ฟุตบอลทีมชาติมาเลเซีย

ทีมฟุตบอลตัวแทนของประเทศมาเลเซีย

ฟุตบอลทีมชาติมาเลเซีย (มลายู: Pasukan bola sepak kebangsaan Malaysia) เป็นทีมฟุตบอลตัวแทนจากประเทศมาเลเซียในการแข่งขันระหว่างประเทศ อยู่ภายใต้การดูแลของสมาคมฟุตบอลมาเลเซีย ได้รับการรับรองสถานะจากสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศใน ค.ศ. 1963 โดยก่อตั้งขึ้นหนึ่งเดือนก่อนการจัดตั้งสหพันธรัฐมาเลเซียเพื่อเป็นตัวแทนทีมฟุตบอลของสหพันธรัฐมาลายา

มาเลเซีย
Shirt badge/Association crest
ฉายาHarimau Malaya
(เสือโคร่งมาเลเซีย)[1]
เสือเหลือง (ฉายาในภาษาไทย)
สมาคมสมาคมฟุตบอลมาเลเซีย
สมาพันธ์ย่อยเอเอฟเอฟ (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้)
สมาพันธ์เอเอฟซี (เอเชีย)
หัวหน้าผู้ฝึกสอนKim Pan-gon
กัปตันไอดิล ซาฟูวัน
ติดทีมชาติสูงสุดซู จิ้น อัน (219)[2]
ทำประตูสูงสุดมคตาร์ ดาฮารี (89)[3]
สนามเหย้าสนามกีฬาแห่งชาติบูกิตจาลิล
รหัสฟีฟ่าMAS
อันดับฟีฟ่า
อันดับปัจจุบัน 138 ลดลง 6 (4 เมษายน 2024)[4]
อันดับสูงสุด75 (สิงหาคม ค.ศ. 1993)
อันดับต่ำสุด178 (มีนาคม ค.ศ. 2018)
เกมระดับนานาชาติครั้งแรก
ธงชาติมาเลเซีย มาเลเซีย 1–1 ไทย ธงชาติไทย
(กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย; 12 ตุลาคม ค.ศ. 1963)[n 1]
ชนะสูงสุด
ธงชาติมาเลเซีย มาเลเซีย 11–0 ฟิลิปปินส์ ธงชาติฟิลิปปินส์
(เตหะราน ประเทศอิหร่าน; 7 กันยายน ค.ศ. 1974)
แพ้สูงสุด
Flag of the United Arab Emirates สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 10–0 มาเลเซีย ธงชาติมาเลเซีย
(อาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์; 3 กันยายน ค.ศ. 2015)
เอเอฟซี เอเชียนคัพ
เข้าร่วม4 (ครั้งแรกใน 1976)
ผลงานดีที่สุดรอบแบ่งกลุ่ม (1976, 1980, 2007, 2023)
ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน
เข้าร่วม12 (ครั้งแรกใน 1996)
ผลงานดีที่สุดชนะเลิศ (2010)

มาเลเซียเป็นหนึ่งในสี่ชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ชนะเลิศฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน ทว่าพวกเขายังไม่ประสบความสำเร็จในการแข่งขันนอกภูมิภาคอาเซียน มีผลงานที่ดีที่สุดคือการคว้าเหรียญทองแดงในเอเชียนเกมส์ 1974 และมีส่วนร่วมในโอลิมปิกฤดูร้อนหนึ่งครั้งและเอเชียนคัพอีกสามครั้ง แต่ยังไม่เคยผ่านรอบแบ่งกลุ่ม

มาเลเซียมีคู่แข่งสำคัญในภูมิภาคได้แก่ อินโดนีเซีย, ไทย, เวียดนาม และสิงคโปร์ โดยการแข่งขันกับอินโดนีเซียซึงเรียกว่า "Nusantara Derby" หรือ "ดาร์บีมลายู" ถือว่ามีความดุเดือดที่สุด เนื่องจากเหตุผลทางการเมืองและวัฒนธรรม ทีมชาติมาเลเซียมีฉายาคือ "Harimau Malaya" ซึ่งหมายถึงเสือโคร่งมลายู สัตว์ประจำชาติของประเทศมาเลเซีย และกองเชียร์ของทีมมีชื่อเรียกว่า "Ultras Malaya" (อุลตร้ามาลายา)[6] ส่วนฉายาที่สื่อมวลชนในประเทศไทยเรียกคือ "ทีมเสือเหลือง"[7]

ประวัติ แก้

 
ทีมฟุตบอลของสหพันธรัฐมาลายา ชุดที่ชนะการแข่งขันถ้วยเมอร์เดกา ค.ศ. 1958 ในภาพยังปรากฏภาพของ ตุนกู อับดุล ระฮ์มัน (คนกลางแถวล่าง) นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศมาเลเซีย

ก่อนจะมีการจัดตั้งสหพันธรัฐมาเลเซียขึ้นในวันที่ 16 กันยายน ค.ศ. 1963 บอร์เนียวเหนือ (ปัจจุบันคือ รัฐซาบะฮ์) รัฐซาราวัก สหพันธรัฐมาลายา และสิงคโปร์ล้วนแต่มีทีมฟุตบอลเป็นของตนเอง รัฐมาลายาและสิงคโปร์มักมีส่วนร่วมในการแข่งขันระดับนานาชาติ เช่น เมอร์เดกา ทัวร์นาเมนท์ (เกมกระชับมิตรที่จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงวันประกาศอิสรภาพมาเลเซีย) ในขณะที่บอร์เนียวเหนือและรัฐซาราวักมักลงแข่งขันในบอร์เนียวคัพ ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมาลายาคือการคว้าเหรียญทองแดงในเอเชียนเกมส์ 1962กรุงจาการ์ตา เอาชนะทีมชาติเวียดนามใต้ด้วยผลประตู 4–1 มีนักเตะตัวหลักคือ อับดุล กานี มินฮัต ซึ่งเป็นนักเตะชาวเอเชียคนแรกที่ทำครบ 50 ประตูในนามทีมชาติ[8]

จุดเริ่มต้นของฟุตบอลทีมชาติมาเลเซียเกิดขึ้นที่ สนามกีฬาเมอร์เดกา ในวันที่ 8 สิงหาคม 1963 ด้วยการรวมนักเตะจากทีมชาติสิงคโปร์ และ มาลายา ลงแข่งขันกับทีมชาติญี่ปุ่นและแพ้ด้วยผลประตู 3–4[9] ทีมชุดนั้นยังคงยึดแนวทางการใช้นักเตะจากสิงคโปร์และคาบสมุทรมลายู จนกระทั่งมีการก่อตั้ง "ฟุตบอลทีมชาติมาเลเซีย" ขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยสมาคมฟุตบอลสหพันธรัฐมาลายาก็ได้กลายเป็นสมาคมฟุตบอลมาเลเซีย และการรวมผู้เล่นกับสิงคโปร์ได้สิ้นสุดลงภายหลังสิงคโปร์ได้แยกตัวจากมาเลเซียพร้อมกับจัดตั้งสมาคมฟุตบอลสิงคโปร์ซึ่งได้รับการรับรองโดยฟีฟ่าใน ค.ศ. 1965[10] นับตั้งแต่นั้น ทีมชาติมาเลเซียมักใช้ผู้เล่นจากมาเลเซียตะวันตก สาเหตุหลักมาจากความยากลำบากในการเดินทางไปมาเลเซียตะวันออกและยังไม่มีผู้เล่นที่เป็นที่รู้จักมากนัก และตั้งแต่ ค.ศ. 1966 ถึง 1970 โชว์ ชี คอง ได้รับเลือกจากสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชียให้เป็นผู้รักษาประตูชาวเอเชียยอดเยี่ยม 5 สมัยติดต่อกัน

ใน ค.ศ. 1971 เจมส์ หว่อง เป็นผู้เล่นจากมาเลเซียตะวันออกคนแรกที่ได้เล่นให้ทีมชาติมาเลเซีย[11] มาเลเซียเข้าร่วมโอลิมปิกฤดูร้อน 1972 ที่เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี เอาชนะญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ไต้หวัน และฟิลิปปินส์ และแม้พวกเขาจะเอาชนะสหรัฐ 2–0 พวกเขาแพ้ในนัดสองนัดถัดมาต่อ เยอรมนีตะวันตก (0–3) และ โมร็อกโก (0–6) จบอันดับสิบในการแข่งขัน และตั้งแต่ ค.ศ. 1972 ม็อกตาร์ ดาฮารี ได้กลายเป็นผู้เล่นระดับตำนานของมาเลเซียรวมทั้งเป็นหนึ่งในผู้เล่นชาวเอเชียที่ดีทีสุด[12] เขาทำ 177 ประตูให้แก่สมาคมฟุตบอลเซอลาโงร์ และ 125 ประตูในนามทีมชาติมาเลเซีย (นับรวมทุกการแข่งขันและคู่แข่งทุกระดับ)[13] รวมถึง 89 ประตูจาก 142 นัดในการแข่งขันกับทีมชาติชุดใหญ่[14] ถือเป็นหนึ่งในนักฟุตบอลชายที่ทำประตูในนามทีมชาติมากที่สุดตลอดกาล[15]

โซห์ ชิน แอน ยังสร้างประวัติศาสตร์ในการเป็นผู้เล่นชายที่ลงเล่นให้ทีมชาติมากที่สุดในโลก โดยเป็นผู้เล่นคนแรกที่ลงสนามในนามทีมชาติครบ 200 นัด ซึ่งยังเป็นสถิติสูงสุดถึงปัจจุบัน[16] ถัดมาใน ค.ศ. 1974 มาเลเซียคว้าเหรียญทองแดงเหรียญที่สองในเอเชียนเกมส์ 1974 เอาชนะเกาหลีเหนือ 2–1 และพวกเขาได้ร่วมแข่งขันเอเชียนคัพสองสมัยติดต่อกันใน ค.ศ. 1976 และ 1980 ในช่วงเวลานี้ สมาคมฟุตบอลมาเลเซียได้ส่งแมวมองเพื่อค้นหาผู้เล่นฝีเท้าดีเพิ่มเติมจากมาเลเซียตะวันออก[17] มาเลเซียชนะเลิศ เมอร์เดกา ทัวร์นาเมนท์ สามสมัย, ได้รองชนะเลิศสี่สมัย และอันดับสามอีกสองสมัยในช่วงทศวรรษ 1970 พวกเขามีส่วนร่วมในโอลิมปิกฤดูร้อน 1980 ที่มอสโก สหภาพโซเวียต แต่รัฐบาลและสมาคมได้เข้าร่วมการคว่ำบาตร สืบเนื่องจากการต่อต้านสงครามโซเวียต–อัฟกานิสถาน[18][19]

