พร ภิรมย์ (ปุญญวังโสภิกขุ) (29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2471 - 5 ธันวาคม พ.ศ. 2553 ) เป็นนักร้อง นักแต่งเพลงชาวไทย ที่ใช้ดนตรีไทยเดิมเป็นพื้นฐาน เนื้อเพลงแนวนิทานชาดกแฝงธรรมะ มีชื่อเสียงจากเพลง "น้ำตาลาไทร" "บัวตูมบัวบาน" และ "ดาวลูกไก่"

พร ภิรมย์
(ปุญญวังโสภิกขุ)
เกิด29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2471
บุญสม มีสมวงษ์
เสียชีวิต5 ธันวาคม พ.ศ. 2553 (82 ปี)
โรงพยาบาลสงฆ์
อาชีพนักร้อง นักแต่งเพลง นักดนตรี นักบวชเพื่อความพ้นจากทุกข์ในพระพุทธศาสนา
ปีที่แสดงพ.ศ. 2502-2524
สังกัดวงดนตรีจุฬารัตน์

ประวัติ แก้

พร ภิรมย์ มีชื่อจริงว่า บุญสม มีสมวงษ์ เป็นบุตรของนายประเสริฐ และนางสัมฤทธิ์ มีสมวงษ์ [1] ชาวอำเภอพระนครศรีอยุธยา จบชั้นมัธยม 3 จากโรงเรียนวัดบพิตรพิมุข มีความเชี่ยวชาญการร้องและเล่นดนตรีไทย ทำขวัญนาค พากย์หนัง และเข้ามาเล่นลิเก ใช้ชื่อคณะว่า "บุญสม อยุธยา" เล่นกับเสน่ห์ โกมารชุน มีชื่อเสียงโด่งดังจนครูมงคล อมาตยกุล ชักชวนมาอยู่ วงดนตรีจุฬารัตน์

พร ภิรมย์ ร้องเพลงอยู่กับวงดนตรีจุฬารัตน์หลายปี มีผลงานบันทึกเสียงประมาณ 200 เพลง เพลงที่ร้องส่วนใหญ่ร้อยละ​95%เป็นผู้แต่งเอง ในแนวนิทานชาดกแฝงธรรมะ ด้วยเทคนิคการแหล่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร เพลงแรกที่ได้รับความนิยมคือ "บัวตูมบัวบาน" ตามด้วย "ดาวลูกไก่", "น้ำตาลาไทร", "กระท่อมทองกวาว", "ลานรักลานเท", "ดาวจระเข้", "วังแม่ลูกอ่อน", "กลับเถิดลูกไทย" เป็นต้น

เกียรติยศ แก้

พร ภิรมย์ ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ในปี พ.ศ. 2509 ถึง 3 รางวัล จากเพลง บัวตูมบัวบาน และ ดาวลูกไก่ และในปี พ.ศ. 2514 จากเพลง กลับเถิดลูกไทย และได้รับรางวัลกึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทย ในปี พ.ศ. 2532 จากเพลง บัวตูมบัวบาน และ พ.ศ. 2534 จากเพลง ดาวลูกไก่

บั้นปลาย แก้

พร ภิรมย์ บวชเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดรัตนชัย (วัดจีน) ตำบลหอรัตนชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งแต่ พ.ศ. 2524 จนถึงมรณภาพ[1]ด้วยอาการปอดติดเชื้อ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2553 สิริอายุ 82 ปี พรรษา 29[2]

รางวัลเกียรติยศ แก้

  • ได้รับรางวัลการเชิดชู ปูชนีย์บุคคลเกียรติยศ ทางด้านผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปีพุทธศักราช 2553
  • ได้รับรางวัลพระคเณศ กรมศิลปากร จากผลงานรางวัลเพลง ดาวลูกไก่ เนื่องในโครงการเพชรในเพลง วันภาษาไทยแห่งชาติ ประจำปี 2553

อ้างอิง แก้

  • เจนภพ จบกระบวนวรรณ. เพลงลูกทุ่ง, TK Park Music Library ชุดดนตรีไทย. กรุงเทพ : สำนักงานอุทยานการเรียนรู้, พ.ศ. 2550. 176 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 978-974-8218-83-0