ฟองสนาน จามรจันทร์

ฟองสนาน จามรจันทร์ อดีตนักจัดรายการวิทยุของกรมประชาสัมพันธ์ สังกัดสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย (สวท.) จัดเป็นสื่อมวลชนฝีปากกล้าที่ถูกอำนาจรัฐคุกคาม ปัจจุบันเป็นนักจัดการวิทยุและสื่อมวลชนอิสระ รวมถึงเป็นนักโหราศาสตร์สมัครเล่นอีกด้วย

ฟองสนาน จามรจันทร์
เกิดพ.ศ. 2496 (อายุ 71 ปี)
จังหวัดชัยภูมิ ประเทศไทย
อาชีพนักเขียน, นักข่าว, นักหนังสือพิมพ์, นักโหราศาสตร์
สัญชาติไทย ไทย
คู่สมรสสรวงสรรค์ จามรจันทร์
บุตร1 คน

ประวัติ แก้

ฟองสนาน เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2496 ที่อำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ ด้วยการเป็นลูกคนที่ 16 จากพี่น้องทั้งหมด 20 คน เนื่องจากพ่อซึ่งเป็นครูใหญ่และหัวหน้าคณะหมอลำ มีภรรยาถึง 3 คน ฟองสนานจบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 ที่โรงเรียนสตรีชัยภูมิ จากนั้นจึงเข้าจบการศึกษาต่อจนจบมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่โรงเรียนชัยภูมิภักดีชุมพล จากนั้นจึงสอบเข้าคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ว่าเรียนไปได้เพียงปีเดียว ก็ลาออกมาสอบเข้าใหม่ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[1] รุ่น 10 โดยเรียนเอกการประชาสัมพันธ์ และโทสิ่งพิมพ์ มีเพื่อนร่วมรุ่นที่เป็นสื่อมวลชนด้วยกันเช่น บุญเลิศ ช้างใหญ่, โอภาส เพ็งเจริญ แห่งมติชน และชลิต กิติญาณทรัพย์ แห่งประชาชาติธุรกิจ เป็นต้น

การงาน แก้

เริ่มทำงานครั้งแรกที่หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ยุคม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นบรรณาธิการ อยู่ได้ 4 ปี จึงย้ายมาอยู่หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจอยู่ช่วงหนึ่ง จากนั้นจึงสมัครเป็นข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์ โดยเริ่มงานแรกที่จังหวัดกระบี่ จับงานข่าวหลายประเภทมาก่อน ไม่ว่าจะเป็น สังคม, เศรษฐกิจ อยู่นานถึง 12 ปี ก่อนที่จะมาปักหลักแน่นอนที่ข่าวการเมือง

ด้วยความเป็นนักข่าวเจนประสบการณ์ รวมระยะเวลาการทำงานด้านนี้ถึง 23 ปี กรมประชาสัมพันธ์จึงได้ให้ฟองสนาน จัดรายการชื่อ "บันทึกสถานการณ์" ออกอากาศทางวิทยุกรมประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย ทางคลื่น FM.92.5 MHz ทุกวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.00 - 09.00 น. ในปี พ.ศ. 2537 คู่กับสุริยง หุณฑสาร โดยเป็นรายการสรุปข่าวประจำ เปิดโอกาสให้ผู้ฟังโทรสายเข้ามาแสดงความคิดเห็น กล้าวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลตรงไปตรงมา ทั้ง ๆ ที่เป็นหน่วยงานราชการแท้ ๆ ทำให้มีผู้ฟังจำนวนมาก

จนกระทั่ง ย่างเข้าสู่ปีที่ 8 คือ ปี พ.ศ. 2545 ในรัฐบาลชุด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี รายการบันทึกสถานการณ์ก็ถูกถอดออก โดยอ้างเหตุว่า ฝักใฝ่การเมือง โดยเฉพาะพรรคฝ่ายค้าน คือ พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเจ้าตัวยืนยันว่า ไม่เคยเข้าข้างฝ่ายใดหรือแทรกแซงด้านเนื้อหาจากผู้ใด แต่ก็ยอมรับการถูกถอดถอนโดยดี โดยบอกว่า เป็นเพียงข้าราชการชั้นผู้น้อย ผู้ใหญ่สั่งอะไรมา ก็ต้องปฏิบัติตาม

เมื่อถูกถอดจากรายการแล้ว ฟองสนาน ยังคงรับราชการอยู่ต่อไป และได้จัดรายการโทรทัศน์ เช่น รายการ "ชีพจรการเมือง" ทางช่องยูบีซี 7 เวลา 21.00-22.00น. ทุกวันอาทิตย์ รายการวิทยุ "คุยเฟื่องเรื่องข่าว" ทาง FM. 99.5 MHz. เวลา 17.00-19.00 น. นอกจากนี้ยังเขียนคอลัมน์ประจำนิตยสารกุลสตรีชื่อ "เกร็ดการเมือง" ซึ่งโด่งดังและประสบความสำเร็จอย่างมา ซึ่งต่อมา สำนักพิมพ์ดอกหญ้า นำไปพิมพ์รวมเล่ม จัดจำหน่ายในชื่อ "เม้าท์สนั่นลั่นสภา" ในปี พ.ศ. 2545 ด้วย

นอกจากนี้แล้ว ยังเป็นนักโหราศาสตร์ ที่ศึกษาโหราศาสตร์ด้วยตนเอง มักจะออกมาทำนายดวงชะตาของบ้านเมืองอยู่เสมอ ๆ [2]

ครอบครัว แก้

ชีวิตครอบครัว ฟองสนาน จามรจันทร์ สมรสกับ สรวงสรรค์ จามรจันทร์ มีบุตรสาว 1 คน ชื่อ พราวฟอง จามรจันทร์ ชื่อเล่น ใบตอง[1] ปัจจุบันเกษียณจากราชการก่อนกำหนด โดยมีตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้อำนวยการสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย (สวท. หรือ เอ็นบีที) ประจำจังหวัดหนองบัวลำภู[3]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 "พลิกชีวิต 'นักข่าว' ฝีปากกล้า!! 'ฟองสนาน จามรจันทร์". เดลินิวส์. 4 January 2014. สืบค้นเมื่อ 5 January 2015.
  2. “เจ๊ฟอง” ฟันธง หลัง พ.ค. “ชะตาปู” เข้าสู่ภพมรณะ !!! จากแนวหน้า
  3. ไม่แน่จริง ไม่ข้ามน้ำชีมาหรอก หนังสืออัตชีวประวัติ ISBN 9743928748
  4. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2022-01-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๐ ตอนที่ ๖ ข หน้า ๔๙, ๑๓ มีนาคม ๒๕๔๖
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย, เล่ม ๑๑๖ ตอนที่ ๓ ข หน้า ๕๑, ๒๙ มกราคม ๒๕๔๒
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๑๒๕ ตอนที่ ๑๓ ข หน้า ๓, ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๑

แหล่งข้อมูลอื่น แก้