พระจันทร์ครึ่งซีก

สปีชีส์ของพืช
พระจันทร์ครึ่งซีก
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: พืช (Plantae)
หมวด: Magnoliophyta
ชั้น: Magnoliopsida
อันดับ: Campanulales
วงศ์: Campanulaceae
สกุล: Lobelia
สปีชีส์: Lobelia chinensis
ชื่อทวินาม
Lobelia chinensis
Lour.[1]
ชื่อพ้อง
  • Dortmanna campanuloides (Thunb.) Kuntze
  • Dortmanna chinensis (Lour.) Kuntze
  • Dortmanna radicans (Thunb.) Kuntze
  • Isolobus caespitosus (Blume) Hassk.
  • Isolobus campanuloides (Thunb.) A.DC.
  • Isolobus kerii A.DC.
  • Isolobus radicans (Thunb.) A.DC.
  • Isolobus roxburghianus A.DC.
  • Lobelia caespitosa Blume
  • Lobelia campanuloides Thunb.
  • Lobelia chinensis f. lactiflora
  • Lobelia chinensis f. plena
  • Lobelia japonica F.Dietr.
  • Lobelia kerii (A.DC.) Heynh.
  • Lobelia radicans Thunb.*
  • Lobelia roxburgiana (A.DC.) Heynh.
  • Pratia radicans G.Don
  • Pratia thunbergii G.Don

พระจันทร์ครึ่งซีก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Lobelia chinensis Lour.) เป็นวัชพืชในวงศ์พระจันทร์ครึ่งซีก (Campanulaceae) มีถิ่นกำเนิดในจีน เป็นหนึ่งในสมุนไพรพื้นฐาน 50 ชนิดในการแพทย์แผนจีนโดยมีชื่อเรียกว่า ป้านเปียนเหลียน (จีนตัวย่อ: 半边莲; จีนตัวเต็ม: ; พินอิน: bàn biān lián)[2] แพร่กระจายในธรรมชาติในประเทศจีน อินเดีย ศรีลังกา ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น อินโดจีน คาบสมุทรมลายู และในประเทศไทยพบขึ้นกระจายแบบห่าง ๆ ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมักขึ้นตามที่โล่งที่ชื้นแฉะ ที่ระดับความสูงประมาณ 100–300 เมตร จากระดับน้ำทะเล ออกดอกและติดผลช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม[3]

ลักษณะ แก้

พืชล้มลุกขนาดเล็ก[4] ลำต้นทอดเลื้อยยาว 15–35 ซม. มีรากตามข้อ ใบเรียงสลับระนาบเดียว รูปรีถึงรูปใบหอก ยาว 0.8–2.5 ซม. โคนใบกลมมน ขอบเรียบหรือจักซี่ฟันไม่ชัดเจนช่วงปลายใบ ไม่มีก้านหรือก้านสั้นมาก ดอกออกเดี่ยว ๆ ตามซอกใบ ก้านดอกยาว 1.2–3.5 ซม. หลอดกลีบเลี้ยงรูปกรวย ยาว 3–5 มม. กลีบเลี้ยงรูปใบหอก ยาวเท่า ๆ หลอดกลีบ ดอกสีขาวอมชมพู ขอบมีสีเข้ม โคนสีเขียว ยาว 1–1.5 ซม. แยกจรดโคนด้านหลัง ด้านในมีขนยาว ด้านนอกมีขนละเอียด ปลายกลีบแผ่ออกคล้ายพัด กลีบดอกรูปใบหอก ยาว 0.6–1 ซม. กลีบคู่ข้างยาวกว่าเล็กน้อย เกสรเพศผู้ยื่นพ้นปากหลอดกลีบ ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันช่วงบน ช่วงแยกกันมีขนยาว รังไข่มีขนยาวอยู่ใต้วงกลีบ มี 2 ห้อง เมื่อดอกบานกลีบดอกจะแยกไปทางเดียวดูคล้ายเป็นดอกบัวครึ่งซีก โดยจะบานในช่วงฤดูร้อน ผลรูปกรวย ยาว 6–7 มม. ผลเมื่อแห้งจะแตกออกได้ ภายในมีเมล็ดมาก ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปรีแบน[3]

ประโยชน์ แก้

เป็นพืชสมุนไพร ทั้งต้นมีรสเผ็ด ขม ชุ่มเล็กน้อย เป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อตับ ม้าม กระเพาะ และลำไส้ ใช้เป็นยาลดไข้,[5] ลำต้นและรากตากแห้ง[2] มีสรรพคุณแก้อักเสบ โรคท้องมาน ท้องเสีย ลำไส้อักเสบ รักษาแผลติดเชื้อ งูกัด และเป็นยาขับปัสสาวะ, ต้นสด เป็นยาบำรุงปอด แก้หืด และแก้ปอดพิการ, ทั้งต้นใช้ผสมทำเป็นยานัตถุ์,[3] ในยุโรปและสหรัฐใช้ปลูกเป็นพืชคลุมดิน

