ตามคติของศาสนาฮินดู พระพิรุณ หรือ พระวิรุณ หรือ พระวรุณ (สันสกฤต: वरुण) เป็นเทพแห่งน้ำและฝน[1] เป็นโลกบาลประจำทิศประจิม (ทิศตะวันตก) มีพระวรกายสีน้ำเงิน บ้างก็ว่าสีขาวผ่อง ถือบ่วงวรุณบาศและร่มอาโภค ทรงจระเข้เป็นพาหนะ (หรือนาค หรือมกร)

พระพิรุณ
เทวนาครี: वरुण
พระวรุณ ในคติอินเดีย ทรงบ่วงวรุณบาศ ทรงมกรเป็นพาหนะ มีเหล่าชลเทพเป็นบริวาร
ตำแหน่งเทพแห่งน้ำและฝน ผู้รักษาความยุติธรรมและกฎเกณฑ์ของสวรรค์และโลก
จำพวกโลกบาล เทพคณะปัญจภูตะ เทพคณะอาทิตย์ และเทพคณะวสุ
วิมานเมืองวสุธา บนยอดเขาปุษปคีรี ในวรุณโลก
อาวุธบ่วงวรุณบาศ,ร่มอาโภค,ศรวรุณาสตร์,พระขรรค์,ตรีศูล,คทา,สังข์,ดอกบัว,ขวาน,หม้อน้ำ,ไม้เท้า,หีบแก้วมณี,หอก ฯลฯ
สัตว์พาหนะมกร,จระเข้,เหรา,นาค,ปลา,ช้าง,ม้า,ราชรถสีทองเทียมหงส์ ๗ ตัว
บิดาพระกัศยปเทพบิดร
มารดาพระแม่อทิติ
คู่ครองพระนางวารุณี
บุตรเมขลา(ในศาสนาพุทธ), ฤๅษีอคัสตยะ, ฤๅษีวาลมีกิ, พระทักษะสวรรณีมนู, สุเษณ (วานรในรามายณะ),ไวยบุตร (วานรสิบแปดมงกุฎในรามเกียรติ์),ท้าวศรุตายุธ ฯลฯ
ดาวพระเคราะห์ดาวเนปจูน

ตำนาน แก้

สมัยฤคเวท พระวรุณเป็นเทพผู้เป็นใหญ่คู่กับพระอาทิตย์ หรือ พระมิตระ พระอาทิตย์มีหน้าที่ปกครองกลางวัน พระวรุณมีหน้าที่ปกครองกลางคืน เรียกว่า "เจ้าฟ้าอันอยู่ทั่วไป" มีความศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่เคารพยำเกรง เป็นผู้บำรุงเทวโลกและมนุษยโลกด้วยน้ำ พระวรุณมีเทวทูตที่คอยจดบัญชีกรรมส่งให้พระยม พระองค์ทรงเป็นผู้รักความสัตย์และเกลียดความเท็จ มีตำนานเล่าว่า ครั้งหนึ่ง พระเจ้าหริศจันทร์ทำพิธีขอบุตรจากพระวรุณ และสัญญาว่าเมื่อบุตรโตขึ้น จะนำมาบูชายัญแด่พระวรุณ พระเจ้าหริศจันทร์ก็ทรงมีบุตรนามว่า พระโรหิตกุมาร กาลเวลาล่วงเลยไป พระเจ้าหริศจันทร์ก็มิได้ทำการบูชายัญแด่พระวรุณด้วยบุตร พระวรุณจึงบันดาลให้พระเจ้าหริศจันทร์ ประชวรเป็นโรคท้องมาน เป็นโรคที่มีน้ำในท้องมากเกินไป จึงเป็นต้นแบบประเพณีการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาของไทย พระวรุณทรงเป็นเจ้าแห่งน้ำ ภายหลังได้ฉายาว่า "สินธุปติ" แปลว่า "เจ้าน้ำทั่วไป" ในรามเกียรติ์ พระวรุณ ทำหน้าที่เป็นกองเกียกกายในสงครามรบกับอินทรชิต ในรามายณะ พระวรุณทรงบอกวิธีข้ามไปกรุงลงกาแก่พระราม

ในพระไตรปิฎกภาษาบาลี ธชัคคสูตรระบุว่า พระวรุณเป็นเทวราชองค์หนึ่ง มีศักดิ์รองจากพระประชาบดี[2]

ลักษณะของพระวรุณ ในคติไทย เป็นเทพบุรุษมีกายสีน้ำเงิน มี ๒ กร ทรงพระขรรค์เป็นอาวุธ สวมมงกุฎยอดเดินหน สวมอาภรณ์สีทอง ทรงเครื่องประดับด้วยทองคำ ไข่มุกและแก้วเพทาย ทรงพญานาคเป็นพาหนะ ในคติฮินดู เป็นเทพบุรุษมีกายสีน้ำเงิน บ้างก็ว่าสีขาว รูปร่างเล็ก แต่กำยำล่ำสัน มี ๔ กร ทรงบ่วงวรุณบาศ ร่มอาโภค หม้อน้ำ ดอกบัว สังข์ ฯลฯ สวมมงกุฎทองคำ มีรัศมีทอง สวมอาภรณ์สีทอง ทรงเครื่องประดับด้วยทองคำ ไข่มุกและแก้วเพทาย ทรงจระเข้ หรือ มกร เป็นพาหนะ พระวรุณ ยังมีนามอื่นๆอีก อาทิ เช่น พระสินธุปติ,พระชลปติ,พระชลพิมพา,พระนีลปุรุษ,พระปาศปาณี,พระอัมพุราช,พระยาทปติ ฯลฯ

พระวรุณเมื่อเทียบกับความเชื่อทางตะวันตกแล้ว เทียบได้กับโพไซดอนตามเทพปกรณัมกรีก และเนปจูนตามเทพปกรณัมโรมัน

ในหนังสือพระนลคำหลวง พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวระบุว่า พิรุณเป็นนามของเทพคณะอาทิตย์ เป็นบุตรองค์โตของพระแม่อทิติ เป็นเทพแห่งความเป็นธรรม พระพิรุณย่อมรู้ว่าผู้ใดทำอะไร ย่อมรู้ว่าผู้ใดกะพริบตากี่ครั้ง ใครทำบาป เมื่อมีผู้ทำบาปพระพิรุณจักใช้บ่วงคล้องผู้นั้นไปหาพระยมเพื่อนำไปลงทัณฑ์ ในมหาภารตะ พระพิรุณเป็นบุตรพระฤๅษีกรรทมพรหมบุตร พระพิรุณในความเชื่อของคนไทยว่าเป็นผู้ให้ฝน ให้น้ำ ถือพระขรรค์ ทรงนาค หรือมกร เป็นพาหนะ จึงเป็นสัญลักษณ์ของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวกับการเกษตร อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์[3] และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

อ้างอิง แก้

  1. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554, หน้า 838
  2. ธชัคคสูตร
  3. พีระ อารีสม, ตำนานพระพิรุณ. คณะเทคนิคการสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • ราชบัณฑิตยสถานพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. พิมพ์ครั้งที่ ๒, กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2556. 1,544 หน้า. ISBN 978-616-7073-80-4