พระราธเถระ เป็นพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าในสมัยพุทธกาล นับเนื่องในพระอสีติมหาสาวก 80 องค์สำคัญของพระพุทธศาสนา บวชเมื่อแก่ เป็นศิษย์ของพระสารีบุตร ท่านเป็นผู้ว่านอนสอนง่าย และได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าท่านเป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในด้าน ผู้มีปฏิภาณ คือมีญาณแจ่มแจ้งในพระธรรมเทศนา

พระราธเถระ
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อเดิมราธพราหมณ์
พระนามเดิมพระราธะ
สถานที่เกิดเมืองราชคฤห์
วิธีบวชญัตติจตุตถกรรม (ผู้บวชด้วยวิธีนี้เป็นองค์แรก)
เอตทัคคะผู้มีปฏิภาณ (ญาณแจ่มแจ้งในพระธรรมเทศนา)
อาจารย์พระสารีบุตร (พระอุปัชฌาย์)
ฐานะเดิม
ชาวเมืองราชคฤห์
วรรณะเดิมพราหมณ์
สถานที่รำลึก
สถานที่วัดเวฬุวันมหาวิหาร
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

พระราธเถระ เดิมเป็นพราหมณ์ในพระนครราชคฤห์ เมื่อแก่ตัวลง ภรรยาและบุตรไม่เลี้ยงดู เพราะ เคยทำตัวไม่ดีกับภรรยาและบุตร ถูกทิ้งไว้ในวัดพระเวฬุวันมหาวิหาร ต่อมาท่านประสงค์จะออกบวช แต่ไม่มีใครบวชให้เพราะเกรงว่าคนบวชเมื่อแก่จะว่ายากสอนยาก ท่านจึงมีร่างกายซูบผอมผิวพรรณเศร้าหมองด้วยความเสียใจ พระพุทธเจ้าทราบความจึงมีรับสั่งถามพระภิกษุทั้งหลายว่ามีใครระลึกถึงอุปการคุณของพราหมณ์ผู้นี้ได้บ้าง ในครั้งนั้นพระสารีบุตรระลึกได้ว่าเคยรับบิณฑบาตจากพรามหณ์ผู้นี้เป็นข้าวทัพพีหนึ่ง พระพุทธเจ้าสรรเสริญพระสารีบุตรว่ามีความกตัญญู จึงอนุญาตให้พระสารีบุตรเป็นพระอุปัชฌาย์ผนวชให้

วันหนึ่งท่านพระราธะเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ขอให้พระองค์แสดงธรรมย่อ ๆ ให้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสแสงว่า สิ่งใดเป็นมาร จงละสิ่งนั้นเสีย มารคือขันธ์ทั้ง 5 ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ตั้งอยู่ได้ยาก ไม่มีตัวตนบังคับบัญชาไม่ได้ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เหล่านี้ชื่อว่ามาร เธอจงละสิ่งเหล่านี้เสีย พระราธะรับพระโอวาทและออกจาริกไปกับพระสารีบุตร ในที่สุดท่านก็ได้บรรลุอรหันตผล เมื่อพระสารีบุตรมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า มีรับสั่งถามว่า พระราธะเป็นเช่นไรบ้าง พระสารีบุตรทูลว่า พระราธะว่าง่ายสอนง่ายเหลือเกิน จะแนะนำสั่งสอนเช่นไรไม่เคยโกรธเลย พระพุทธองค์จึงให้ภิกษุอื่นถือเป็นแบบอย่าง ต่อมาทรงยกย่องว่าท่านเป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในด้าน ผู้มีปฏิภาณ คือมีญาณแจ่มแจ้งในพระธรรมเทศนา

