อาสนวิหารแปร์ปีญ็อง

(เปลี่ยนทางจาก มหาวิหารแปร์ปีญ็อง)

อาสนวิหารแปร์ปีญ็อง (ฝรั่งเศส: Cathédrale de Perpignan) หรือมีชื่อเต็มว่า อาสนวิหารนักบุญยอห์นผู้ให้บัพติศมาแห่งแปร์ปีญ็อง (ฝรั่งเศส: Cathédrale Saint-Jean-Baptiste de Perpignan; กาตาลา: Catedral de Sant Joan Baptista de Perpinyà) เป็นอาสนวิหารโรมันคาทอลิก เป็นที่ตั้งอาสนะของมุขนายกประจำมุขมณฑลแปร์ปีญ็อง-แอลน์ ตั้งอยู่ในเขตเมืองแปร์ปีญ็อง จังหวัดปีเรเน-ออรีย็องตาล แคว้นอ็อกซีตานี ประเทศฝรั่งเศส สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้นักบุญยอห์นผู้ให้บัพติศมา ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นอาสนวิหารจากการย้ายอาสนะของมุขนายกจากมุขมณฑลแอลน์ (เดิมอาสนะตั้งอยู่ที่อาสนวิหารแอลน์) มารวมอยู่ที่มุขมณฑลแปร์ปีญ็องเมื่อปี ค.ศ. 1602 ตามพระบัญชาของสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 8

อาสนวิหารนักบุญยอห์นผู้ให้บัพติศมา
แห่งแปร์ปีญ็อง
ด้านข้างของอาสนวิหารมองจากกัมโปซานโต
แผนที่
42°42′02″N 2°53′49″E / 42.70056°N 2.89694°E / 42.70056; 2.89694
ที่ตั้งแปร์ปีญ็อง จังหวัดปีเรเน-ออรีย็องตาล
ประเทศ ประเทศฝรั่งเศส
นิกายโรมันคาทอลิก
สถานะอาสนวิหาร
ประเภทสถาปัตย์กางเขน
รูปแบบสถาปัตย์กอธิก
แล้วเสร็จคริสต์ศตวรรษที่ 16
อนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ (ค.ศ. 1906)

อาสนวิหารแปร์ปีญ็องได้ขึ้นทะเบียนเป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์เมื่อปี ค.ศ. 1906[1]

สถาปัตยกรรม แก้

ลักษณะสถาปัตยกรรมของอาสนวิหารในปัจจุบันเป็นแบบสถาปัตยกรรมกอทิกแบบเมรีดียอนาล (gothique méridional) โดยมีบริเวณกลางโบสถ์ยาว 80 เมตร (260 ฟุต) กว้าง 18 เมตร (59 ฟุต) และสูงถึง 26 เมตร (85 ฟุต) โดยประกอบด้วยจุดตัดทั้งสิ้น 7 ช่วง นำสายตาไปสู่แขนกางเขนและมุขโค้งที่มีขนาดกว้าง

หน้าบันประตูทางเข้าหลักซึ่งมีลักษณะเหมือนยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ต่อมาภายหลังจากการบูรณะซ่อมแซมสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19 และ 20 ได้มีการสร้างหน้าต่างแบบกอทิกแทนกรอบสี่เหลี่ยมเดิมที่เคยเห็นในโปสต์การ์ดในสมัยก่อน ส่วนซุ้มประตูทางเข้าและหอนาฬิกาที่เห็นในปัจจุบันสร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 18

เครื่องเรือนและเครื่องตกแต่งภายในอาสนวิหารมีความวิจิตรอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระแท่นบูชาเอก (เป็นงานสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 16–19 พร้อมประวัติศาสตร์อันยาวนาน) ออแกน (สร้างราวปี ค.ศ. 1504 พร้อมงานลงสีและตกแต่งด้วย) งานกระจกสีแบบกอทิกฟื้นฟู (งานสมัยกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19) และที่สำคัญคือ พระเยซูตรึงไม้กางเขน (งานไม้แกะสลักสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 14) ซึ่งตั้งอยู่ในชาเปลที่ใช้ชื่อเดียวกัน

กัมโป ซานโต แก้

บริเวณทิศใต้ของอาสนวิหารเป็นที่ตั้งของ "กัมโปซานโต" (Le Campo Santo) หรืออีกชื่อหนึ่งว่า "วิหารคดนักบุญยอห์น" เป็นบริเวณวิหารคดสำหรับใช้ในงานศพ ซึ่งจัดเป็นเพียงสถานที่แห่งเดียวที่ยังคงสภาพอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ณ ปัจจุบัน ประวัติการก่อสร้างสามารถนับย้อนได้ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 14

หลังจากการปฏิวัติฝรั่งเศส มีการก่อสร้างต่อเติมบริเวณวิหารคดแห่งนี้จนกระทั่งเสียหาย จนกระทั่งปี ค.ศ. 1984 คณะกรรมการบริหารจังหวัดปีเรเน-ออรีย็องตาล ได้มีมติให้ทำลายสิ่งก่อสร้างเพิ่มเติมที่ไม่ใช้ของเดิมออกไป การบูรณะได้เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 1991

ในปัจจุบัน ยังสามารถพบช่องฝังศพบริเวณกำแพงของวิหารคดฝั่งทิศเหนือ และทิศใต้ นอกจากนั้น ยังพบอีก 5 ช่องบริเวณทิศตะวันตกซึ่งสามารถซ่อมแซมกลับขึ้นมาได้ภายหลังการบูรณะ นอกจากนี้ยังพบงานประติมากรรมปูนปั้นนูนต่ำเพื่อประดับช่องฝังศพด้วย

หอสวดศพตั้งอยู่บริเวณทิศใต้ บริเวณระเบียงทางเดิน และส่วนประกอบต่าง ๆ (เสาและหัวเสา) ที่ล้อมรอบวิหารคดได้หายไปราวคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งไปพบในภายหลังอยู่ที่คอนแวนต์ Couvent des Minimes ในแปร์ปีญ็องเพื่อใช้เป็นที่พักของชั่วคราวในระหว่างการซ่อมแซมครั้งใหญ่

ระเบียงภาพ แก้

อ้างอิง แก้

  1. http://www.culture.gouv.fr/public/mistral/merimee_fr?ACTION=CHERCHER&FIELD_1=REF&VALUE_1=PA00104067 กระทรวงวัฒนธรรมแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส