พระพิมพ์ สมเด็จพระแก้วมณีโชติ

ในปี พ.ศ. 2511คณะกรรมการพุทธสมาคมจังหวัดพิษณุโลก นำโดยนายละเมียด อัมพวะศิริ นายกพุทธสมาคมจังหวัดพิษณุโลก และนายเนียม สุขแก้ว เลขานุการพุทธสมาคมจังหวัดพิษณุโลก ทราบว่า ท่านพระครูศีลสารสัมบัน (สำรวย สมฺปนฺโน) เจ้าอาวาสวัดสระแก้วปทุมทอง และเจ้าคณะอำเภอเมืองพิษณุโลก เป็นพระเถราจารย์ในภาคเหนือตอนล่างที่เก็บสะสมมวลสารโบราณไว้มากมายทั้งยังครอบครองดูแลวัตถุโบราณหายากอันทรงคุณค่า และเป็นผู้นำเอาดินก้นกรุและโอ่งใต้ฐานสมเด็จพระนางพญา วัดนางพญา จังหวัดพิษณุโลกมาเก็บไว้ คณะกรรมการพุทธสมาคมจังหวัดพิษณุโลก และพลเอกสำราญ แพทยกุล แม่ทัพกองทัพภาคที่ 3 ในขณะนั้นจึงได้กราบนิมนต์ ท่านพระครูศีลสารสัมบัน (สำรวย สมฺปนฺโน) เป็นแม่งานรับผิดชอบในการจัดสร้างพระพิมพ์ชนิดผง และดินผสมผงเก่า เพื่อใช้ในการประกอบพิธีจักรพรรดิ์มหาพุทธาภิเษก วันที่ 19 – 20 มกราคม 2515 ณ พระวิหารพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร (วัดใหญ่) พิษณุโลก ตามคำเสนอแนะของเจ้าคุณพระพิษณุบุราจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก ในสมัยนั้น

วัตถุมงคลในศาสนาพุทธ
ชื่อเต็มพระพิมพ์ สมเด็จพระแก้วมณีโชติ
ชื่อสามัญพระแก้วมณีโชติ
ประเภทพระเครื่อง
ศิลปะปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย
ความกว้าง3 ซม.
ความสูง2.5 ซม.
วัสดุเนื้อผงและดินผสมผง
สถานที่ประดิษฐานวัดสระแก้วปทุมทอง
ความสำคัญวัตถุมงคลของจังหวัดพิษณุโลก
หมายเหตุสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2515
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

โดยการนี้ท่านพระครูศีลสารสัมบัน เริ่มต้นกดพิมพ์พระ เผาพระ และอบพระตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 เป็นต้นมา ครั้งนั้นได้มีการปิดพระอุโบสถวัดสระแก้วปทุมทอง จังหวัดพิษณุโลก เพื่อจัดพิมพ์พระเครื่องรุ่นปี 2515 และหนึ่งในนั้นคือ พระพิมพ์ สมเด็จพระแก้วมณีโชติ เนื้อดินและผง หลังยันต์แก้วมณีโชติ พิมพ์เล็กและพิมพ์ใหญ่

