เสลดพังพอนตัวเมีย
ลักษณะดอกพญาปล้องทอง
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ไม่ได้จัดลำดับ: Eudicots
ไม่ได้จัดลำดับ: Asterids
อันดับ: Lamiales
วงศ์: Acanthaceae
สกุล: Clinacanthus
สปีชีส์: C.  nutans
ชื่อทวินาม
Clinacanthus nutans (Burm. f)
Lindau

พญายอ หรือ เสลดพังพอนตัวเมีย เป็นพืชในวงศ์เหงือกปลาหมอ (Acanthaceae) มีชื่อท้องถิ่นหรือชื่ออื่นอีก คือ : ผักมันไก่ ผักลิ้นเขียด (เชียงใหม่) พญาปล้องดำ (ลำปาง) พญาปล้องทอง (ภาคกลาง) ลิ้นมังกร โพะโซ่จาง (กะเหรี่ยง) และ พญายอ (แม่ฮ่องสอน) เสลดพังพอนมีชื่อพ้องกัน คือ เสลดพังพอนตัวผู้ และเสลดพังพอนตัวเมีย แต่ต่างกันที่เสลดพังพอนตัวผู้มีหนาม สรรพคุณอ่อนกว่าเสลดพังพอนตัวเมีย เพื่อไม่ให้สับสนจึงเรียกเสลดพังพอนตัวเมียว่า "พญายอ" ส่วนมากนำมาทำเป็นยาสมุนไพรไทยจัดอยู่ในกลุ่มพืชถอนพิษ

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ แก้

รากของพญาปล้องทอง ประกอบด้วยสาร Lupeol, B-Sitosterol, Stigmasterol และมีการทดลองพบว่าสารสกัดด้วยสารละลายบิวทานอล (butanol) จากใบของพญาปล้องทอง มีสารประกอบฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) สามารถระงับอาการอักเสบได้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้มีการผลิต ครีมพญายอ ขึ้นเพื่อนำมารักษาผู้ป่วยโรคงูสวัดได้ ทำให้แผลตกสะเก็ดหายเร็ว ลดอาการปวดได้ดี และไม่พบผลข้างเคียงใด ๆ จากการใช้ครีมพญายอ จึงไม่ทำให้เกิดอาการแสบระคายเคือง มีการนำมาออกจำหน่ายในระดับอุตสาหกรรม

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ แก้

เป็นไม้พุ่มรอเลื้อย สูง 1-3 เมตร มีลำต้นและกิ่งก้านสีเขียวเข้ม ใบเป็นใบเลี้ยงเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามกัน รูปรีแคบขอบขนานกว้าง 1-3 ซม. ยาว 4-12 ซม. ดอกช่อ ออกเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง กลีบดอกสีแดงส้ม มีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียยาวโผล่พ้นหลอดออกมา ปลายแยกเป็น 2 ปาก ผลเป็นผลแห้ง ไม่ค่อยออกดอก ส่วนมากขึ้นตามป่า หรือปลูกกันตามบ้าน ดังนั้นการขยายพันธุ์จึงทำได้โดยการปักชำหรือ การแยกเหง้าแขนงไปปลูก

ประโยชน์ แก้

รักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก แมลงกัดต่อย รักษาอาการอักเสบ งูสวัด ลมพิษ ผื่นคัน ใช้รักษาแผลผิวหนังชนิดเริม และรักษาแผลร้อนในในปาก ปรุงเป็นยาขับปัสสาวะ ขับประจำเดือน แก้ปวดเมื่อยบั้นเอว

สรรพคุณ แก้

  • ฤทธิ์ลดการอักเสบ

สารสกัดใบพญาปล้องทอง สามารถลดการอักเสบที่เท้าหนูขาว ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบโดยฉีดสารคาราจีแนน (Carrageenan) ได้ดีโดยเฉพาะส่วนที่สกัดด้วย butanol แต่ฤทธิ์ของสารสกัดนี้จะค่อยๆ ลดลง และจะหมดฤทธิ์โดยสิ้นเชิงภายใน 1 ปี

  • ฤทธิ์ลดความเจ็บปวด

สารสกัดจากใบพญาปล้องทอง มีฤทธิ์ทำลายไวรัสเฮอร์ปีส์ ซิมเพลกซ์ ไทป์ 2 (HSV-2) ซึ่งเป็นสาเหตุการเกิดโรคเริมไม่ให้เข้าเซลล์ และไม่สามารถยับยั้งการแบ่งตัวในการเพิ่มจำนวนของไวรัสวาริเซลล่า ซอสเตอร์ (Varicella Zoster Virus) โดยตรง