ผลงาน แก้

พระราธะ เกิดในตระกูลพราหมณ์ ในเมืองราชคฤห์ ฐานะเดิมของท่านนั้นจัดว่าอยู่ในขั้นเศรษฐี มีทรัพย์สินเงินทองมาก แต่เมื่อย่างเข้าสู่วัยชราถูกภรรยาและบุตรธิดาทอดทิ้ง ต้องกลายเป็นคนยากจนอนาถา ไร้ที่พึ่งพาอาศัยต้องเลี้ยงชีพด้วยการอาศัยพระภิกษุอยู่ในวัดพระเวฬุวันมหาวิหาร ท่านได้เรียนรู้ว่าชีวิตพระเป็นชีวิตที่สงบไม่วุ่นวายจึงปรารถนาจะมีชีวิตที่สงบอย่างนั้นบ้าง วันหนึ่งจึงเข้าไปหาพระที่คุ้นเคยกันแล้วแจ้งความประสงค์ให้ทราบ ไม่มีพระรูปใดรับบวชให้ แต่ไม่มีภิกษุรูปใดที่จะสงเคราะห์บวชให้ ทำให้เกิดความทุกข์ใจจนร่างกายซูบผอม หน้าตาผิวพรรณหม่นหมอง วันหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วกราบทูลให้ทราบถึงความประสงค์ของตน พระพุทธเจ้าทรงตรวจดูอุปนิสัยของท่านแล้วเห็นว่า แม้จะแก่แต่ก็สามารถบรรลุอรหัตผลได้ จึงตรัสสั่งให้ประชุมสงฆ์รับสั่งถามว่า

“ ภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดระลึกถึงอุปการคุณของราธพราหมณ์ ผู้นี้บ้าง ? ”

ขณะนั้น พระสารีบุตรเถระ ซึ่งอยู่ในที่ประชุมนั้นด้วย ได้กราบทูลว่า

“ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ระลึกได้ พระเจ้าข้า คือ วันหนึ่ง ข้าพระองค์ได้เข้าไปบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์ พราหมณ์ผู้นี้เคยได้ถวายอาหารข้าวสุกแก่ข้าพระองค์ ทัพพีหนึ่ง พระเจ้าข้า” พระบรมศาสดา ได้สดับแล้วตรัสยกย่องพระสารีบุตรเถระว่า เป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที แล้วมอบราธพราหมณ์ให้ท่านเป็นพระอุปัชฌาย์ ดำเนินการบวชให้ และทรงประกาศยกเลิกการอุปสมบทด้วยวิธีไตรสรณคมน์ ที่พระองค์ทรงอนุญาตไว้แต่เดิมแล้ว ทรงอนุญาตการอุปสมบทด้วยวิธีญัตติจตุตถกรรมอันเป็นวิธีอุปสมบทโดยมีสงฆ์เป็นใหญ่ พระสารีบุตรเถระเป็นพระอุปัชฌาย์รูปแรกและพระราธะเป็นภิกษุผู้ได้รับการอุปสมบทด้วยวิธีนี้เป็นรูปแรก การอุปสมบทด้วยวิธีญัตติจตุตถกรรมนี้ได้ถือปฏิบัติสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

เมื่ออุปสมบทแล้ว วันหนึ่งได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคกราบทูลขอให้พระพุทธองค์ตรัสสอนธรรมอันเป็นทางปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น พระพุทธองค์ตรัสสอนว่า

“ ดูก่อนราธะ สิ่งใดเป็นมาร เธอจงละความพอใจในสิ่งนั้นเสีย สิ่งที่เรียกว่า มาร คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ซึ่งเป็นสภาพไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นของมิใช่มีตัวตน มีความเกิดขึ้น ดำรงอยู่ เปลี่ยนแปลง และสูญสิ้นไปเป็นธรรมดา ดังนั้น เธอจงละความพอใจในสิ่งอันเป็นมารเหล่านั้นเสีย”

