พระพุทธเทววิลาส

พระพุทธเทววิลาส หรือหลวงพ่อขาว ประดิษฐาน ณ พระอุโบสถ วัดเทพธิดาราม วรวิหาร ถ.มหาไชย แขวงสำราญราษฎร์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

พระพุทธเทววิลาส
ชื่อเต็มพระพุทธเทววิลาส
ชื่อสามัญหลวงพ่อขาว
ประเภทพระพุทธรูป
ศิลปะเชียงแสนผสมสุโขทัย
ความกว้าง8 นิ้ว
ความสูง19 นิ้ว
วัสดุศิลาขาว
สถานที่ประดิษฐานพระอุโบสถ วัดเทพธิดาราม กรุงเทพมหานคร
ความสำคัญประดิษฐานอยู่ในเวชยันต์บุษบกไม้จำหลักลาย หรือบุศบกท้ายเกริน
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ไม่ปรากฏประวัติการสร้างหรือที่มา ปรากฏประวัติเพียงว่าพระพุทธเทววิลาสองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาบดินทร์ รัชกาลที่ ๓(พ.ศ. ๒๓๖๗ - ๒๓๙๔) มีพระราชศรัทธาเลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนาอย่างยิ่ง ทรงสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามจำนวนมาก พุทธศักราช ๒๓๗๙ โปรดให้กรมหมื่นภูมินทรภักดี (พระองค์เจ้าชาย ลดาวัลย์ ต้นราชสกุลลดาวัลย์)อันประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเอมน้อย เป็นแม่กองสร้างวัดเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิง วิลาศ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ ผู้เป็นพระปิยราชธิดา อันประสูติแต่ เจ้าจอมมารดาบาง ทรงพระปรีชาสามารถรับราชการสนองพระเดชพระคุณอย่างใกล้ชิด เป็นที่ไว้วางใจ พระราชฤหทัย แต่เดิมชื่อว่าวัดพระยาไกรสวนหลวง สร้างเสร็จเมื่อพุทธศักราช ๒๓๘๒ พระราชทานนามใหม่ว่า "วัดเทพธิดาราม" ซึ่งหมายถึงกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพระราชพิธีผูกพัทธสีมา ในวันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๘๒ โปรดให้อัญเชิญพระพุทธรูปจำหลักด้วยศิลาขาว จาก พระบรมมหาราชวังมาเป็นพระปฏิมากรประธาน

พระพุทธปฏิมากรองค์นี้ เดิมเรียกกันแต่เพียงว่า "หลวงพ่อขาว" เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล อดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร์ สยามินทราธิราชบรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ถวายพระกฐิน ทรงเฉลิมพระนามว่า "พระพุทธเทววิลาส"

ตามหนังสือราชเลขาธิการที่ รล.๐๐๐๒/๒๕๒๒ เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๔

พระพุทธเทววิลาส หรือหลวงพ่อขาว เป็นพระพุทธรูปศิลปะสมัยเชียงแสนผสมสุโขทัย ปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร จำหลักด้วยศิลายวง สีขาวบริสุทธิ์

พระเพลากว้าง ๑๔ นิ้ว

สูง ๑๙ นิ้ว หนา ๘ นิ้ว พระอังสา(ไหล่) ๙ นิ้ว รอบพระอุระ (อก)๑๘ นิ้ว ประดิษฐานอยู่ในเวชยันต์บุษบกไม้จำหลักลาย หรือบุศบกท้ายเกริน ปิดทองประดับกระจกเกรียบ ลายประณีตบรรจงมาก รอบๆแวดล้อมด้วยดีบุกปั้นเป็นรูปเทพนมและครุฑปิดทอง ด้านซ้ายขวาตั้งแต่งฉัตรเครื่องสูงทองแผ่ลวด ๕ ชั้น ๒ ดั้ง เหนือพระพุทธรูป กางกั้นสุวรรณฉัตรคันดาน ๕ ชั้น ๑ ดั้ง

ด้านมุมซ้ายขวา ฐานบุศบก ประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องปางห้ามสมุทร ประดับขัตติยะภูษิตาภรณ์ เรียกกันว่าพระทอง ดุจเดียวกันกับพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้วมรกต) เบื้องบนพระทองสององค์ กางกั้นสุวรรณฉัตรคันดาน ๕ ชั้น ๒ ดั้ง สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นของเดิมทั้งสิ้น