ภาพเหมือนของชายคนหนึ่ง (ภาพเหมือนตนเอง?)

ภาพเหมือนของชายคนหนึ่ง (ภาพเหมือนตนเอง?) (อังกฤษ: Portrait of a Man (Self Portrait?))[2] หรือ ภาพเหมือนของชายโพกหัวแดง (ดัตช์: Man met de rode tulband; อังกฤษ: Portrait of a Man in Red Turban) เป็นภาพเขียนสีน้ำมันที่เขียนโดยยัน ฟัน ไอก์ จิตรกรชาวดัตช์คนสำคัญของจิตรกรรมเนเธอร์แลนด์เริ่มแรก ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่หอศิลป์แห่งชาติ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร มาตั้งแต่ ค.ศ. 1851 ก่อนหน้านั้นภาพนี้เป็นของทอมัส ฮาวเวิร์ด เอิร์ลที่ 21 แห่งอารันเดล ที่อาจจะได้มาระหว่างที่ไปลี้ภัยอยู่ในเนเธอร์แลนด์ระหว่าง ค.ศ. 1642 ถึง ค.ศ. 1644[3]

ภาพเหมือนของชายคนหนึ่ง (ภาพเหมือนตนเอง?)[1]
ศิลปินยัน ฟัน ไอก์
ปีค.ศ. 1433
ประเภทจิตรกรรมสีน้ำมันบนแผง
สถานที่หอศิลป์แห่งชาติ, ลอนดอน, สหราชอาณาจักร

กรอบดั้งเดิมของภาพก็ยังคงอยู่ (กรอบด้านตั้งอันที่จริงแล้วเป็นไม้ชิ้นเดียวกับภาพ) และมีคำจารึกว่า "JOHES DE EYCK ME FECIT ANO MCCCC.33. 21. OCTOBRIS" (ยัน ฟัน ไอก์สร้างฉันเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ค.ศ. 1433) ด้านล่างและด้านบนมีคำขวัญ "AlC IXH XAN" (ฉันทำเท่าที่จะทำได้) ที่ปรากฏบนภาพเขียนอื่น ๆ ของฟัน ไอก์ ที่จะเขียนเป็นภาษากรีกทุกครั้งและเป็นคำพ้องกับชื่อ ภาพนี้ก็เช่นเดียวกับภาพอื่นที่ตัวอักษรเขียนให้ดูโค้ง[1]

ภาพนี้ก็เช่นเดียวกับภาพเหมือนอื่น ๆ ที่ฟัน ไอก์เขียนเป็นการเขียนที่แสดงความคมและรายละเอียดของการศึกษาเส้น แต่มิได้คำนึงถึงความคิดหรืออารมณ์ของผู้เป็นแบบ โดยทั่วไปแล้วเชื่อกันว่าภาพเขียนภาพนี้เป็นภาพเหมือนตนเองของฟัน ไอก์เองแต่ก็ไม่มีหลักฐานสนับสนุนข้อสันนิษฐานนี้ เครื่องแต่งกายของผู้เป็นแบบก็ดูจะเหมาะสมกับฐานะทางสังคมของชนชั้นฟัน ไอก์ และคำขวัญที่ปรากฏก็เป็นคำขวัญส่วนตัว ซึ่งนอกจากที่ปรากฏบนภาพนี้แล้วก็ปรากฏบนภาพเขียนทางศาสนาอีกสองภาพ, อีกสองภาพที่ทราบว่าเป็นงานก็อปปี และภาพเหมือนของภรรยาเท่านั้น แต่ก็ไม่มีภาพใดที่มีคำขวัญที่เด่นชัดเท่าภาพนี้

ฟัน ไอก์มิได้สวมผ้าโพกหัวแต่เป็นหมวกชาเปอรง (chaperon) ซึ่งเป็นหมวกที่ใช้กันในยุคกลางที่มีชายยาวที่สามารถตลบกลับขึ้นไปผูกบนศีรษะได้ ซึ่งทำให้ไม่เกะกะเมื่อทำงานเขียนภาพ หมวกชาเปอรงแบบเดียวกันนี้ปรากฏในตัวแบบในฉากหลังของภาพเขียน "พระแม่มารีรอแล็ง" (Madonna of Chancellor Rolin) ซึ่งกล่าวกันว่าอาจจะเป็นภาพเหมือนตนเองของฟัน ไอก์เช่นกัน

ลักษณะการเขียนก็เช่นเดียวกับงานเขียนอื่น ๆ ของฟัน ไอก์ที่ศีรษะจะใหญ่เมื่อเทียบกับสัดส่วนของร่าง ลักษณะการเขียนแสดงให้เห็นถึง "ความชำนาญ ความประหยัด (economy) และความรวดเร็ว" ในการเขียนงานชิ้นเอกของฟัน ไอก์[4] ลอร์น แคมป์เบลล์บรรยายการเขียนตาซ้ายว่า "ส่วนขาวของตาเป็นสีขาวที่ผสมด้วยสีแดงและน้ำเงินเพียงแทบจะไม่เห็น ที่ก่อให้เกิดการแสงสะท้อนรอง เส้นเลือดภายในตาเขียนด้วยสีแดง (vermilion) บนสีเคลือบ (scumble) ที่ยังชื้น ตาดำเป็นสีน้ำเงินเข้มที่เกือบจะบริสุทธิ์ที่ขอบนอก แต่ผสมกับสีขาวและดำเมื่อลึกเข้าไปยังลูกตาดำ แสงหลักที่จับตามีสี่จุดเป็นสีขาวตะกั่วที่มาแต้มเอาตอนเสร็จ จุดแรกบนตาดำ และอีกสามจุดบนตาขาว ที่รับกับแสงรองอีกสี่จุดที่ทำให้ตาดูเหมือนมีประกาย"[5]

อ้างอิง แก้

  1. Web Gallery of Art: Portrait of a Man (Self Portrait?)
  2. The title now used by the National Gallery. Campbell, Lorne; National Gallery Catalogues (new series): The Fifteenth Century Netherlandish Paintings, pp 212-17, 1998, ISBN 185709171
  3. It was noted in Arundel's collection in Antwerp by a Flemish visitor, as a portrait of the "Duke of Barlaumont". Campbell op cit. p 212.
  4. Campbell op cit p. 216
  5. Campbell op cit p. 216

ดูเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้