พระราธะรับเอาพระโอวาทนั้นเป็นแนวทางปฏิบัติ แต่ก็ยังไม่ได้บรรลุธรรมทันทีหลังจากบวชเนื่องจากจิตไม่สงบ ทั้งนี้เพราะไม่ได้รับความสะดวกเรื่องอาหาร แต่ละวันท่านได้อาหารไม่พอฉัน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะท่านเป็นพระบวชใหม่นั่งบนอาสนะท้ายสุดเวลาฉันอาหารในโรงฉัน ในโรงฉันมีพระมาก อาหารต้องแจกตามกันตามลำดับอวุโสจึงไม่ค่อยเหลือถึงท่าน พระสารีบุตรผู้เป็นอุปัชฌาย์ทราบถึงความลำบากของท่านในเรื่องนี้จึงได้แก้ปัญหาด้วยการพาท่านจาริกไปตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งทำให้ท่านได้อาหารพอฉันครั้นได้อาหารพอแล้วท่านกลับมีร่างกายแข็งแรงจิตเริ่มสงบ ประกอบกับได้พระสารีบุตรเถระคอยแนะนำพร่ำสอนอยู่เนือง ๆ ท่านเป็นคนว่าง่ายปฏิบัติตามที่พระอุปัชฌาย์พร่ำสอนทุกประการแล้วเข้าใจได้รวดเร็ว ไม่นานนักก็บรรลุพระอรหัตผลหลังจากนั้น พระสารีบุตรเถระได้พาท่านมาเฝ้าพระผู้มีพระภาค พระพุทธองค์ตรัสถามว่า

“ ดูก่อนสารีบุตร พระราธะสัทธิวิหาริกศิษย์ของเธอเป็นอย่างไรบ้าง ? ”

“ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เธอเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย แนะนำสั่งสอนตักเตือนอย่างไร ก็ปฏิบัติตามแต่โดยดี ไม่เคยโกรธเคืองเลย พระเจ้าข้า”

ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย

พระบรมศาสดา ทรงสดับแล้ว ตรัสสอนให้ภิกษุทั้งหลายถือเอาพระราธะเป็นแบบอย่างในการเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย และทรงยกย่องพระราธะในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทาง ผู้ว่าง่าย และ ผู้มีปฏิภาณ คือ เป็นผู้มีความรู้แจ่มแจ้งในพระธรรมเทศนา

อยู่มาวันหนึ่ง พระภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า “ ข่าวว่าพระสารีบุตรเถระเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวทีได้ให้ราธะพราหมณ์ผู้ขัดสนบรรพชา เพราะระลึกถึงอุปการคุณแห่งข้าวเพียงทัพพีเดียวเท่านั้น ฝ่ายพระราธเถระ ผู้ควรแก่โอวาทก็ได้อาจารย์ที่ดีเป็นผู้ให้โอวาท”

พระบรมศาสดาทรงสดับการสนทนาสรรเสริญพระสารีบุตรเถระนั้นแล้ว จึงตรัสว่า “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระสารีบุตรเป็นผู้ประกอบด้วยความกตัญญูกตเวที ในกาลบัดนี้ยังไม่สู้เป็นการอัศจารรย์นัก เพราะในอดีตชาติที่ล่วงมาแล้ว พระสารีบุตรถือกำเนิดใน “ อเหตุกปฏิสนธิ” คือ การปฏิสนธิด้วยจิตที่ไม่มีเหตุ ได้แก่เกิดในกำเนิดเดียรัจฉาน แต่เป็นผู้มีใจประกอบด้วยกตัญญูกตเวทีตาธรรม นั้นแหละน่าอัศจารรย์นัก”

พระภิกษุทั้งหลายกราบทูลถามว่า “ ในกาลไหน พระเจ้าข้า ที่พระสารีบุตรเถระบังเกิดในอเหตุกปฏิสนธิ และประกอบกตัญญูกตเวที พระเจ้าข้า”

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสาธก อลีนจิตตชาดก ซึ่งมีเรื่องเล่าไว้ในอรรถกถาชาดก คัมภีร์ขุททกนิกาย ชาดก แห่งทุกนิบาต ความว่า

“ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอดีตกาลที่ล่วงมาช้านานแล้ว มีพวกบุรุษช่างไม้ประมาณ ๕๐๐ คน อยู่แทบเชิงภูเขา ได้พากันไปในราวป่าใหญ่ เพื่อตัดต้นไม้เอามากระทำทัพสัมภาระต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก และเมื่อตัดไม้แล้วจึงนำมารวมกันเป็นแพใหญ่ แล้วหย่อนลงไปในแม่น้ำคงคา ปล่อยล่องลอยลงมาตามลำแม่น้ำ

ในครั้งนั้นมีช้างตัวหนึ่ง เอางวงโน้มเหนี่ยวเกี่ยวกิ่งไม้ กิ่งไม้นั้นทานน้ำหนักช้างไม่ไหวก็หักลงมา ช้างนั้นเสียหลัก เท้าไปเยียบบนตอไม้แหลมแทงเท้าจนทะลุ เกิดความเจ็บปวดทนทุกขเวทนาแสนสาหัส จนไม่สามารถพยุงกายลุกขึ้นไปได้ จึงต้องนอนทนทุกขเวทนาอยู่ที่นั้นเอง

พอเวลาล่วงมาได้ 2 - 3 วัน พวกช่างไม้เดินทางผ่านมาทางที่ช้างบาดเจ็บอยู่ ฝ่ายช้างนั้นได้แลเห็นพวกช่างไม้เดินเข้ามาใกล้จึงดำริว่า “ เราจะมีชีวิตอยู่รอดได้ ก็เพราะอาศัยบุรุษเหล่านี้ช่วย” คิดแล้วจึงค่อย ๆ ทรงกายลุกขึ้นเดินโขยกเขยกไปเดินตามพวกช่างไม้เหล่านั้น

พวกช่างไม้เหล่านั้นครั้นเหลี่ยวกลับมาเห็นว่าได้มีช้างเดินตามหลังมา ต่างคนก็ต่างตกใจกลัว พากันวิ่งหนีไป

เมื่อช้างเห็นผู้คนเหล่านั้นกลัว จึงหยุดยืนอยู่กับที่ แต่ถ้าพวกช่างไม้หยุด ช้างก็เดินกะโผลกกะเผลกติดตามไปอีก เป็นอย่างนี้หลายครั้ง นับเป็นที่น่าฉงนสงสัยนัก

หัวหน้าช่างไม้จึงมาใคร่ครวญว่า “ เหตุไฉนหนอ ช้างตัวนี้ พอพวกเราหยุด ก็เดินตามเรามา ครั้นพวกเราเดินหนีกลับหยุดยืนอยู่เฉย ๆ ชะรอยจะมีเหตุในช้างตัวนี้เป็นแน่แท้ ” เมื่อคิดดังนี้แล้วจึงร้องสั่งให้บริวารปีนขึ้นไปอยู่บนต้นไม้ ส่วนตนเองนั้นนั่งคอยดูท่วงทีของช้างนั้นว่าจะมาไม้ไหนกันแน่ เพราะไม่รู้ว่าช้างนั้นจะมาร้ายหรือดี

เมื่อช้างนั้นเดินเข้ามาใกล้พวกช่างไม้ด้วยอาการเป็นมิตร และแฝงไปด้วยความเจ็บปวดบาดแผลที่เท้านั้น เพื่อจะแสดงให้พวกช่างไม้ได้รู้จึงได้ล้มตัวลงนอนกลิ้งนอนเกลือกไปมาแล้วก็นอนนิ่งๆอยู่ในที่นั้น

