พระสี่เสาร์ เป็นวรรณกรรมพุทธศาสนาเป็นเรื่องเล่าจากชาดกลำดับที่ 44 เรื่อง สิโสรชาดก ในปัญญาสชาดก อันเป็นหนังสือรวบรวมนิทานพื้นบ้านของไทยแต่งเป็นเรื่องชาดก ที่พระภิกษุชาวเชียงใหม่เรียบเรียงขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2000–2200 อันเป็นสมัยเมื่อพระสงฆ์ไทยพากันไปเล่าเรียนมาแต่ลังกาทวีป มีความรู้ภาษามคธแตกฉาน[1] วรรณกรรมได้รับความนิยมแพร่หลายเรื่องหนึ่งในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ได้รับการกล่าวถึงในนิราศเดือนของหมื่นพรหมสมพัตสร (มี)

สำนวน แก้

ในหอสมุดแห่งชาติมีอยู่ 4 สำนวน รูปแบบงานประพันธ์เป็นกาพย์ (กลอนสวด) มีอยู่ 3 สำนวน และเป็นกลอนสุภาพ (กลอนอ่าน) 1 สำนวน แต่มีเพียงสำนวนเดียวในบรรดา 4 สำนวน ที่จบบริบูรณ์ดี มีการตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2441[2]

สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร มอบหมายให้ บุญเตือน ศรีวรพจน์ และศิริรัตน์ ทวีทรัพย์ ตรวจชำระต้นฉบับและได้จัดพิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2547 ยังมีพระสี่เสาร์สำนวนอื่น ๆ กล่าวคือ ฉบับหนึ่งเป็นกาพย์ไม่มีชื่อเรื่อง นอกจากนี้เจือ สตะเวทิน รวบรวมข้อมูลว่า พระสี่เสาร์ ฉบับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชื่อเรื่อง พระยาสี่เสา ฉบับภาคใต้ ชื่อ เสเสา แต่ชื่อตัวเอกของเรื่องคือ "สี่เสา" เช่นเดียวกับฉบับอื่น ๆ ทั้งยังมี พระสี่เสาร์กลอนสวด ภาคใต้อีกฉบับหนึ่งซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาที่มหาวิทยาลัยทักษิณ[3]

สำนวนฉบับเมืองเพชรบุรีระบุว่าแต่งขึ้น พ.ศ. 2266 สมัยสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ เดิมต้นฉบับเก็บไว้ที่วัดหนองกาทอง จังหวัดเพชรบุรี ปัจจุบันเก็บรักษาไว้เพื่อใช้ประกอบการศึกษาที่โรงเรียนจุฬาภรเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี[4]

เนื้อเรื่อง แก้

นางนพรัตน์ ซึ่งเป็นมเหสีของท้าวสุนทราชกษัตริย์แห่งเมืองอนันตนคร ทรงสุบินประหลาดว่า พระบาทเบื้องขวาก้าวเหยียบอยู่เหนือยอดเขาพระสุเมรุ พระบาทเบื้องซ้ายเยียบยอดเขาสัตบริภัณฑ์ และเด็ดได้ดอกมณฑาทองมาชมเชย นางได้นำความฝันทูลแก่พระสามี ท้าวสุนทราชจึงให้โหรทำนาย โหรทูลว่านางจะประสูติโอรสที่มีบุญญาธิการมาก

ครั้งนางนพรัตน์ทรงครรภ์และประสูติโอรสนามว่า พระสี่เสาร์ เมื่อพระโอรสมีอายุ 16 ชันษา ท้าวสุนทราชก็มอบราชสมบัติให้ครอบครอง พร้อมกับอภิเษกนางอนันตเทวีให้เป็นชายา พระสี่เสาร์ปกครองบ้านเมืองด้วยความยุติธรรม มีเมืองใหญ่น้อยมาพึ่งโพธิสมภารมากถึงหนึ่งหมื่นสี่พันเมือง ด้วยบรามีของพระสี่เสาร์ บันดาลให้เกิดม้าวิเศษ 2 ตัว ชื่อว่าไตรจักรกับมหาศักดา ซึ่งสามารถเหาะเหิรเดินอากาศได้ นำพระองค์ไปท่องเที่ยวไปทั้งโลกมนุษย์ สวรรค์และบาดาล

