มหาวิทยาลัยพะเยา

มหาวิทยาลัยพะเยา (อังกฤษ: University of Phayao; ชื่อย่อ: มพ. – UP) เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาล ตั้งอยู่ในจังหวัดพะเยา เดิมชื่อ มหาวิทยาลัยนเรศวร วิทยาเขตพะเยา[3] ต่อมา มีการตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยพะเยา พ.ศ. 2553 เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2553[4] จึงถือได้ว่ามหาวิทยาลัยพะเยาได้แยกออกจากมหาวิทยาลัยนเรศวร และเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศอย่างเต็มรูปแบบ นับเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งที่ 79 ของไทย ถัดจากมหาวิทยาลัยนครพนม โดยในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยพะเยาทำการสอนมาแล้วกว่า 28 ปี นับตั้งแต่เป็นวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยนเรศวร

มหาวิทยาลัยพะเยา
รูปสัตภัณฑ์สีขาวหลังรูปศิลาจารึกยอดกลีบบัวสีม่วง
สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย
ชื่อเดิมมหาวิทยาลัยนเรศวร วิทยาเขตพะเยา
ชื่อย่อมพ. / UP
คติพจน์ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน
ประเภทสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ
สถาปนา17 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 (13 ปี)
งบประมาณ2,448,947,700.00 บาท (ปีงบประมาณ 2564)[1]
อธิการบดีรศ. ดร. สุภกร พงศบางโพธิ์
ผู้ศึกษา21,453 คน (ปีการศึกษา 2564)[2]
ที่ตั้ง
วิทยาเขตมหาวิทยาลัยพะเยา วิทยาเขตเชียงราย
333 หมู่ 4 บ้านฝั่งหมิ่น ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย
เพลงมาร์ชมหาวิทยาลัยพะเยา
ฟ้ามุ่ยม่วงทอง
ต้นไม้ฟ้ามุ่ย
สี
เว็บไซต์www.up.ac.th

ประวัติ แก้

 
พระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวร มหาราช ณ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มหาวิทยาลัยพะเยา

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2538 คณะรัฐมนตรี มีมติให้ขยายเขตการศึกษาไปยังส่วนภูมิภาคได้ใน 11 จังหวัด คือ จังหวัดหนองคาย พะเยา จันทบุรี แพร่ สุราษฎร์ธานี ตรัง สกลนคร กาญจนบุรี ราชบุรี ชุมพร และปราจีนบุรี ตามที่ทบวงมหาวิทยาลัยเสนอ[5] เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ในวโรกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี มหาวิทยาลัยนเรศวรจึงได้จัดทำโครงการกระจายโอกาสทางการศึกษาไปยังส่วนภูมิภาค (จังหวัดพะเยา) ของมหาวิทยาลัยนเรศวร ขึ้นเพื่อสนองนโยบายดังกล่าว โดยใช้อาคารเรียนของโรงเรียนพะเยาพิทยาคมเป็นอาคารเรียนชั่วคราว

ต่อมาในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2539 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ใช้ชื่อว่า "มหาวิทยาลัยนเรศวร วิทยาเขตสารสนเทศพะเยา"[6] และได้ย้ายมาจัดการศึกษา ณ สถานที่ปัจจุบันในปี พ.ศ. 2542

ต่อมาในคราวประชุมสภามหาวิทยาลัยนเรศวร ครั้งที่ 13 (4/2550) เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 ได้มีมติให้เปลี่ยนชื่อ มหาวิทยาลัยนเรศวร วิทยาเขตสารสนเทศพะเยา เป็น "มหาวิทยาลัยนเรศวร พะเยา" เพื่อเตรียมยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศในอนาคตต่อไป[7] หลังจากนั้นในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยพะเยา พ.ศ. ... เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2552[8][9]

ในวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยพะเยา พ.ศ. 2553 ขึ้น และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 มหาวิทยาลัยพะเยาจึงได้แยกตัวออกจากมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา[10]

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยพะเยา ตั้งอยู่ที่ตำบลแม่กา อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา มีพื้นที่ประมาณ 5,700 ไร่

การจัดการศึกษา แก้

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยพะเยา ประกอบไปด้วยหน่วยงานวิชาการที่ดำเนินการจัดการศึกษาในระดับประกาศนียบัตร ระดับปริญญาตรี และระดับบัณฑิตศึกษา จำนวน 108 สาขาวิชา แบ่งเป็นระดับปริญญาตรี 66 สาขา[11] ปริญญาโท 29 สาขา[12] และปริญญาเอก 13 สาขา[13] 17 คณะ 1 วิทยาลัย 1 โรงเรียน และ 1 วิทยาเขต ดังต่อไปนี้

ส่วนที่จัดการสอนและงานวิจัยเฉพาะระดับบัณฑิตศึกษา แก้

วิทยาเขต แก้

อันดับและมาตรฐานของมหาวิทยาลัย แก้

อันดับมหาวิทยาลัย แก้

นอกจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดยหน่วยงานในประเทศไทยแล้ว ยังมีหน่วยงานจัดอันดับมหาวิทยาลัยจากต่างประเทศอีกหลายหน่วยงาน ซึ่งแต่ละหน่วยงานมีเกณฑ์การจัดอันดับและการให้คะแนนที่แตกต่างกัน ได้แก่

อันดับมหาวิทยาลัย
อันดับในประเทศ(อันดับนานาชาติ)
สถาบันที่จัด อันดับ
UI Green (City Center) (2020) 17(260)
Webometrics (2021) 16(2111)
uniRank (2019) 21(1,908)
Impact Rankings (2021) 11(401-600)
Scimago Institutions Rankings (2021) 12(770)

การจัดอันดับโดย UI Green Metric World University Ranking แก้

เป็นการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวที่จัดโดยมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อสนับสนุนการเป็นมหาวิทยาลัยยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลก ในรอบ พ.ศ. 2560 มหาวิทยาลัยพะเยาได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวอันดับ 15 ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย และเป็นอันดับที่ 284 ของโลก[14] อันดับที่ ... ของโลกในการจัดอันดับประเภทมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ในเขตชนบท

