มอญร้องไห้ หรือ นางร้องไห้ เป็นพิธีกรรมของชาวมอญ เป็นการแสดงความเคารพอาลัยและยกย่องคุณงามความดีของผู้ตาย โดยการประกอบพิธีจะมีวงปี่พาทย์มอญมาบรรเลง และจะมีคนมาร้องเพลงสวดสรรเสริญ เนื้อหาของเพลงนั้นไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับว่าผู้ตายเป็นใครและมีคุณงามความดีมากน้อยเพียงใด

มอญร้องไห้ในงานพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

ประวัติ แก้

ประวัติความเป็นมานั้นเชื่อกันว่ามาจากสมัยพุทธกาล เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ทรงแสดงปาฏิหาริย์ให้พระบาทหลุดออกมาจากโลง เพื่อให้พระมหากัสสปและศิษยานุศิษย์ที่มาหลังสุดได้บูชา ฝ่ายฆราวาสและพระภิกษุที่ยังไม่บรรลุอรหันต์ต่างพากันร้องไห้

นางร้องไห้ในราชสำนักไทย แก้

การมีนางร้องไห้ในราชสำนักอาจได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากชนชาติ “มอญ” ในประเพณีมอญมีพวกรับจ้างร้องไห้ มีเสียงร้องทำนองโอดครวญ จนนำมาตั้งเป็นชื่อทำนองเพลงว่า “มอญร้องไห้”

ในสมัยกรุงศรีอยุธยาปรากฏหลักฐานการมีนางร้องไห้ในคำให้การ “ขุนหลวงหาวัด” อธิบายถึงการจัดงานพระราชพิธีพระบรมศพของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศว่า ได้เกณฑ์นางสนมกำนัลมาเป็นนางร้องไห้ ซึ่งในการร้องไห้จะควบคู่การประโคมมโหรีปี่พาทย์ ดังนี้ ...

“แล้วจึงกะเกณฑ์ให้พระสนมกำนับทั้งปวงมานั่งห้อมล้อมพระบรมศพ แล้วก็ร้องไห้เปนเวลาหน้าที่เปนอันมาก แล้วมีนางขับรำเกณฑ์ทำมโหรี กำนัลนารีน้อยๆ งามๆ ดั่งกินนร กินนรี มานั่งห้อมล้อม ขับรำทำเพลงอยู่เปนอันมาก แล้วจึงให้ประโคมฆ้อง กลอง แตรสังข์ และมโหรีปี่พาทย์อยู่ทุกเวลา”

ธรรมเนียมการพระศพนี้ทำสืบเนื่องมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้จัดงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ซึ่งมีนางร้องไห้และประโคมกลองชนะตามเวลา เหมือนอย่างพระมหากษัตริย์แต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา วิธีการร้องไห้ต้องใช้คนจำนวนมาก ส่วนใหญจะใช้นางพระสนม นางพระกำนัลหรือผู้ที่ได้ถวายตัว มีต้นเสียง 4 คน และมีคู่ร้องรับประมาณ 80-100 คน

เมื่อครั้งงานพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้จัด “นางร้องไห้” คือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฎกุลินี (พระราชธิดาในรัชกาลที่ 4) ทรงให้เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์ เจ้าจอมพระองค์สุดท้ายในรัชกาลที่ 5 เป็นต้นเสียงร้องนำ โดยให้เจ้าจอมและพนักงานคอยร้องไห้ตามบท ในเวลาประโคมย่ำยาม คือ ย่ำรุ่ง เที่ยง ย่ำค่ำ ยามสอง ยามสาม เนื้อหาของคำร้องไห้เป็นการถวายความจงรักภักดี ที่เหล่าข้าบาทบริจาริกาขอตามไปปรนนิบัติยังสรวงสวรรค์

