พระมะเหลเถไถ เป็นกลอนบทละครที่ประพันธ์โดยคุณสุวรรณ ที่ประพันธ์ขึ้นตามจินตนาการและแต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 มีความแปลกที่แต่งขึ้นเป็นภาษาบ้าง ไม่เป็นภาษาบ้างปะปนกันไปแต่ต้นจนปลาย แต่ใครอ่านก็เข้าใจความได้ตลอดเรื่อง ถูกกล่าวหาในสมัยนั้นว่าแต่งเมื่อ “เสียจริต” หรือ “มีสติฟุ้งซ่านผิดปกติ” เป็นเรื่องแปลกในวงการกวียุคนั้น

พระมะเหลเถไถ
กวีคุณสุวรรณ
ประเภทบทละคร
คำประพันธ์กลอนบทละคร
ยุครัตนโกสินทร์
ปีที่แต่งรัชกาลที่ 4
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมวรรณศิลป์

ส่วนใหญ่วางถ้อยคำที่ไม่เป็นภาษาไว้ใน 3 คำท้ายวรรคทุกวรรค กระบวนการแต่งกลอนบทละครก็ดำเนินไปตามธรรมเนียมการแต่งตามแบบฉบับของบทละคร มีการระบุชื่อเพลงที่ใช้ในการขับร้อง ขึ้นกลอนด้วยคำว่า “เมื่อนั้น” “บัดนั้น” “มาจะกล่าวบทไป” มีบทสระสรงแต่งองค์ทรงเครื่องของตัวละคร มีบทพรรณนาธรรมชาติ มีบทเกี้ยวพาราสี บทชมนาง เป็นต้น[1]

เนื้อเรื่องกล่าวถึง พระมะเหลเถไถ โอรส ท้าวโปลากะปาหงัน และ นางตาลากะปาลัน แห่งเมืองกะโปลา เมื่อพระมเหลเถไถประพาสป่าพระอินทร์อุ้มสมจนได้นางตะแลงแกง พระธิดา ท้าวมะไล เป็นชายา ขณะที่เดินทางกลับ เกิดรบชิงนางกับเจ้ายักษ์มาลาก๋อย

ผลงานนี้สร้างชื่อเสียงแก่คุณสุวรรณเป็นอย่างมาก จนทำให้เป็นที่รู้จักทั้งในหมู่หญิงชาววังและชนชั้นสูงทั่วไป โดยบทละครทั้งพระมะเหลเถไถและอุณรุทร้อยเรื่อง ได้รับการตีพิมพ์ในสมุดที่เรียกว่า เรื่องพระมะเหลเถไถเรื่อง 1 กับอุณรุทร้อยเรื่อง

บทละครเรื่องนี้ยังเป็นวรรณกรรมที่วิพากษ์งานวรรณกรรมด้วยกันด้วย โดยล้อเลียนวรรณคดีแบบฉบับโดยเฉพาะบทละครใน เป็นที่สังเกตว่า คุณสุวรรณเลือกใช้คำที่ไม่มีความหมายในภาษาไทยมาใส่ในบทละครเป็นจำนวนมาก แต่ผู้อ่านยังสามารถเข้าใจเนื้อเรื่องจากบริบทแวดล้อมได้ การวิพากษ์ในส่วนนี้ คือ การใช้ภาษาชวามลายูในบทพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนา เนื่องจากบทประพันธ์เรื่องนี้ รัชกาลที่ 2 ทรงสรรคำและปรับคำจากภาษาชวามลายูมาใช้ในบทละครเป็นจำนวนมาก[2] ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ นิราชพระมเหลเถไถ เพื่อล้อบทละครเรื่องนี้[3]

อ้างอิง แก้

  1. "พระมะเหลเถไถ : บทละครที่ไม่มีใครกล้านำมาเล่น". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-09-09. สืบค้นเมื่อ 2010-04-20.
  2. กรมศิลปากร. "คำนำ", ในบทละครเรื่องพระมะเหลเถไถ บทละครเรื่องอุณรุทร้อยเรื่อง กลอนเพลงยาวเรื่องหม่อมเป็ดสวรรค์ กลอนเพลงยาวเรื่องพระอาการประชวรของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ และบทละครเรื่องระเด่นลันได. (กรุงเทพฯ : ศิลปาบรรณาคาร, 2514).
  3. คุณสุวรรณ ประวัติกวีสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 3[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น แก้