ฝูหวา (จีน: 福娃; พินอิน: Fúwá) คือมาสคอตประจำมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2008 ประกอบด้วยตัวหมีแพนด้าที่แต่งตัวเป็นปลาชื่อเป้ยเป่ยมีสีฟ้า แพนด้าชื่อจิงจิงมีสีดำ หนูน้อยลูกไฟชื่อฮวานฮวานมีสีแดง ละมั่งทิเบตชื่ออิ่งอิ๋งมีสีส้ม และนกนางแอ่นชื่อหนีหนี่มีสีเขียว

ตุ๊กตาสัตว์นำโชคประจำโอลิมปิก 2008 ทั้ง 5 ได้แก่ปลา แพนด้า หนูน้อยลูกไฟ ละมั่งทิเบต และนกนางแอ่น

มาสคอตในโอลิมปิกครั้งนี้ถือว่ามีมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ซึ่งมีมากถึง 5 ตัว มาสคอตทั้ง 5 ตัวเป็นพี่น้องกัน มีชื่อเรียงกันจากพี่คนโตถึงน้องคนเล็กว่า เป้ยเป่ย จิงจิง ฮวานฮวาน อิ๋งอิ๋ง หนีหนี่ เมื่อนำชื่อพยางค์ของแต่ละตัวมารวมกัน ก็จะเป็นคำว่า “เป่ยจิงฮวนอิ๋งหนี่” (北京欢迎你, Běijīng huānyíng nǐ) แปลว่า “ปักกิ่งขอต้อนรับท่าน”

หลังจากที่ฝูหวาถูกนำออกวางจำหน่ายในท้องตลาด ก็ได้รับความนิยมจากชาวจีนเป็นอย่างมาก ภายในเวลาไม่ถึงครึ่งเดือน สินค้าชนิดนี้ก็ขาดตลาด แต่ก็เป็นนิมิตหมายที่ดีของสัญลักษณ์โอลิมปิกในปักกิ่งเกมส์ว่าจะนำรายได้จำนวนมหาศาลมาสู่จีน อย่างไรก็ดี ความนิยมชมชอบของชาวจีนจำนวนมาก ก็เป็นเหตุผลให้มีผู้ดัดแปลงฝูหวาเป็นรูปลักษณ์อื่นๆที่แตกต่างไปจากรูปที่เป็นทางการ โดยส่วนหนึ่งทำขึ้นเพื่อล้อเลียนประเทศจีน หรือการแข่งขันโอลิมปิกในครั้งนี้[ต้องการอ้างอิง]

ฝูหวา แก้

ชื่อ เป้ยเป่ย (贝贝) จิงจิง (晶晶) ฮวานฮวาน (欢欢) อิ่งอิ๋ง (迎迎) หนีหนี่ (妮妮)
รูปภาพ          
เพศ หญิง ชาย ชาย ชาย หญิง
สัญลักษณ์โอลิมปิก ห่วงสีฟ้า ห่วงสีดำ ห่วงสีแดง ห่วงสีเหลือง ห่วงสีเขียว

ฝูหวาแต่ละตัวล้วนเป็นสัญลักษณ์แทนมงคลนามธรรม ดังรายละเอียดต่อไปนี้

เป้ยเป่ย (贝贝) แก้

เป้ยเป่ย (贝贝) เป็นสัญลักษณ์ของความรุ่งโรจน์ เนื่องจาก “ปลา” และ “ น้ำ ” ในขนบทางศิลป์ของจีนจะหมายถึงความรุ่งโรจน์และผลการเก็บเกี่ยว ชาวจีนใช้ภาพ “ ปลาหลีกระโดดข้ามประตูมังกร” (鲤鱼跳龙门) เพื่อแสดงถึงความสำเร็จในกิจการและความใฝ่ฝันที่กลายเป็นจริง นอกจากนี้ “ปลา” (鱼) ยังมีเสียงพ้องกับคำที่มีความหมายว่า “เหลือกินเหลือใช้” อีกด้วย ศีรษะของเป้ยเป่ยเป็นลวดลายปลาที่ปรากฏ ในเครื่องปั้นยุคหินใหม่ของจีน เป้ยเป่ยเป็นตุ๊กตาที่อ่อนโยนและบริสุทธิ์เป็นสัตว์ที่เคลื่อนไหวในน้ำได้อย่างพลิ้วไหว จึงใช้เป็นตัวแทนของห่วงสีฟ้า ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ห่วงของกีฬาโอลิมปิค

