พระมหามัยมุนี หรือ มะฮาเมียะมุนิ (พม่า: မဟာမုနိရှင်တော်မြတ်ကြီး) เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของประเทศพม่า และเป็นหนึ่งในห้าศาสนวัตถุที่ศักดิ์สิทธิ์ของพม่า คำว่า มหามัยมุนี แปลว่า "ผู้รู้อันประเสริฐ" (The Great Sage) เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องกษัตริย์ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์ อดีตราชธานีของพม่าในยุคราชวงศ์โก้นบอง เดิมทีเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของยะไข่[1] มีตำนานเล่าว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพุทธกาลโดยกษัตริย์แห่งเมืองยะไข่ องค์พระทำจากทองสัมฤทธิ์หนัก 6.5 ตัน มีการสร้างบนฐานสูง 1.84 เมตร (6.0 ฟุต) รวมองค์พระมีความสูงทั้งหมดกว่า 3.82 เมตร (12.5 ฟุต)[2][3] ไหล่กว้าง 1.84 เมตร (6.0 ฟุต) และรอบเอวกว้าง 2.9 เมตร (9.5 ฟุต)[2][3]

พระมหามัยมุนี
ชื่อเต็มพระมหามัยมุนี, มะฮาเมียะมุนิ
ชื่อสามัญพระมหามัยมุนี, มะฮาเมียะมุนิ, พระเนื้อนิ่ม
ประเภทพระพุทธรูป
ศิลปะทรงเครื่องกษัตริย์
ความกว้าง
  • ไหล่ 1.84 เมตร (6.0 ฟุต)
  • รอบเอว 2.9 เมตร (9.5 ฟุต)
ความสูง
  • ฐาน 1.84 เมตร (6.0 ฟุต)
  • รวมองค์พระ 3.82 เมตร (12.5 ฟุต)
วัสดุทองสัมฤทธิ์
สถานที่ประดิษฐานวัดพระมหามุนี, มัณฑะเลย์, พม่า

องค์จำลองในประเทศไทย

  • วัดหัวเวียง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน
  • วัดพระธาตุดอยแต อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน
ความสำคัญพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของพม่า
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ก่อนสร้างกษัตริย์ผู้สร้างทรงพระสุบินว่า พระพุทธเจ้า เสด็จมาประทานพรให้พระพุทธปฏิมาองค์นี้เป็นตัวแทนของพระองค์ เพื่อเป็นเครื่องสืบพระพุทธศาสนาไปในภายภาคหน้า[4][2][5] โดยในอดีตแม้เมืองยะไข่จะถูกโจมตีโดยกษัตริย์เมืองอื่นที่ทรงแสนยานุภาพอย่างไร ก็ไม่อาจที่จะเคลื่อนย้ายองค์พระมหามัยมุนีนี้ออกจากเมืองได้ ต้องมีเหตุให้ขัดข้องทุกครั้งไป จนกระทั่งถึงรัชสมัยพระเจ้าปดุง แห่งราชวงศ์โก้นบองสามารถตียะไข่ได้ และได้อัญเชิญพระมหามัยมุนีออกจากยะไข่ได้ในปี พ.ศ. 2327 โดยล่องมาตามแม่น้ำอิระวดีมายังเมืองมัณฑะเลย์ พระมหามัยมุนีจึงได้มาประดิษฐานอยู่ที่เมืองมัณฑเลย์เป็นการถาวรนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ด้วยความเชื่อว่าพระพุทธมหามัยมุนีเป็นพระพุทธรูปที่มีชีวิต ด้วยเหตุที่ได้รับประทานพร[6] หรือบางตำนานก็กล่าวว่าได้รับประทานลมหายใจจากพระพุทธเจ้า[4] จึงมีประเพณีล้างพระพักตร์ถวายโดยทุกเช้าในเวลาประมาณ 04.00 น.[7] พระมหาเถระและสาธุชนทั่วไปที่ศรัทธาจะมาทำพิธีล้างพระพักตร์ด้วยน้ำอบน้ำหอมผสมทานาคาอย่างดี พร้อมกับใช้แปรงทองแปรงที่พระโอษฐ์เสมือนหนึ่งแปรงพระทนต์ถวายพระพุทธเจ้า ก่อนใช้ผ้าจากศรัทธาสาธุชนที่ถวายมาเช็ดจนแห้งสนิท แล้วนำกลับคืนแก่สาธุชนผู้นั้นไปบูชาต่อ พร้อมใช้พัดทองโบกถวายเป็นอันดี เสมือนหนึ่งได้อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ยังทรงพระชนมชีพอยู่[3][2]