ฟุตบอลเอเชียนคัพ 1976 กลุ่มเอ

ทีม จำนวนนัด ชนะ เสมอ แพ้ ประตูได้ ประตูเสีย ผลต่าง คะแนน
  คูเวต 2 2 0 0 3 0 +3 4
  จีน 2 0 1 1 1 2 −1 1
  มาเลเซีย 2 0 1 1 1 3 −2 1

มาเลเซียร่วมการแข่งขันเอเชียนคัพสมัยแรกใน ค.ศ. 1976 ในกลุ่มเอ แต่พวกเขาจบอันดับสุดท้าย แพ้คูเวตในนัดเปิดสนาม 0–2 ตามด้วยการเสมอจีนในนัดที่สอง 1–1

ฟุตบอลเอเชียนคัพ 1980 กลุ่มบี

ทีม จำนวนนัด ชนะ เสมอ แพ้ ประตูได้ ประตูเสีย ผลต่าง คะแนน
  เกาหลีใต้ 4 3 1 0 10 2 +8 7
  คูเวต 4 2 1 1 8 5 +3 5
  มาเลเซีย 4 1 2 1 5 5 0 4
  กาตาร์ 4 1 1 2 3 8 −5 3
  สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 4 0 1 3 3 9 −6 1

พวกเขาร่วมการแข่งขันเอเชียนคัพสมัยที่สองใน ค.ศ. 1980 อยู่ในกลุ่มบี เริ่มต้นด้วยการเสมอเกาหลีใต้ 1–1 ตามด้วยการแพ้คูเวต 1–3, ชนะสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 2–0 ปิดท้ายด้วยการเสมอกาตาร์ 1–1 จบอันดับสามในกลุ่ม

ต่อมาใน ค.ศ. 1994 วงการฟุตบอลมาเลเซียเข้าไปพัวพันกับเรื่องอื้อฉาวในการติดสินบนครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ประเทศ[20] และกีฬาฟุตบอลในประเทศเข้าสู่ยุคตกต่ำจากสภาวะเศรษฐกิจและกระแสความสนใจในกีฬาฟุตบอลที่ลดน้อยลง ทำให้พวกเขาไม่ประสบความสำเร็จเหมือนในช่วงทศวรรษ 1970 และ 1980 แม้จะมีการแต่งตั้งโกลด เลอรัว อดีตนักฟุตบอลชื่อดังชาวฝรั่งเศสเป็นผู้จัดการทีม อลัน แฮร์ริส ได้รับการแต่งตั้งในช่วงต้นทศวรรษ 2000 ซึ่งมาพร้อมกับประวัติการทำงานที่โดดเด่นจากการเป็นผู้ช่วย เทอร์รี เวนาเบิลส์ ที่สโมสรบาร์เซโลนา ต่อมาใน ค.ศ. 2004 เบอร์ตาลาน บิชเค ชาวฮังการีเข้ามาคุมทีมซึ่งพาทีมคว้าอันดับสามฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน 2004 ก่อนจะถูกลดบทบาทไปเป็นผู้ดูแลทีมเยาวชนจากพฤติกรรมไม่เหมาะสมในเกมกระชับมิตรที่พบกับสิงคโปร์ในปีนังในวันที่ 8 มิถุนายน 2005 โดยบิชเคได้ขว้างขวดน้ำลงไปในสนามและมีการเผชิญหน้ากับผู้เล่นสิงคโปร์ ก่อนที่สัญญาของเขาจะหมดและได้แยกทางกับสมาคมในเดือนกันยายน[21]

 
การแข่งขันกระชับมิตรระหว่างนิวซีแลนด์และมาเลเซีย (ชุดสีเหลือง) ณ เมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ ใน ค.ศ. 2006

นอริซาน บิน บาการ์ เข้ามาคุมทีมต่อ และพาทีมผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน 2007 ก่อนจะแพ้การดวลจุดโทษสิงคโปร์ บาการ์ได้รับการวิจารณ์ในการคุมทีมจากผลงานย่ำแย่ในเอเชียนคัพ 2007 เมื่อมาเลเซียแพ้ต่อจีน 1–5, แพ้อุซเบกิสถาน 0–5 และแพ้อิหร่าน 0–2 ส่งผลให้เขาถูกปลด บี. ซาเธียนาธาน เข้ามาคุมทีมต่อ แม้จะพาทีมชนะเลิศเมอร์เดกา ทัวร์นาเมนท์ มาเลเซียก็ยังล้มเหลวในการผ่านเข้าสู่ฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายหลังจากแพ้บาห์เรนรวมผลประตูสองนัด 1–4 ในรอบคัดเลือก ต่อมาใน ค.ศ. 2008 มาเลเซียแพ้จุดโทษเวียดนามในรอบชิงชนะเลิศเมอร์เดกา ทัวร์นาเมนท์ รวมทั้งเข้ารอบรองชนะเลิศรายการรอยัลชาเลนจ์ที่ประเทศพม่าแต่ก็แพ้พม่าเจ้าภาพไปอย่างเหนือความคาดหมาย 1–4[22]

ในการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน 2008 มาเลเซียเริ่มต้นด้วยการชนะลาว 3–0 แต่แพ้เวียดนามในนัดที่สอง 2–3 และตกรอบอย่างเป็นทางการหลังจากแพ้ไทยในนัดสุดท้าย 0–3 ตกรอบแบ่งกลุ่มเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี รวมทั้งยังมีการร้องเรียนว่าได้เกิดเหตุการณ์การติดสินบนในประเทศอีกครั้ง[23] ต่อมาใน เอเชียนคัพ 2011 รอบคัดเลือก มาเลเซียแพ้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 0–5 ทำให้ซาเธียนาธานถูกยกเลิกสัญญา[24] เค. ราจาโกปัล เข้ามารับตำแหน่งผู้ฝึกสอนใน ค.ศ. 2009 พร้อมทั้งควบตำแหน่งผู้ฝึกสอนรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี[25] โดยนัดแรกของเขาคือการชนะซิมบับเว 4–0 ตามด้วยการแพ้แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดในเกมกระชับมิตรสองนัด 2–3 และ 0–2 และพาทีมทีมชาติมาเลเซียรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปีคว้าเหรียญทองในกีฬาซีเกมส์ได้เป็นสมัยที่ห้าในซีเกมส์ 2009[26] และพาทีมชาติชุดใหญ่ผ่านเข้ารอบที่สองใน เอเชียนเกมส์ 2010[27]

ในการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน 2010 ผู้เล่น 14 คนของมาเลเซียเป็นผู้เล่นในชุดอายุไม่เกิน 23 ปี พวกเขาอยู่ในกลุ่มเอและเริ่มต้นนัดแรกด้วยการแพ้อินโดนีเซีย 1–5 แต่กลับมาแก้ตัวด้วยการเสมอไทย และชนะลาว 5–1 เข้ารอบในฐานะทีมอันดับสองไปพบเวียดนามซึ่งเป็นผู้ชนะในกลุ่มบี พวกเขาเอาชนะได้ 2–0 ในเลกแรกที่มาเลเซีย[28] และบุกไปเสมอ 0–0 ที่เวียดนาม ผ่านเข้าชิงชนะเลิศพบกับคู่แข่งสำคัญอย่างอินโดนีเซีย โดยในเลกแรก มาเลเซียชนะในบ้านที่สนามกีฬาแห่งชาติบูกิตจาลิล 3–0 จากสองประตูของ ซาฟิอี ซาลี และหนึ่งประตูจาก อัชารี แซมซูดิน โดยในเกมหนี้มีผู้เข้าชมเต็มความจุสนามบูกิตจาลิลเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการเปิดใช้สนามแห่งนี้ และในนัดที่สองที่จาการ์ตา มาเลเซียบุกไปแพ้ 1–2 แต่รวมผลประตูสองนัดชนะ 4–2 คว้าแชมป์รายการนี้เป็นสมัยแรก

จากความสำเร็จดังกล่าว ทำให้ความคาดหวังของทีมชาติมาเลเซียเพิ่มสูงขึ้นตลอดทศวรรษ 2010 แม้ทีมจะยังไม่สามารถชนะเลิศการแข่งขันรายการสำคัญเพิ่มได้[29] ในเดือนมิถุนายน 2014 ดอลลาห์ ซัลเลห์ อดีตนักฟุตบอลมาเลเซียเข้ามารับตำแหน่งผู้ฝึกสอน และพาทีมผ่านเข้าชิงชนะเลิศฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน 2014 แต่แพ้ไทยด้วยผลประตูรวมสองนัด 3–4 และยังมีผลงานย่ำแย่โดยการแพ้โอมาน และปาเลสไตน์ 0–6 ทั้งสองนัด, เสมอติมอร์-เลสเต 1–1 และแพ้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 0–10 ถือเป็นการแพ้ด้วยผลประตูที่มากที่สุดในรอบ 50 ปีของมาเลเซีย ส่งผลให้ซัลเลห์ถูกปลด เนโล วินกาดา ชาวโปรตุเกสเข้ามาคุมทีมใน ค.ศ. 2017 พาทีมลงแข่งขันเอเชียนคัพ 2019 รอบคัดเลือก – รอบที่ 3 แต่ทำผลงานย่ำแย่โดยตกรอบคัดเลือกดังกล่าวด้วยผลงานเสมอ 1 นัด และแพ้ไปถึง 5 นัด[30] ตัน เชง โฮ ผู้ช่วยผู้ฝึกสอนขึ้นมารับตำแหน่งต่อจากวินกาดาซึ่งลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ และพาทีมลงแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน 2018 อยู่ในกลุ่มเอร่วมกับเวียดนาม, พม่า, กัมพูชา และลาว พวกเขาเริ่มต้นด้วยการชนะกัมพูชา 1–0 ตามด้วยการชนะลาว 3–1 แต่แพ้เวียดนาม 0–2 ปิดท้ายด้วยการชนะพม่า 3–0 เข้ารอบในฐานะทีมอันสองไปพบกับไทยผู้ชนะกลุ่มบีในรอบรองชนะเลิศ และเอาชนะไทยไปได้ด้วยกฎประตูทีมเยือนหลังจากเสมอ 0–0 ที่บูกิตจาลิล และเสมอ 2–2 ที่ราชมังคลากีฬาสถาน ผ่านเข้าชิงชนะเลิศอีกครั้งแต่แพ้เวียดนามด้วยผลประตูรวมสองนัด 2–3 ได้รองแชมป์เป็นครั้งที่สาม อย่างไรก็ตาม ทีมชุดนี้ได้รับเสียงชื่นชมจากการทำผลงานยอดเยี่ยมโดยใช้ผู้เล่นอายุน้อยหลายคนซึ่งได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นกำลังหลักในอนาคต[31]