ประวัติการสร้างพระแก้วมณีโชติ แก้

พระพิมพ์ สมเด็จพระแก้วมณีโชติ เป็นสุดยอดต้นตำรับ “สูตรมหาจักรพรรดิ์” ซึ่งเป็นสูตรที่ผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์โดยท่านพระครูศีลสารสัมบัน (สำรวย สมฺปนฺโน) เป็นผู้คิดค้นไว้เป็นการเฉพาะ ดังนั้นพระเครื่องของวัดสระแก้วปทุมทองจึงเน้นสร้างพระเครื่อง “เนื้อดินผสมผงเก่า” โดยสร้างด้วยกรรมวิธี “การเผา” เช่นเดียวกับพระเครื่องโบราณชนิดต่างๆ เช่น พระคงลำพูน พระรอดลำพูน พระนางพญาพิษณุโลก พระกรุวัดท่ามะปราง และพระกรุสุโขทัย เป็นต้น ในบันทึกการจัดสร้างระบุไว้ว่า วัสดุที่ใช้สร้างพระเนื้อดินผสมผง ประกอบด้วยดินที่ขุดจากกรุใต้ฐานสมเด็จพระนางพญา วัดนางพญา จังหวัดพิษณุโลก เป็นมวลสารหลัก เพราะดินบริเวณนั้นมีพระนางพญา อายุ 700– 800 ปี ฝั่งอยู่จึงได้รับมวลสารจากพระนางพญามาด้วย ทั้งยังติดชิ้นส่วนพระนางพญาสมบูรณ์บ้างไม่สมบูรณ์บ้างมาเป็นมวลสาร นอกจากนี้ยังมีส่วนผสมอื่น ๆ ในการสร้างอีกมากเช่น ผงเกสรดอกไม้ 108จากวัดสำคัญทุกภูมิภาค ทองคำที่ลอกจากองค์พระสำคัญ เช่น พระพุทธโสธร วัดโสธรวรารามวรวิหาร เป็นต้น ว่าน 108 ชนิด ดินจากหน้าพระอุโบสถและพระวิหารประจำจังหวัดต่าง ๆ จากนั้นยังมีดินจากสังเวชนียสถาน 4 ตำบลในประเทศอินเดีย รวมทั้งผงจากพระเครื่องโบราณที่ชำรุดแตกหัก เช่น ผงพระสมเด็จวัดระฆัง สมเด็จวัดบางขุนพรหม พระนางพญา พระรอด พระขุนแผน พระผงสุพรรณ และผงนวโลหะชนวนพระกริ่งของสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) และท่านเจ้าคุณศรี (สนธ์) วัดสุทัศน์เทพวราราม นำมาผสมด้วยน้ำอภิเษกสำหรับการบรมราชาภิเษกในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ไทยและน้ำสรงพระแก้วมรกต เมื่อสร้างเสร็จได้นำเข้าเตาเผาที่โรงหล่อพระ จ่าสิบเอก ดร.ทวี บูรณเขตต์ ด้วยความร้อนสูงจึงปรากฏว่ามีสีที่แตกต่างกัน เช่น สีดำ สีเทา สีขาวนวล สีดอกพิกุลแห้ง น้ำตาลไหม้ เป็นต้น

จากบันทึกการจัดสร้างที่กล่าวมานี้แสดงให้เห็นว่า พระพิมพ์ สมเด็จพระแก้วมณีโชติ เนื้อดินผสมผง มีหลากหลายสีที่เกิดจาก “การเผา” หรือ “ปาฏิหาริย์” ก็เป็นเรื่องตามแต่วิจารณญาณและความศรัทธาของแต่ละคน พระพิมพ์ที่ถูกเผาดังเช่นพระเนื้อดินโบราณนี้จะมีขนาดและสีที่ แตกต่างกันอย่างเช่น พระรอดลำพูน พระคง พระบาง พระเปิม พระนางพญา ฯลฯ และพระบางองค์ที่ผสมผงเกสรหรือว่านมากไปก็จะกลายเป็น สีดำ หรือ สีเทา และบางองค์ที่มี ผงนวโลหะ (ผงตะไบจากวัดสุทัศน์เทพวราราม) ผสมอยู่มากเมื่อถูกความร้อนสูงผงนวโลหะก็จะละลายแผ่ซึมเข้าไปในเนื้อพระทำให้เป็น สีดำ หรือหากถูกความร้อนมากผงนวโลหะที่ละลายก็จะผุดออกมาจับที่ “ผิวพระด้านนอก” เป็นปุ่มสีดำ ที่มีทั้งผิวพระด้านและแวววาว เมื่อสะท้อนแสง โดยพระเนื้อนี้กลับกลายเป็นที่นิยมกันมากโดยเรียกว่า “พระเนื้อแร่ผงตะไบ” ตามแบบฉบับเนื้อพระกริ่งของวัดสุทัศน์เทพวราราม ที่สำคัญพระเนื้อแร่นี้จะมีความ “แข็งและแกร่ง” คือแตกหักหรือชำรุดได้ยากกว่าเนื้ออื่น ๆ ส่วนพระเนื้อที่ผสมผงเกสรหรือผสมผงนวโลหะน้อยก็จะมีสีสันเป็นธรรมชาติของเนื้อดินกรุวัดนางพญา เช่น เนื้อสีแดงแบบอิฐ สีขาวนวลเรียกว่าดอกพิกุล ที่มีจุดสีส้มเรียกว่า เกสรดอกมะขาม สีครีม สีน้ำตาลไหม้ สีช็อกโกแลต เป็นต้น บางองค์ก็ปรากฏพรายน้ำซึ่งก็คือ ซากพืชซากสัตว์ ที่ทับถมอยู่ในดินนับล้าน ๆ ปีนั่นเองและเมื่อมีพระ “เนื้อพิเศษ” ดังกล่าวและมีน้อยกว่าเนื้ออื่น ๆ เช่น “สีดำ” หรือ “สีช็อกโกแลต” กลายเป็นเนื้อยอดนิยมกลายเป็นของหายากจึงทำให้คน คิดนำพระแท้สีเทาไปทาสีเพื่อทำให้เป็น “เนื้อสีดำหรือช็อกโกแลต” พอนำออกขายก็จะได้ราคามากขึ้น แม้จะมีความพยายามเช่นไรแต่ก็มีพิรุธอยู่ดี คือเนื้อพระจะฉ่ำเยิ้มมีรอยแตกระแหงชำรุดง่าย การสร้างพระพิมพ์ทั้งสิ้นทั้งปวงนั้น ไม่มีฆราวาสคนใดได้จับหรือแตะต้อง มีเพียงพระภิกษุและสามเณรที่ปลงอาบัติและต่อศีลจนบริสุทธิ์ครบถ้วนแล้วเท่านั้นที่ช่วยกันบดผงด้วยครกเหล็กและกดพิมพ์พระจนบริบูรณ์

