พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร

พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร เป็นพระที่นั่งที่ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นใน อยู่ในหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เดิมเป็นพระที่นั่งที่สร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหลังจากเสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา มีมุขหน้าต่อกับพระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์และพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ

พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร
Borom Ratchasathit Mahoran Banquet Hall
ห้องจัดเลี้ยงภายในพระที่นั่ง
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทพระที่นั่ง
สถาปัตยกรรมเป็นตึกแบบตะวันตก
เมืองกรุงเทพมหานคร
ประเทศประเทศไทย
ปรับปรุงพ.ศ. 2537
ผู้สร้างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ข้อมูลทางเทคนิค
โครงสร้างเป็นตึกแบบตะวันตก มีเครื่องหลังคาและหน้าต่างเป็นแบบไทย ผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดใหญ่
เป็นส่วนหนึ่งของหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
เลขอ้างอิง0005574

พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬารองค์ปัจจุบันเป็นพระที่นั่งองค์ใหม่ที่สร้างขึ้นแทนหมู่พระที่นั่งองค์เดิมที่อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมจนเกินกว่าจะบูรณะได้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระที่นั่งองค์เก่าลงและสร้างพระที่นั่งองค์ใหม่ขึ้นแทน ในปี พ.ศ. 2537 เพื่อใช้เป็นสถานที่จัดงานพระราชทานเลี้ยงต้อนรับแขกเมือง[1] โดยมีลักษณะเป็นพระที่นั่ง ๒ องค์สร้างซ้อนกัน คือ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร และพระที่นั่งเทวารัณยสถาน

เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2537 แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2549 โดยงานพระราชพิธีแรกที่จัดขึ้นในพระที่นั่งองค์นี้คือ งานพระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำแด่สมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินีต่างประเทศ พร้อมทั้งบุคคลสำคัญ เนื่องในงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2549

ประวัติ แก้

พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร ในพระบรมมหาราชวัง เป็นพระที่นั่งองค์ใหม่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในเขตพระราชฐานชั้นใน สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีลักษณะเป็นพระที่นั่งสององค์สร้างซ้อนกัน คือ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร และพระที่นั่งเทวารัณยสถาน อันเป็นรูปแบบหนึ่งของพระที่นั่งหรือที่เสด็จออกมหาสมาคม ซึ่งตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา นิยมสร้างพระที่นั่งเป็นหมู่แบ่งตามห้องที่ใช้ประโยชน์ และพระราชทานนามแต่ละห้องว่าพระที่นั่งเหมือนกัน โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานกระแสพระราชดำริประกอบการออกแบบก่อสร้างสรุปได้ว่า ควรจัดให้มีห้องสำหรับพระราชทานเลี้ยง เพื่อเป็นเกียรติแก่ประมุขของนานาประเทศที่เขามาเยี่ยมประเทศไทย บางครั้งจำเป็นต้องเชิญพระราชวงศ์ องคมนตรี คณะรัฐบาล ข้าราชการฝ่ายทหารและพลเรือน คณะทูตานุทูต และบรรดาผู้เกี่ยวข้องโดยทั่วถึง ซึ่งจะต้องให้สามารถจัดเลี้ยงได้ระหว่าง 200-250 คน

เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2537 แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2549 ใช้งบประมาณทั้งสิ้น ประมาณ 2,600 ล้านบาท โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ในขณะนั้น) เสด็จแทนพระองค์ใน พระราชพิธีสมโภชพระที่นั่ง เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2549 และงานแรกที่จัดขึ้นในพระที่นั่งองค์นี้ คือ งานพระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ แด่สมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินีต่างประเทศ พร้อมทั้งบุคคลสำคัญ เนื่องในงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2549

การก่อสร้าง แก้

พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬารถูกสร้านแทนที่หมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ที่อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมจนไม่อาจซ่อมแซมได้แล้ว ได้แก่

  1. พระที่นั่งดำรงสวัสดิ์อนัญวงศ์ เป็นพระที่นั่งที่สร้างต่อเนื่องกับพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ ด้านตะวันตก ใช้เป็นห้องเครื่องลายคราม มีชื่อเรียกขานว่า "ห้องผักกาด"
  2. พระที่นั่งนิพัทธพงศ์ถาวรวิจิตร เป็นพระที่นั่งที่สร้างต่อเนื่องกับพระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ ด้านตะวันออกเป็นห้องพระภูษา
  3. พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร เป็นพระราชมณเฑียรที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อยู่ทางทิศใต้ของพระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ และพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ บางครั้งใช้เป็นสถานที่รับรองแขก
  4. พระที่นั่งอมรพิมานมณี เป็นพระวิมานที่บรรทมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อจากพระเฉลียงด้านหลังพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร
  5. พระที่นั่งสุทธาศรีอภิรมย์ เป็นห้องประทับสมเด็จพระอัครมเหสี อยู่ด้านตะวันออกของพระที่นั่งอมรพิมานมณี
  6. พระที่นั่งบรรณาคมสรนี เป็นห้องทรงพระอักษร อยู่ด้านตะวันตกของพระที่นั่งอมรพิมานมณี
  7. พระที่นั่งปรีดีราชวโรทัย เป็นห้องพักผ่อนพระราชอิริยาบถ ต่อจากพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร
  8. พระที่นั่งเทพดนัยนันทยากร เป็นห้องสมเด็จพระราชโอรสและสมเด็จพระราชธิดา ทางด้านเหนือของพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร

สมโภชพระที่นั่ง แก้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามพระที่นั่ง "บรมราชสถิตยมโหฬาร" และพระที่นั่ง "เทวารัณยสถาน" เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2549

วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปในพระราชพิธีสมโภชพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร ได้อาราธนาพระสงฆ์ 100 รูปเจริญพระพุทธมนต์ แล้วพราหมณ์เบิกแว่นเวียนเทียนสมโภชพระที่นั่งตามราชประเพณี

สถาปัตยกรรม แก้

 
พระที่นั่งองค์เดิม ก่อนถูกรื้อถอน

เป็นอาคารแบบยุโรปทั้งภายนอกและภายใน เป็นพระที่นั่ง ๒ ชั้น ชั้นล่างเป็นที่พำนักของข้าราชบริพาร ชั้นบนมี ๓ ห้อง ได้แก่ ห้องกลาง เรียกว่า "ห้องเหลือง" เคยใช้เป็นที่เสด็จออกรับแขกเมือง เช่น ดยุคออฟเยนัว พระอนุชาของสมเด็จพระบรมราชินีในสมเด็จพระราชาธิบดีคาละคัว แห่งฮาวาย เมื่อครั้งยังไม่ได้ขึ้นอยู่กับสหรัฐอเมริกา เมื่อพุทธศักราช ๒๔๒๓

ห้องต่าง ๆ ภายในพระที่นั่ง แก้

  • ห้องกลาง เป็นห้องใหญ่ เรียกกันว่า "ห้องเหลือง" เคยใช้เป็นที่รับรองแขกผู้มีเกียรติ และยังใช้ประกอบพระราชพิธีหรืองานพระราชกุศลภายในด้วย เช่น งานพระราชกุศลคล้ายวันสิ้นพระชนม์ใน สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ และ สมเด็จเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ จะจัดที่ห้องเหลืองนี้เป็นประจำ
  • ห้องด้านตะวันออก เรียกว่า "ห้องน้ำเงิน" เป็นห้องทรงพระสำราญ พระอัครมเหสีและเจ้านายและพระบรมวงศ์ที่ใกล้ชิดเข้าเฝ้าฯ ณ ห้องนี้ อีกทั้งเป็นที่ที่เคยโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระอัครมเหสีเสด็จออกรับแขกในบางโอกาส ภายในห้องเป็นที่ประดิษฐานเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องราชศิราภรณ์ พระมาลา เครื่องราชูปโภค พระแสง และสิ่งมีค่าอื่น ๆ และยังมีรูปเขียน เรื่อง "อิเหนา" ประดับที่ฝาผนังด้วย
  • ห้องด้านตะวันตก เรียกว่า "ห้องเขียว" เป็นห้องทรงพระสำราญเป็นการส่วนพระองค์ตามพระราชอัธยาศัย และเป็นห้องเสวยฝ่ายใน