อนึ่ง องค์พระมหามัยมุนีมีการปิดทองซ้ำแล้วซ้ำอีกจนเป็นรอยย่นตะปุ่มตะป่ำไปทัวทั้งองค์ ซึ่งหากเอานิ้วกดลงไปจะรู้สึกได้ถึงความอ่อนนิ่มของทองคำเปลวที่ปิดทับซ้อนกันนับเป็นพัน ๆ หมื่น ๆ ชั้น ตลอดระยะเวลาเนิ่นนานหลายศตวรรษ ทำให้พระมหามัยมุนีมีอีกพระนามหนึ่งว่า "พระเนื้อนิ่ม" แต่น่าแปลกที่ว่าแม้จะมีการปิดทองซ้ำแล้วซ้ำอีกจนองค์พระใหญ่ขึ้นเพียงใดก็ตาม แต่พระพักตร์ขององค์พระมหามัยมุนีก็ยังแลดูใหญ่ตามองค์พระอย่างน่าอัศจรรย์ ทั้งที่ไม่ได้มีการปิดทองที่องค์พระพักตร์เลยแม้แต่น้อย

ในประเทศไทย ที่วัดหัวเวียง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้มีองค์พระจำลองของพระมหามัยมุนีนี้เป็นพระประธานของวัด ในบรรดาพระมหามัยมุนีจำลองในประเทศไทย พระเจ้าพาราละแข่งถือเป็นองค์ที่เก่าที่สุด เพราะสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2460 หลังจากเหตุเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ที่วัดพระมหามัยมุนีที่เมืองมัณฑะเลย์เพียง 33 ปี[8]

และอีกองค์หนึ่งคือพระมหามัยมุนีสายสัมพันธ์ 2 แผ่นดิน ที่ประดิษฐานพลับพลาชั่วคราว ณ วัดพระธาตุดอยแต ตำบลเหมืองจี้ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน ซึ่งมีขนาดเท่าองค์จริง และได้ทำพิธีในวัดพระมหามัยมุนีองค์จริงโดยพระสังฆนายกแห่งประเทศพม่า และได้มอบให้พระสงฆ์เมืองมัณฑะเลย์ จำนวน 108 รูป ทำพิธีตลอด 3 วัน (14–16 มีนาคม 2557) และได้อัญเชิญมาประเทศไทยเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่าง 2 ประเทศ และทุกเช้าวันพระจะมีพิธีสรงพระพักตรโดยพระสงฆ์ผู้ได้รับมอบหมายจากประเทศพม่า

คลังภาพ แก้

อ้างอิง แก้

  1. Keown, Damien (2003). A dictionary of Buddhism. Mahamuni Paya and Mahamuni temple. Oxford University Press US. pp. 164–165. ISBN 978-0-19-860560-7. สืบค้นเมื่อ 2010-03-24.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 Aung, Myo; H.Kraft. Upper Myanmar Mandalay Pyin Oo Lwin Sagaing Monywa Mingun Mogok Shwebo. Mahamuni Buddha. Books on Asia. pp. 4–5. ISBN 9789749290859. สืบค้นเมื่อ 2010-03-24.
  3. 3.0 3.1 3.2 Schober, p.263
  4. 4.0 4.1 "Places of Peace and Power". Sacredsites.com. สืบค้นเมื่อ 2010-03-22.
  5. Schober, p.268
  6. พระมหามัยมุนี พระพุทธรูปมีชีวิตหนึ่งเดียวในเมียนมาที่มีพิธีล้างหน้าแปรงฟันทุกเช้า. The Cloud. 2562
  7. Reid, Robert; Michael Grosberg (2005). Mahamuni Pagoda, Mandalay. Lonely Planet. p. 234. ISBN 978-1-74059-695-4. สืบค้นเมื่อ 2010-03-22.
  8. วัดหัวเวียงเมื่อพระมหามัยมุนีเดินทางมาแม่ฮ่องสอน วัดหัวเวียง เป็นพระเจ้าพาราละแข่ง. The Cloud. 2562

21°57′6.73″N 96°4′43.03″E / 21.9518694°N 96.0786194°E / 21.9518694; 96.0786194