หัวหน้าช่างไม้จึงได้เดินไปพิจารณาใกล้ ๆ จึงเห็นว่าช้างตัวนี้ได้รับบาดเจ็บมาต้องการความช่วยเหลือ จึงได้ร้องบอกพวกช่างไม้บริวารว่า “ ดูก่อนท่านทั้งหลายผู้เจริญ ช้างนี้มาด้วยความเจ็บไข้ มิไช่จะมาด้วยเหตุอื่นท่านทั้งหลายจงลงมาเถิด ” ว่าแล้วก็เดินเข้าไปหาช้างนั้น ได้แลเห็นแผลซึ่งถูกตอไม้ตำที่เท้า จึงใช้พร้าคว้านปากแผลเพื่อจะจับเสี้ยนตอไม้ให้ได้ถนัด แล้วใช้เชือกผูกเสี้ยนตอไม้แล้วช่วยกันฉุดกระชากดึงเสี้ยนออกมาและรีบบีบปากแผลนั้น คั้นเอาน้ำเลือดน้ำหนองที่ขังอยู่ในแผลออกจนหมด แล้วชำระล้างด้วยน้ำฝาด ทายาสมุนไพรตามที่พวกตนได้เข้าใจ ชั่วเวลาไม่นานเท่าไหร่ ช้างนั้นก็ฟื้นจากการเจ็บปวดลุกขึ้นได้

เมื่อหายจากเจ็บไข้แล้ว จึงดำริว่า “ พวกช่างไม้เหล่านี้มีอุปการะแก่เรามาก เรารอดชีวิตมาได้ก็เพราะพวกเขาเหล่านี้ เราควรจะแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อชนเหล่านี้” คิดแล้วจึงกลับไปสู่ที่อยู่ของตน และได้นำพาลูกช้างเผือกมาให้แก่พวกช่างไม้

พวกช่างไม้ ได้แลเห็นโปดกลูกช้างเผือกนั้น ก็มีความยินดียิ่งนักด้วยคิดว่าช้างตัวนี้ ไปหาลูกช้างมาให้แก่พวกเรา

ส่วนช้างนั้นครุ่นคิดอยู่ว่า “ เมื่อเรายืนอยู่ ชนทั้งหลายจะรู้ซึ่งกิริยาของเราหรือ” คิดแล้วจึงเดินหลีกหนีไฟเสียจากที่นั้น

ฝ่ายโปดกลูกช้างเผือก เมื่อเห็นพ่อช้างเดินไปก็เดินตามพ่อช้างไปข้างหลัง ช้างผู้เป็นพ่อ ครั้นเหลียวหลังก็รู้ว่าลูกน้อยเดินตามมาข้างหลัง จึงส่งเสียงให้สัญญาณเพื่อจะให้ลูกช้างเผือกนั้นกลับไปหาพวกช่างไม้

ลูกช้างพอได้ยินเสียงของช้างผู้เป็นพ่อ ก็กลับหลังไปยังที่อยู่ของพวกช่างไม้เหล่านั้น ๆ ก็รู้แน่ชัดว่า ช้างตัวนี้ชะรอยจะพาลูกมาให้แก่พวกเราอย่างแน่นอนจึงร้องบอกกับลูกช้างน้อยนั้นว่า “ ในสำนักของพวกเราไม่มีกิจการอะไรจะให้เจ้ากระทำดอก เจ้าจงกลับไปหาช้างพ่อของเจ้าเสียเถิด”

ลูกช้างน้อยเมื่อพวกช่างไม้บอกให้กลับ ก็กลับไปหาช้างพ่อ แล้วช้างพ่อก็ได้บอกให้กลับไปหาพวกช่างไม้อีก พวกช่างไม้ก็บอกให้กลับไปหาช้างพ่ออีกเช่นกัน ช้างพ่อก็บอกให้ลูกช้างน้อยกลับไปหาพวกช่างไม้อีกเป็นอย่างนี้จนถึง 3 ครั้ง ด้วยกัน

จำเดิมแต่นั้นมาพวกช่างไม้จึงต้องรับเอาลูกช้างน้อยนั้นไว้ในสำนักของพวกตน และช่วยกันเลี้ยงดูอย่างดี พวกช่างไม้ได้แบ่งอาหารให้แก่ลูกช้างน้อยคนละปั้น ๆ รวมอาหารได้ประมาณ 500 ปั้น ก็พอช่วยให้ช้างน้อยนั้นอยู่อย่างสุขสบาย

