ฟาร์นสเวิร์ทเฮาส์

ฟาร์นสเวิร์ทเฮาส์ (อังกฤษ: Farnsworth House) เป็นบ้านพักอาศัยได้รับการออกแบบทางสถาปัตยกรรมและโครงสร้างโดยลูทวิช มีส ฟัน แดร์ โรเออ ระหว่างปี ค.ศ. 1945 - 1951 ภายในบ้านประกอบด้วยห้องเพียงหนึ่งห้อง ตั้งอยู่ในเขตนอกเมืองทางตะวันตกเฉียงใต้ของตัวเมืองชิคาโก ออกไปราว 55 ไมล์ (89 กิโลเมตร) ในที่ดินประะกอบด้วยเนื้อที่ทั้งหมดกว่า 60 เอเคอร์ และมีแม่น้ำฟ็อกซ์ไหลผ่านบริเวณที่ดิน อาคารประกอบด้วยโครงสร้างที่ดูโปร่งโล่ง ด้วยการใช้เหล็กและกระจกทั้งหมด ซึ่งเป็นความต้องการของเจ้าของบ้าน ดร.อีดิท ฟาร์นสเวิร์ท ผู้เชี่ยวชาญด้านไตวิทยาทีมีชื่อเสียงของเมืองชิคาโก ที่ต้องการให้มีพื้นที่สำหรับทำงานอดิเรกที่เธอชื่นชอบ เช่น เล่นไวโอลิน แปลบทกลอน และเพลิดเพลินไปกับธรรมชาติ มีส ได้ออกแบบบ้านที่มีขนาดเล็กเพียงแค่ 140 ตารางเมตร (1,500 ตารางฟุต) ด้วยรูปทรงที่เรียบง่าย ประกอบกับที่วางภายในห้องที่เน้นเรื่องของฟังก์ชัน จนในเวลาต่อมาได้รับการยกย่องให้เป็นงานระดับมาสเตอร์พีซ เป็นสัญลักษณ์แห่งงานสถาปัตยกรรมแบบอินเตอร์ชันแนลสไตล์ หรือ งาน โมเดิร์น

ฟาร์นสเวิร์ทเฮาส์
Farnsworth House
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทบ้านพักอาศัย
สถาปัตยกรรมโมเดิร์น[2]
อินเตอร์เนชันแนลสไตล์
เมืองพลาโน รัฐอิลลินอย
ประเทศสหรัฐ ประเทศสหรัฐอเมริกา
พิกัด41°38′5.96″N 88°32′8.6″W / 41.6349889°N 88.535722°W / 41.6349889; -88.535722
เริ่มสร้างค.ศ. 1945 - 1951[1]
ข้อมูลทางเทคนิค
โครงสร้างเหล็ก และ แผ่นกระจก
การออกแบบและการก่อสร้าง
สถาปนิกลูทวิช มีส ฟัน แดร์ โรเออ

ฟาร์นสเวิร์ทเฮาส์ ได้รับการบรรจุเข้าสู่สิ่งสำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งชาติ (NHL) ในปี ค.ศ. 2006 ภายหลังการบรรจุเข้าทะเบียนสิ่งสำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งชาติ (NRHP) ในปี ค.ศ. 2004[3] ปัจจุบันบ้านเป็นของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์บ้าน โดยกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถานแห่งชาติ (NTHP)

ในเดือนกันยายน ค.ศ. 2008 บ้านถูกน้ำท่วมจากฝนตกหนักของพายุเฮอร์ริเคนไอค์[4] ระดับน้ำได้ขึ้นสูงราว 46 ซม. (18 นิ้ว) เหนือพื้นห้อง[5] แต่ถึงอย่างไรก็ดีเฟอร์นิเจอร์ภายในหลายชิ้นรอดพ้นจากน้ำท่วม ซึ่งเป็นผลมาจากการออกแบบให้ยกพื้นห้องสูงขึ้น บ้านถูกปิดเพื่อการซ่อมแซมในปี ค.ศ. 2008 จนกลับมาเปิดอีกครั้งในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 2009

