พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์[1] (26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2386 – 28 ธันวาคม พ.ศ. 2444) เป็นพระราชวงศ์ในราชสกุลลดาวัลย์ ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ดำรงสมณศักดิ์สุดท้ายที่สมเด็จพระราชาคณะ อดีตเจ้าคณะอรัญวาสี เจ้าคณะใหญ่คณะกลาง เจ้าอาวาสพระองค์แรกของวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร และเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนวัดราชบพิธ

พระวรวงศ์เธอ

พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร

ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์
พระวรวงศ์เธอ ชั้น 3 พระองค์เจ้าชั้นตรี
ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์
ส่วนบุคคล
ประสูติ
หม่อมเจ้ากระจ่าง

26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2386
สิ้นพระชนม์28 ธันวาคม พ.ศ. 2444 (58 ปี)
ศาสนาพุทธ
บุพการี
ราชวงศ์ลดาวัลย์ (ราชวงศ์จักรี)
นิกายเถรวาท
สำนักธรรมยุติกนิกาย
การศึกษาเปรียญธรรม 5 ประโยค
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม จังหวัดพระนคร
อุปสมบทพ.ศ. 2406
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
พรรษา39
ตำแหน่งเจ้าคณะอรัญวาสี
เจ้าคณะใหญ่คณะกลาง
เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

พระประวัติ แก้

ชาตกาล แก้

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ มีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าชายกระจ่าง เป็นพระโอรสลำดับที่ 3 ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูมินทรภักดี ประสูติแต่หม่อมหรั่ง เมื่อวันอาทิตย์ แรม 12 ค่ำ เดือน 3 ปีขาล จ.ศ. 1204 ซึ่งตรงกับวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2385 (นับแบบปัจจุบันตรงกับ พ.ศ. 2386) เวลา 5:23 น. ที่วังถนนราชินีและถนนมหาราชตรงที่เป็นกระทรวงเศรษฐการหรือกระทรวงพานิชย์ปัจจุบัน (ปัจจุบันเป็นมิวเซียมสยาม) เป็นพระเชษฐาต่างพระมารดาในพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ ในรัชกาลที่ 5 และพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ในรัชกาลที่ 7[2]

บรรพชา-อุปสมบท แก้

เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. 2400 ขณะพระชันษา 16 ปี ได้ผนวชเป็นสามเณรที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอริยมุนี (ทับ พุทฺธสิริ) เป็นพระศีลาจารย์ ผนวชแล้วประทับที่วัดโสมนัสราชวรวิหารจนพระชันษาครบ 20 ปีจึงลาผนวชเพื่อทำการสมโภชตามประเพณีเป็นเวลา 3 วัน แล้วจึงอุปสมบทที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในเดือน 8 ปีกุน พ.ศ. 2406 โดยมีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์เป็นพระอุปัชฌาย์ พระพรหมมุนี (ทับ พุทฺธสิริ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับพระนามฉายาว่า "อรุโณ"

ต่อมาทรงทำทัฬหีกรรมที่วัดโสมนัสวิหาร โดยมีสมเด็จพระวันรัตน์ (ทับ พุทฺธสิริ) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จนฺทรํสี) วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ผนวชแล้วประทับที่วัดโสมนัสวิหารจนถึง พ.ศ. 2413[3] จนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม จึงได้รับนิมนต์มาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกและจำพรรษาที่นี่ตราบสิ้นพระชนม์[4]

การศึกษา แก้

เมื่อทรงพระเยาว์ ทรงศึกษาอักขรสมัยภาษาไทยและภาษาบาลีที่วัง เมื่อบรรพชาแล้วศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เขียว จนฺทสิริ) วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร และพระธรรมราชานุวัตร (ต่าย วารโณ) วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร ขณะทั้ง 2 รูปยังเป็นมหาเปรียญ และทรงสอบที่พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท ได้เปรียญธรรม 5 ประโยค ในปี พ.ศ. 2407 ขณะยังเป็นสามเณร และได้รับพระราชทานตาลปัตรพื้นตาดเปรียญ 5 ประโยคมาแต่ครั้งนั้น