มาเลเซียเอาชนะติมอร์-เลสเตในฟุตบอลโลก 2022 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย – รอบที่ 1 ไปอย่างง่ายดายด้วยผลประตูรวมสองนัด 12–2[32] และรอบที่ 2 พวกเขาอยู่ร่วมกับไทย, เวียดนาม, อินโดนีเซีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มาเลเซียเริ่มต้นนัดแรกโดยชนะอินโดนีเซีย 3–2 ตามด้วยการแพ้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 1–2 แม้จะขึ้นนำไปก่อน[33] และบุกไปแพ้เวียดนามที่ฮานอย 0–1 แต่พวกเขายังมีลุ้นในการเข้ารอบจากการทำผลงานยอดเยี่ยมด้วยการชนะไทย 2–1[34] และชนะอินโดนีเซีย 2–0 แต่พวกเขาแพ้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (0–4) และเวียดนาม (1–2) ในสองนัดต่อมา ตกรอบอย่างเป็นทางการแม้จะบุกไปชนะไทย 1–0 แต่พวกเขายังได้สิทธิ์แข่งขันเอเชียนคัพ 2023 รอบคัดเลือก[35]

มาเลเซียตกรอบแบ่งกลุ่มฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน 2020 โดยแม้จะเริ่มต้นด้วยการชนะกัมพูชา (3–1) และ ลาว (4–0) แต่พวกเขาแพ้เวียดนาม (0–3) และอินโดนีเซีย (1–4) ในสองนัดสุดท้าย[36] ตัน เชง โฮ ได้ยุติบทบาทการเป็นผู้ฝึกสอน[37] คิม พัน-กน เข้ามารับตำแหน่งต่อ และมาเลเซียสามารถผ่านไปเล่นในเอเชียนคัพ 2023 ได้สำเร็จ ด้วยผลงานชนะสองนัดและแพ้หนึ่งนัดในการแข่งขันรอบคัดเลือก – รอบที่ 3 ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปีที่ได้มีส่วนร่วมในการแข่งขันรอบสุดท้ายนับตั้งแต่พวกเขาเป็นเจ้าภาพร่วมในปี 2007 ต่อมา มาเลเซียร่วมแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ ครั้งที่ 48 ในเดือนกันยายน ค.ศ. 2022 ณ จังหวัดเชียงใหม่ และจบด้วยตำแหน่งรองชนะเลิศจากการเอาชนะจุดโทษทีมชาติไทยในนัดแรก ก่อนจะแพ้จุดโทษทาจิกิสถานในนัดชิงชนะเลิศ

สนามแข่ง แก้

มาเลเซียใช้สนามกีฬาแห่งชาติบูกิตจาลิลเป็นสนามเหย้า มีความจุกว่า 87,411 ที่นั่ง[38] ถือเป็นสนามฟุตบอลที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับแปดของโลก ก่อนหน้านี้มาเลเซียเคยใช้สนามกีฬาเมอร์เดกาเป็นสนามหลัก สนามเหย้าอื่น ๆ ในปัจจุบันได้แก่ สนามกีฬากัวลาลัมเปอร์

สนามเหย้าของทีมชาติมาเลเซีย
สนาม ความจุ ที่ตั้ง ใช้งานล่าสุด
  สนามกีฬาแห่งชาติบูกิตจาลิล 87,411 กัวลาลัมเปอร์ พบ   อินเดีย
(13 ตุลาคม 2023; เมอร์เดก้าคัพ 2023)
  สนามกีฬากัวลาลัมเปอร์ 18,000 กัวลาลัมเปอร์ พบ   ฟีจี
(5 กรกฎาคม 2018; เกมระชับมิตร)

ผู้สนับสนุน แก้

 
กลุ่มอุลตร้า มาลายา ที่สนามกีฬาแห่งชาติบูกิตจาลิล ในการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน 2014