การจัดอันดับโดย Webometrics แก้

  • การจัดอันดับ “Webometrics Ranking of World Universities” หรือ "Ranking Web of World Universities" จัดทำโดย Cybermetrics Lab หรือ Internet Lab ซึ่งเป็นกลุ่มวิจัยของสภาวิจัยแห่งชาติ ประเทศสเปน เริ่มดำเนินการตั้งแต่ ปี ค.ศ. 2004 จะมีการประกาศผลการจัดอันดับเว็บไซต์ 2 ครั้งต่อปี คือช่วงเดือนมกราคมและช่วงเดือนกรกฎาคม ของทุกปี ผ่านทางเว็บไซต์ http://www.webometrics.info ทั้งนี้ การจัดอันดับเว็บไซต์นั้นเพื่อวัดผลงานทางวิชาการที่มีการเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตนอกเหนือจากผลงานที่มีการตีพิมพ์ลงในวารสาร หรือ อื่นๆ วัดความสามารถในการเป็น “มหาวิทยาลัยอิเล็กทรอนิกส์ (E-university)”
  • การจัดลำดับโดย Webometrics เกิดจากความเชื่อที่ว่า Web จะเป็นแหล่งเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก และในที่สุด Open Access Initiatives ซึ่งเป็น web publications หรือ electronic publications จะมีผลกระทบและมีการเข้าถึงได้มากกว่าสิ่งตีพิมพ์ (Publications) ชนิดใดๆ ดังนั้น Webometrics จึงเป็นการวัดปริมาณเนื้อหาที่สร้างขึ้น เน้นการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ ผ่านทางเว็บไซต์ การปรากฏตัวบนอินเทอร์เน็ต และดูจำนวน Link จากเว็บไซต์ภายนอกทั่วโลกที่ทำ Link มายังเว็บเพจ หรือวัดผลกระทบการอ้างอิง ตามจำนวนของ link ที่ได้รับจากภายนอก (external inlinks / sitations หรือ site citations) ซึ่งจะแสดงถึง visibility และ impact ของ web publications นั้นๆ จากกนั้นทำการจัดลำดับ โดยใช้ดัชนี Web Impact Factor (WIF) ซึ่งใช้หลักการที่ดัดแปลงและประยุกต์มาจาก Journal Impact Factor (JIF) ของฐานข้อมูล Thomson's ISI Journal Citation Reports (JCR)
  • ผลการจัดอันดับ รอบที่ 2 ปี 2020 รอบเดือน กรกฎาคม 2563 มหาวิทยาลัยพะเยา อยู่ใน ลำดับที่ 16 ของประเทศ และอันดับที่ 1,972 ของโลก จากอันดับเดิมที่ 37 ของประเทศ และอันดับที่ 4,621 ของโลก ขยับขึ้นมา 21 อันดับในไทย และขึ้นมา 2,649 อันดับของโลก[15]

เกณฑ์การจัดอันดับของ Webometrics ประกอบด้วย

  1. Presence (5%) จำนวนการเผยแพร่หรือการแชร์เนื้อหาบทความที่ถูกค้นพบในผลการค้นหาของ Google search engine ทั้งหมดในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย และเว็บย่อยภายใต้โดเมน (domain name) เดียวกัน (วัดด้วย Google)
  2. Visibility (50%) จำนวนการอ้างอิงจากเว็บไซต์อื่น (backlinks) กลับมายังเว็บของมหาวิทยาลัย (วัดด้วย การคำนวณจะใช้ค่าเฉลี่ยจาก Ahrefs และ Majestic)
  3. Transparency or Openness (10%) จำนวนการถูกอ้างอิง (citation) ของผลงานวิชาการ 110 ผู้เขียนแรก ที่อยู่ในฐานข้อมูล Google Scholar (วัดด้วย Google Scholar Citation)
  4. Excellence or Scholar (35%) จำนวนบทความวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร ของงานวิจัยหรือเอกสารวิชาการที่ถูกนำไปอ้างอิงมากที่สุดในแต่ละสาขาวิชา ในระยะเวลา 5 ปี (2013 – 2017) ที่มีการถูกอ้างอิงสูงสุด 10 % แรกในฐานข้อมูล Scimago

การจัดอันดับโดย uniRank แก้

uniRank เป็นการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดยหน่วยงานไม่แสวงหากำไร IREG Observatory ที่ประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงการศึกษาจากหลายสถาบัน และจดทะเบียนหน่วยงานอยู่ในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม อันดับของ uniRank จะอาศัยการรวบรวมข้อมูลตัววัดเว็บ (web metrics) 5 ฐานข้อมูลได้แก่ 1. Moz Domain Authority 2. Alexa Global Rank 3. SimilarWeb Global Rank 4. Majestic Referring Domains 5. Majestic Trust Flow โดยการจัดอันดับประจำปี ค.ศ. 2019 มหาวิทยาลัยพะเยาอยู่ในอันดับที่ 21 ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยภายในประเทศไทย และอยู่ในอันดับที่ 1,908 ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยทั่วโลก [16]

The Times Higher Education University Impact Rankings แก้

เป็นการจัดอันดับโลกเรื่องตารางประสิทธิภาพ ที่ประเมินมหาวิทยาลัยกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ ซึ่งใช้ตัวบ่งชี้ที่อย่างละเอียดเพื่อให้การเปรียบเทียบเป็นไปอย่างครอบคลุม และมีความสมดุลในสามด้านกว้างๆ ได้แก่ งานวิจัย, การเผยแพร่ และการให้บริการ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติมีทั้งหมด 17 ด้าน แต่ในการจัดอันดับนี้จะมีเพียง 11 ด้านเท่านั้นที่ The Times Higher Education มองว่าเกี่ยวกับพันธกิจของมหาวิทยาลัย และนำมาจัดอันดับ ได้แก่ ด้านที่ 3: การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good health and well-being) ด้านที่ 4: การศึกษาที่เท่าเทียม (Quality education) ด้านที่ 5: ความเท่าเทียมทางเพศ (Gender equality) ด้านที่ 8: การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Decent work and economic growth) ด้านที่ 9: อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน (Industry, innovation, and infrastructure) ด้านที่ 10: การลดความเหลื่อมล้ำ (Reduced inequalities) ด้านที่ 11: การพัฒนาเมืองและสังคมอย่างยั่งยืน (Sustainable cities and communities) ด้านที่ 12: การบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน (Responsible consumption and production) ด้านที่ 13: การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate action) ด้านที่ 16: สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก (Peace, justice and strong institutions) ด้านที่ 17: ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Partnerships for the goals) โดยการจัดอันดับประจำปี ค.ศ. 2020 มหาวิทยาลัยพะเยาอยู่ในอันดับที่ 11 ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยภายในประเทศไทย และอยู่ในอันดับที่ 401-600 ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยทั่วโลก[17]