องค์ประกอบในอาคาร แก้

ฟาร์นสเวิร์ทเฮาส์ ได้รับการออกแบบช่องเปิด (หน้าต่าง) จากพื้นจรดเพดาน ด้วยแผ่นกระจกใส เพื่อเปิดรับที่ว่างด้านนอกอาคารที่เป็นธรรมชาติ รอบทิศทั่วบ้าน มีการยกระดับพื้นบ้านออกเป็นสองระดับ คือส่วนของห้อง และชานด้านอก เพื่อเป็นการลดระดับเข้าสู่ระเบียงก่อนถึงพื้น และไม่เป็นการทำให้ทางขึ้นดูสูงจนเกินไป บ้านใช้หลังคาแฟลตสแลปเรียบ ติดกับผนังบ้าน ตัวบ้านประกอบด้วยเสาทั้งหมด 8 ต้น รวมกับระเบียงด้านนอกแล้วเป็น 12 ต้น ยกสูงจากระดับดินเดิม 1.60 เมตร เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมจากแม่น้ำ มีการยื่นแคนทีลิเวอร์ออกจากเสาในด้านสกัดทั้งสองฝั่ง

ข้อวิจารณ์ แก้

เนื่องจากผนังห้องที่ปกปิดด้วยกระจกเพียงอย่างเดียว หลังคาแฟลตเหลี่ยม ขาดซึ่งความสวยงามด้านงานตกแต่ง และรวมไปถึงขาดซึ่งการทำให้ห้องอบอุ่น ตามสภาพอากาศหนาวเย็น ซึ่งต่างเป็นประเด็นที่รูปแบบอินเตอร์ชันแนลสไตล์ได้รับการโจมตีมาโดยตลอด เช่นเดียวกับงานฟาร์นสเวิร์ทเฮาส์นี้ด้วย นอกจากนี้เขายังถูกวิจารณ์เรื่องของระบบบริหารจัดการพลังงานที่ย่ำแย่มาก[6]

แต่ถึงอย่างไรก็ดี ก็มีนักวิจารณ์บางส่วนที่กลับยกย่องงานของมีส เช่น พอล โกลด์เบอร์เกอร์ และแบร์ คามิน สองนักวิจารณ์งานสถาปัตยกรรมที่เคยได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ ต่างยกย่องให้บ้านนี้คืองานระดับมาสเตอร์พีซ อย่างแท้จริง มันเป็นงานที่มีคุณค่าเหนือกาลเวลา สะท้อนมาจากความศรัทธาของมีสในงานสไตล์ มินิมอล ฟิลิป จอห์นสัน สถาปนิกรางวัลพริตซ์เกอร์ ก็ได้นำแรงบรรดาลใจนี้ไปใช้ออกแบบบ้านกระจก หรือ กลาสเฮาส์ ในปี ค.ศ. 1947

อ้างอิง แก้

  1. History เก็บถาวร กุมภาพันธ์ 24, 2007 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Farnsworth House. Retrieved 10 February 2007
  2. Farnsworth House, Property Information Report เก็บถาวร 2006-07-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน HAARGIS Database, Illinois Historic Preservation Agency. Retrieved 10 February 2007.
  3. "Farnsworth House". National Historic Landmark summary listing. National Park Service. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-20. สืบค้นเมื่อ 2007-10-03.
  4. "NEWS ALERT: World Icon Farnsworth House Under Water; Video as the Flood Rises". PreservationNation. National Trust for Historic Preservation. 2008-09-14. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-27. สืบค้นเมื่อ 2008-09-17.
  5. "Flood Waters Have Receded at World-Famous Farnsworth House". PreservationNation. National Trust for Historic Preservation. 2008-09-16. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-03-04. สืบค้นเมื่อ 2008-09-17.
  6. Denzer, Anthony (2013). The Solar House: Pioneering Sustainable Design. Rizzoli. ISBN 978-0847840052. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-07-26. สืบค้นเมื่อ 2017-02-28.