พระพุทธไสยาสน์ (วัดป่าโมก)

พระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมก ประดิษฐานอยู่ในวิหารวัดป่าโมกวรวิหาร ซึ่งมีชื่อเดิมว่าวัดตลาด อยู่ที่อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง วัดป่าโมกวรวิหารเป็นวัดเก่าแก่สมัยอยุธยา ปัจจุบันเป็นพระอารามหลวง

พระพุทธไสยาสน์
ชื่อเต็มพระพุทธไสยาสน์
ประเภทศิลปะอยุธยา
สถานที่ประดิษฐานพระวิหาร วัดป่าโมกวรวิหาร
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

พระพุทธไสยาสน์องค์นี้ มีความเก่าแก่คู่กันมากับวัด มีขนาดใหญ่โตและงดงามมาก สร้างก่อนรัชสมัย สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อครั้งที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เสด็จมาประชุมพลก่อนจะเสด็จไปรบกับพระมหาอุปราชา ได้เสด็จมาทรงสักการะพระพุทธไสยาสน์ก่อน เมื่อ พ.ศ. 2135

เดิมองค์พระพุทธไสยาสน์และพระวิหาร ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาห่างจากที่ตั้งปัจจุบัน 4 เส้น 4 วา เนื่องจาก ที่ตั้งนั้นเป็นคุ้งน้ำ น้ำจึงเซาะตลิ่งพังลงไปจนใกล้ถึงองค์พระ สมเด็จพระเจ้าท้ายสระจึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้ พระราชสงครามเป็นนายกองดำเนินการชะลอพระพุทธไสยาสน์ ให้ลึกเข้ามาจากฝั่ง 4 เส้น 4 วา แล้วสร้าง พระวิหารสำหรับพระพุทธไสยาสน์ เรื่องราวการชะลอพระพุทธไสยาสน์นี้มีปรากฏอยู่ในศิลาจารึก ติดไว้ที่ฝา ผนังพระอุโบสถของวัดป่าโมก มีใจความดังนี้

เมื่อ พ.ศ. 2271 สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ เสด็จพระราชดำเนินมายืนบกชะลอพระพุทธไสยาสน์ ณ อำเภอป่าโมก ให้พ้นอันตรายจากน้ำเซาะตลิ่งพัง โดยชะลอให้ห่างฝั่งแม่น้ำ 4 เส้น 4 วา แล้วให้สร้างพระวิหาร สำหรับองค์พระพุทธไสยาสน์ที่วัดตลาด เนื่องจากพระวิหารเดิมฝาผนังและหลังคาชำรุดทรุดโทรม

นอกจากนั้นยังมีโคลงพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ เรื่อง การชะลอพระพุทธไสยาสน์ เมื่อครั้งเป็นกรมพระราชวังบวร ฯ นิพนธ์ ถวายสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เป็นจำนวนโคลง 128 บท มีสำนวนตามบทที่ 2 ดังนี้

ตะวันลงตรงทิศทุกัง.....แทงสาย
เซราะฝั่งพงรหุรหาย...............รอดน้ำ
ขุดเขื่อนเลื่อนทลมทลาย.........ริมราก
ผนังแยกแตกแตนซ้ำ.............รูปร้าวปฏิมา

ในโคลงดังกล่าวยังได้บรรยายว่า พระราชสงครามเป็นผู้ที่มีความสามารถ เคยทำงานสำคัญมาหลายครั้ง การชะลอครั้งนี้ได้จัดการขุดดิน ทำร่อง ทำราง ด้วยความยากลำบากจนเป็นผลสำเร็จ

การบูรณะ แก้

เมื่อ พ.ศ. 2271 พระเจ้าท้ายสระ เสด็จพระราชดำเนินมายืนบกชะลอพระพุทธไสยาสน์ ณ อำเภอป่าโมก ให้พ้นอันตรายจากน้ำเซาะตลิ่งพัง โดยชะลอให้ห่างฝั่งแม่น้ำ 4 เส้น 4 วา แล้วให้สร้างพระวิหาร สำหรับองค์พระพุทธไสยาสน์ที่วัดตลาด เนื่องจากพระวิหารเดิมฝาผนังและหลังคาชำรุดทรุดโทรม และ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ และในปัจจุบัน พระพุทธรูปองค์นี้ทรุดโทรมแล้ว กรมศิลปากรจึงได้บูรณปฏิสังขรณ์แบบเดิม

อ้างอิง แก้