มวยหมากรุก (อังกฤษ: Chess boxing) เป็นกีฬาผสมระหว่างมวยสากลกับหมากรุกสากลในแต่ละยกสลับกัน กีฬาเริ่มขึ้นเมื่อศิลปินชาวดัตช์ชื่อ อีเป รูบิง (Iepe Rubingh) ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพเขียนสมมติ ของนักเขียนหนังสือการ์ตูนชาวฝรั่งเศสและเป็นนักสร้างภาพยนตร์ที่มีชื่อว่า เอนกี บีลาล (Enki Bilal) ซึ่งได้มีการให้จัดการแข่งขันขึ้นจริง โดยมวยหมากรุกเริ่มเป็นที่นิยมกันมากขึ้นในปัจจุบัน[1] โดยผู้เข้าร่วมการแข่งขันต้องมีทักษะความสามารถทั้งการชกมวยและเล่นหมากรุก ซึ่งผลการแข่งขันอาจชนะได้โดยวิธีใดวิธีหนึ่ง

การแข่งขันมวยหมากรุกที่กรุงเบอร์ลินในปีค.ศ. 2008

กฎกติกา แก้

การแข่งขันแบ่งออกเป็นสิบเอ็ดยกที่สลับการหมุนเวียนระหว่างมวยสากลกับหมากรุกสากล โดยเริ่มจากยกแรกที่เป็นการแข่งหมากรุกสี่นาที ตามด้วยการแข่งชกมวยสามนาที แล้วกลับมาแข่งหมากรุกสลับกับชกมวยเรื่อยไปกระทั่งการแข่งขันสิ้นสุดลง[1] โดยมีช่วงพักระหว่างแต่ละยกเป็นเวลาหนึ่งนาที และมีการแข่งขันหมากรุกแบบจับเวลา โดยมีเวลากำกัดรวมให้ผู้เล่นแต่ละคนเพียงสิบสองนาทีในหนึ่งเกม

คู่ต่อสู้อาจเอาชนะได้โดยการชนะน็อกโดยเทคนิค, ชนะโดยรุกฆาต, โดยการตัดสินของกรรมการ หรือคู่ต่อสู้ใช้เวลาในการคำนวณหมากรุกรวมเกินสิบสองนาที[1] หากคู่แข่งขันไม่สามารถเดินหมากรุกในยกดังกล่าวต่อไปได้ อาจมีคำเตือนซ้ำหลายครั้งที่มีผลในการตัดสิทธิ์ได้ โดยผู้เล่นต่างใส่หูฟังเพื่อไม่ให้พวกเขาได้ยินเสียงตะโกนให้ความช่วยเหลือใดๆจากผู้ชม

ประวัติ แก้

กีฬาผสมนี้เกิดขึ้นในปีค.ศ. 1992 จากจินตนาการของนักเขียนการ์ตูนที่มีชื่อว่า เอนกี บีลาล และมวยหมากรุกดังกล่าวนี้ได้ปรากฏในนิยายภาพเรื่อง Froid Équateur ซึ่ง อีเป รูบิง ได้นำแนวคิดดังกล่าวมาใช้ในชีวิตจริง เขาใช้ในการแข่งขันต่อสู้ภายใต้ฉายา "อีเป เดอะโจ๊กเกอร์"[2] รูบิงรู้สึกว่าวิธีที่อธิบายไว้ในหนังสือเกี่ยวกับการแข่งขันชกมวยครบยก ตามด้วยการแข่งขันหมากรุกจนชนะกระดาน เป็นสิ่งที่เพ้อฝัน เขาจึงใช้วิธีแข่งหมากรุกสลับกับชกมวยในแต่ละยกแทน[3]