พระกรณียกิจ แก้

 
การอุปสมบทพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับนั่งทางซ้ายสุดของภาพ ถัดมาทางขวาคือหม่อมเจ้าพระอรุณนิภาคุณากร

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร ทรงเป็นเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามพระองค์แรก จึงมีพระภาระสำคัญในการอำนวยการก่อสร้างพระอารามให้ยิ่งใหญ่สวยงามสมเป็นพระอารามหลวงประจำรัชกาล ได้เป็นพระอุปัชฌาย์ให้กับกุลบุตรที่เป็นพระราชวงศ์หลายพระองค์ รวมทั้งเป็นคณปูรกะและพระอภิบาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อคราวผนวชในปี พ.ศ. 2416 ทรงเป็นกรรมการเถรสมาคมคณะธรรมยุตชุดแรก[5] ทรงเป็นแม่กองตรวจชำระพระสุตตันตปิฎกในการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับ ร.ศ. 112[6] เป็นพระผู้ก่อตั้งและอุปถัมภ์โรงเรียนวัดราชบพิธเมื่อปีระกา สัปตศก จุลศักราช 1247 ตรงกับ รัตนโกสิทร์ศก 104 หรือปี พ.ศ. 2428 ดังปรากฏหลักฐานรายชื่อโรงเรียนวัดราชบพิธ อยู่ในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่ม 1 หน้า 139 ทรงเป็นผู้ช่วยอธิบดีในการสอบไล่พระไตรปิฎกในปี พ.ศ. 2437[7] และในปี พ.ศ. 2443 ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นอธิบดีในการสอบพระปริยัติธรรม ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

สมณศักดิ์ แก้

วันอาทิตย์ ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเมีย พ.ศ. 2412 (ตรงกับวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2413 ตามการนับแบบปัจจุบัน) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาหม่อมเจ้าพระกระจ่าง อรุโณ เป็นพระราชาคณะ มีราชทินนามว่าหม่อมเจ้าพระอรุณนิภาคุณากร[4]

วันศุกร์ ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 10 ปีกุน พ.ศ. 2430 (ตรงกับวันที่ 26 สิงหาคม) ได้เลื่อนสมณศักดิ์เสมอพระธรรมไตรโลก[8]

วันพฤหัสบดี แรม 10 ค่ำ เดือน 12 ปีกุน พ.ศ. 2430 (ตรงกับวันที่ 10 พฤศจิกายน) ทรงได้รับสถาปนาเป็น พระวรวงษเธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร สุนทรวิสุทธิพรต อาคาริยยศราชวรพงษ ธำรงสมณคุณวิบุลยศักดิ อรรคปริยัติอรรถโกศล โสภณธรรมาลังการภูสิต คณฤศราธิบดี ทรงศักดินา 3000 ไร่ มีสมณศักดิ์เสมอพระพรหมมุนี[9]

วันพุธ แรม 6 ค่ำ เดือน 12 ปีมะเส็ง พ.ศ. 2436 (ตรงกับวันที่ 29 พฤศจิกายน) ทรงได้รับโปรดเกล้าฯ เพิ่มพระอิศริยยศเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองคณะธรรมยุติกนิกาย มีราชทินนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า "พระวรวงษ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร สุนทรวิสุทธิพรต อาคาริยยศราชวรพงษ์ ธำรงสมณคุณวิบุลยศักดิ์ อรรคปริยัติอรรถโกศล วิมลธรรมยุติกคณานุนายก สาสนดิลกบพิตร"[10]

วันพุธ ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 4 ปีชวด พ.ศ. 2443 (ตรงกับวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2444 ตามการนับในปัจจุบัน) ทรงได้รับเลื่อนสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะเจ้าคณะอรัญวาสีและเจ้าคณะใหญ่คณะกลาง มีราชทินนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า "พระวรวงษ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร สุนทรวิสุทธิพรต อาคาริยยศราชวรพงษ ธำรงสมณคุณวิบุลยศักดิ อรรคปริยัติอรรถโกศล วิมลยติโยคนายก สาสนดิลกบพิตร ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ อเนกสถานปรีชา สัปตวิสุทธจริยาสมบัติ ไตรปิฎกอรรถธรรมโกศล วิมลธุตคุณ ศิริสุนทรพรตจาริก อรัญญิกคณาธิปัติ มัชฌิมคณิศร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสีบพิตร"[11]

