พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา

พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ[1] อดีตกรรมการในคณะกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติ อดีตวุฒิสมาชิกและสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อดีตประธานกรรมการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ประวัติ แก้

เกิดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470 เป็นผู้มีบทบาทสำคัญผู้หนึ่งในการพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศไทย บิดา คือ พระยาอิศรพงษ์พิพัฒน์ (หม่อมหลวงศิริ อิศรเสนา) มารดาคือ ม.ล.สำลี อิศรเสนา (นามสกุลเดิม กุญชร) และเป็นหลานปู่ เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์(หม่อมราชวงศ์เย็น อิศรเสนา) อดีตเสนาบดีกระทรวงวัง การศึกษาเมื่อปีพ.ศ. 2479 เข้ารับการศึกษาชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ เลขประจำตัวนักเรียน ท.ศ.5270 ป.และสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาที่วชิราวุธวิทยาลัย เข้ารับการศึกษาต่อที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปีพ.ศ. 2493 ได้รับวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (ไฟฟ้า) (เกียรตินิยม)จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและในปีถัดมาในปีพ.ศ. 2494ได้รับวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (เครื่องกล) คณะวิศวกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกหนึ่งสาขา และได้เดินทางไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา และในปีพ.ศ. 2497ได้รับวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตในสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา

ในปีพ.ศ. 2529 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เสนอให้ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาบริหารธุรกิจ จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในปีพ.ศ. 2535 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เสนอให้ได้รับปริญญาวิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมทั้งในปีพ.ศ. 2542 ได้รับเกียรติจากทางวิทยาลัยโยนกเสนอให้ได้รับปริญญาบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการจัดการ วิทยาลัยโยนกนับว่าได้รับเกียรติให้เป็นด๊อกเตอร์กิตติมศักดิ์จาก3แห่ง

ประวัติการทำงาน แก้

ในหน้าที่การทำงาน ได้เข้าเริ่มทำงาน อยู่ที่บริษัทเชลล์แห่งประเทศไทยนานถึง 12 ปี และได้เข้าร่วมงานกับทางกลุ่มปูนซิเมนต์ไทย ดำรงตำแหน่งจากผู้บริหารระดับกลาง จนสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารสูงสุดขององค์กรแห่งนี้ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCG) เน้นในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทำให้กลุ่มธุรกิจนี้มีความพร้อมสามารถแข่งขันและดำเนินธุรกิจอย่างมั่นคงต่อมา และจากความรู้ความสามารถได้รับการยอมรับให้เป็นนายกสภามหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยชินวัตร รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาสภามหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีและได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประธานกรรมการ มูลนิธิเพื่อสถาบันการศึกษาวิชาการจัดการแห่งประเทศไทย ประธานกิตติมศักดิ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรรมการอำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย รองประธานกรรมการ มูลนิธิไทยคม ที่ปรึกษา คณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ที่ปรึกษา คณะอนุกรรมการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การเพิ่มผลผลิตของประเทศ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ปรึกษา คณะอนุกรรมการดำเนินการปฏิรูปการส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิตและเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา และไม่นานมานี้เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2551 เป็นประธานคณะกรรมการที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และเป็นหนึ่งในร้อยท่านที่ได้รับรางวัลนักทรัพยากรมนุษย์ดีเด่นประจำปี 2550 และท่านได้เป็นผู้บุกเบิกและริเริ่มโรงเรียนดรุณสิกขาลัยซึ่งเป็นโรงเรียนในแนว Constructionism ที่เปิดโอกาสให้เด็กๆคิดได้ตัวตนเอง ในวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2560 ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเนื่องจากดำรงตำแหน่งประธานกรรมการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ[2] เขาดำรงตำแหน่งอยู่เพียง 2 เดือนก่อนที่จะพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากพ้นจากตำแหน่งดังกล่าว

ชีวิตครอบครัว แก้

นายพารณ สมรสกับนางบุนนาค อิศรเสนา ณ อยุธยา มีบุตร 1 คน คือ นายพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
  2. ประธานกรรมการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
  3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2007-01-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๑ ตอนที่ ๒๑ ข หน้า ๑, ๓ ธันวาคม ๒๕๓๗
  4. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๐๘ ตอนที่ ๒๐๘ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓, ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๔
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2014-01-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๓ ตอนที่ ๗ ข หน้า ๒, ๔ พฤษภาคม ๒๕๓๙
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ประจำปี ๒๕๕๘ เก็บถาวร 2015-12-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๓๒ ตอนที่ ๓๒ ข หน้า ๒๔, ๔ ธันวาคม ๒๕๕๘

แหล่งข้อมูลอื่น แก้