แนวคิดดังกล่าวยังปรากฏในภาพยนตร์ฟินแลนด์ปี ค.ศ. 1991 เรื่อง Uuno Turhapuro—herra Helsingin herra เมื่อตัวเอกของเรื่องเล่นหมากรุกแบบไม่ได้มองกระดานผ่านทางโทรศัพท์กับนักมวยคนอื่น ซึ่งบีลาลเองก็ไม่ทราบมาก่อนว่ามีอยู่ในภาพยนตร์ดังกล่าว และยังมีในภาพยนตร์ปีค.ศ. 1979 ที่กำกับโดย โจเซฟ คู อย่างเรื่อง "นินจากเชคเมท" ในพากย์ภาษาอังกฤษ ซึ่งภาพยนตร์ดังกล่าวในเวอร์ชันสหรัฐอเมริกาใช้ชื่อว่า "มิสเทรี่ออฟเชสบ็อกซิ่ง" ภาพยนตร์ดังกล่าวไม่มีมวยหมากรุก หากแต่มันได้สร้างแรงดลบันดาลใจแก่เพลงของกลุ่มนักร้องฮิปฮอป Wu-Tang Clan ในเพลง "Da Mystery of Chessboxin" ในอัลบั้มแรกของพวกเขาที่มีชื่อว่า Enter the Wu-Tang (36 Chambers) (ค.ศ. 1993) ซึ่ง RZA โปรดิวเซอร์ของ Wu-Tang Clan เป็นผู้ที่ชื่นชอบและสนับสนุนการกีฬาคนหนึ่ง[1]

กีฬาดังกล่าวนี้อยู่ภายใต้การดูแลขององค์การมวยหมากรุกโลก (World Chess Boxing Organisation หรือชื่อย่อ WCBO) ซึ่งมีคำขวัญคือ "การต่อสู้มีอยู่ในสังเวียน ส่วนสงครามมีอยู่บนกระดาน" การแข่งขันชิงแชมป์โลกครั้งแรกได้จัดขึ้นในอัมสเตอร์ดัม ค.ศ. 2003 โดยมีผู้ชนะคือ อีเป รูบิง[4] ส่วนการแข่งขันมวยหมากรุกชิงแชมป์ยุโรปจัดครั้งแรกในเบอร์ลิน ในวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 2005 โดย ทีโฮเมอร์ ดอฟรามาดีเยฟ จากประเทศบัลแกเรีย เป็นฝ่ายเอาชนะ แอนเดรียส "ดี" ชไนดอร์ จากเยอรมัน ผู้ยอมแพ้ในเกมหมากรุกซึ่งเป็นยกที่เจ็ดของการแข่งขัน

ทักษะจำเป็นทางหมากรุก แก้

นักมวยหมากรุกระดับโลกไม่เพียงแต่มีประสบการณ์เฉพาะทางชกมวยเท่านั้น หากแต่ต้องมีทักษะทางด้านหมากรุกมามากพอจึงจะมีสิทธิ์ร่วมแข่งขันได้[5] ตัวอย่างเช่น นิโคไล ซาฮิน มีระดับคะแนนหมากรุก Elo rating ที่ประมาณ 1900 แต้ม ในขณะที่แชมป์ยุโรปของมวยหมากรุกอย่าง ทีโฮเมอร์ ดอฟรามาดีเยฟ มีระดับคะแนนหมากรุก FIDE Master สูงกว่า 2300 แต้ม และยังชนะในการแข่งขันหมากรุกหลายรายการ[5][6]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 Calhoun, Ada (2008-07-10). "Chess-Boxing Hits it Big". Time Magazine. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-08-26. สืบค้นเมื่อ 2008-07-13.
  2. James, Kyle (April 19, 2006). "Chess-Boxing Combines Brawn and Brains in One Event". National Public Radio. สืบค้นเมื่อ 9 January 2010.
  3. McGroarty, Patrick (2008-07-17). "New sport combines boxing and chess". Associated Press. สืบค้นเมื่อ 2008-07-18.[ลิงก์เสีย]
  4. van Melick, Simon (2003-12-05). "Chess Boxing World Championship". Chessbase. สืบค้นเมื่อ 2008-07-17.
  5. 5.0 5.1 Chalk, Andy (2008-07-07). "World Chess Boxing Champion Crowned". The Escapist. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-02. สืบค้นเมื่อ 2008-07-21.
  6. "Chessboxing on ESPN, Playboy and Maxim". ChessBase. 2006-06-27. สืบค้นเมื่อ 2008-07-21.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้