พิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน

พิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน (อังกฤษ: Jim Thompson House) เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ ตั้งอยู่ที่บ้านเรือนไทยของจิม ทอมป์สัน ริมคลองแสนแสบ ฝั่งตรงข้ามคลองกับชุมชนบ้านครัว ซึ่งเป็นชุมชนมุสลิม เป็นชุมชนทอผ้าแห่งหนึ่งที่ยังหลงเหลืออยู่ในพระนคร จิม ทอมป์สันย้ายมาอาศัยอยู่ที่นี่ตั้งแต่ พ.ศ. 2490 จนกระทั่งหายสาบสูญเมื่อ พ.ศ. 2510 [1]

พิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน
Jim Thompson House
บ้านจิม ทอมป์สัน ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์ อยู่ตรงข้ามชุมชนบ้านครัว
แผนที่
เว็บไซต์www.jimthompsonhouse.com

จิม ทอมป์สันเริ่มสร้างหมู่เรือนไทยเมื่อ พ.ศ. 2502 บนพื้นที่ประมาณ 5 ไร่เศษ โดยได้ซื้อเรือนไทยจากตระกูลพงศยมัด ด้วยสนนราคา 45,000 บาท เมื่อ พ.ศ. 2501 จากนั้นได้ตระเวนซื้อบ้านไทยที่อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บรรทุกลงเรือตามแม่น้ำเจ้าพระยาแล้วเลาะคลองแสนแสบมายังบ้านครัว รวมถึงนางสุรีย์ มนูทัศน์ ได้มอบเรือนไทยหลังหนึ่งให้เปล่ากับจิม ทอมป์สัน เพื่อเป็นมิตรภาพในการลงทุนค้าขายผ้าไหม จากนั้น พ.ศ. 2502 เล็ก มานะเกษม เป็นนายช่างควบคุมการก่อสร้างโดยไม่ขอรับค่าแรงส่วนตัวเพราะร่วมลงทุนค้าผ้าไหมด้วยกัน จนก่อสร้างเป็นเรือนไทย 6 หลังแล้วเสร็จ[2] เปิดต้อนรับผู้เข้าชมตั้งแต่ พ.ศ. 2507 จนเมื่อ พ.ศ. 2510 จิม ทอมป์สันได้หายสาบสูญ ทรัพย์สินของเขาได้รับอนุญาตจากรัฐบาลให้ก่อตั้งเป็นมูลนิธิเจมส์ เอชดับเบิลยู ทอมป์สัน เพื่อดูแลรักษาบ้านและทรัพย์สินของจิม ต่อมามูลนิธิฯ ได้ซื้อที่ดินเพื่อการก่อสร้างอาคารใหม่เพิ่มเติม[3]

ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน อยู่ในความดูแลของมูลนิธิจิม ทอมป์สัน จัดแสดงศิลปวัตถุของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะพระพุทธรูปยุคสมัยต่างๆ ไว้เป็นจำนวนมาก ตัวอาคารเรือนไทยได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2539 จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์

อ้างอิง แก้

  1. "ประวัติพิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-03-30. สืบค้นเมื่อ 2013-04-09.
  2. ชลธิรา สัตยาวัฒนา. (2544) สิทธิชุมชนบ้านครัว : ประวัติศาสตร์บ้านครัว และการต่อต้านทางด่วนซีดีโร้ดของชาวชุมชน. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.):กรุงเทพฯ.
  3. "บ้านจิม ทอมป์สัน". ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

พิกัดภูมิศาสตร์: 13°44′56″N 100°31′44″E / 13.749°N 100.529°E / 13.749; 100.529