การสิ้นพระชนม์ แก้

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ ประชวรด้วยพระโรคเดียวกับพระขณิษฐาคือพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอรรควรราชกัลยา เมื่อทรงทราบว่าพระอัครชายาเธอพระองค์นั้นสิ้นพระชนม์ (ในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2444) ทำให้ทรงสลดพระทัยจนพระอาการทรุดลงตาม มีพระอาการวิงเวียน อาเจียน อ่อนเพลีย เสียดพระนาภี พระบังคลผิดปกติ เสวยพระกระยาหารไม่ได้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงติดตามพระอาการอย่างใกล้ชิดโดยตลอด[12] พระอาการยังทรงกับทรุดจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคอุจจาระธาตุพิการ[13] เมื่อวันเสาร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2444 แรม 3 ค่ำ เดือนอ้าย ปีฉลู สิริพระชันษาได้ 58 ปี 306 วัน ดำรงสมณเพศได้ 39 พรรษา[14] ได้รับพระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุ ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2445[15]

อ้างอิง แก้

  • ร่มฉัตร หนังสือพิมพ์ ราชบพิธ ปีที่ 22 ฉบับที่ 71 ประจำเดือน กันยายน - มีนาคม 2548
  1. ศุภวัฒย์ เกษมศรี, พลตรี หม่อมราชวงศ์, และรัชนี ทรัพย์วิจิตร. พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าในพระราชวงศ์จักรี. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2549. 360 หน้า. ISBN 974-221-818-8
  2. เรื่องเฉลิมพระยศเจ้านาย เล่ม ๒ (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) , กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนพับลิชชิ่ง, 2538, หน้า 240-243
  3. ประวัติวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม, พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : อัมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ, 2531, หน้า 148
  4. 4.0 4.1 สมมอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. 428 หน้า. หน้า 141-6. ISBN 974-417-530-3
  5. ประวัติคณะธรรมยุต, กรุงเทพ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2547, หน้า 127
  6. ราชกิจจานุเบกษา, การสาศนูปถัมภก คือ การพิมพ์พระไตรปิฎก, เล่ม 5, หน้า 410
  7. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกกรมสังฆการี เรื่องเชิญเสด็จอาราธนาพระราชาคณะประชุมสอบไล่พระไตรปิฎก, เล่ม 11, หน้า 445
  8. ราชกิจจานุเบกษา, การตั้งพระราชาคณะแลเปรียญที่แปลพระปริยัติธรรม, เล่ม 4 ,หน้า 178-9
  9. ราชกิจจานุเบกษา, คำประกาศตั้งพระองค์เจ้าอรุณนิภาคุณากร, เล่ม 4 ,หน้า 255-6
  10. ราชกิจจานุเบกษา, คำประกาศตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม 10, หน้า 392
  11. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม 17, หน้า 727-8
  12. ประมวลเอกสารจดหมายเหตุ รัชกาลที่ ๕ เรื่อง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม, วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, 2553, หน้า ๒๘๔
  13. ประวัติวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม, พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : อัมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ, 2531, หน้า 151
  14. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวสิ้นพระชนม์ พระวรวงษเธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์, วันที่ 5 มกราคม ร.ศ. 120, เล่ม 18, หน้า 788
  15. ราชกิจจานุเบกษา, การเมรุท้องสนามหลวง, วันที่ 23 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 120, เล่ม 18, หน้า 890


ก่อนหน้า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร ถัดไป
หม่อมเจ้าพระสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ทัด เสนีวงศ์)    
เจ้าคณะอรัญวาสีและเจ้าคณะใหญ่คณะกลาง
(พ.ศ. 2444)
  สมเด็จพระพุฒาจารย์
(ฤทธิ์ ธมฺมสิริ)
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส    
เจ้าคณะรองคณะธรรมยุติกนิกาย
(พ.ศ. 2436-2444)
  พระสาสนโสภณ (อ่อน อหึสโก)