วันหนึ่งพระสี่เสาร์ทรงสุบินว่า ยอดปราสาทที่ประทับหักยับลง โหรได้ทำนายว่า อีก 7 วัน พระเสาร์จะเข้าทับลัคนาจะทำให้พระองค์ต้องเดือดร้อนลำบากแสนสาหัสและต้องพลัดพรากจากบ้านเมือง ต่อมาล่วงเวลาสองปีครึ่งจึงพ้นพระเคราะห์ โหรทูลแนะให้ตั้งพิธีบูชาพระเสาร์ เพื่อผ่อนหนักให้เป็นเบา แต่พระองค์ทะนงตนจึงสั่งให้จัดไพร่พลเตรียมการรับมือพระเสาร์ เมื่อถึงวันที่ดวงชะตากำหนด พระเสาร์ทับลัคนา พระสี่เสาร์ก็มีอาการวิปลาส ฉวยพระขรรค์ไล่ฟันผู้คนวุ่นวาย พระองค์ทรงเครื่องกษัตริย์ ถือพระขรรค์ ขึ้นหลังม้าเหาะไปจากเมือง ฝ่ายนางอนันตเทวีผู้เป็นชายาส่งคนออกติดตามด้วยความห่วงใยก็ไม่พบ

พระสี่เสาร์ทรงม้าเหาะไปถึงกลางป่าก็ลงสู่พื้นดิน ด้วยอำนาจเคราะห์กรรมทำให้ม้าไม่สามารถเหาะได้ ด้วยเคราะห์กรรมไม่ว่าจะไปที่ไหนพระสี่เสาร์ก็ถูกทุบตีด้วยความเข้าใจผิดอยู่ตลอด เช่น พบชาวนาผู้หนึ่งซึ่งกำลังตามหากระบายที่ถูกสุนัขคาบไป ด้วยกรรมของพระสี่เสาร์มงกุฎของพระองค์กลายเป็นกระบาย ชาวนาคิดว่าพระองค์ขโมยกระบายของตนไป จึงตรงเข้าทุบตีจนโลหิตไหลอาบทั้งกาย เป็นต้น

จนเมื่อพระสี่เสาร์เดินทางมาถึงโรงทานเมืองกินนุวัตของนางสุทัตต์ธิดาท้าวกินนุวัต นางถูกเนรเทศออกจากเมืองเพราะโหรทำนายว่านางจะได้คู่เป็นคนยากเข็ญและจะทำให้ท้าวกินนุวัตต้องเสื่อมเสีย นางสุทัตต์จัดสำรับและเสื้อผ้าไปถวายพระสี่เสาร์ ด้วยบุพเพสันนิวาสทำให้ทั้งสองเกิดถูกตาต้องใจกัน อยู่กินกันจนมีพระโอรสพระนามว่าสุทัตศรี ท้าวกินนุวัตทรงทราบเรื่องก็กริ้วมาก พยายามหาทางกำจัดพระสี่เสาร์ด้วยวิธีการต่าง ๆ แต่ไม่สำเร็จ ครั้นเมื่อทราบว่าพระสี่เสาร์เป็นโอรสเมืองอนันตนคร เมื่อครบกำหนดเวลาสองปีครึ่ง พระเคราะห์ของพระสี่เสาร์ก็ผ่านพ้นไป สิ่งของต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นมงกุฎ พระขรรค์ แหวน รวมทั้งม้าพาหนะของพระองค์ก็กลับคืนสภาพเดิม พวกชาวนาที่ครอบครองของเหล่านี้อยู่ก็ตกใจ นำไปคืนให้ท้าวกินนุวัต พระสี่เสาร์ไม่คิดจองเวรและประทานรางวัลให้คนเหล่านั้น ท้ายสุดพระสี่เสาร์กลับมาครองอนันตนคร แต่งตั้งนางอนันตเทวีกับนางสุทัตต์เป็นมเหสีฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวา

อ้างอิง แก้

  1. "อธิบายเรื่อง พระสี่เสาร์กลอนสวด". วัชรญาณ.
  2. อาภร ไมตรีโสภณ. "พระสี่เสาร์นิทานคำกาพย์" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  3. นิดา บำรุงไทย, เกศรินทร์ คันธมาลา. "การศึกษาภาพสะท้อนสังคมในวรรณคดีเรื่อง "พระสี่เสาร์กลอนสวด"".
  4. "วรรณกรรมท้องถิ่นเพชรบุรี เรื่อง พระสี่เสาร์คำกาพย์" (PDF). ศูนย์ข้อมูลคติชนและวรรณกรรมลายลักษณ์เพชรบุรี. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-08-09. สืบค้นเมื่อ 2022-08-09.