids et Measures,The International Sytem of Units (SI) , 8th edition 2006,Organisation Intergouvernementale de la Convention du Metre