ภาพยนตร์ญี่ปุ่น

ภาพยนตร์ญี่ปุ่น มีประวัติอันยาวนานมาร่วมร้อยปี โดยภาพยนตร์เงียบเรื่องแรกของญี่ปุ่นคือภาพยนตร์เรื่อง Bake Jizo และ Shinin no sosei ภาพยนตร์ในปี ค.ศ. 1898 ส่วนหนังเสียงเรื่องแรกคือเรื่อง The Neighbor's Wife And Mine (1931) กำกับโดย เฮอิโนสุเกะ โกโซ และมีการเกิดขึ้นของสตูดิโอยักษ์ใหญ่ในวงการช่วงนี้คือ นิกคัตสุ, โชชิกุ และ โตโอ (ตามลำดับ) หนังในยุคทศวรรษที่ 30 ถือเป็นยุคทองของภาพยนตร์ญี่ปุ่นทีเดียว โดยมีความหลายหลาย ตั้งแต่หนังซามูไร หนังเกอิชา หนังรัก หนังตลก จนถึงหนังเพลง ถึงแม้ญี่ปุ่นจะไม่ส่งหนังออกจำหน่ายนอกประเทศเท่าไร แต่ผู้ชมภายในประเทศในช่วงยุคทศวรรษที่ 30 มีการบันทึกว่าคนดูหนังชาวญี่ปุ่นมีจำนวนมากถึง 250 ล้านคนต่อปี

หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 1937 ญี่ปุ่นทำสงครามอย่างเป็นทางการกับจีน ทำให้เกิดหนังโฆษณาชวนเชื่อและหนังปลุกใจรักชาติ โดยนักแสดงชื่อ โยชิโกะ ยามางุจิ ถือเป็นสัญลักษณ์ในช่วงนี้ หลังจากนั้นก็เข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 สภาพสังคมบีบให้ภาพยนตร์ส่วนใหญ่เน้นโฆษณาชวนเชื่อ ดาราใหญ่ ๆ ก็ต้องไปเล่นหนังเนื้อหาปลุกใจประชาชน นอกจากหนังโฆษณาแล้ว รัฐยังเข้ามาแทรกแซงวงการภาพยนตร์ด้วยการเซ็นเซอร์อีกด้วย

ภาพยนตร์ญี่ปุ่นในยุคทศวรรษที่ 1950 ถือเป็นยุคทองอีกช่วงหนึ่ง ในช่วงที่ญี่ปุ่นสูญเสียจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งญี่ปุ่นต้องการสร้างชาติกันใหม่อีกครั้ง รวมถึงวงการหนังด้วย ภาพยนตร์ในยุคนี้จะเน้นความเป็นประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ การปลดแอกสตรีเพศ และการต่อต้านศักดินาและระบอบทหาร เนื้อหาในหนังจะมีตัวละครค้นหาความเป็นมนุษย์ของตนเอง ผู้หญิงถูกสำรวจและชี้ให้เห็นถึงการถูกกดขี่ทางเพศ และทางออกของพวกเธอ นอกจากนี้หนังหลายเรื่องยังพูดถึงพิษภัยจากสงครามที่มีผลกระทบต่อประชาชนตาดำๆ การดิ้นรนต่อสู้กับความยากลำบาก

ในปี ค.ศ. 1951 ภาพยนตร์เรื่อง Rashomon กำกับโดย อากิระ คุโรซาวะ คว้ารางวัลสิงโตทองคำ ที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิซ และรางวัลภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมจากรางวัลออสการ์ ในยุคนี้มีผู้กำกับทั้งเก่าทั้งใหม่ อย่าง ยาสุจิโระ โอสุ, มิกิโอะ นารุเสะ, เคนจิ มิโซงุจิ, อากิระ คุโรซาวิ, คอง อิจิกาวา, มาซิกิ โคบายาชิ และ เคสุเกะ คิโนะชิตะ[1] ทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1950 มีผู้เข้าชมภาพยนตร์ญี่ปุ่นประจำปีมากที่สุดถึง 1.1 ล้านล้านคนในปี ค.ศ. 1958

ความนิยมแพร่หลายของโทรทัศน์ในทศวรรษที่ 1960 ทำให้ผู้ชมภาพยนตร์ลดลงและความแพร่หลายของวิดีโอในทศวรรษที่ 1980 โดยจำนวนลดลงไปจนเหลือ 150 ล้าน ยอดการออกฉายในภาพยนตร์ต่างประเทศและภาพยนตร์ญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1987 มีจำนวน 370 เรื่อง โดยจำนวนภาพยนตร์ต่างประเทศมากกว่าภาพยนตร์ญี่ปุ่นมีสัดส่วน 2:1[2]

สำหรับในประเทศไทย ภาพยนตร์ญี่ปุ่นได้เข้ามาเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1897 เมื่อนักธุรกิจชาวญี่ปุ่นกลุ่มหนึ่งได้นำเข้ามาฉายในประเทศไทย พร้อมกับจัดสร้างโรงภาพยนตร์ขึ้นมา เป็นกระโจมชั่วคราว ต่อได้พัฒนาเป็นโรงถาวรมีหลังคา มีม้านั่งเป็นแถวยาว จึงถูกเรียกขานว่า "โรงภาพยนตร์ญี่ปุ่น" ในย่านนอกกำแพงพระนครฝั่งตะวันออก เนื่องจากเป็นย่านเศรษฐกิจและมีผู้คนพลุกพล่าน รวมถึงยังมีบ่อนการพนันทั้งในย่านสะพานหันและสำเพ็งที่อยู่ใกล้เคียง ในเวลาต่อมาโรงภาพยนตร์ญี่ปุ่นได้หมดความนิยมลง จึงได้ถูกรื้อและสร้างเป็นอาคารพาณิชย์ ในนาม "เวิ้งนาครเขษม" และได้มีการสร้างโรงภาพยนตร์ขึ้นมาใหม่ในชื่อ โรงภาพยนตร์นาครเขษม นับเป็นโรงภาพยนตร์แห่งแรกในประเทศไทยอีกด้วย[3] [4]

อ้างอิง แก้

  1. นิตยสารไบโอสโคป ฉบับที่ 74 เดือนมกราคม 2551 หน้า 58-60
  2. สมาคมนานาชาติเพื่อข่าวสารการศึกษา, ญี่ปุ่นปัจจุบัน , บริษัทโรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์
  3. "ก้าวเล็กๆของโรงหนังแห่งแรกในเมืองไทย". ไทยพีบีเอส. 2013-06-10.
  4. "CHN 238 เวิ้งนาครเขษม". ชื่อนั้น...สำคัญไฉน?. 2011-02-20.