บทเพลง นางร้องไห้ ครั้นนั้นมีอยู่ทั้งหมด 5 บท ดังนี้

1. พระร่มโพธิ์ทอง พระพุทธเจ้าข้าเอย
พระทูลกระหม่อมแก้ว พระพุทธเจ้าข้าเอย
2. พระเสด็จไปสู่สวรรค์ชั้นใด ละข้าพระบาทยุคลไว้ พระพุทธเจ้าข้าเอย
พระทูลกระหม่อมแก้ว พระพุทธเจ้าข้าเอย
3. พระยอดฟ้า พระสุเมรุทอง พระพุทธเจ้าข้าเอย
พระทูลกระหม่อมแก้ว พระพุทธเจ้าข้าเอย
4. พระเสด็จผ่านพิภพแห่งใด ข้าพระบาทจะตามเสด็จไป พระพุทธเจ้าข้าเอย
5. พระทูลกระหม่อมแก้ว พระพุทธเจ้าข้าเอย
พระทูลกระหม่อมแก้ว พระพุทธเจ้าข้าเอย

ในวันแรกของพระราชพิธีการพระบรมศพ เมื่อการเทศนาจบลงและพระราชาคณะกำลังสวดศราธพรตอยู่นั้น เผอิญเป็นเวลาย่ำค่ำซึ่งตามพระราชพิธีจะต้องมีการประโคมย่ำยาม และนางร้องไห้ก็เริ่มร้องประชันกับเสียงพระสวด พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบันทึกไว้ว่า เสียงอึกทึกจนไม่เป็นส่ำ เป็นเหตุให้พระองค์อับอายแก่นักการทูตต่างชาติ ดังนั้นในวันต่อ ๆ มาพระองค์จึงได้ทรงยกเลิกประเพณีนางร้องไห้ ดังที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า …

“…มีสิ่งที่รู้สึกโล่งไปอย่างหนึ่ง คือนางร้องไห้ได้หยุดไปแล้วในเวลาก่อน ๆ เมื่อลงไปที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทพอถึงเวลาประโคมพระบรมศพ และนางร้องไห้เริ่มส่งเสียงขึ้นให้รู้สึกรกหูเสียจริง ๆ จะข่มใจให้นึกชอบเท่าไหร่ก็ไม่ได้เลยเพราะอดรู้สึกไม่ได้ว่า มันเปนของไม่จริงจัง ช่างเรียกชื่อผิดเสียจริงๆ เพราะมันไม่ใช่ร้องไห้ เปนร้องเพลงแท้ ๆ และเนื้อเพลงนั้น เนื้อก็ซ้ำซาก ไม่เห็นเพราะอะไร”[1]

ในพระราชพินัยกรรมของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ระบุไว้ตอนหนึ่งว่า

“ในเวลาตั้งพระบรมศพที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และในเวลาอื่น ๆ ต่อไปนี้ตลอด ห้ามมิให้มีการร้องไห้ ถ้าผู้ใดรักใคร่ข้าพเจ้า ปรารถนาจะร้องไห้ ก็ร้องไห้จริง ๆ เถิดอย่าร้องเล่นอย่างละครเลย”

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ประเพณีนางร้องไห้ในราชสำนัก สิ้นสุดลงตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

อ้างอิง แก้

  1. "ประวัติต้นรัชกาลที่ 6" ประพันธ์โดยพระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) สำนักพิมพ์ มติชน, ISBN 978-97402100-5-4
  • หนังสือธรรมเนียมพระบรมศพ และพระศพเจ้านาย : สำนักพิมพ์มติชน 2551
  • สำนักพิมพ์จดหมายเหตุ. พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้ากรุงสยาม (บางตอน) และพระราชนิพนธ์อันเป็นสุดที่รัก เรื่อง พระนล คำหลวง -- : สำนักพิมพ์จดหมายเหตุ, ISBN 974-91328-6-3
  • จากเผาจริง สู่ เผาหลอก : การเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านายสมัยรัชกาลที่ 6 นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 33 ฉบับที่ 6 เมษายน 2555