ภูเขาศักดิ์สิทธิ์แห่งวาราลโล

ภูเขาศักดิ์สิทธิ์แห่งวาราลโล หรือ เยรูซาเลมใหม่ (อิตาลี: Sacro Monte di Varallo หรือ Nuova Gerusalemme; อังกฤษ: Sacred Mountain of Varallo) เป็นกลุ่มชาเปลที่ตั้งอยู่บนเนินเขาเหนือเมืองวาราลโลในแคว้นพีดมอนต์ในประเทศอิตาลี ที่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มภูเขาศักดิ์สิทธิ์แห่งพีดมอนต์และลอมบาร์ดีที่ได้รับเลือกจากองค์การยูเนสโกให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี ค.ศ. 2003[1]

ภูเขาศักดิ์สิทธิ์แห่งวาราลโล
Sacri Monti of Piedmont and Lombardy *
  แหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก
ภูเขาศักดิ์สิทธิ์แห่งวาราลโล
(ส่วนหนึ่งของภูเขาศักดิ์สิทธิ์แห่งพีดมอนต์และลอมบาร์ดี)
ประเทศเมืองวาราลโลในแคว้นพีดมอนต์ธงของประเทศอิตาลี อิตาลี
ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม
ภูมิทัศน์วัฒนธรรม
เกณฑ์พิจารณา(ii) (iv)
ประวัติการขึ้นทะเบียน
ขึ้นทะเบียน2546 (คณะกรรมการสมัยที่ 27)
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีแหล่งมรดกโลก
** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก

ที่ตั้งและองค์ประกอบ แก้

“ภูเขาศักดิ์สิทธิ์แห่งวาราลโล” เป็นสิ่งก่อสร้างที่เก่าที่สุดในบรรดาสิ่งก่อสร้างชนิดเดียวกันในอิตาลีและประเทศอื่นๆ ที่ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1491 โดยหลวงพ่อเบอร์นาร์ดิโน คาอิมิผู้เป็นนักบวชฟรานซิสคัน ภูเขาศักดิ์สิทธิ์สร้างบนภูเขาเตรโครชิ (ภูเขากางเขนสามลูก) ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำเซเซียที่แยกจากหุบเขามัสตาลโลเน (Val Mastallone) ในแคว้นพีดมอนต์ทางตอนเหนือของประเทศอิตาลี บนเนินที่ลดหลั่นกันลงไปบนเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 600 เมตร และอยู่เหนือตัวเมืองเก่าวาราลโลที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 450 เมตร ผู้ต้องการจะชมอาจจะเดินขึ้นไปหรือใช้รถกระเช้าก็ได้

“ภูเขาศักดิ์สิทธิ์แห่งวาราลโล” ประกอบด้วยบาซิลิกาและชาเปลทั้งหมด 45 ชาเปล บางชาเปลก็เป็นชาเปลโดดๆ บางชาเปลก็เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มสิ่งก่อสร้างของ “นาซาเร็ธ”, “เบ็ธเลเฮ็ม”, “บ้านไพเลท”, “เนินกางเขน” (Calvary), “ที่บรรจุศพ” (Sepulchre), “บ้านพาเรลลา” (Parella’s house) แต่ละชาเปลก็จะเป็นที่แสดงศิลปะที่ประกอบด้วยประติมากรรมทาสีขนาดเท่าคนจริง 800 รูปทั้งที่ทำด้วยไม้และดินเผา ที่จัดเป็นฉากชีวิตของพระเยซู, ทุกขกิริยาของพระเยซู, การสิ้นพระชนม์และการคืนชีพของพระเยซู นอกจากจะเป็นประติมากรรมแล้วก็ยังตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนังประกอบด้วย

ภูเขาศักดิ์สิทธิ์แบ่งเป็นบริเวณใหญ่ๆ สองบริเวณ บริเวณแรกล้อมรอบด้วยพืชพันธุ์ที่จัดเป็นสวนลาด ในบริเวณนี้ก็มีชาเปลตั้งเป็นจุดๆ ตามทางเดินที่ลดเลี้ยวขึ้นๆ ลงๆ ฉากชีวิตเริ่มด้วยเรื่องราวของอาดัมและอีฟ หรือปฐมบาป จากนั้นก็เป็นเรื่องชีวิตของพระเยซูที่เริ่มด้วยการประกาศของเทพจนถึงเมื่อพระเยซูเข้ากรุงเบ็ธเลเฮ็ม บริเวณที่สองนำด้วย “ประตูออเรอา” (Porta Aurea) ที่ตั้งอยู่บนยอดสูงสุดและเป็นที่ตั้งของพาลัซโซและระเบียงที่หรูหราที่สร้างรอบจัตุรัสสองจัตุรัส--“จัตุรัสซิวิคา” และ “จัตุรัสเรลิจิโอซา”