  • พระพิมพ์ สมเด็จพระแก้วมณีโชติ เนื้อดินผสมผง พิมพ์เล็กและพิมพ์ใหญ่ มีทั้งหมด 8 สี คือ สีดำเงา สีขาว สีอิฐ สีอรุณ สีคราม สีน้ำตาลอ่อน สีเทา และสีน้ำตาล เรียกกันว่า พระอรหันต์ 8 ทิศ
  • พระพิมพ์ สมเด็จพระแก้วมณีโชติ เนื้อผง พิมพ์เล็กและพิมพ์ใหญ่ สีขาว เป็นเนื้อมวลสารสมเด็จวัดระฆัง และสมเด็จวัดบางขุนพรหม กรุงเทพมหานคร ผสมไว้จำนวนมาก และเป็นมวลสารที่บริสุทธิ์กว่าพระพิมพ์ชนิดอื่นๆ จนมีผู้เล่ากันว่า ท่านพระครูศีลสารสัมบันเป็นผู้กดพิมพ์พระเองเสียด้วยซ้ำ พระพิมพ์ชนิดนี้จัดสร้างไว้จำนวนน้อยคำนวณนับได้ไม่ถึง 100 องค์ เพราะมวลสารสำหรับพิมพ์พระมีน้อย อุปมาดังเช่น พระพุทธเจ้า อันเป็นบุคคลที่หาได้ยากในโลก จึงแทน “พระสัมมาสัมพุทธเจ้า”


บรรณานุกรม แก้

  • รัฏฐฤทธิ์ จักรวรรดิโยธิน. (2554). ประวัติวัดสระแก้วปทุมทอง : วัดไตรภูมิแห่งนครสรลวงสองแคว(พิษณุโลก) และพระเครื่อง"สูตรมหาจักรพรรดิ์" หนึ่งในตำนานพระเครื่องเมืองสองแคว. พิมพ์ครั้งที่1. มติชน กรุงเทพ.
  • พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย. (2515). อนุสรณ์งานนมัสการ พระพุทธชินราช ประจำปี 2515 และงานจักรพรรดิมหาพุทธาภิเษก. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มิตรสยาม พระนคร.
  • รัฏฐฤทธิ์ จักรวรรดิโยธิน. (2548). ประวัติสระแก้วท้ายเมืองพระพิษณุโลกและวัดสระแก้วปทุมทอง. พิมพ์ครั้งที่1. รัตนสุวรรณการพิมพ์ 3 พิษณุโลก.
  • วัดสระแก้วปทุมทอง. (2553). ประวัติสมเด็จพระแก้วมณีโชติ. พิมพ์ครั้งที่ 1. วัดสระแก้วปทุมทอง พิษณุโลก.
  • วัดสระแก้วปทุมทอง. (2553). ประวัติสมเด็จพระแก้วมณีโชติ. พิมพ์ครั้งที่ 2. วัดสระแก้วปทุมทอง พิษณุโลก.