กองเชียร์ของทีมชาติมาเลเซียมีชื่อเรียกว่า อุลตร้า มาลายา พวกเขาเป็นที่รู้จักในเรื่องความคลั่งไคล้และการสนับสนุนทีมชาติ ในการแข่งขันระดับนานาชาติทุกนัดที่ทีมชาติลงเล่น จะพบกลุ่มอุลตร้าในกลุ่มที่ยืนอยู่บริเวณกองเชียร์ สีหลักของกองเชียร์เหล่านี้มักจะเป็นสีดำพร้อมผ้าพันคอสีเหลืองและแบนเนอร์เหมือนกับสีชุดทีมชาติ กองเชียร์เหล่านี้นำพลุ กลอง และธงชาติขนาดใหญ่มาที่สนามกีฬาเสมอ[39]

คู่แข่ง แก้

ทีมชาติมาเลเซียมีทีมคู่ปรับในภูมิภาคอาเซียนที่สำคัญได้แก่ อินโดนีเซีย, ไทย, เวียดนาม และ สิงคโปร์ เนื่องจากการแย่งความสำเร็จในรายการสำคัญ และสภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ โดยมีอินโดนีเซียเป็นคู่ปรับที่สำคัญที่สุด การแข่งขันกับอินโดนีเซียซึงเรียกว่า "Nusantara Derby" หรือ "ดาร์บีมลายู" มีที่มาจากเหตุการณ์การเผชิญหน้าระหว่างอินโดนีเซีย–มาเลเซีย (ค.ศ. 1963–66) หรือการเผชิญหน้าเกาะบอร์เนียว เกิดจากการต่อต้านของอินโดนีเซียต่อการก่อตั้งสหพันธ์มาเลเซีย

การแข่งขันกับสิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม แม้จะไม่ดุเดือดเท่าการพบอินโดนีเซีย แต่ทั้งสามชาติก็ถือเป็นคู่ปรับของมาเลเซียในรายการฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน โดยสนามบูกิตจาลิลของมาเลเซียขึ้นชื่อว่าเป็นสนามที่คู่แข่งในอาเซียนบุกมาเอาชนะได้ยากที่สุด โดยมาเลเซียไม่แพ้ทีมชาติไทยที่สนามแห่งนี้มาตั้งแต่ทศวรรษ 1990

ผลงาน แก้

ฟุตบอลโลก แก้

  • 1930-1970 - ไม่ได้เข้าร่วม
  • 1974-2022 - ไม่ผ่านรอบคัดเลือก

เอเชียนคัพ แก้

  • 1956-1972 - ไม่ผ่านรอบคัดเลือก
  • 1976 และ 1980 - รอบแรก
  • 1984-2004 - ไม่ผ่านรอบคัดเลือก
  • 2007 - รอบแรก
  • 2011-2019 - ไม่ผ่านรอบคัดเลือก
  • 2023 - รอบแรก

ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน แก้

  • 1996 - รองชนะเลิศ
  • 1998 - รอบแรก
  • 2000 - อันดับสาม
  • 2002 - อันดับสี่
  • 2004 - อันดับสาม
  • 2007 - รอบรองชนะเลิศ
  • 2008 - รอบแรก
  • 2010 - ชนะเลิศ
  • 2012 - รอบรองชนะเลิศ
  • 2014 - อันดับสอง
  • 2016 - รอบแรก
  • 2018 - รองชนะเลิศ
  • 2020 - รอบแรก
  • 2022 - รอบรองชนะเลิศ

เกียรติยศอื่น ๆ แก้

หมายเหตุ ในปี พ.ศ.2519 และ พ.ศ.2520 เป็นการชนะเลิศร่วม

นักเตะชุดปัจจุบัน แก้

รายชื่อผู้เล่น 23 คนที่ถูกเรียกตัวในการแข่งขันเอเชียนคัพ 2023

จำนวนนัดที่ลงเล่นให้ทีมชาติและจำนวนประตูที่ยิงได้นับถึงวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 หลังแข่งขันกับ   จีนไทเป

0#0 ตำแหน่ง ผู้เล่น วันเกิด (อายุ) ลงเล่น ประตู สโมสร
1 1GK Azri Ghani (1999-04-30) 30 เมษายน ค.ศ. 1999 (24 ปี) 0 0   กัวลาลัมเปอร์ซิตี
16 1GK Syihan Hazmi (1996-02-22) 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1996 (28 ปี) 18 0   โจโฮร์ดารุลตักซิม
23 1GK Sikh Izhan (2002-03-22) 22 มีนาคม ค.ศ. 2002 (22 ปี) 1 0   Negeri Sembilan

