พูดคุย:อวย เกตุสิงห์

อวย เกตุสิงห์ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิกิเภสัชกรรมและสถานีย่อย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อรวบรวมเรื่องราวทุกอย่างเกี่ยวกับศาสตร์ทางเภสัชกรรม อาทิ ยา เครื่องยา สมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สารเคมีที่นำมาปรุงแต่งเป็นยา กระบวนการผลิตและบริหารด้านยา ตลอดจนศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในโครงการนี้ได้ด้วยการช่วยกันพัฒนาบทความ อวย เกตุสิงห์ หรือแวะไปที่หน้าโครงการหรือหน้าสถานีย่อยเพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติม
 โครง  บทความนี้อยู่ที่ระดับโครง ตามการจัดระดับการเขียนบทความ

ประวัติ ศาสตราจารย์นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิฟื้นฟู ส่งเสริมการแพทย์ไทยเดิม และอายุรเวทวิทยาลัย (ชีวิกโกมารภัจจ์)

พ.ศ. ๒๔๕๑-๒๕๓๓

    ศาสตราจารย์นายแพทย์อวย  เกตุสิงห์ ได้รับการยกย่องและนับถืออย่างสูงจากบรรดาศิษย์ทั้งหลายว่าเป็นบรมครูและปูชนียบุคคล ท่านเป็น ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาหลายแขนงในหลายสถาบันไม่ว่าจะเป็นแพทย์แผนปัจจุบัน แผนโบราณ พยาบาล เภสัชกรรม ทันตแพทย์ พลศึกษา กีฬา ศีลธรรมและสังคม จนมีลูกศิษย์อยู่ทั่วไปท่านเป็นผู้มีอัจฉริยะผู้มีความริเริ่มหลากหลาย ประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ทางการแพทย์ และอุปกรณ์การทดสอบกำลัง มีงานศึกษา ค้นคว้าวิจัยเขียนบทความทางวิชาการ การศาสนา และความรู้ทั่วไปไว้อย่างมากมาย ตลอดจนมีงานส่งเสริมสังคมซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง
    อาจารย์เกิดที่ตำบลรังสิต อำเภอรังสิต จังหวัดพระนคร เมื่อวันที่ ๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๑ ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีวอก เป็นบุตรคนที่สองของรองอำมาตย์เอก หลวงศรีนาวาพล (อู่ เกตุสิงห์) และนางลูกจันทร์ (งามเจริญ) ศรีนาวาพล มีพี่น้องรวม ๗ คน คือ

๑. นางเอื้อ เจียมประเสริฐ ๒. ศาสตราจารย์นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ ๓. นายออ เกตุสิงห์ ๔. นางออมสุข มุกตะพันธ์ ๕. นางสาวเอินศรี เกตุสิงห์ ๖. นายแพทย์อัฐ เกตุสิงห์ ๗. นางพนอศรี สุนทรานนท์


              ท่านได้รับการหล่อหลอมอุปนิสัยในเชิงความดีงามทุกอย่างจากท่านบิดา ซึ่งเป็นอาจารย์คนแรกสำหรับภาษาไทย ภาษาอังกฤษ กวีนิพนธ์ ตั้งแต่ก่อนเข้าโรงเรียน และมีคุณยาย (เป้า งามเจริญ) เป็นครูเคหะศิลป์และผู้สอนให้รู้จักความเสียสละ กตัญญูรู้คุณ การมีภูมิหลังตั้งแต่เยาว์วัยมาดังนี้ ท่านจึงมีประวัติการศึกษาที่ดีเด่นโดยตลอด ท่านเริ่มเรียนที่โรงเรียนประถมจักวรรดิ ประถม ๑-๓ พ.ศ.๒๔๕๘-๒๔๖๐, มัธยม ๑-๕ พ.ศ.๒๔๖๑-๒๔๖๓  ที่โรงเรียนมัธยมวัดบพิตรภิมุข (เพียง ๓ ปีท่านเรียนได้ ๕ ชั้น) ย้ายมาเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย พ.ศ. ๒๔๖๔-๒๔๖๘ ชั้นมัธยม ๖-๘ ,ชีวประวัติที่อาจารย์เขียนไว้เองนั้น กล่าวได้ว่าเรียนมัธยม ๘ อยู่ถึง ๓ ปี เพราะรอสอบชิงทันเล่าเรียนหลวงเพื่อไปศึกษาต่างประเทศ ปีแรกท่านสอบได้ที่ ๔ (มีทุน ๓ ทุน) ปีที่ ๒ สอบได้ที่ ๓ (มีทุน ๒ ทุน) ปีที่ ๓ สอบซ้ำอีกได้ที่ ๓ อาจารย์จึงเปลี่ยนความมุ่งหมายมาเรียนแพทย์ ผู้เขียนเห็นว่าถ้าท่านสอบชิงทุนได้คงเป็นนายพลไปนานแล้ว แต่เป็นโชคของโรงเรียนแพทย์ มากกว่าที่ได้บุคคลอย่างท่านมาเป็น "ครู" 


