ฝนดาวตกสิงโต หรือ ฝนดาวตกลีโอนิดส์ (อังกฤษ: Leonids) เป็นฝนดาวตกหนาแน่น เกิดจากเศษดาวหาง เทมเพล-ทัตเติล ได้ชื่อว่าฝนดาวตกสิงโตเนื่องจากตำแหน่งของรัศมีของฝนดาวตกอยู่ในบริเวณกลุ่มดาวสิงโต กระแสของฝนดาวตกจะเริ่มต้นจากบริเวณนี้บนท้องฟ้า

ภาพวาดพายุฝนดาวตกสิงโตครั้งใหญ่ ค.ศ. 1833 วาดขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1889 เพื่อบรรจุในหนังสือ Bible Readings for the Home Circle อ้างอิงจากผู้ประสบเหตุพายุฝนดาวตกคนแรก โจเซฟ ฮาร์วีย์ วากอนเนอร์ ระหว่างทางที่เขาเดินทางจากฟลอริดาไปนิวออร์ลีนส์

สามารถมองเห็นฝนดาวตกนี้ได้ด้วยตาเปล่าในราวเดือนพฤศจิกายนทุกปี ซึ่งเป็นช่วงที่โลกโคจรผ่านกระแสอนุภาคของฝนดาวตกที่เป็นเศษซากเหลืออยู่ของในเส้นทางโคจรของดาวหาง กระแสอนุภาคนี้ประกอบด้วยชิ้นส่วนขนาดเล็ก เรียกว่า สะเก็ดดาว ที่แตกตัวออกมาจากดาวหางเมื่อแก๊สแข็งของดาวหางเกิดระเหยขึ้นเนื่องจากความร้อนของดวงอาทิตย์ขณะที่ดาวหางโคจรเข้ามาถึงบริเวณวงโคจรของดาวพฤหัสบดี

ฝนดาวตกสิงโตมีชื่อเสียงมากเนื่องจากเป็นฝนดาวตกที่ค่อนข้างสว่าง สะเก็ดดาวที่หลงเหลืออยู่จากซากดาวหางยังคงล่องลอยอยู่ในแนววงโคจรใกล้เคียงกับวงโคจรเดิมของดาวหาง แต่ถูกรบกวนจากดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ โดยเฉพาะดาวพฤหัสบดี (อ่านคำอธิบายเพิ่มเติมใน McNaught & Asher (1999)) และกลายไปเป็นกระแสอนุภาค หางสะเก็ดดาวแต่เดิมจะไม่หนาแน่นและเป็นเพียงฉากหลังของฝนดาวตก (เกิดเพียงไม่กี่ดวงต่อนาที) วันที่เกิดฝนดาวตกคือประมาณวันที่ 17 พฤศจิกายน โดยอาจเปลี่ยนไปบ้างในแต่ละปี[1] ในทางกลับกันหางสะเก็ดดาวชุดใหม่จะหนาแน่นมากและทำให้เกิดพายุฝนดาวตกเมื่อโลกเคลื่อนผ่านบริเวณเหล่านั้น สามารถนับได้สูงถึงมากกว่า 1000 ดวงต่อชั่วโมง

อ้างอิง แก้

  1. สามารถตรวจสอบเวลาเกิดฝนดาวตกได้ที่ IMO website

แหล่งข้อมูลอื่น แก้