Scimago Institutions Rankings แก้

ผลการจัดอันดับสถาบันการศึกษา Scimago Institutions Rankings 2020 ได้รับการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ [18] ซึ่งผลการจัดอันดับประเภทภาพรวม (Overall Rank) ปรากฏว่ามีมหาวิทยาลัยในไทยติดอันดับจำนวน 26 แห่ง โดยผลการจัดอันดับ มหาวิทยาลัยพะเยา ติดอันดับที่ 20 ของไทย อันดับที่ 777 ของโลก

  • 1. ด้านการวิจัย ติดอันดับที่ 9 ของไทย อันดับที่ 430 ของโลก
  • 2. ด้านนวัตกรรม ติดอันดับที่ 18 ของไทย อันดับที่ 520 ของโลก
  • 3. ด้านสังคม ติดอันดับที่ 13 ของไทย อันดับที่ 234 ของโลก

Scimago Institutions Rankings เป็นการจัดอันดับจากองค์การในประเทศสเปน ทำการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา โดยมีเกณฑ์ในการพิจารณาจากผลงาน 3 ด้าน ได้แก่

  • 1. ด้านการวิจัย อ้างอิงผลข้อมูลจาก Scopus
  • 2. ด้านนวัตกรรม พิจารณาข้อมูลมาจาก PATSTAT
  • 3. ด้านสังคม ข้อมูลจากเว็บไซต์ต่าง ๆ

อ้างอิงจากเว็บไซต์ :[19]

พื้นที่มหาวิทยาลัย แก้

 
ลานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มหาวิทยาลัยพะเยา

พื้นที่การศึกษา แก้

มหาวิทยาลัยพะเยา มีพื้นที่จัดการศึกษา 3 แห่งดังนี้

  1. พื้นที่แม่กา ณ ตำบลแม่กา อำเภอเมืองพะเยา เป็นพื้นที่หลักในการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยมีเนื้อที่ประมาณ 5,700 ไร่ อยู่ห่างจากตัวเมืองพะเยาไปทางทิศใต้ 20 กิโลเมตร ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 19 หมู่ที่ 2 ถนนพหลโยธิน ตำบลแม่กา อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา แรกเริ่มเปิดทำการสอนได้ใช้อาคารเรียน โรงเรียนพะเยาพิทยาคมเป็นการชั่วคราว เมื่อก่อสร้างอาคารต่างๆแล้วเสร็จได้ย้ายมาทำการเรียนการสอนสถานที่ตั้งปัจจุบัน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา
  2. พื้นที่วิทยาเขตเชียงราย เป็นพื้นที่จัดการศึกษาเฉพาะหลักสูตรบัณฑิตศึกษา วิทยาเขตเชียงรายตั้งอยู่ริมแม่น้ำกก บนเนื้อที่ 25 ไร่บริเวณศูนย์ราชการจังหวัดเชียงราย บ้านฝั่งหมิ่น เลขที่ 333 หมู่ 4 ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย
  3. พื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นที่ตั้งของวิทยาลัยการจัดการ กรุงเทพมหานคร มีสถานะเป็นหน่วยงานวิชาการระดับเทียบเท่าคณะ จัดการศึกษาเฉพาะหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา(ปริญญาโทและเอก) มีที่ตั้ง ณ เลขที่ 55 ชั้น 8 อาคารเวฟเพลส ถนนวิทยุ (อาคารเชื่อม BTS สถานีเพลินจิต) เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร

