ฟร็องซัว เดอ ซาล

นักบุญฟร็องซัว เดอ ซาล (ฝรั่งเศส: Saint François de Sales; 21 สิงหาคม ค.ศ. 156728 ธันวาคม ค.ศ. 1622) เป็นบาทหลวงโรมันคาทอลิกชาวฝรั่งเศส ได้รับแต่งตั้งให้เป็นบิชอปแห่งเจนีวา ผลงานที่สำคัญของท่านคือการดึงชาวเมืองชาเบลส์ซึ่งไปนับถือนิกายโปรเตสแตนต์ลัทธิคาลวินให้หันกลับมานับถือนิกายโรมันคาทอลิกได้สำเร็จ นอกจากนี้ท่านยังได้สร้างสรรค์วรรณกรรมไว้มากมายซึ่งมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความศรัทธาในคริสต์ศาสนานิกายคาทอลิก จนต่อมาท่านได้รับยกย่องว่าเป็นนักปราชญ์แห่งคริสตจักร และเป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์นักข่าว นักหนังสือพิมพ์ และนักเขียน

นักบุญฟร็องซัว เดอ ซาล
มุขนายกและนักปราชญ์แห่งคริสตจักร
เกิด21 สิงหาคม ค.ศ. 1567
ชาโตเดอซาล ดัชชีซาวอย
จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
เสียชีวิต28 ธันวาคม ค.ศ. 1622
ลียง ราชอาณาจักรฝรั่งเศส
นิกายโรมันคาทอลิก
แองกลิคัน
เป็นนักบุญ8 เมษายน ค.ศ. 1665
โดย สมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 7
วันฉลอง24 มกราคม
สัญลักษณ์พระหฤทัยของพระเยซู มงกุฏหนาม
องค์อุปถัมภ์นักข่าว

ประวัติ แก้

นักบุญฟร็องซัว เดอ ซาล เกิดในตระกูลขุนนางในดัชชีซาวอย ทางภาคใต้ของฝรั่งเศส ด้วยความที่เป็นบุตรคนโตในบุตรทั้ง 6 คน บิดาจึงตั้งใจจะให้ทำงานตุลาการศาลล่างและส่งไปเรียนที่วิทยาลัยในเมืองลาโรชและอานซี เมื่ออายุได้ 16 ปี เดอ ซาลก็เข้าเรียนด้านวาทศิลป์และมนุษยศาสตร์ที่ Collège de Clermont ขณะอยู่ที่นี่ได้เข้าร่วมการอภิปรายด้านเทววิทยา และเกิดความสงสัยเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องเทวลิขิต และทุกข์ใจมากจนล้มป่วย จนที่สุดในปี ค.ศ. 1587 จึงตัดสินใจอุทิสตนต่อพระเจ้าโดยเชื่อว่าความรักของพระองค์ย่อมนำสิ่งที่ดีมาสู่มนุษย์ทุกคนรวมทั้งตัวเอง จนปี ค.ศ. 1588 ได้ย้ายไปเรียนนิติศาสตร์และเทววิทยาที่มหาวิทยาลัยปาโดวา ประเทศอิตาลีจนจบปริญญาเอกในปี ค.ศ. 1592

หลังจบการศึกษา บิดาของเดอ ซาลได้ปูทางชีวิตขุนนางให้โดยเตรียมแต่งตั้งให้เป็นวุฒิสมาชิกแห่งช็องเบรี และหาสตรีสูงศักดิ์มาเป็นคู่สมรส[1] แต่แผนการทั้งหมดก็ต้องล้มเหลวเพราะเดอ ซาลตัดสินใจจะบวชเป็นบาทหลวง บิดาต้องจำใจยอมรับการตัดสินใจของบุตรเพราะบิชอปโกลด เดอ กรานีแยร์ (Claude de Granier) บิชอปแห่งเจนีวาในขณะนั้นได้เข้าช่วยเดอ ซาล โดยให้เขาได้รับศีลอนุกรมเป็นบาทหลวงจนสำเร็จแล้วแต่งตั้งให้เป็นอธิการอาสนวิหารเจนีวา (ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สำคัญรองจากบิชอป) ในปี ค.ศ. 1593[2]

การงาน แก้

นับตั้งแต่มีการปฏิรูปศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนต์ขึ้น ชาวเจนีวาจำนวนมากได้หันไปเข้ารีตนิกายใหม่นี้ ส่งผลให้อาสนะของบิชอปแห่งเจนีวาซึ่งเป็นสัญลักษณ์อำนาจของนิกายคาทอลิกต้องถูกย้ายไปตั้งที่เมืองอานซี แคว้นซาวอยแทน เดอ ซาลในฐานะที่เป็นบาทหลวงก็ได้เผยแผ่ศาสนาอย่างแข็งขัน สามารถเข้าถึงคนยากจน รู้จักพัฒนาภาษาสัญลักษณ์เพื่อใช้เทศน์ให้กับคนหูหนวก เป็นต้น จนสามารถนำชาวโปรเตสแตนต์ให้หันกลับมาสู่ความเชื่อเดิม (เป็นคำที่เดอ ซาล ใช้หมายถึงแนวทางของคาทอลิก) ได้เป็นจำนวนมาก

ในปี ค.ศ. 1602 บิชอปแห่งเจนีวาถึงแก่กรรม เดอ ซาล จึงได้รับอภิเษกให้เป็นบิชอปแห่งเจนีวาสืบต่อแทน แต่ท่านได้ไปเจนีวาแค่ 2 ครั้งเท่านั้น ครั้งแรกไปตามพระบัญชาของสมเด็จพระสันตะปาปาที่ให้ท่านไปชักนำเบซานักเทววิทยาผู้สืบทอดแนวคิดของคาลวินให้กลับมานับถือคาทอลิก อีกครั้งหนึ่งเป็นการเดินทางผ่าน[2]

นอกจากนี้ในวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1610 ท่านยังร่วมกับนักบุญฌาน เดอ ช็องตาล (Jeanne de Chantal) ก่อตั้งคณะแม่พระเสด็จเยี่ยม (Order of the Visitation of Holy Mary) ซึ่งเป็นคณะนักบวชคาทอลิกหญิงที่เน้นงานเยี่ยมเยียนและช่วยเหลือคนป่วยและคนยากจน[3]

การถึงแก่กรรม แก้

นักบุญฟร็องซัว เดอ ซาล ถึงแก่กรรมขณะร่วมเดินทางในคณะของดยุกชาร์ล อิมมานูเอลที่ 1 ดยุกแห่งซาวอย เมื่อวันที่28 ธันวาคม ค.ศ. 1622 ที่เมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส ขณะอายุได้เพียง 55 ปี หลังจากให้โอวาทแก่นักพรตหญิงท่านหนึ่งเป็นคำสุดท้ายว่า “ความถ่อมตน” [2]

ในปี ค.ศ. 1661 ท่านได้รับการประกาศเป็นบุญราศีโดยสมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 7 และได้รับการประกาศเป็นนักบุญในอีก 3 ปีให้หลัง ต่อมาในปี ค.ศ. 1877 สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 9 ก็ประกาศให้ท่านเป็นนักปราชญ์แห่งคริสตจักรด้วย

อ้างอิง แก้

  1. CATHOLIC ENCYCLOPEDIA: St. Francis de Sales. Catholic encyclopedia. เรียกข้อมูลวันที่ 22 ก.ย. พ.ศ. 2553
  2. 2.0 2.1 2.2 St. Francis de Sales. Catholic online. เรียกข้อมูลวันที่ 22 ก.ย. พ.ศ. 2553
  3. วีรศักดิ์ วนาโรจน์สุวิช, ประวัตินักบุญตลอดปี, สมณองค์กรสนับสนุนงานแพร่ธรรมในประเทศไทย, 2550, หน้า 54