สถาปัตยกรรมของพระที่นั่งองค์ใหม่ แก้

องค์พระที่นั่งเป็นตึกแบบตะวันตก มีเครื่องหลังคาและหน้าต่างเป็นแบบไทย ผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดใหญ่ ทำหลังคาเป็นจั่วยื่นออกมาเป็นมุขต่อกัน ด้านใต้ ๓ มุข ด้านตะวันออกและด้านตะวันตกด้านละ ๒ มุข หลังคาแต่ละมุขซ้อนเป็นหลังคาลดมุขละ ๓ ชั้นประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ที่หน้าบันประดับพระบรมราชสัญลักษณ์จักรีล้อมด้วยสังวาลนพรัตน์ และพระราชลัญจกรประจำรัชกาลปัจจุบัน มีคชสีห์และราชสีห์ประคองฉัตร ๗ ชั้นประดับอยู่ทั้ง ๒ ข้าง พร้อมสาหร่ายรวงผึ้งอยู่ตอนล่างของหน้าบัน

ภายในพระที่นั่ง แก้

ภายในชั้นใต้ดินทั้ง ๒ ชั้นเป็นห้องควบคุมระบบต่าง ๆ อย่างทันสมัย เช่น ห้องเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ห้องระบบไฟฟ้าและเครื่องปรับอากาศ ห้องเก็บและเตรียมอาหาร ตลอดจนห้องเก็บพัสดุต่าง ๆ ชั้นบนดินชั้นล่างเป็นโถงเทียบรถยนต์ บนยอดกรอบพระทวารเข้าสู่ภายในประดับอักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร.

ชั้นล่างมีโถงอัฒจันทร์ขึ้นสู่พระที่นั่งชั้น ๒ ทั้ง ๒ ฝั่ง ตามผนังมีตู้เครื่องลายครามประดับอยู่เป็นระยะ ทั้งยังมีส่วนเชื่อมสามารถเดินไปยังชั้นใต้ต่ำของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทองค์กลางได้ เมื่อขึ้นสู่พระที่นั่งชั้น ๒ จะพบกับโถงกลาง เป็นโถงอัฒจันทร์ใหญ่ เบื้องกลางเป็นที่ตั้งของงานประณีตศิลป์ชิ้นเอก คือบุษบกทองคำลงยาประกอบท้ายเกริน บนฐานไม้แกะสลักประดับปีกแมลงทับ พร้อมทั้งสัปคับทองคำ ๒ กูบ ฝีมือสมาชิกมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ด้านทิศเหนือมีช่องพระทวารรูปโค้ง ๓ ช่อง ไปสู่อัฒจันทร์จำนวน ๙ ขั้นอยู่เบื้องกลาง พร้อมบันไดเลื่อนขนาบสองข้าง ลงไปยังท้องพระโรงหลังพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

ในท้องพระโรงหลังนั้นผนังทาสีเขียวเข้ม ผนังด้านเหนือ มีพระทวารไปสู่ท้องพระโรงกลาง ตรงกลางผนังมีกระจกบานใหญ่อยู่ในกรอบประดับตราแผ่นดินในรัชกาลที่ ๕ พร้อมโคมไฟประดับขนาบสองข้าง ผนังด้านตะวันตกและตะวันออกเป็นพระบัญชรบานกระจกด้านบนประดับกระจกสี สุดผนังทั้ง ๒ ด้านมีพระทวารไปสู่พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ และสมมติเทวราชอุปบัติ บนเพดานทาสีครีม ชมพู ฟ้า และแดง ประดับปูนปั้นเป็นลายพรรณพฤกษาอย่างฝรั่ง พร้อมอักษรพระปรมาภิไธย ส.พ.ป.ม.จ. (สมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์) ในรัชกาลที่ ๕ ตรงกึ่งกลางเพดานแขวนช่อไฟโคมระย้า

โถงอัฒจันทร์พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬารที่โถงอัฒจันทร์ขึ้นไปสู่ชั้น ๓ เป็นอัฒจันทร์ที่ทอดแนวแยกสองทางไปตามทางเหนือและใต้ บนผนังด้านตะวันตก ประดับบานประตูไม้แกะสลักขนาดใหญ่ฝีมือสมาชิกมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เช่นกัน ในโถงนี้มีเสาหินอ่อนแกะสลักขนาดใหญ่อยู่หลายต้น

ทางด้านใต้ มีเฉลียงทางเดิน ตกแต่งด้วยตู้จัดเครื่องลายครามและเครื่องกระเบื้อง พร้อมทั้งสัปคับทำด้วยไม้แกะสลักฝีมือสมาชิกมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ถัดเข้าไปเป็นห้องจัดงานพระราชทานเลี้ยง พระทวารเข้าสู่ห้องเสวยมี ๓ ช่อง ทำเป็นรูปโค้งห้อยม่านสองไขอย่างยุโรป ภายในห้องเป็นท้องพระโรงขนาดใหญ่ผนังทาสีขาวนวล เพดานโค้งบรรจบเข้าเป็นโดมรูปรี สูงกินพื้นที่ไปยังชั้นบนสุด ประดับลวดลายปูนปั้นปิดทองบ้าง ปูนปั้นทาสีบ้าง พร้อมทั้งเสาหินอ่อน และหินอ่อนสลักลายบ้าง

ครั้นมองขึ้นไปยังเฉลียงชั้นบนสุด ด้านตะวันตกและตะวันออก จะแลเห็นเหล็กดัดเป็นลวดลายอย่างฝรั่ง ผนึกหินอ่อนสีเหลืองอ่อน จารึกอักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. ในวงจักรของพระบรมราชสัญลักษณ์จักรี ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ อีกฝั่งหนึ่งเป็นอักษรพระนามาภิไธยย่อ ส.ก. ในสมเด็จพระบรมราชินีนาถ บนเพดานของท้องพระโรงใหญ่ เบื้องกลางแขวนโคมระย้าแก้วขนาดมหึมาจำนวน ๑ โคม มีโคมระย้าแก้วขนาดใหญ่เป็นบริวารอีก ๔ โคม ส่วนที่เป็นโลหะขอบโคมฉลุอักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. ส่วนพื้นที่ฝั่งตะวันตกและตะวันออกของท้องพระโรง มีเพดานต่ำ แขวนโคมระย้าแก้วขนาดย่อม

บนชั้น ๓ มีเฉลียงทางเดินโดยรอบ ทางด้านใต้มีมุขเด็จยื่นออกมาจากเฉลียงทางเดินเป็นส่วนสำหรับเสด็จออกมหาสมาคม ห้องต่างๆ บนชั้นนี้ก็มีหน้าที่ใช้สอยต่างๆ กันไป มีห้องทรงสำราญพระราชอิริยาบถ เป็นอาทิเครื่องตกแต่งพระที่นั่งองค์นี้ส่วนใหญ่เป็นงานประณีตศิลป์ชิ้นเอกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ นอกจากนั้นก็เป็นเครื่องลายครามและต้นไม้ในกระถางประดับอักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. บ้าง พระบรมราชสัญลักษณ์จักรีบ้าง สลับกันไป

อ้างอิง แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

13°44′58″N 100°29′29″E / 13.749359°N 100.4913°E / 13.749359; 100.4913

  1. ราชบัณฑิตยสถาน, หน้า 154