การใช้และข้อห้าม แก้

ให้เก็บทั้งต้นในช่วงฤดูร้อนขณะดอกกำลังบาน[6] ยาแห้งใช้ครั้งละ 35–70 กรัม ต้มกับน้ำรับประทาน, ยาสดใช้ครั้งละ 35–70 กรัม นำมาตำคั้นเอาน้ำรับประทาน ส่วนใช้ภายนอกปริมาณตามความเหมาะสม[5] และไม่ควรทิ้งยาต้มไว้เกิน 4 ชั่วโมง โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนเพราะจะเสื่อมคุณภาพได้ง่าย หรืออาจจะเตรียมเป็นยาเม็ดหรือขี้ผึ้งไว้ใช้ แต่ผลการรักษาจะด้อยกว่ายาต้ม

ผู้ที่มีอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย และถ่ายเหลว หรือแพทย์แผนจีนเรียกว่า "ม้ามพร่อง" ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้[6]

สารเภสัชเคมี แก้

สารออกฤทธิ์ที่พบในพระจันทร์ครึ่งซีก ประกอบด้วย 6,7-dimethoxycoumarin, fraxinol, 5-hydroxy-7-methoxycoumarin, tomentin, 3'-hydroxygenkwanin, apigenin, quercetin, luteolin, linarin, luteolin 3',4'-dimethylether-7-O-beta-D-glucoside, กรด isoferulic, และ ethyl rosmarinate[7]

ความเป็นพิษและผลข้างเคียง แก้

พระจันทร์ครึ่งซีก ถือว่าเป็นพิษเล็กน้อย[1] โดยมีผลข้างเคียง ได้แก่ อาเจียน, แสบร้อนกลางอก, วิตกกังวล, อาการสั่น, การชักเพราะครรภ์, อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น และปวดท้องอย่างรุนแรง[8]

ชื่ออื่น ๆ แก้

บัวครึ่งซีก (ชัยนาท), ผักขี้ส้ม (สกลนคร), ปั้วใบไน้ (จีน), ปัวปีไน้, ปั้วปีไน้ (จีนแต้จิ๋ว), Asian lobelia,[9] Chinese Lobelia, Creeping lobelia, Herba Lobellae Chinensis (อังกฤษ)

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 "Lobelia chinensis". Germplasm Resources Information Network (GRIN). Agricultural Research Service (ARS), United States Department of Agriculture (USDA). สืบค้นเมื่อ 2008-02-11.
  2. 2.0 2.1 "Lobelia Herb (Ban Bian Lian)". Chinese Herbs Healing. 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-03-19.
  3. 3.0 3.1 3.2 นิจศิริ เรืองรังษี; ธวัชชัย มังคละคุปต์ (2004). "พระจันทร์ครึ่งซีก (Phra Chan Khrueng Sik)". สมุนไพรไทย เล่ม 1. กรุงเทพฯ: บี เฮลท์ตี้. p. 190. ISBN 9749241525.
  4. "Lobelia chinensis Lour. - Chinese lobelia". United States Department of Agriculture. สืบค้นเมื่อ 22 February 2014.
  5. 5.0 5.1 วิทยา บุญวรพัฒน์ (2011). "พระจันทร์ครึ่งซีก". สารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: สมาคมศาสตร์การแพทย์แผนจีนในประเทศไทย. p. 366. ISBN 9789744966155.
  6. 6.0 6.1 วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม (1999). "พระจันทร์ครึ่งซีก". พจนานุกรมสมุนไพรไทย (5 ed.). กรุงเทพฯ: รวมสาส์น. pp. 533–535. ISBN 9742463735.
  7. Chen JX, Huang SH, Wang Y, Shao M, Ye WC (2010). "Studies on the chemical constituents from Lobelia chinensis". Zhong Yao Cai. 33 (11): 1721–4. PMID 21434431.
  8. Han J, Zhang F, Li Z, Du G, Qin H (2009). "[Chemical constituents of Lobelia chinensis]". Zhongguo Zhong Yao Za Zhi (ภาษาจีน). 34 (17): 2200–2. PMID 19943485.
  9. English Names for Korean Native Plants (PDF). Pocheon: Korea National Arboretum. 2015. p. 524. ISBN 978-89-97450-98-5. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 25 May 2017. สืบค้นเมื่อ 25 January 2016 – โดยทาง Korea Forest Service.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้