จุดประสงค์ในการสร้างศิลปะคริสต์ศาสนานี้ก็เพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ของเมืองเยรูซาเลม ในบริเวณนี้งานภายในชาเปลแต่ละชาเปลก็เป็นเรื่องราวต่อเนื่องกันที่เกี่ยวกับชีวิตของพระเยซูที่เกิดขึ้นภายในหรือในบริเวณกำแพงเมืองเยรูซาเลม ที่เริ่มด้วย “พระกระยาหารมื้อสุดท้าย”, “การบรรจุพระศพพระเยซู”, “การคืนชีพของพระเยซู” และ “การอัสสัมชัญของพระแม่มารี” ซึ่งชื่ออุทิศของบาซิลิกา ที่ตั้งของ “ภูเขาศักดิ์สิทธิ์แห่งวาราลโล” ที่อยู่ใกล้ตัวเมืองวาราลโลแตกต่างจากภูเขาศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ในกลุ่มภูเขาศักดิ์สิทธิ์แห่งพีดมอนต์และลอมบาร์ดีซึ่งมักจะตั้งอยู่ห่างไกลจากชุมชน

ประวัติ แก้

การวางผังของภูเขาศักดิ์สิทธิ์เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 มาจนกระทั่งถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19

หลวงพ่อเบอร์นาร์ดิโน คาอิมิผู้เป็นทั้งนักบวชและนักการเมืองเป็นผู้สนับสนุนการก่อสร้างภูเขาศักดิ์สิทธิ์ด้วยความช่วยเหลือของครอบครัวที่มีฐานะดีในบริเวณนั้น เดิมหลวงพ่อเบอร์นาร์ดิโนเป็นนักบวชในดินแดนศักดิ์สิทธิ์และทูตแห่งราชสำนักสเปน ป้ายที่ติดไว้กล่าวว่าหลวงพ่อเบอร์นาร์ดิโนประสงค์ที่จะสร้าง “สถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับผู้ที่ไม่สามารถเดินทางไปแสวงบุญที่กรุงเยรูซาเลมด้วยตนเองได้” หลังจากหลวงพ่อเบอร์นาร์ดิโนเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1499 หลวงพ่อคานดิโด รานโซและหลวงพ่อฟรานเชสโค ดา มาริยาโนก็ดำเนินงานต่อโดยได้รับความช่วยเหลือจากจิตรกร/ประติมากรโกเดนซิโอ เฟอร์รารี (Gaudenzio Ferrari) จากวาลดูเจียผู้ที่เป็นผู้ออกแบบงานที่น่าดูที่สุดงานหนึ่งในภาพชุด: “สามกษัตริย์” (The Three Kings) และ “พระเยซูตรึงกางเขน” โดยมีจุยลิโอ เซซาเรและแฟร์โม สเตลลา ดา คาราวัจจิโอเป็นผู้สร้าง

ตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 ก็มีการบูรณปฏิสังขรณ์งานทั้งหมด ในสมัยการปฏิรูปศาสนาของนิกายโรมันคาทอลิกเหตุการณ์ทุกอย่างในชีวิตของพระเยซูต้องมีการสร้างขึ้นที่รวมทั้งเหตุการณ์ทุกขั้นตอนในชุดทุกขกิริยาของพระเยซูและทางสู่กางเขน ระหว่างปี ค.ศ. 1570 ถึงปี ค.ศ. 1590 ก็มีการเพิ่มชาเปลขึ้นอีกหลายชาเปล, ขยายบริเวณสวน และการเขียนจิตรกรรมฝาผนังจนกระทั่งเสร็จ

ระหว่างปี ค.ศ. 1565 ถึงปี ค.ศ. 1569 สถาปนิกกาเลอาซโซ อเลสสิ (Galeazzo Alessi) มีบทบาทสำคัญในการบูรณปฏิสังขรณ์ เช่นเดียวกับสถาปนิกจากเปรูเจียโดเม็นนิโค อัลฟิอาโน (Domenico Alfiano) และจิโอวานนิ เอ็นริโค เวย์เมอร์ (Giovanni Enrico Vaymer) และบาร์โทโลเมโอ ราเวลลิ (Bartolomeo Ravelli) ศิลปินอื่นที่มีส่วนสร้างงานก็ได้แก่ ประติมากรทาบาชเชตติ และจิตรกรเช่นปิแอร์ ฟรานเชสโค มัซซุคเคลลี, ทันซิโอ ดา วาราลโล (Tanzio da Varallo), อันโทนิโอ ร็อคคา (Antonio Rocca), และพี่น้องเกอร์อาร์ดินิและพี่น้องจิอาโนลิ

อ้างอิง แก้

ข้อมูลเพิ่มเติม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

ระเบียงภาพ แก้