พรรครักประเทศไทย

อดีตพรรคการเมืองไทย

พรรครักประเทศไทย (อังกฤษ: Rak Thailand Party) เป็นพรรคการเมืองในประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553[2] โดยมีนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ เป็นหัวหน้าพรรคคนแรก

พรรครักประเทศไทย
หัวหน้าสุรพนธ์ เวชกร (ทำหน้าที่แทน)
เลขาธิการว่าง
โฆษกวินัย ตั้งใจ
คำขวัญเมื่อทุกพรรคต้องการเป็นรัฐบาลเพื่อให้ได้เข้าไปบริหารประเทศ ได้สัมปทานประเทศไทย ผลประโยชน์มหาศาลนี้ ต้องมีคนตรวจสอบ ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น เกิดมาทุกยุค ทุกสมัย ทุกรัฐบาล พรรครักประเทศไทยขอเสนอตัวเป็นฝ่ายค้านเพื่อตรวจสอบการทำงาน ติดตามนโยบายต่างๆ ที่บรรดานักการเมืองให้คำมั่นสัญญาเมื่อได้เข้าไปบริหารประเทศ ประชาชนและประเทศชาติจะได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง[1]
ก่อตั้ง18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553
ถูกยุบ22 เมษายน พ.ศ. 2562
ที่ทำการ188 แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร
เว็บไซต์
http://www.chuvitonline.com
(ปัจจุบันใช้การไม่ได้แล้ว)
การเมืองไทย
รายชื่อพรรคการเมือง
การเลือกตั้ง

คณะกรรมการบริหารพรรค แก้

พรรครักประเทศไทย มีคณะกรรมการบริหารพรรค จำนวน 8 คน ได้แก่

  1. ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย (พ้นสมาชิกสภาพ 17 มกราคม พ.ศ. 2560)
  2. สุรพนธ์ เวชกร รองหัวหน้าพรรครักประเทศไทย
  3. ชัยวัฒน์ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรครักประเทศไทย (ลาออกเมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2555)[3]
  4. สุพัสรา นราแย้ม เลขาธิการพรรครักประเทศไทย (แต่งตั้ง 30 มีนาคม พ.ศ. 2555)
  5. สมเพชร แต่งงาม รองเลขาธิการพรรครักประเทศไทย
  6. วุฒิชัย จันเกษม เหรัญญิกพรรครักประเทศไทย
  7. วินัย ตั้งใจ โฆษกพรรครักประเทศไทย
  8. วรเศรษฐ์ เที่ยงธรรม นายทะเบียนสมาชิกพรรครักประเทศไทย
  9. นิรันดร์ ศรีรุ่งเรือง กรรมการบริหารพรรครักประเทศไทย

รูปภาพ แก้

การเลือกตั้ง แก้

การเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 แก้

การเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 พรรครักประเทศไทยถูกเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 12 พฤษภาคม ปีเดียวกัน โดยนายชูวิทย์ผู้เป็นหัวหน้าพรรค มีเป้าจะส่งผู้สมัครในระบบบัญชีรายชื่อแค่ 10 คน โดยไม่ส่งผู้สมัครลงแบบเขต เพราะต้องการให้คนไทยทั้งประเทศเลือกพรรค โดยมีเข้าไปเป็นฝ่ายค้านตรวจสอบทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาล และได้รับเลือกตั้งจำนวน 4 ที่นั่ง ในสภาผู้แทนราษฎร

หลังการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 พรรครักประเทศไทย ทำหน้าที่ฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อมาได้เกิดความขัดแย้งระหว่างนายชัยวัฒน์ ไกรฤกษ์ กับนายชูวิทย์ ในกรณีที่นายชัยวัฒน์ ลงมติไว้วางใจพลตำรวจเอกประชา พรหมนอก และมีความสนิทสนมกับนายจตุพร พรหมพันธ์ โดยนายชูวิทย์ แจ้งเรื่องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่านายชัยวัฒน์ และนายโปรดปราน โต๊ะราหนี ได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค แต่นายโปรดปราน ปฏิเสธว่าไม่ได้ลาออกจากพรรคแต่อย่างใด[4] มีเพียงนายชัยวัฒน์ ที่ลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรค

ต่อมาในการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2555 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในสังกัดพรรครักประเทศไทย มีการลงมติแตกต่างกัน คือ นายชัยวัฒน์ และนายโปรดปราน ลงมติไว้วางใจ ส่วนนายชูวิทย์ และนายสมเพชร ลงมติเห็นชอบด้วยกับฝ่ายค้าน (ไม่ไว้วางใจ)

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 ปรากฎว่านายโปรดปราน โต๊ะราหนี อดีตสมาชิกพรรคได้ลงสมัครเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อในนามพรรคภูมิใจไทย

การเลือกตั้ง พ.ศ. 2557 แก้

พรรครักประเทศไทย ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 ซึ่งกำหนดให้มีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 มีหมายเลขประจำพรรคคือ หมายเลข 3

ยุบพรรค แก้

23 เมษายน 2562 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งเรื่องการสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองของพรรคการเมืองที่จัดตั้งหรือเป็นพรรคการเมือง โดยมีทั้งสิ้น 14 พรรคการเมือง หนึ่งในนั้นประกอบด้วยพรรครักประเทศไทย[5] เนื่องจากไม่สามารถดำเนินการตามมาตรา 141/1 วรรคหนึ่ง (1) (2) และวรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 13/2561 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) [6]

ประวัติการทำงานในรัฐสภา แก้

การเลือกตั้ง จำนวนที่นั่ง คะแนนเสียงทั้งหมด สัดส่วนคะแนนเสียง ที่นั่งเปลี่ยน ผลการเลือกตั้ง ผู้นำเลือกตั้ง
2554
4 / 500
998,668 3.07%   4 ฝ่ายค้าน ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์
2557 - การเลือกตั้งเป็นโมฆะ


อ้างอิง แก้

  1. รายชื่อผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พร้อมนโยบายของพรรคการเมืองจากเว็บไซต์ สำนักงาน กกต. สืบค้นวันที่ 3 มิถุนายน 2554
  2. ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง รับจดแจ้งการจัดตั้งพรรครักประเทศไทย
  3. ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง ตอบรับการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรครักประเทศไทย (จำนวน 7 ราย)
  4. “โปรดปราน”วอนพรรคจับเข่าคุยแก้ปัญหา
  5. "ประกาศกกต.สั่งยุบทิ้งพรรค'ชูวิทย์ - ลีน่า จัง'". Thai Post | อิสรภาพแห่งความคิด (ภาษาอังกฤษ).
  6. https://library.parliament.go.th/sites/default/files/assets/files/give-take/content_ncpo/NALT-ncpo-head-order13-2561.pdf