2 2DF Matthew Davies (1995-02-07) 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1995 (29 ปี) 47 0   โจโฮร์ดารุลตักซิม
3 2DF Shahrul Saad (1993-07-08) 8 กรกฎาคม ค.ศ. 1993 (30 ปี) 54 5   โจโฮร์ดารุลตักซิม
4 2DF Daniel Ting (1992-12-01) 1 ธันวาคม ค.ศ. 1992 (31 ปี) 4 1   ซาบะฮ์
5 2DF Syahmi Safari (1998-02-05) 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1998 (26 ปี) 26 1   โจโฮร์ดารุลตักซิม
6 2DF โดมินิก ตัน (1997-03-12) 12 มีนาคม ค.ศ. 1997 (27 ปี) 24 0   ซาบะฮ์
15 2DF Junior Eldstål (1991-09-16) 16 กันยายน ค.ศ. 1991 (32 ปี) 21 0   Dewa United
21 2DF ดียง กูลส์ (กัปตัน) (1996-06-04) 4 มิถุนายน ค.ศ. 1996 (27 ปี) 21 4   บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด
22 2DF La'Vere Corbin-Ong (1991-04-22) 22 เมษายน ค.ศ. 1991 (32 ปี) 31 4   โจโฮร์ดารุลตักซิม
25 2DF Khuzaimi Piee (1993-11-11) 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1993 (30 ปี) 9 0   เซอลาโงร์

8 3MF Stuart Wilkin (1998-03-12) 12 มีนาคม ค.ศ. 1998 (26 ปี) 16 4   ซาบะฮ์
10 3MF Endrick (1995-03-07) 7 มีนาคม ค.ศ. 1995 (29 ปี) 9 0   โจโฮร์ดารุลตักซิม
14 3MF Syamer Kutty Abba (1997-10-01) 1 ตุลาคม ค.ศ. 1997 (26 ปี) 32 1   โจโฮร์ดารุลตักซิม
17 3MF Paulo Josué (1989-03-13) 13 มีนาคม ค.ศ. 1989 (35 ปี) 8 4   กัวลาลัมเปอร์ซิตี
18 3MF Brendan Gan (1988-06-03) 3 มิถุนายน ค.ศ. 1988 (35 ปี) 34 1   เซอลาโงร์
20 3MF Afiq Fazail (1994-09-29) 29 กันยายน ค.ศ. 1994 (29 ปี) 5 0   โจโฮร์ดารุลตักซิม
24 3MF Natxo Insa (1986-06-09) 9 มิถุนายน ค.ศ. 1986 (37 ปี) 1 0   โจโฮร์ดารุลตักซิม

7 4FW Faisal Halim (1998-01-07) 7 มกราคม ค.ศ. 1998 (26 ปี) 29 14   เซอลาโงร์
9 4FW Darren Lok (1990-12-14) 14 ธันวาคม ค.ศ. 1990 (33 ปี) 30 6   ซาบะฮ์
11 4FW Safawi Rasid (1997-03-05) 5 มีนาคม ค.ศ. 1997 (27 ปี) 58 20   ตรังกานู
12 4FW Arif Aiman Hanapi (2002-05-04) 4 พฤษภาคม ค.ศ. 2002 (21 ปี) 23 6   โจโฮร์ดารุลตักซิม
13 4FW โมฮามาดู ซูมาเรห์ (1994-09-20) 20 กันยายน ค.ศ. 1994 (29 ปี) 31 7   โจโฮร์ดารุลตักซิม
19 4FW Akhyar Rashid (1999-05-01) 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1999 (24 ปี) 46 10   โจโฮร์ดารุลตักซิม
26 4FW Romel Morales (1997-08-23) 23 สิงหาคม ค.ศ. 1997 (26 ปี) 0 0   กัวลาลัมเปอร์ซิตี

หมายเหตุ แก้

  1. ผลคะแนนออกมาหลังก่อตั้งสหพันธรัฐมาเลเซียในวันที่ 16 กันยายน ค.ศ. 1963[5]