วิธีการปลูก แก้

การปลูก ส่วนใหญ่ใช้กิ่งปักชำโดยเลือกกิ่งที่สมบูรณ์ปราศจากโรค ไม่แก่ หรือไม่อ่อนเกินไป ตัดกิ่งพันธุ์ให้มีความยาว 6-8 นิ้ว และมีตาบนกิ่งประมาณ 1-3 ตา ให้มีใบเหลืออยู่ที่ปลายยอด ประมาณ 1/3 ของกิ่ง ทาปูนแดงบริเวณรอยตัดของต้นตอ และกิ่งพันธุ์เพื่อป้องกันเชื้อรา ปักชำลงในถุงที่มีวัสดุปักชำเป็นดินร่วนปนทราย จะช่วยให้อัตราการออกรากของกิ่งชำสูง คุณภาพของรากดี และสะดวกในการขุดย้ายต้นไปปลูก โดยปักชำกิ่งลงในวัสดุปลูกลึกประมาณ 3 นิ้ว เอียง 45 องศา รดน้ำให้ชุ่มและรักษาความชื้นให้เพียงพอ โดยกิ่งชำไม่ควรถูกแสงแดดโดยตรง และควรดูแลความชื้นในอากาศ กิ่งปักชำจะออกรากภายใน 3-4 สัปดาห์ เมื่อกิ่งชำที่มีอายุ 3-4 สัปดาห์ ที่ชำไว้ในแปลงชำหรือในถุงชำ โดยใช้ช้อนขุดหรือเสียมแซะกิ่งชำลงปลูกในหลุมปลูกที่เตรียมไว้ 1 ต้นต่อหลุม กลบดิน และกดดินที่โคนให้แน่น รดน้ำหลังจากปลูกทันที

การเก็บ เก็บใบขนาดกลาง ไม่แก่หรืออ่อนจนเกินไป การเก็บเกี่ยวให้ใช้วิธีการตัดต้นเหนือระดับผิวดินประมาณ 10 ซม. หลังจากเก็บเกี่ยวแล้ว ต้นตอเดิมยังงอกแตกแขนงเติบโตได้อีก และสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตต่อไปได้

การดูแลรักษา ควรให้น้ำในระยะ 1-2 เดือนแรก ควรรดน้ำทุกวัน ถ้าแดดจัดควรรดน้ำเช้า-เย็น เมื่ออายุ 2 เดือนขึ้นไปแล้วอาจให้น้ำวันเว้นวัน ในฤดูฝนถ้ามีฝนตกอาจจะไม่ต้องให้น้ำ สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินอุดมสมบูรณ์ ชอบดินร่วนปนทรายระบายน้ำดี ไม่ชอบดินลูกรังหรือดินเหนียว ชอบอากาศร้อนชื้น ขึ้นได้ดีทั้งที่มีแดดและที่ร่ม

ส่วนที่นำมาใช้ ใช้ได้ทั้งใบ และราก

  • ใบ

1. นำมารักษาอาการอักเสบ ถอนพิษ รักษาแผลร้อนในในปาก เริม งูสวัด ให้ใช้ใบสด 10-20 ใบ นำมาตำผสมกับเหล้าหรือ น้ำมะนาว คั้นเอาน้ำดื่มหรือเอาน้ำทาแผลและเอากากพอกแผล

2. นำมาทาบริเวณที่แมลงสัตว์กัดต่อยเป็นผื่นคัน ให้ใช้ใบสด 5-10 ใบ ตำขยี้ทาบริเวณที่เป็นแผลที่แพ้ จะยุบหายได้ผลดี

3. นำมาแก้แผลน้ำร้อนลวก ให้ใช้ใบตำเคี่ยวกับน้ำมะพร้าวหรือน้ำมันงา เอากากพอกแผลที่ถูกน้ำร้อนลวกหรือไฟไหม้ แผลจะแห้ง หรือ นำใบมาตำให้ละเอียดผสมกับสุรา มีสรรพคุณดับพิษร้อนได้ดี

  • ราก

ปรุงเป็นยาขับปัสสาวะ ขับระดู แก้ปวดเมื่อยบั้นเอว

สมุนไพรอื่นในหมวดเดียวกันกับพญาปล้องทอง แก้

อ้างอิง แก้