พัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร

ท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร (28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2441 – 20 ธันวาคม พ.ศ. 2529) เป็นพระเชษฐภคินีร่วมพระบิดาในสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา ในรัชกาลที่ 6 และเป็นมารดาของขวัญแก้ว วัชโรทัย อดีตรองเลขาธิการพระราชวัง และแก้วขวัญ วัชโรทัย อดีตเลขาธิการพระราชวัง


พัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร

เกิด28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2441
เสียชีวิต20 ธันวาคม พ.ศ. 2529 (88 ปี)
โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร
คู่สมรสพระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร (ก๊าด วัชโรทัย)
บุตร3 คน
บิดามารดาเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล)
เง็ก สุจริตกุล

ประวัติ แก้

ท่านผู้หญิงพัวเป็นธิดาของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล) กับเง็ก สุจริตกุล เกิดที่บ้านฝั่งธนบุรี ตรงข้ามวัดปากน้ำ ตำบลปากคลองด่าน (ปัจจุบันคือ แขวงปากคลองภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร) ด้วยมารดาเลี้ยงบุตรยาก ให้กำเนิดบุตรมาหลายคนแต่เสียชีวิตหมด หม่อมใหญ่ เทวกุล ณ อยุธยา ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายบิดาทราบความก็ขอไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม แล้วก็ถูกส่งตัวไปเข้ารับการอบรมในพระบรมมหาราชวัง อยู่ในความปกครองดูแลของท้าววนิดาพิจาริณี (เจ้าจอมเพิ่ม ในรัชกาลที่ 5) ผู้มีศักดิ์เป็นอา ตั้งแต่อายุได้ 2-3 ขวบ อาศัยเคล็ดโบราณคือลอดใต้ท้องช้างเพื่อให้เลี้ยงง่าย อาพาเธอขึ้นเฝ้าเจ้านายบนพระที่นั่งเทพดนัยบ่อย ๆ และได้มีโอกาสเฝ้าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว) ได้รับพระราชทานชื่อว่า “พัวพันเพิ่ม“ ต่อมาใช้คำหน้าเพียงคำเดียวว่า “พัว” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

การศึกษา แก้

พออายุถึงกำหนดที่จะเรียนหนังสือได้ พัวก็เข้ารับการศึกษาครั้งแรกกับทองสุก วิวัฒนานนท์ ซึ่งพำนักอยู่แถวเต๊งใกล้ ๆ กัน พออายุครบ 6 ขวบ ผู้ใหญ่ก็จัดให้ไว้จุกและทำพิธีโกนจุกเมื่อมีอายุเพียง 9 ขวบ จากนั้นเข้าศึกษาที่โรงเรียนราชินี จบการศึกษามัธยมปีที่ 6 เมื่อปี พ.ศ. 2460 แล้วศึกษาวิชาพยาบาลที่โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2461-2464 เมื่อจบแล้วได้รับการบรรจุเป็นพยาบาลในแผนกโอสถกรรม รับเงินเดือน ๆ ละ 25 บาท จากนั้นเดินทางไปศึกษาและฝึกงานที่โรงพยาบาลควีนแมรี ที่ย่านแฮมป์สเตด กับศึกษาวิชาครูพยาบาลที่วิทยาลัยแบทเทอร์ซีโปลีเทคนิค ประเทศอังกฤษ

การทำงาน แก้

เธอได้รับพระราชทานให้เป็นพยาบาลประจำพระองค์ของสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ติดตามเสด็จไปทรงรักษาพระองค์ในปี พ.ศ. 2479 ต่อมามีโอกาสไปรอบโลกกับเพื่อน ๆ ในปี พ.ศ. 2507 กับได้เดินทางไปสหรัฐและอังกฤษกับหลาน ๆ อีกครั้งในปี พ.ศ. 2515

ท่านผู้หญิงพัวเคยเป็นอนามัย เคยสอนที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย 5 ปี สอนวิชามาตเวชวิทยา ที่โรงเรียนการเรือน (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยสวนดุสิต) เคยเป็นอาจารย์สอนวิชาพิเศษที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โรงพยาบาลวชิรพยาบาล โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และโรงพยาบาลตำรวจ

อีกทั้งยังได้รับพระกรุณาธิคุณโปรดให้เป็นนางสนองพระโอษฐ์ ในปี พ.ศ. 2493 และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2519 ได้รับพระราชทานเลื่อนยศชั้นสูงขึ้นตามลำดับ นับแต่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จตุตถจุลจอมเกล้า จากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2470

ชีวิตครอบครัว แก้

ท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร ได้รับพระมหากรุณาประกอบพิธีสมรสพระราชทานกับพระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร (ก๊าด วัชโรทัย) เมื่อดำรงตำแหน่งเป็นพระยาประชุมมงคลการ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470 มีบุตรชายฝาแฝด ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทั้งสองคน คือแก้วขวัญ วัชโรทัยกับขวัญแก้ว วัชโรทัย และมีธิดาอีกหนึ่งคนได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า คือเฉลิมพร วัชโรทัย

อนิจกรรม แก้

ท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2529 ณ โรงพยาบาลศิริราช สิริอายุ 88 ปี

วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2529 เวลา 16.55 น. พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร (พระอิสริยยศในขณะนั้น) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี และนาวาอากาศตรี วีระยุทธ ดิษยะศริน พระสวามีในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ จากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ไปในการพระราชทานเพลิงศพ ท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร ท.จ.ว. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส[1][2]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวในพระราชสำนัก วันเสาร์ที่ ๒๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๒๙ เล่ม 104 ตอนที่ 1 หน้า 68-69 วันที่ 1 มกราคม 2530
  2. "หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ ท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2013-11-24.
  3. "แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายหน้าและฝ่ายใน ประจำปี 2519" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 93 (80 ง): 1354. 1 มิถุนายน 2519.
  4. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม ๑๐๑ ตอนที่ ๑๘๖ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๑, ๑๔ ธันวาคม ๒๕๒๗