นาวาตรี พยงค์ มุกดา (4 พฤษภาคม พ.ศ. 2469 - 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553) เป็นศิลปินชาย นักร้อง นักแสดง นักประพันธ์เพลงชาวไทย มีชื่อเสียงจากการเป็นนักประพันธ์เพลงเป็นจำนวนมาก ได้แก่เพลงปลุกใจ และเพลงมาร์ช ประจำกองทัพเรือไทย อาทิเพลง เนวีบูล, ประดู่ไม่รู้โรย, มาร์ชสามัคคีสี่เหล่า และเพลงไทยสากล ประเภทเพลงลูกกรุง และลูกทุ่ง อีกนับพันเพลง นาวาตรี พยงค์ มุกดา ได้รับรางวัลนราธิป ประจำปี พ.ศ. 2550 จากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยลูกทุ่ง - เพลงไทยสากล) ประจำปี พ.ศ. 2534

พยงค์ มุกดา
พยงค์ มุกดา
พยงค์ มุกดา
สารนิเทศภูมิหลัง
เกิด4 พฤษภาคม พ.ศ. 2469
พยงค์ มุกดา
เสียชีวิต12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 (83 ปี)
โรงพยาบาลรามาธิบดี จังหวัดกรุงเทพมหานคร
อาชีพนักร้อง, นักแสดง, นักประพันธ์เพลง, นักจัดรายการวิทยุ, ทหารเรือ
ปีที่แสดง2484 - 2553
ศิลปินแห่งชาติพ.ศ. 2534 - สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยลูกทุ่ง - เพลงไทยสากล)

ประวัติ แก้

พยงค์ มุกดา เป็นชาวจังหวัดราชบุรี เป็นบุตรของนายแก้ว และนางบุญ มุกดา เกิดบนเรือกลางแม่น้ำแม่กลอง บริเวณตำบลท่าเสา จังหวัดราชบุรี จบชั้น ป.4 จากโรงเรียนเทศบาลวัดราชนัดดาราม และเข้าสู่วงการจากการเป็นนักร้องวงดุริยางค์กองทัพบก โดยการสนับสนุนของครูจำปา เล้มสำราญ ต่อมาจึงก่อตั้งวงดนตรีเป็นของตัวเองชื่อ วงพยงค์ มุกดา ซึ่งได้รับพระราชทานชื่อว่า "วงมุกดาพันธ์" และเป็นนามสกุลพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรอีกด้วย

นาวาตรีพยงค์ มุกดา สำเร็จการศึกษาสัมฤทธิบัตรภาษาเพื่อการสื่อสารสารนิเทศศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และได้รับปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี ในปี พ.ศ. 2536

ครูพยงค์ มุกดา มีผลงานออกมาเป็นจำนวนมาก เคยเป็นนักร้อง นักแสดง นักจัดรายการวิทยุ เคยแสดงภาพยนตร์ เช่นเรื่อง เสน่ห์บางกอก, ไซอิ๋ว เคยอยู่วงดุริยางค์กองทัพเรือ เป็นผู้ประพันธ์เพลงมาร์ช เช่น "สหมาร์ชราชนาวี", "มาร์ชสามัคคีสี่เหล่า", นาวีบลู

วงการเพลง แก้

ในฐานะนักแต่งเพลง ครูพยงค์ มุกดา มีผลงานทั้งเพลงลูกทุ่ง ลูกกรุง และเพลงมาร์ช ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานจากเพลง "นกขมิ้น" (ขับร้องโดย ธานินทร์ อินทรเทพ) "ช่อทิพย์รวงทอง" (ขับร้องโดย สมยศ ทัศนพันธ์) "นางรอง" และ "รักใครไม่เท่าน้อง" (ขับร้องโดย ทูล ทองใจ) "ลูกนอกกฎหมาย" (ขับร้องโดย ศรีสอางค์ ตรีเนตร) "รอพี่กลับเมืองเหนือ" (ขับร้องโดย พรทิพย์ภา บูรกิจบำรุง) "เด็ดดอกรัก" (ขับร้องโดย ชรินทร์ นันทนาคร) และ "ฝั่งหัวใจ" ขับร้องโดย บุษยา รังสี)

ในปี พ.ศ. 2532 ครูพยงค์ ได้รับรางวัลพระราชทานในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย 2 รางวัล จากเพลง "สาวสวนแตง" (ขับร้องโดย สุรพล สมบัติเจริญ) และ "ล่องใต้" (ขับร้องโดย ชัยชนะ บุญนะโชติ) และในปี พ.ศ. 2534 ได้รับรางวัลพระราชทาน 3 รางวัล จากเพลง "ยอยศพระลอ" (ขับร้องโดย ชินกร ไกรลาศ) "น้ำตาสาวตก" (ขับร้องโดย ศรีสอางค์ ตรีเนตร) และ "ลูกทุ่งเสียงทอง" (ขับร้องโดย เพชร พนมรุ้ง)

ในปี พ.ศ. 2534 พยงค์ มุกดา ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ประพันธ์เพลงไทยสากล-เพลงลูกทุ่ง) นอกจากนี้ ลูกศิษย์ของท่านถึง 2 คน ก็ได้รับเชิดชูเป็นศิลปินแห่งชาติ เช่นกัน คือ ชัยชนะ บุญนะโชติ (พ.ศ. 2541) และ ชินกร ไกรลาศ (พ.ศ. 2542)

ในปี พ.ศ. 2551 ครูพยงค์ มุกดา ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินอาวุโส รางวัลนราธิป ประจำปี พ.ศ. 2550

ถึงแก่อนิจกรรม แก้

ครูพยงค์ มุกดา ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะและไตวายที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 รวมอายุได้ 83 ปี[1]

การแสดงภาพยนตร์ แก้

การแสดงละคร แก้

ผลงานแต่งเพลง แก้

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. ครูพยงค์ มุกดา ศิลปินแห่งชาติเสียชีวิตแล้ว เก็บถาวร 2010-02-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2553 12:36
  • เจนภพ จบกระบวนวรรณ. เพลงลูกทุ่ง, TK Park Music Library ชุดดนตรีไทย. กรุงเทพ : สำนักงานอุทยานการเรียนรู้, พ.ศ. 2550. 176 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 978-974-8218-83-0