               อาจารย์เข้าเรียนเตรีมแพทย์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์เมื่ออายุ ๑๘ ปี (ทั้งที่เรียนมัธยม ๘ อยู่ถึง ๓ ปี ) ในพ.ศ. ๒๔๙๖-๒๔๗๐, ในปี พ.ศ.๒๔๗๐ เป็นนักเรียนผู้ช่วยอาจารย์ในแผนกเคมี  ต่อมาเรียนที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๔๗๑-๒๔๗๕ ,โดยข้ามฟากมาเรียนที่ศิริราช เป็นนักเรียนผู้ช่วยอาจารย์ในแผนกสรีรวิทยา (สมัยนั้นรวมชีวเคมีและเภสัชวิทยาด้วย)  ในขณะที่เรียนปี ๒,๓,๔  ได้รับทุนของพระยาอุเทนเทพโกสินทร์   สำหรับการสอบได้เป็นที่หนึ่ง ต่อมาได้ฟื้นฟูระบบนักเรียนผู้ช่วยขึ้นมาอีกหลายรุ่น
               อาจารย์เรียนจบได้รับพระราชทานปริญญา พ.ศ. ๒๔๗๕ เมื่ออายุ ๒๔ ปี   (สมัยนั้นเรียกเวชบัณฑิตย์ตรีต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นแพทยศาสตร์บัณฑิตย์) ได้รับรางวัลเหรียญทอง สำหรับการเรียนยอดเยี่ยมตลอดหลักสูตร และรางวัลเหรียญทองแดงสำหรับความเป็นเยี่ยมในวิชา สรีรวิทยา พยาธิวิทยา อายุรศาสตร์ ศัลยศาตร์ และสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา (สมัยนั้นมี ๖ แผนกวิชา อาจารย์ได้รับเหรียญ ๕ เหรียญ) ทั้งๆ ที่ได้คะแนนเป็นเยี่ยมในวิชาทางคลินิกทุกวิชาท่านก็ยังมาเป็นอาจารย์อยู่ในปรีคลินิก ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๖ หลังเรียนจบ โดยศาสตราจารย์อัลบริตตัน หัวหน้าแผนกสรีรวิทยาในสมัยนั้นเป็นผู้หันเหเข็มทิศวิชาชีพ


               เมื่อรับราชการเป็นอาจารย์แล้ว ท่านก็ทำงานพร้อมกับศึกษาต่อในคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล และสอบได้ปริญญา แพทยศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตย์ใน พ.ศ. ๒๔๗๘ (อายุ ๒๗ ปี) เป็น พ.ด. คนที่ ๔ ของไทย โดยเสนอวิทยานิพนธ์เป็นภาษาอังกฤษเรื่อง "The Reaction of Pinchax - Pinchax Hamilton to Lethal Dose of igitalis" (ปฏิกิริยาของปลาหัวตะกั่วต่อขนาดตายของดิจดตาลิส)
              พ.ศ. ๒๔๗๙ (อายุ ๒๘ ปี) สอบได้ทุนอเล็กซานเดอร์ ฟอน ฮุมโบลท์ ไปเรียนเพิ่มเติมในวิชาสรีรวิทยา เภสัชวิทยา และเคมี ณ มหาวิทยาลัยฮัมเบิร์ก ประเทศเยอรมนี ท่านได้รับทุนทั้งประกาศนียบัตร โรคเมืองร้อนและปรสิตวิทยา (จากสถาบันโรคเมืองร้อน) ใน พ.ศ. ๒๔๘๐ และใน พ.ศ. ๒๔๘๒  ได้รับปริญญาวิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตย์ (Dr.rer.nat.) สาขาอินทรีย์เคมี ด้วยเกียรตินิยมดีมากอาจารย์ได้บันทึกไว้ว่า ศาสตราจารย์ ชลูบัฆ แห่งสถาบันเคมี ฮัมเบิร์กเป็นผู้เปิดทางแห่งวิชาชีพที่สอง คือ ทางเคมีและอินทรีย์เคมี

การรับราชการ (การประกอบอาชีพ) "ครู"พ.ศ. ๒๔๗๖ อาจารย์ตรีแผนกสรีรวิทยา คณะแพทยศาสตร์ และศิริราชพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมมหา วิทยาลัย กระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน)

พ.ศ. ๒๔๗๙ อาจารย์โท พ.ศ. ๒๔๘๖ อาจารย์เอก แผนกสรีรวิทยา คณะแพทยศาสตร์ และศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. ๒๔๘๙ หัวหน้าแผนกสรีรวิทยา (ระยะนั้นยังรวมเภสัชวิทยา และชีวเคมีอยู่ด้วย) พ.ศ. ๒๔๙๔ อาจารย์ชั้นพิเศษ พ.ศ. ๒๔๙๕ ศาสตราจารย์ พ.ศ. ๒๕๐๘ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. ๒๕๐๙ หัวหน้าแผนกเภสัชวิทยาคณะแพทยศาสตร์ และศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (ธันวาคม พ.ศ. ๒๕0๘ ได้แยกแผนก สรีรวิทยา เป็น ๓ แผนก คือ สรีรวิทยา เภสัชวิทยา และชีวเคมี อาจารย์ได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกเภสัชวิยา) พ.ศ. ๒๕๑๑ เกษียณอายุราชการ ราชการทหาร พ.ศ. ๒๔๘๖ นายทหารนอกกอง ยศเรือโทสังกัดกรมแพทย์ทหารเรือ กองทัพเรือ ปฏิบัติราชการที่โรงพยาบาลทหารเรือสัตหีบ พ.ศ. (๒๔๘๔-๒๔๘๕) บัตรทหารผ่านศึกเลขที่ ๒๕๙๐/๒๕๑๘



หน้าที่พิเศษในทางราชการ พ.ศ. ๒๔๘๓ - ๒๔๘๖ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๑๐ - ๒๕๑๑ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาองค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย หลังจากเกษียณอายุราชการแล้วท่านได้รับตำแหน่ง ผู้อำนวยการศูนย์ฯ พ.ศ. ๒๕๑๖ เกษียณอายุครั้งที่ ๒ (อายุ ๖๕ ปี) ได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการองค์การส่งเสริมการกีฬาแห่งแระเทศไทย เป็นที่ปรึกษาพิเศษของศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา

กิจการลูกเสือ พ.ศ. ๒๕๐๙-๒๕๑๘ กรรมการบริหาร คณะลูกเสือแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๑๙ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาลูกเสือแห่งชาติ ผู้ตรวจการลูกเสือ พ.ศ. ๒๕๑๙ ลูกเสือชาวบ้าน เลขที่ ๒๘๗ รุ่น ๙๙๗/๒/ช.ม. ๗๕

การสมรส

    ๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๖ สมรสกับแพทย์หญิงหม่อมราชวงศ์ ส่งศรี เกษมศรี (ต่อมาดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ หัวหน้าภาค วิชาสูติศาสตร์-นรีเวทวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล) ธิดาหม่อมเจ้าปฏิพัทธ เกษมศรี (อดีตเทศาบาลมณฑลราชบุรี) และหม่อมเนื่อง (ปันยารชุน) เกษมศรี (มีธิดาคือ ดร.ศิวพร เกตุสิงห์) ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๙๘-๒๕๒๑ (อายุ ๔๗-๖๑ ปี) อาจารย์ได้ทุนต่างประเทศอีกหลายทุน เช่น เอ.ซี.เอ.,โคลอมโบ , รัฐบาลฝรั่งเศส , ไชน่าเมดิคัลบอร์ดแห่งนิวยอร์ค , ฮุมโบลท์ , เนชชะนั่ลสติติวท์ออฟเฮลท์ซ , ทุนของสถาบันเวชศาสตร์ประสิทธิภาพ (มหาวิทยาลัยเบอร์ลิน) การดูงานและการศึกษาในต่างประเทศในแต่ละครั้ง ท่านได้อะไรใหม่ ๆ   มานำเสนอสำหรับโรงเรียนแพทย์ และการกีฬาของประเทศไทยไม่ใช่ไป   เพื่อความรู้ความชำนาญของตนเอง หลังจากเกษียณอายุราชการแล้ว อาจารย์หันเข็มไปทางกีฬาเวชศาสตร์ก็ยังไปดูงาน และประชุมในต่างประเทศอีกหลายต่อหลายครั้งนับได้ว่า อาจารย์เป็นผู้ใฝ่ใจการเรียนตลอดชีวิต 


เกียรติพิเศษทางวิชาการที่ได้รับภายในประเทศและต่างประเทศ ๑.แพทยศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตย์กิตติมหาศักดิ์ (มหาวิทยาลัย แพทยศาสตร์-มหิดล) ๒.เภสัชศาสตร์ดุษฎิบัณฑิตย์กิตติมหาศักดิ์ (มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์มหิดล) ๓.ราชบัณฑิตย์ในราชศาสตร์ประยุกต์ หลังเกษียณอายุราชการ ๔.วิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตย์ (ศึกษาศาสตร์) กิตติมศักดิ์ (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) ๕.ครุศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตย์กิตติมศักดิ์ (คณะครุศาสตร์จุฬ่าลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ๖.ศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ (คณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ๗.วิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตย์กิตติมศักดิ์ (พลศึกษา) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (พ.ศ.๒๕๒๘ อายุ ๗๗ ปี) ๘.Fellow , member , guest professor , invited panellist , invited speaker , consultant ของสถาบันต่างประเทศไม่น้อยกว่า ๑๐ แห่ง

ราชการพิเศษและกิจกรรมพิเศษบางอย่าง


กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติสาขาแพทย์ , สาขาเคมีและเภสัช ; กรรมการฝ่ายแพทย์ในกรณีสวรรคตพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ , กรรมการแพทยสภา , กรรมการบัญญัติศัพท์ภาษาไทย (ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข) , กรรมการมหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ , อาจารย์พิเศษ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) , มหาวิทยาลัยขอนแก่น , วิทยาลัยแพทยศาสตร์มงกุฎเกล้า) , อาจารย์ที่ปรึกษากลุ่มอาสามหาวิทยาลัยมหิดล , นายกสมาคมเวชศาสตร์แห่งประเทศไทย , นายกสมาคมไทย-เยอรมัน , นายกสมาคมอาศรมวัฒนธรรมไทย-ภารต , อุปนายกสมาคมนักวิ่งเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย , กรรมการวิจัยกิตติมศักดิ์ สหพันธ์กีฬาเวชศาสตร์แห่งเอเชียเป็นต้น ตำแหน่งต่าง ๆ เหล่านี้รวมกันแล้วไม่น้อยกว่า ๒๐ ตำแหน่งสัญลักษณ์แห่งเกียรติยศสูงสุดสำหรับชีวิตราชการ

             - เครื่องราชอิสริยาภรณ์ มหาวชิรมงกุฏ (อายุ ๕๘ ปี)
             - มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (อายุ ๗๔ ปี)


สูงสุดสำหรับนักวิชาการและนักวิจัย

             - เหรียญดุษฎีมาลาเข็มศิลปวิทยา (อายุ ๔๘ ปี)

สำหรับราชการในพระองค์

               - ทุติจุลจอมเกล้าวิเศษ (อายุ ๖๒ ปี)
               - อิสริยาภรณ์ชั้นสูง (ต่างประเทศ) สาธารณรัฐเยอรมันตะวันตก (อายุ ๖๒ ปี)


ผู้เขียนประวัติ ศาสตราจารย์แพทย์หญิง นันทา ติตถะสิริ รองศาสตราจารย์นายแพทย์กรุงไกร เจนพานิชย์

ต้นฉบับบทความ จาก ศาสตราจารย์นายแพทย์นรา แววศร




เอกสารอ้างอิง ๑. ประวัติข้าราชการ มหาวิทยาลัย ๒. หนังสือ อวยนิมิต ๑ ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๑๑) ๓. หนังสือ อวยนิมิต ๒ ๖๑-๗๒ (พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๓๓)

    โรงพิมพ์ไทยเขษม ถนนเฟื่องนคร กทม.

๔. หนังสือ อวยนิมิต ๓ ๗๓-๘๐ (พ.ศ. ๒๕๒๔-๒๕๓๐)

    ไทยมิตรการพิมพ์ ปทุมวัน กรุงเทพมหานคร.
กลับไปที่หน้า "อวย เกตุสิงห์"