อ้างอิง แก้

  1. Ooi Kin Fai (3 April 2017). "FAM reverts team name back to Harimau Malaya". Goal.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 April 2017. สืบค้นเมื่อ 4 April 2017.
  2. Mamrud, Roberto. "Malaysia - Record International Players". RSSSF. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 November 2021. สืบค้นเมื่อ 30 December 2021.
  3. "Mohamed Mokhtar Dahari". RSSSF. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 June 2021. สืบค้นเมื่อ 19 August 2020.
  4. "The FIFA/Coca-Cola World Ranking". FIFA. 4 เมษายน 2024. สืบค้นเมื่อ 4 เมษายน 2024.
  5. "Malaysia matches, ratings and points exchanged". World Football Elo Ratings: Malaysia. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 January 2018. สืบค้นเมื่อ 24 November 2016.
  6. "Ultras Malaya". MalaysiaKini. 23 November 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-10. สืบค้นเมื่อ 13 November 2014.
  7. 16 (2021-12-21). "เสือเหลือง เรียกกุนซือแจกแจงหลังมาเลเซียฟอร์มบู่ตกรอบแรกซูซูกิ คัพ". ข่าวสด.{{cite web}}: CS1 maint: numeric names: authors list (ลิงก์)
  8. "Abdul Ghani Minhat – Goals in International Matches". www.rsssf.com.
  9. "MAJID MISSES A PENALTY AND MALAYSIA CRASH". eresources.nlb.gov.sg (ภาษาอังกฤษ).
  10. Cho, Younghan (2016-03-17). Football in Asia: History, Culture and Business (ภาษาอังกฤษ). Routledge. ISBN 978-1-317-59832-9.
  11. "Sabahan may be Mokhtar's replacement". eresources.nlb.gov.sg (ภาษาอังกฤษ).
  12. Seng, Alan Teh Leam (2018-07-14). "Supermokh: Remembering our greatest footballer | New Straits Times". NST Online (ภาษาอังกฤษ).
  13. "Malaysian Football Legends: Mokhtar Dahari | Goal.com". www.goal.com.
  14. "Relentless Ronaldo equals international goals world record | UEFA EURO 2020 | UEFA.com". web.archive.org. 2021-06-24. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-24. สืบค้นเมื่อ 2021-12-15.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  15. "Mokhtar pernah jadi penjaring terbanyak dunia | Berita Harian". web.archive.org. 2021-06-24. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-24. สืบค้นเมื่อ 2021-12-15.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  16. "Soh Chin Ann – Double Century of International Appearances". www.rsssf.com.
  17. "Sabah FA: Give us a chance". eresources.nlb.gov.sg (ภาษาอังกฤษ).
  18. "The glory days of Malaysian football - Star2.com". web.archive.org. 2018-03-19. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-03-19. สืบค้นเมื่อ 2021-12-15.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  19. Stanley, Ryan (2016-08-14). "Jejak Wira Olimpik 1980 : 'The Hurricane' pecahkan tembok Korea Selatan". Berita Harian (ภาษาอังกฤษ).
  20. "The 1994 scandal that destroyed Malaysian football | CILISOS - Current Issues Tambah Pedas!". web.archive.org. 2018-06-04. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-06-04. สืบค้นเมื่อ 2021-12-15.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  21. "Bicskei Bertalan feláll a malajziai kispadról". web.archive.org. 2016-03-29. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-29. สืบค้นเมื่อ 2021-12-15.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  22. "Grand Royal Challenge Cup 2008 (Yangon)". web.archive.org. 2016-03-29. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-29. สืบค้นเมื่อ 2021-12-15.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  23. "Soccer-Corruption appearing again in Malaysian sport, chief says | Reuters". web.archive.org. 2018-06-04. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-06-04. สืบค้นเมื่อ 2021-12-15.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  24. "Malaysia sacks national football coach". www.asiaone.com.
  25. "Coach Rajagopal urges Malaysians to support team irrespective of results". web.archive.org. 2010-11-29. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-11-29. สืบค้นเมื่อ 2021-12-15.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  26. "Malaysia Down Vietnam To Win SEA Games Gold Medal - Goal.com". web.archive.org. 2016-03-29. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-29. สืบค้นเมื่อ 2021-12-15.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  27. "Malaysia enter last 16 but crippled by injuries and suspensions". web.archive.org. 2010-11-17. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-11-17. สืบค้นเมื่อ 2021-12-15.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  28. "Malaysia - Việt Nam 2-0: Tay trắng sân khách, ĐTVN gặp khó ở lượt về - TTVH Mobile". web.archive.org. 2016-03-29. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-29. สืบค้นเมื่อ 2021-12-15.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  29. "Malaysia: A new hope". ESPN.com (ภาษาอังกฤษ). 2012-07-05. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-12-15. สืบค้นเมื่อ 2021-12-15.
  30. "Malaysia's entire 2019 Asian Cup qualification in full | Goal.com". web.archive.org. 2018-06-04. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-06-04. สืบค้นเมื่อ 2021-12-15.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  31. Times, New Straits (2019-08-14). "Going the 'Malaysian Way' | New Straits Times". NST Online (ภาษาอังกฤษ).
  32. Tuesday, 11 Jun 2019 11:36 PM MYT. "Harimau Malaya eliminate Timor Leste with 12-2 aggregate win | Malay Mail". www.malaymail.com (ภาษาอังกฤษ).
  33. Tuesday, 10 Sep 2019 11:16 PM MYT. "UAE fight back to edge Malaysia 2-1 in World Cup qualifier | Malay Mail". www.malaymail.com (ภาษาอังกฤษ).
  34. "Malaysia beat Thailand 2-1 to claim second win in WC qualifiers". The Star (ภาษาอังกฤษ).
  35. "Malaysia beat Indonesia 2-0 in WC qualifiers to end year on a high". The Star (ภาษาอังกฤษ).
  36. "Indonesia hit back to reach Suzuki Cup semi-finals, Vietnam also through". CNA (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-12-20. สืบค้นเมื่อ 2021-12-20.
  37. "Tan Cheng Hoe resigns as Malaysia coach after AFF Suzuki Cup failure". South China Morning Post (ภาษาอังกฤษ). 2022-01-03.
  38. "Football stadiums of the world – Stadiums in Malaysia | Football stadiums of the world" (ภาษาเยอรมัน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-04. สืบค้นเมื่อ 2021-12-15.
  39. "Ultras Malaya - Truely fans of Harimau Malaya Team | MalaysiaKini - Malaysia News | Berita Terkini". web.archive.org. 2012-09-10. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-10. สืบค้นเมื่อ 2021-08-19.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)

แหล่งข้อมูลอื่น แก้