สถานที่สำคัญภายในมหาวิทยาลัย แก้

  • หอประชุมพญางำเมือง ได้รับการออกแบบโดยจุลทัศน์ กิติบุตร ศิลปินแห่งชาติ สาขาสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัย รูปทรงของอาคารเป็นแนวศิลปะล้านนาร่วมสมัย แบ่งพื้นที่ใช้สอยออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ห้องประชุมขนาด 4000 ที่นั่ง ลานอเนกประสงค์ และห้องสำนักงาน ปัจจุบันใช้สำหรับพระราชทานปริญญาบัตร ให้กับผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย และจัดกิจกรรมที่สำคัญของมหาวิทยาลัย
  • อาคารสำนักงานอธิการบดี สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2540 ลักษณะอาคารแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 ชั้น สถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ พื้นที่ใช้สอยประมาณ 8,600 ตารางเมตร ประกอบไปด้วยห้องทำงานผู้บริหาร ห้องประชุมและห้องสำนักงานกองงานต่างๆ ได้ทำการปรับปรุงใหม่เนื่องจากถูกไฟไหม้ใหญ่ในปี พ.ศ. 2552 เพื่อให้เข้ากับลักษณะทางภูมิทัศน์กับหอประชุมพญางำเมืองซึ่งเป็นอาคารหอประชุมใหญ่ที่อยู่บริเวณเดียวกัน ปัจจุบันเป็นห้องทำงานของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย ห้องประชุมบวรรัตนประสิทธิ์ ห้องประชุมชูชาติ กีฬาแปง สำนักงานกองงานต่าง ๆ ประกอบไปด้วย กองกลาง กองบริการการศึกษา กองแผนงาน กองการเจ้าหน้าที่ กองคลัง กองบริหารงานวิจัยและประกันคุณภาพการศึกษา กองอาคารสถานที่ สำนักงานสภามหาวิทยาลัย และเคาน์เตอร์บริการไปรษณีย์มหาวิทยาลัยพะเยา
  • อาคารเรียนรวมหลังเก่า (ภูกามยาว; PKY) สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2540 ลักษณะอาคารแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 ชั้น พื้นที่ใช้สอยประมาณ 18,400 ตารางเมตร เมื่อย้ายการเรียนการสอนจากโรงเรียนพะเยาพิทยาคมมาอยู่ที่อาคารเรียนรวมยังไม่มีหอพักนิสิต มหาวิทยาลัยจึงแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งทำการเรียนการสอน หอพักนิสิต โรงอาหาร ห้องทำงานของเจ้าหน้าที่ ห้องทำงานของอาจารย์ ห้องสมุด หลังจากที่สร้างสำนักงานอธิการบดีใหม่แล้วเสร็จ จึงย้ายห้องทำงานของกองเจ้าหน้าที่ ไปอยู่ ณ สำนักงานอธิการบดีใหม่ ปัจจุบันอาคารเรียนรวมได้ปรับปรุงใหม่ให้เป็นห้องเรียนและสำนักงานของ 3 คณะและ 1 วิทยาลัย ได้แก่ 1. คณะนิติศาสตร์ 2. คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ 3. คณะบริหารธุรกิจและนิเทศศาสตร์ 4. วิทยาลัยการศึกษาและธนาคารไทยพาณิชย์ สาขามหาวิทยาลัยพะเยา
  • อาคารเรียนรวมหลังใหม่ (CE) และศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา เป็นอาคาร 3 ชั้น มีพื้นที่ทั้งหมด 11,213 ตารางเมตร ประกอบไปด้วย ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มีที่นั่งอ่านทั้งหมด 600 ที่นั่ง ห้องเรียน ห้องประชุม โรงอาหาร ศูนย์ภาษามหาวิทยาลัยพะเยา
  • กลุ่มอาคารหอพักนิสิต เนื่องจากมหาวิทยาลัยพะเยามีนโยบายรับนิสิตพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในเขตพื้นที่ให้บริการและนอกพื้นที่ให้บริการ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่มหาวิทยาลัยควรมีพอพักให้นิสิตที่ไม่สะดวกในเรื่องการเดินทางมาศึกษาโดยมหาวิทยาลัยมีหอพักไว้ให้บริการนิสิตภายในมหาวิทยาลัย ประกอบไปด้วย หอพักของมหาวิทยาลัยเอง (หอพัก มพ.) และหอพักในกำกับมหาวิทยาลัย (หอพัก UP DORM) รองรับนิสิตได้มากกว่า 5,000 คน ได้แก่
    • หอพักนิสิต UP DORM (University of Phayao Dormitory; UP DORM) จำนวน 32 หลัง
    • หอพักนิสิตมหาวิทยาลัยพะเยา (หอ มพ. หรือ หอเขียว) จำนวน 18 หลัง
  • ลานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งจำลองรูปแบบจาก พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก โดยได้รับความอนุเคราะห์จากกรมศิลปากรส่งเจ้าหน้าทีเป็นที่ปรึกษาในการสร้างพระบรมรูป เป็นรูปแบบในท่าประทับนั่ง พระหัตถ์ขวาทรงสุวรรณภิงคาร หลั่งทักษิโณทกประกาศอิสรภาพ มีขนาดขนาด 2.5 เท่าของพระองค์จริง ความสูงของพระบรมรูป จากพื้นแท่นประดิษฐานถึงยอดพระเศียร 4.40 เมตร น้ำหนักประมาณ 4,000 กิโลกรัม ทำด้วยโลหะสัมฤทธิ์ ซึ่งได้มีพิธีเททองหล่อองค์พระบรมรูปเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 และได้นำขึ้นประดิษฐานเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
  • ประตูทางเข้ามหาวิทยาลัย ประตูทางเข้ามหาวิทยาลัยมีลักษณะเป็นซุ้มประตูสีขาวขนาดใหญ่ซุ้มประตูด้านซ้ายมีคำว่า UNIVERSITY OF PHAYAO และ Wisdom for Community Empowerment ประดับอยู่ ด้านขวามีคำว่า มหาวิทยาลัยพะเยา และ ปญฺญาเสฏฺฐชีวี นาม ดำรงชีวิตด้วยปัญญาประเสริฐที่สุด ประดับอยู่ ตรงกลางระหว่างซุ้มประตูมีตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยทำด้วยปูนปั้น
  • ลานพระพุทธภุชคารักษ์ เป็นสถานที่ประดิษฐาน พระพุทธภุชคารักษ์ พระพุทธรูประจำมหาวิทยาลัย ตั้งอยู่บนเนินเขาด้านหลังอาคารหอประชุมพญางำเมืองถัดจากอ่างหลวง
  • อาคารเวียงพะเยา
  • คณะแพทยศาสตร์และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยพะเยาและธนาคารกรุงไทย สาขามหาวิทยาลัยพะเยา
  • คณะทันตแพทยศาสตร์และโรงพยาบาลทันตกรรมมหาวิทยาลัยพะเยา
  • โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยพะเยา
  • อาคารเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
  • กลุ่มอาคารเรียนคณะวิทยาศาสตร์ เกษตรศาสตร์และสิ่งแวดล้อม สถาปัตยกรรมศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์
  • กลุ่มอาคารเรียนคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ เภสัชศาสตร์และพยาบาลศาสตร์
  • อาคารสงวนเสริมศรี
  • อาคาร 99 ปี พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ปวง ธัมปัญโญ)
  • ประตูศรีโคมคำ
  • สวนรักและสวนแฟนฉัน
  • อ่างหลวง

ชีวิตในมหาวิทยาลัย แก้

มหาวิทยาลัยพะเยา มีสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อบริการนิสิตภายในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ดังนี้

การเดินทางภายในมหาวิทยาลัย แก้

มหาวิทยาลัยจัดรถบัสโดยสารพลังงาน NGV ฟรี เดินทางโดยรอบมหาวิทยาลัย รถออกระยะห่างประมาณ 5 นาทีต่อเที่ยว บริการตั้งแต่เวลา 06.30 น. - 22.00 น. ไม่มีวันหยุด โดยมีจุดรับส่งเส้นทางตั้งแต่ หน้ามหาวิทยาลัยถึงจุดเปลี่ยนรถ (บริเวณอาคารเรียนรวมหลังเก่าหรือตึกภูกามยาว PKY) และจากจุดเปลี่ยนรถจนถึงหอพักนิสิตในกำกับมหาวิทยาลัย (UP DORM)

กิจกรรมนิสิต แก้

มหาวิทยาลัยมีกิจกรรมต่าง ๆ ให้นิสิตได้ร่วมระหว่างศึกษาเพื่อเสริมทักษะการอยู่ร่วมในสังคม ไม่ว่าจะเป็น ชมรม ชุมนุม กิจกรรมสาขา งานกีฬาต่าง ๆ วงดนตรีลูกทุ่งมหาวิทยาลัยพะเยา โดยแบ่งออกเป็น กิจกรรมส่วนกลางโดย องค์การนิสิตมหาวิทยาลัยพะเยา (อ.มพ.) เป็นผู้ดำเนินโครงการ กิจกรรมส่วนของคณะโดย สโมสรนิสิตแต่ละคณะทั้งหมด 15 คณะ 2 วิทยาลัย กิจกรรมเลือกเสรี คือชมรมต่าง ๆ และมหาวิทยาลัยพะเยาเป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียว ที่มีการจัดกิจกรรมอีกรูปแบบหนึ่ง เรียกว่า กิจกรรมเวียง ซึ่งมีบางอย่างคล้ายกับรูปแบบในระบบคอลเลจของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดและมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ โดยทั้งนี้กิจกรรมเวียงแบ่งออกเป็น 6 เวียง คือ

  • เวียงกาหลวง
  • เวียงจอมทอง
  • เวียงบัว
  • เวียงเชียงแรง
  • เวียงน้ำเต้า
  • เวียงลอ

ทั้งนี้เวียงคือระบบการปกครองหนึ่งซึ่งครั้งอดีต อาณาจักรภูกามยาว (พะเยา) ได้ปกคตรองในระบอบนี้ และทั้งนี้ยังมี สภานิสิตมหาวิทยาลัยพะเยา (ส.มพ.) เป็นผู้ดูแล รักษาสิทธิ พิทักษ์ผลประโยชน์ และชีวิตความเป็นอยู่ของนิสิตภายในมหาวิทยาลัยอีกทางหนึ่งด้วย

พิธีพระราชทานปริญญาบัตร แก้

ปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการประกอบพิธีต่างๆ ในกิจการของมหาวิทยาลัยพะเยา และพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตของมหาวิทยาลัยพะเยาเป็นประจำทุกปีนับแต่แรกเริ่มก่อตั้งจวบจนกาลปัจจุบัน โดยพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยจัดขึ้นในช่วงเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ ณ หอประชุมพญางำเมือง มหาวิทยาลัยพะเยา

ปริญญากิตติมศักดิ์ แก้

พระบรมวงศานุวงศ์ที่มหาวิทยาลัยทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ปริญญากิตติมศักดิ์

พระบรมวงศานุวงศ์ที่มหาวิทยาลัยทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญากิตติมศักดิ์
ปีการศึกษา สาขาวิชา รายพระนามพระบรมวงศานุวงศ์ที่มหาวิทยาลัยทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย
2554
1. ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการจัดการธุรกิจ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
2.ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการบริหารการศึกษา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี
2556
1. ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

บุคคลที่มหาวิทยาลัยถวาย/อนุมัติ ปริญญากิตติมศักดิ์

บุคคลที่มหาวิทยาลัยถวาย/อนุมัติ ปริญญากิตติมศักดิ์
ปีการศึกษา สาขาวิชา รายพระนามและรายนามบุคคลที่มหาวิทยาลัยถวาย/อนุมัติ ปริญญากิตติมศักดิ์
2554
1. ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพัฒนาสังคม พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ปวง ธมฺมปญฺโญ)
2.ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ พระธรรมสิงหบุราจารย์ (จรัญ ฐิตธมฺโม)
2556
1. ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาเภสัชศาสตร์ เภสัชกรหญิง ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร
2.ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์  สาขาวิชาการบริหารการศึกษา นายสมประสงค์ มั่งอะนะ
2557
1. ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการจัดการธุรกิจ คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี
2. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์  สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ นายวีระยุทธ ปั้นน่วม
3. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์  สาขาวิชาแพทย์แผนจีน ศาสตราจารย์หวาง เซิ่ง เหลียง
2558
1. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล
2. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์  สาขาวิชาพัฒนาสังคม ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ
3.ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์  สาขาวิชาดุริยางคศาสตร์สากล รองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข
2559
1. การศึกษาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์  สาขาวิชาการบริหารการศึกษา สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อมฺพโร)
2560
การศึกษาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์  สาขาวิชาการบริหารการศึกษา พระธรรมมงคลญาณ (วิริยังค์ สิรินฺธโร)
2. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์  สาขาวิชาชีววิทยา ดร.วีระชัย ณ นคร
3. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์  สาขาวิชารัฐศาสตร์ นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร
2561
1. การศึกษาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ พระเมธีวชิโรดม (วุฒิชัย วชิรเมธี)
2562
1. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภาษาไทย นายพิบูลศักดิ์ ละครพล
2. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาเภสัชศาสตร์ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เภสัชกรหญิงกฤษณา ไกรสินธุ์
3. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศิลปะและการออกแบบ นายเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์
2564
  1. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพัฒนาสังคม
พระพรหมวริชคุณ (ไพบูลย์ สุมังคโล)
2. การศึกษาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการบริหารการศึกษา คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา
3. วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาแพทยศาสตร์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงสมศรี เผ่าสวัสดิ์
4. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชารัฐศาสตร์ นายวิทยา อาคมพิทักษ์

การรับบุคคลเข้าศึกษาต่อ แก้

ระดับปริญญาตรี แก้

การรับบุคคลเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยพะเยาเป็นไปตามระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในระบบคัดเลือกรวม (Thai university Central Admission System: TCAS) โดยเริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 เป็นต้นไป โดยปัจจุบันแบ่งเป็น 4 รอบดังนี้

  1. รอบที่ 1 การรับด้วย Portfolio
    1. โครงการรับตรงมหาวิทยาลัยพะเยา (โควต้าครูแนะแนว)
    2. โครงการรับตรงมหาวิทยาลัยพะเยา (โควต้าคณะ)
    3. โครงการรับตรงมหาวิทยาลัยพะเยา (โควต้านักเรียนเรียนดี)
    4. โครงการรับตรงมหาวิทยาลัยพะเยา (โควต้าผลิตบุคลากรทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ)
    5. โครงการรับตรงมหาวิทยาลัยพะเยา (โควต้ารับนักศึกษาอาชีวศึกษาสู่มหาวิทยาลัยพะเยา)
    6. โครงการรับตรงมหาวิทยาลัยพะเยา (โควต้ารับนักเรียนโครงการ วมว.)
    7. โครงการรับตรงมหาวิทยาลัยพะเยา (โควต้าเด็กดีมีที่เรียน)
  2. รอบที่ 2 การรับแบบโควตา ที่มีการจัดสอบข้อเขียน มีโครงการที่เปิดรับสมัครดังนี้
    1. โครงการรับตรงโรงเรียนในเขตพื้นที่บริการ
    2. โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท กลุ่มแพทย์เพื่อชุมชน (Community Track)
    3. โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท กลุ่มลดความเหลื่อมล้ำ (Inclusive Track)
    4. โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท กลุ่มสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีลาเรียน (Strengthening Track)
    5. หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต โครงการโควตาแหล่งฝึก
    6. หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต โครงการผลิตพยาบาลชุมชนคืนถิ่น
    7. โครงการผลิตทันตแพทย์ในเขตพื้นที่ทรงงาน
    8. โครงการรับนิสิตหลักสูตรทันตแพทยศาสตร์บัณฑิต
    9. โครงการนักเรียนเรียนดีสู่นิสิตทันตแพทย์
  3. รอบที่ 3 การรับแบบ Admissions
  4. รอบที่ 4 การรับตรงอิสระ

บัณฑิตศึกษา แก้

ประเพณีและกิจกรรมที่สำคัญภายในรั้วมหาวิทยาลัย แก้

  • Open UP

เป็นกิจกรรมแรกของการเข้าสู่มหาวิทยาลัยของนิสิตชั้นปีที่หนึ่ง โดยจะมีการกล่าวต้อนรับของผู้บริหารมหาวิทยาลัยฯ กิจกรรมการต้อนรับและแสดงของนิสิตรุ่นพี่ โดยมีองค์การนิสิตมหาวิทยาลัยพะเยา(อ.มพ.) เป็นผู้ดำเนินโครงการ และนิสิตรุ่นพี่จากทั้งหมด 17 คณะ 1 วิทยาลัย โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 - ปัจจุบัน (เดิมชื่อกิจกรรม First Step Camp)

  • พิธีไหว้ครู

พิธีไหว้ครูของมหาวิทยาลัย จัดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน ของทุกปี เพื่อให้นิสิตได้ระลึกถึงพระคุณครูบาอาจารย์ นอกจากนี่ยังมีกิจกกรรมการมอบทุนการศึกษาให้แก่นิสิต และมอบรางวัลนิสิตยอดเยี่ยมและดีเด่นในสาขาต่างๆ เพื่อเป็นกำลังใจในการศึกษาอีกด้วย

  • วันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยพะเยา

วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 ถือเป็นวันมหามงคล เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม สถานปนามหาวิทยาลัยพะเยา โดยยกฐานะขึ้นจากมหาวิทยาลัยนเรศวร พะเยา ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยพะเยาในราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 และให้มีผลในวันถัดไป ดังนี้จึงถือว่า วันที่ 17 กรกฎาคม ของทุกปีเป็นวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยพะเยา โดยมีกิจกรรมและการแสดงหลากหลายที่ยิ่งใหญ่ในวันดังกล่าวทุกปี

  • พิธีบวงสรวงสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและประเพณีเดินเข้ามอ

พิธีบวงสรวงสมเด็จพระนเรศวรมหาราช "ศักดิ์ศรี ศักดิ์สิทธิ์ สัมฤทธิ์พระนาม" เป็นกิจกรรมที่นับว่าเป็นกิจกรรมที่นิสิตใหม่ทุกคน ต้องได้เข้าร่วมและต่างภาคภูมิใจ เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่ยิ่งใหญ่และศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเป็นการระลึกถึงสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ผู้ทรงคุณูปการต่อแผ่นดินไทย และระลึกถึงมหาวิทยาลัยนเรศวรที่เป็นมหาวิทยาลัยที่ก่อตั้ง ก่อนจะเป็นมหาวิทยาลัยพะเยาในปัจจุบัน และกิจกรรมเดินเข้ามหาวิทยาลัยนี้เป็นกิจกรรมที่สานต่อประเพณีอันดีงาม โดยการนำชื่อของเวียงแต่โบราณของจังหวัดพะเยามาใช้เป็นชื่อของกลุ่มนิสิตที่ดำเนินกิจกรรม เชื่อมโยงความสัมพันธ์กับชุมชนในท้องถิ่นจังหวัดพะเยา นำเอาอัตลักษณ์มาประยุกต์เป็นแนวคิดสร้างสรรค์ก่อเกิดประโยชน์ต่อไป ซึ่งแต่ละเวียงก็จะมีรูปแบบการจัดขบวนที่แตกต่างกันตามปรัชญาของเวียง โดยเน้นศิลปวัฒนธรรมทางล้านนา โดยมีงาน แสง สี เสียง สุดอลังการ

  • Fresher Day & Fresher Night Party

กิจกรรมของนิสิตใหม่ ที่จัดโดยองค์การนิสิตมหาวิทยาลัยพะเยา (อ.มพ.) โดยแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงกลางวัน จะเป็นการแข่งขันกีฬาภายในโดยจัดแข่งขัน ผู้นำเชียร์ สแตนด์เชียร์ กีฬาชนิดต่างๆ จากทั้ง 17 คณะและ 1 วิทยาลัย และในช่วงกลางคืน จะเป็นกิจกรรมประกวดดาวเดือนของมหาวิทยาลัย โดยภายในมีกิจกรรมการแสดงของผู้เข้าประกวดดาวเดือนจากทุกคณะ/วิทยาลัย และมีการแสดงของศิลปิน ดารา นักแสดงที่มีชื่อเสียง โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานบริษัทภาคเอกชนด้วย

งานเทางามสัมพันธ์ แก้

 
ตราสัญลักษณ์กิจกรรมเทางามสัมพันธ์ ครั้งที่ 25

กิจกรรมเทางามสัมพันธ์ เกิดขึ้นหลังจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒวิทยาเขตต่าง ๆ ได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยใหม่ ซึ่งประกอบด้วย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยทักษิณ แม้ว่าวิทยาเขตต่าง ๆ จะได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศ แต่ด้วยความตระหนักถึงความผูกพันทั้ง 5 มหาวิทยาลัย จึงมีปณิธานที่จะร่วมมือกันในภารกิจอันควรแก่มหาวิทยาลัย ดังนั้นจึงได้ร่วมมือกันจัดงานเทา-งามสัมพันธ์ ขึ้น โดยใช้สี “เทา” ซึ่งเป็นสีประจำโดยรวมของทุกวิทยาเขตเป็นพื้นฐาน และเพิ่มคำว่า “งาม” ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายและมีคุณค่ายิ่ง มีความหมายรวมเป็น “เทา-งามสัมพันธ์” ในปี 2538 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลา หรือมหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นเจ้าภาพโดยมีรูปแบบกิจกรรมที่เน้นด้านกีฬาและด้านศิลปวัฒนธรรมเป็นหลัก

ต่อมาในปี พ.ศ. 2539 ทั้ง 5 มหาวิทยาลัย โดยอธิการบดีร่วมเล็งเห็นความสำคัญต่อภารกิจของมหาวิทยาลัยและประเทศชาติ จึงได้ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือมหาวิทยาลัยในเครือเทา-งามสัมพันธ์ เป็นต้นมา ซึ่งมีข้อตกลงชัดเจนใน 4 ด้าน คือ ด้านการวิจัย ด้านการบริหารวิชาการแก่สังคม ด้านการสร้างความสามัคคีระหว่างมหาวิทยาลัยในเครือเทา-งาม ตลอดจนถึงการทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและการกีฬา และด้านการพัฒนาองค์กรบริหาร การจัดการและวิชาการ

ในปี พ.ศ. 2565 มหาวิทยาลัยพะเยา เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือเทางามอย่างเป็นทางการ เป็นมหาวิทยาลัยที่ 6 ของกลุ่ม และปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยในเครือทั้งสิ้น 6 แห่งด้วยกัน คือ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, มหาวิทยาลัยบูรพา, มหาวิทยาลัยนเรศวร, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาวิทยาลัยทักษิณ และมหาวิทยาลัยพะเยา (อนึ่ง มหาวิทยาลัยพะเยา เป็นมหาวิทยาลัยเดียวที่ไม่ได้ใช้สีเทาเป็นสีประจำมหาวิทยาลัย และเป็นมหาวิทยาลัยเดียวที่ไม่ได้เกี่ยวข้องในการเป็นวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒโดยตรงเหมือนอีก 4 แห่ง แต่แยกตัวมาจากวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยนเรศวร) และปี 2568 มหาวิทยาลัยพะเยาจะเป็นเจ้าภาพโครงการเทางามสัมพันธ์ ครั้งที่ 27 โดยจะรับเป็นเจ้าภาพถัดจากมหาวิทยาลัยทักษิณ

การเดินทาง แก้

การเดินทางสู่มหาวิทยาลัย แก้

การเดินทางโดยรถยนต์

  1. เส้นทางกรุงเทพมหานคร - พะเยา (กรุงเทพฯ - นครสวรรค์ - กำแพงเพชร - ตาก - ลำปาง - พะเยา) ใช้ทางหลวงหมายเลข 32 (สายเอเชีย) ผ่านจังหวดพระนครศรีอยุทธยา อ่างทอง สิงห์บุรี นครสวรรค์ เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 1 ที่นครสวรรค์ ผ่านอำเภอคลองคลุง จังหวัดกำแพงเพชร ตาก ผ่านอำเภอเถิน อำเภอสบปราบ อำเภองาว จังหวัดลำปาง เข้าสู่จังหวัดพะเยา ระยะทางประมาณ 730 กิโลเมตร
  2. เส้นทางกรุงเทพมหานคร - พะเยา (กรุงเทพฯ - นครสวรรค์ - พิษณุโลก - อุตรดิตถ์ - แพร่ - พะเยา) ใช้ทางหลวงหมายเลข 32 (สายเอเชีย) ผ่านจังหวดพระนครศรีอยุทธยา อ่างทอง สิงห์บุรี นครสวรรค์ เลี้ยวขวาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 117 จนถึงพิษรุโลก แยกซ้ายเข้าสู่งทางหลวงหมายเลข 12 ไปจนถึงสุโขทัย เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 101 ผ่านอำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 103 ผ่านอำเภอร้องกวาง เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 1 ผ่านอำเภองาว เข้าสู่จังหวัดพะเยา ระยะทางประมาณ 690 กิโลเมตร

การเดินทางภายในมหาวิทยาลัย แก้

การเดินทางภายในมหาวิทยาลัยพะเยา เนื่องจากมหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้นำรถจักรยานยนต์เข้าไปภายในมหาวิทยาลัยได้ จึงสามารถเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคลหรือเดินทางด้วยรถโดยสารที่มหาวิทยาจัดไว้ให้ ซึ่งมี 2 สายการเดินรถได้แก่

  1. สายที่ 1 สายหน้ามอ เป็นสายการเดินรถจากหน้ามหาวิทยาลัยไปยังอาคารเรียนรวมหลังเก่า แบ่งออกเป็น 2 สายย่อย
    1. สายย่อยที่ 1 (UP เลขคี่)
      • ขาเข้า จากหน้ามหาวิทยาลัย - โรงพยาบาลทันตกรรม - ลานเรือนเอื่องคำ - คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร - หอประชุมพญางำเมือง - อาคารสำนักงานอธิการบดี - อาคารเรียนรวม (PKY)
      • ขาออก จากอาคารเรียนรวม (PKY) - อาคารเรียนรวม CE - คณะวิทยาศาสตร์ - คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร - ลานเรือนเอื่องคำ - โรงพยาบาลทันตกรรม - หน้ามหาวิทยาลัย
    2. สายย่อยที่ 2 (UP เลขคู่)
      • ขาเข้า จากหน้ามหาวิทยาลัย - โรงพยาบาลทันตกรรม - ลานเรือนเอื่องคำ - คณะวิศวกรรมศาสตร์ - หอประชุมพญางำเมือง - อาคารสำนักงานอธิการบดี - อาคารเรียนรวม (PKY)
      • ขาออก จากอาคารเรียนรวม (PKY) - อาคารเรียนรวม CE - คณะวิทยาศาสตร์ - คณะวิศวกรรมศาสตร์ - ลานเรือนเอื่องคำ - โรงพยาบาลทันตกรรม - หน้ามหาวิทยาลัย
  2. สายที่ 2 สายหอพัก/โรงเรียนสาธิต มพ. จากอาคารเรียนรวม (PKY) - ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา - UP DORM - สนามกีฬา/โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยพะเยา

การบริหารงาน แก้

ทำเนียบนายกสภามหาวิทยาลัย แก้

ทำเนียบนายกสภามหาวิทยาลัย
ลำดับ รายนามนายกสภามหาวิทยาลัย วาระการดำรงตำแหน่ง
1
ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ คุณหญิง ไขศรี ศรีอรุณ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2553 – 28 ตุลาคม พ.ศ. 2556 [20]
29 ตุลาคม พ.ศ. 2556 – 28 ตุลาคม พ.ศ. 2559 [21] (วาระที่ 2)
2 มีนาคม พ.ศ. 2560 – 1 มีนาคม พ.ศ. 2563 [22] (วาระที่ 3)

หมายเหตุ คำนำหน้านามของผู้ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย เป็นคำนำหน้านามในขณะนั้น

ทำเนียบอธิการบดี แก้

ทำเนียบอธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา
ลำดับ รายนามอธิการบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
1
ดร.สุเมธ แย้มนุ่น 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 - 19 กันยายน พ.ศ. 2553 (รักษาการตาม พรบ.มหาวิทยาลัยพะเยา พ.ศ. 2553 มาตรา 70)[4]
2
ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เภสัชกร ดร. มณฑล สงวนเสริมศรี 20 กันยายน พ.ศ. 2553 – 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 [23]
11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 – 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 [24]
3
รองศาสตราจารย์ ดร. สุภกร พงศบางโพธิ์ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 - 24 ธันวาคม พ.ศ. 2561 (รักษาการแทน)[25]
25 ธันวาคม พ.ศ. 2561 - 24 ธันวาคม พ.ศ. 2565[26]
18 มีนาคม พ.ศ. 2566 - ปัจจุบัน[27]

หมายเหตุ คำนำหน้านามของผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี เป็นคำนำหน้านามในขณะนั้น

บุคคลที่มีชื่อเสียงจากมหาวิทยาลัยพะเยา แก้

อ้างอิง แก้

  1. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๒, เล่ม ๑๓๕ ตอน ๗๑ ก, หน้า ๑, ๑๗ กันยายน ๒๕๖๑
  2. มหาวิทยาลัยพะเยา, ระบบบริการการศึกษา, [ไฟล์:///C:/Users/User/Downloads/Documents/15062565_STD_PRESENT.pdf ข้อมูลจำนวนนิสิตปัจจุบัน], 15 มิถุนายน 2565
  3. ประวัติมหาวิทยาลัยพะเยา
  4. 4.0 4.1 ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยพะเยา พ.ศ. 2553, เล่ม 127, ตอนที่ 44 ก, หน้า 4, วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2553
  5. สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, มติคณะรัฐมนตรี เรื่อง ขออนุมัติขยายวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยไปในส่วนภูมิภาค, 20 มิถุนายน พ.ศ. 2538, สืบค้นเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
  6. สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, เรื่อง ขออนุมัติการขยายโอกาสอุดมศึกษาไปสู่ภูมิภาคอย่างมีคุณภาพ, 8 ตุลาคม พ.ศ. 2539, สืบค้นเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
  7. หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยพะเยา, ประวัติมหาวิทยาลัย, สืบค้นเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
  8. มติชนออนไลน์, ส.ส.พท.ดี๊ด๊าครม.ไฟเขียวตั้งม.พะเยาเตรียมฉลองใหญ่ ยกความดี"ลดาวัลลิ์"ผู้ผลักดัน
  9. สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยพะเยา พ.ศ. ...., 23 มิถุนายน พ.ศ. 2552, สืบค้นเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
  10. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยพะเยา พ.ศ. ๒๕๕๓, เล่ม ๑๒๗ ตอนที่ ๔๔ ก, หน้า ๔, ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๓
  11. "ปริญญาตรี 66 สาขา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-03-05. สืบค้นเมื่อ 2021-03-07.
  12. ปริญญาโท 29 สาขา
  13. "ปริญญาเอก 13 สาขา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-03-05. สืบค้นเมื่อ 2021-03-07.
  14. http://greenmetric.ui.ac.id/overall-ranking-2018/ เก็บถาวร 2020-10-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Retrieved December 24, 2018
  15. http://www.webometrics.info/en/detalles/up.ac.th , Retrieved Jan 1, 2019
  16. https://www.4icu.org/reviews/15098.htm
  17. https://www.admissionpremium.com
  18. https://www.scimagoir.com
  19. https://www.scimagoir.com/rankings.php?country=THA&sector=Higher%20educ
  20. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยพะเยา, เล่ม 127, ตอนพิเศษ 138 ง, หน้า 31, วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553
  21. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู่ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยพะเยา, เล่ม 130, ตอนพิเศษ 141 ง, หน้า 9, วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2556
  22. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู่ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยพะเยา, เล่ม 134, ตอนพิเศษ 72 ง, หน้า 3, วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2560
  23. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา , เล่ม 127, ตอนพิเศษ 122 ง, หน้า 22, วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2553.
  24. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา, เล่ม 131, ตอนพิเศษ 231 ง, หน้า 4, วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 .
  25. สำนักงานสภามหาวิทยาลัยพะเยา, คำสั่งมหาวิทยาลัยพะเยา ที่ 3179/2561 เรื่อง แต่งตั้งผู้รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา เก็บถาวร 2021-01-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 25 ตุลาคม พ.ศ. 2561
  26. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา, เล่ม ๑๓๖ ตอนพิเศษ ๑ ง. หน้า ๓, ๒ มกราคม ๒๕๖๒
  27. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา, เล่ม 140 ตอนพิเศษ 65 ง. หน้า ๓, 20 มีนาคม 2566

ดูเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้