จิงจิง (晶晶) แก้

จิงจิง (晶晶) เป็นหมีแพนด้าตัวใหญ่ที่มีสัมมาคารวะ ในฐานะที่เป็นสัตว์ประจำชาติ จึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก จิงจิงมาจากป่ากว้าง และเป็นสัญลักษณ์ของความสมัครสมานระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ศีรษะของจิงจิงเป็นลวดลายดอกบัวถักที่ปรากฏอยู่บนเครื่องเคลือบดินเผาสมัยราชวงศ์ซ่ง จิงจิงเป็นตุ๊กตาที่มองโลกในแง่ดีและเต็มไปด้วยพลัง เป็นตัวแทนของห่วงสีดำ

ฮวนฮวน (欢欢) แก้

ฮวนฮวน (欢欢) ถือเป็นพี่ชายคนโตในบรรดาฝูหวาทั้ง 5 ตัว เป็นสัญลักษณ์แทนคบเพลิงโอลิมปิก ฮวนฮวนเป็นตัวแทนแห่งความฮึกเหิมซึ่งนำจิตวิญญาณโอลิมปิกไปสู่คนทั่วโลก ศีรษะของฮวนฮวนประดับด้วยลวดลายของไฟคบเพลิงที่ปรากฏบนภาพวาดฝาผนังในเมืองตุนหวง เป็นตุ๊กตาที่มีนิสัยเปิดเผยและมีความชำนาญในการเล่นกีฬาทุกประเภท เป็นตัวแทนของห่วงสีแดง

อิ่งอิ๋ง (迎迎) แก้

อิ่งอิ๋ง (迎迎) เป็นละมั่งทิเบตที่มีความปราดเปรียวและวิ่งเร็วปานสายฟ้าแลบ มาจากดินแดนตะวันตกอันแสนกว้างใหญ่ของจีน นำคำอวยพรที่เป็นมงคลแพร่ไปสู่ชาวโลก อิ๋งอิ๋งเป็นสัตว์สงวนซึ่งมีซึ่งมีเฉพาะในเขตที่ราบสูงชิงจั้ง ศีรษะของอิ๋งอิ๋งประดับด้วยเครื่องประดับที่ชาวจีนแถบภูเขาสูงในชิงจั้งและซินเกียงนิยมใช้กัน เป็นตุ๊กตาที่เคลื่อนไหวได้อย่างคล่องแคล่วและถือเป็นสัญลักษณ์ของกรีฑาประเภทลู่และลาน เป็นตัวแทนของห่วงสีเหลือง

หนีหนี่ (妮妮) แก้

หนีหนี่ (妮妮) เป็นนกนางแอ่นที่กระพือปีกบินบนท้องฟ้า รูปลักษณ์ของหนีหนีเกิดจากรูปนกนางแอ่นของทะเลทรายบนแผ่นว่าว ซึ่งนิยมใช้เล่นกันในปักกิ่ง คำว่า “เยี่ยน” (燕 อ่านได้ 2 เสียง) ยังเป็นตัวแทนของเมือง “เยียนจิง” (ชื่อเรียกกรุงปักกิ่งในอดีต) หนีหนีนำพาฤดูใบไม้ผลิและความสุขมาสู่ชาวโลก และโบยบินไปยังที่ต่างๆ เพื่ออวยพรให้ทุกคนประสบแต่โชคดี หนีหนีจะปรากฏตัวในสนามแข่งขันยิมนาสติก เป็นตัวแทนของห่วงสีเขียว

อ้างอิง แก้

  • จดหมายข่าว อาศรมสยาม-จีนวิทยา ฉบับที่ 54 (มกราคม 2550)

ดูเพิ่ม แก้