ฝ่ายลูกช้างน้อยก็ช่วยขนทัพสัมภาระเครื่องไม้ที่พวกช่างไม้ผูกมัดไว้ให้ตนขน เอาไปรวมสุมไว้เป็นกอง ฯลฯ

ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงนำอดีตนิทานมาตรัสเล่าจบลงแล้วจึงมีพระพจนารถตรัสว่า “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระสารีบุตรเป็นผู้ประกอบด้วยความกตัญญูกตเวที มิใช่กาลบัดนี้เท่านั้น ในปางบรรพ์พระสารีบุตรผู้เกิดเป็นช้างใหญ่ (ช้างพ่อ) ผู้มีสภาวะรู้จักคุณูปการที่ผู้อื่นกระทำไว้แก่ตนดังเรื่องที่กล่าวมานี้

ส่วนราธะผู้มีความเพียรพยายาม ทั้งเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย เป็นที่รักใคร่ของอาจารย์ได้เคยเป็นโปดกลูกช้างเผือกตัวว่านอนสอนง่าย และขยันเอางานเอาการนั้น”

พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพุทธฎีกาตรัสพระคาถาว่า

“ นิธีนํ ว ปวตฺตารํ ยํ ปสฺเส วชฺชทสฺสินํ ” (อ่านว่า นิ-ที-นัง-ปะ-วัด-ตา-รัง-ยัง-ปัส-เส-วัด-ชะ-ทัส-สิ-นัง) แปลว่า

“ บุคคลเห็นผู้มีปัญญาใด เป็นผู้กล่าวข่มขี่ ผู้ชี้โทษ ว่าเป็นเหมือนผู้บอกขุมทรัยพ์ให้ พึงคบผู้มีปัญญาเช่นนั้น ซึ่งเป็นบัณฑิต (เพราะว่า) เมื่อคบท่านผู้เป็นเช่นนั้น มีแต่คุณอันประเสริฐ ไม่มีโทษที่ลามก” (เลวทราม) หรืออีกในหนึ่งที่มักจะพูดกันว่า

คบคนพาล พาลหาผิด

คบบัณฑิต บัณฑิตพาหาผล....

พระราธเถระ หลังจากบรรลุอรหัตผลแล้วก็ยังสนใจในการเพ่งพินิจธรรม วันหนึ่งขณะนั่งพินิจธรรมอยู่ในกระท่อม เกิดฝนรั่วรดลงมาทางหลังคาที่มุงไม่ดี ท่านคิดเปรียบเทียบว่า เรื่อนที่มุงไม่ดีก็เหมือนกับจิตที่ไม่ได้ฝึกฝน จึงได้กล่าวว่า

เรือนที่มุงไม่ดี ฝนตกรั่วรดได้

จิตที่ไม่ได้ฝึกฝนก็เป็นเช่นนั้น

เรือนที่มุงดี ฝนตกรั่วรดไม่ได้

จิตที่ฝึกฝนไว้ดีก็เป็นเช่นนั้น

ราคะย่อมรั่วรดไม่ได้

พระราธเถระท่านดำรงอายุสังขาร ช่วยกิจการพระศาสนา พอสมควรแก่กาลเวลาแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน..

บั้นปลายชีวิต แก้

ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาไม่ระบุว่าท่านดับขันธปรินิพพานที่ใด แต่ท่านคงดำรงขันธ์อยู่พอสมควรแก่กาลจึงดับขันธปรินิพพาน

อ้างอิง แก้

  1. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส. (2525). ธรรมวิภาคปริเฉทที่ 2. พิมพ์ครั้งที่ 23. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการแผนกตำรา มหามกุฏราชวิทยาลัย.

ดูเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  1. เว็บไซต์ 84000
  2. เว็บไชต ธรรมะ เกตเวย์ เก็บถาวร 2009-04-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน