ผู้ใช้:Somboon1972/กระบะทราย

ศาสตราจารย์วิชัย ศังขจันทรานนท์ แก้

อดีตอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณบดีท่านแรกของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผู้มีความวิริยะอุตสาหะ ทุ่มเทให้กับการศึกษาทางวิศวกรรมไฟฟ้ามาโดยตลอด ประวัติและผลงานอาจเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่กำลังศึกษา หรือผู้ที่กำลังประสบกับมรสุมชีวิตได้

 
ศาสตราจารย์วิชัย ศังขจันทรานนท์ ขณะดำรงตำแหน่งคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
 
ใบพระราชทานนามสกุล "ศังขจันทรานนท์" จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6
 
ขุนราษฎร์ คุณปู่คนรองจากนายเอี่ยม ศังขจันทรานนท์
 
ร.ท. โต ศังขจันทรานนท์ ผู้ได้รับพระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6
 
ศาสตราจารย์วิชัยขณะเป็นนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (แถวยืนด้านหน้าคนที่ 6 จากขวา สวมแว่นตาสีเข้ม)
 
เรืออากาศตรี วิชัย ศังขจันทรานนท์
 
เรืออากาศตรี วิชัย ขวาสุด) ขณะรับราชการกองทัพอากาศ
 
ภาพถ่ายเมื่อเริ่มเป็นอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
สายส่งไฟฟ้าแรงสูงที่ชาวคณะฯ ตั้งใจจะเดินทางไปชม
 
สภาพรถยนต์ Chevrolet Canopy หลังประสบอุบัติเหตุ
 
ขณะอยู่ที่บ้านพักในวัยหนุ่ม
 
ขณะอยู่ที่บ้านพักเมื่อสูงวัยขึ้น
 
ภาพถ่ายกับนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รุ่นที่ 1 ในปี 2535
 
คณะอาจารย์วิศวะหอการค้าสมัยแรก
 
กิจกรรมความบันเทิงเมื่อไปท่องเที่ยวต่างจังหวัด
 
คณะนักศึกษาวิศวะหอการค้ารุ่นที่ 1 ดูงานโรงไฟฟ้าตามเขื่อนต่างๆ
 
ศาสตราจารย์วิชัย และคณะนักศึกษาวิศวะหอการค้ารุ่นที่ 2 ขณะดูงานที่โรงไฟฟ้า
 
เดินทางพักผ่อนที่เขาเขียวกับครอบครัว
 
วันถ่ายรูปรับปริญญากับบัณฑิตวิศวะหอการค้ารุ่นที่ 1
 
เป่าเค้กฉลองวันเกิดครบรอบ 72 ปี วันที่ 11 กันยายน 2542
 
งานฉลองวันเกิดครบรอบ 72 ปี จัดขึ้นที่หอประชุมมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
 
งานฉลองวันเกิดครบรอบ 89 ปี ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กันยายน 2559


กำเนิด แก้

อาจารย์วิชัย ศังขจันทรานนท์ เกิดเมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2470 ที่อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ.2560 พระราชทานเพลิงศพวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2560 ที่วัดมกุฎกษัตริยารามราชวรวิหาร บิดาชื่อ นายชื่น ศังขจันทรานนท์ ข้าราชการกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ) พื้นเพเป็นชาวอำเภอปักธงชัย มารดาชื่อ นางทับ ศังขจันทรานนท์ เป็นชาวอำเภอเมืองโคราช มีพี่น้องรวม 6 คนคือ

  1. พ.ต.ท. เชิดชาย ศังขจันทรานนท์ อดีตผู้กำกับการตำรวจจังหวัดภาคอีสาน (ถึงแก่กรรม)
  2. ส.อ. วิเชียร ศังขจันทรานนท์ อดีตนายทหารแผนที่กองทัพบก (ถึงแก่กรรม)
  3. อาจารย์วิชัย ศังขจันทรานนท์
  4. นางบุญส่ง โสภณ อดีตอาจารย์โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน
  5. พล.ร.ต. เสริมศักดิ์ ศังขจันทรานนท์ อดีตนายทหารนาวิกโยธินกองทัพเรือ
  6. จ่าสิบตำรวจประเสริฐ ศังขจันทรานนท์ (ถึงแก่กรรม)


นายชื่น ศังขจันทรานนท์ สืบเชื้อสายมาจากนายเอี่ยม ศังขจันทรานนท์ ซึ่งมีพี่น้อง 3 คนคือ

  1. นายเอี่ยม ศังขจันทรานนท์
  2. ขุนราษฎร์ ศังขจันทรานนท์
  3. ร.ท. โต ศังขจันทรานนท์


นามสกุล “ศังขจันทรานนท์” เป็นนามสกุลพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้ ร.ท. โต ที่รับราชการประจำกรมทหารบกราบที่ 5 ในขณะนั้น เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2458 เขียนเป็นอักษรโรมันว่า “Sankhachandrananda”

เริ่มศึกษา แก้

เมื่ออายุครบ 7 ขวบตามเกณฑ์ อาจารย์วิชัย ศังขจันทรานนท์ เริ่มเข้าศึกษาชั้นประถมที่โรงเรียนประชาบาลในอำเภอด่านขุนทดที่บิดารับราชการอยู่ แต่เรียนอยู่ได้ไม่กี่เดือนก็ย้ายตามพี่ชายมาเรียนในอำเภอเมืองโคราช โรงเรียนในขณะนั้นเรียกว่า “โรงเรียนตัวอย่าง” ซึ่งเปิดสอนถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 8 ต่างจากโรงเรียนประชาบาลทั่วไปที่เปิดสอนถึงระดับประถม 4 เท่านั้น ปัจจุบันคือโรงเรียน “ราชสีมาวิทยาลัย” จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ในปี พ.ศ. 2484 ซึ่งได้เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาขึ้น

ก่อนหน้านี้ คุณพ่อได้ย้ายมารับราชการที่ตัวจังหวัดสระบุรี อาจารย์วิชัยจึงย้ายตามคุณพ่อมาเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่โรงเรียนชายประจำจังหวัด ในสมัยนั้นเรียกว่า “โรงเรียนสหายชาย” ปัจจุบันคือ “สระบุรีวิทยาคม”

หลังจากจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ในปีพ.ศ. คุณพ่อได้ย้ายมารับราชการที่ตัวจังหวัดสระบุรี 2485 ได้ย้ายตามพี่ชายเข้ามาศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในกรุงเทพฯ ได้สมัครเข้าเรียนที่ “โรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย” โดยสามารถสอบได้ที่ 1 ของการทดสอบประจำเดือนอยู่หลายครั้ง จนทำให้อาจารย์และเพื่อนชาวกรุงเทพฯต้องเหลียวมามองนักเรียนใหม่จากต่างจังหวัดด้วยความฉงน แต่ก่อนที่จะสอบปลายภาคเพื่อจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีการทิ้งระเบิดหนักในกรุงเทพฯ ทางกระทรวงศึกษาธิการประกาศปิดการเรียนการสอนในกรุงเทพทั้งหมด นักเรียนที่มีเวลาเรียนครบก็ให้จบการศึกษาโดยไม่ต้องสอบปลายภาค อาจารย์วิชัย ก็ร่วมอยู่ในรุ่น “ม.6 โตโจ” นี้ด้วย เมื่อรับใบประกาศนียบัตรมัธยมศึกษาปีที่ 6 มาแล้วก็เดินทางกลับสระบุรี

ครอบครัวของอาจารย์วิชัย เป็นครอบครัวของข้าราชการชั้นผู้น้อยที่มีรายได้ไม่สูงมากนัก ทำให้ท่านมีแนวความคิดที่จะเข้าศึกษาในโรงเรียนเตรียมทหาร หรือที่เรียกกันในสมัยนั้นว่า “โรงเรียนเตรียมนายร้อย นายเรือ” เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายน้อย และมีเบี้ยเลี้ยงให้ขณะศึกษาด้วย ท่านได้พาตัวเองไปสมัครสอบคัดเลือกกับเขาด้วย ผลปรากฏว่าผ่านข้อเขียน แต่ตกตรวจโรคเนื่องจาก “สายตาสั้น”

เมื่อไม่สามารถเข้าศึกษาในโรงเรียนเตรียมทหารได้ ท่านจึงเปลี่ยนมาสอบเข้าโรงเรียนเตรียมจุฬา (เตรียมอุดม) ในแผนกวิศวะหรือเรียกว่า “เตรียมวิศวะ” ก็สามารถสอบผ่านได้เป็นที่เรียบร้อย หลังจากเปิดเรียนไปได้ไม่กี่เดือนก็มีการทิ้งระเบิดอย่างหนักในเขตพระนคร มีประกาศปิดการเรียนการสอนอีกครั้ง นักเรียนต้องกระจัดกระจายไปเรียนตามที่ต่างๆ โดยอาจารย์วิชัย ได้ย้ายตามโรงเรียนเตรียมฯมาเรียนที่ “อยุธยาวิทยาลัย” ในช่วงแรกนั้นอาศัยอยู่กับเพื่อน ต่อมาทางโรงเรียนเตรียมฯได้สร้างหอพักใกล้กับวัดพุทไธสวรรค์ เรียกว่า “หอพักพุทไธสวรรค์” จึงได้ย้ายมาอยู่ที่นี่ หลังจากนั้นก็มีประกาศว่าทางกรุงเทพฯได้เปิดการเรียนขึ้นแล้ว นักเรียนสามารถย้ายกลับไปเรียนที่กรุงเทพฯได้ นักเรียนบางคนก็ยังคงเรียนต่อที่อยุธยา แต่อาจารย์ วิชัย ตัดสินใจย้ายเข้ากรุงเทพฯอีกครั้ง

หลังจากย้ายกลับมาเรียนที่โรงเรียนเตรียมฯที่กรุงเทพ ก็ต้องมีการย้ายที่เรียนอีกครั้งมาที่ “โรงเรียนสวนสุนันทา” เนื่องจากมีหลุมหลบภัยขนาดใหญ่มั่นคงกว่า เมื่อการทิ้งระเบิดดูเบาบางลงก็ย้ายกลับมาเรียนที่โรงเรียนเตรียมฯอีก หลังจากนั้นก็มีการทิ้งระเบิดหนักขึ้นกว่าเก่า ทางการจึงประกาศปิดการเรียนการสอนอีกครั้ง แต่คราวนี้ยาวนานไปจนสงครามสงบลงจึงได้เปิดการเรียนการสอนขึ้นมาได้อีกครั้ง

ในช่วงนี้มีการตั้งโรงเรียนสารวัตรทหารขึ้นโดยรับนักเรียนเตรียมฯ 1-2 เป็นนักเรียนนายสิบสารวัตรทหาร นักศึกษาชั้นปีที่ 1-2 เป็นนักเรียนนายร้อยสารวัตรทหาร จบแล้วติดยศตามลำดับชั้นที่เรียน แต่อาจารย์ วิชัย ไม่ได้เข้าเรียนกับคณะนี้ แต่ท่านได้เดินทางกลับบ้านที่สระบุรี

เมื่อโรงเรียนปิดยาวไม่มีกำหนด คนหนุ่มสาวในยุคนั้นนิยมหางานทำตามความถนัดและความสามารถที่ตัวเองมี ไม่ปล่อยเวลาให้ผ่านไปเปล่าๆ อาจารย์ วิชัย ก็เช่นเดียวกัน ท่านได้สมัครเข้าเป็นเสมียนแผนกศึกษาที่ตัวจังหวัดสระบุรี ทั้งๆที่พิมพ์ดีดไม่เป็นท่านก็พยายามหัดพิมพ์จนคล่องสามารถใช้งานได้เหมือนกับเสมียนคนอื่นๆ

เมื่อสงครามสงบ แก้

หลังสงครามมหาเอเชียบูรพาสงบในปีพ.ศ. 2488 ท่านได้ลางานเป็นเวลา 3 เดือนแล้วจึงลาออกจากตำแหน่งเสมียน โดยเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเรียนกวดวิชาแถวสะพานเหลืองเตรียมตัวสอบชั้นเตรียมวิศวะปีที่ 1 ซึ่งในปีนั้นอนุโลมให้คนที่เรียนชั้นเตรียม 1 สอบชั้นเตรียม 2 ได้โดยไม่ต้องเคยเรียนมาก่อน ปรากฏว่าอาจารย์วิชัย สามารถสอบผ่านขึ้นชั้นเตรียมฯ 2 ได้ เข้าเป็นนิสิตในคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2489

หลังจากโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างๆ ปิดเทอมไปยาวนานเกือบปี การเปิดเทอมก็เริ่มขึ้นในวันจันแรกของเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2489 แต่เปิดเรียนไปได้ไม่กี่วันการเรียนก็ต้องหยุดชะงักอีกครั้งแม้จะกินเวลาเพียง 1 อาทิตย์ เทียบไม่ได้กับการปิดยาวตอนสงครามก็ตาม แต่สาเหตุสำคัญยิ่งใหญ่กว่ากันมาก เพราะเป็นเหตุการณ์ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคต ในวันที่ 9 มิถุนายน

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในสมัยนั้นมีด้วยกัน 5 สาขาคือ เครื่องกล, โยธา, ไฟฟ้า, เหมืองแร่ และอุตสาหการ ในปีนั้นอุตสาหการไม่เปิดสอน เนื่องจากงานทางด้านอุตสาหกรรมหยุดชะงักเพราะเสียหายไปกับสงครามมาก

สาขาต่างๆเหล่านี้จะไปแยกเรียนตอนขึ้นปี 4 ซึ่งอาจารย์วิชัย ได้เลือกเรียนสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า จบการศึกษาเกียรตินิยมอันดับ 2 ในปีการศึกษา 2492 โดยบัณฑิตที่เรียนจบรุ่นเดียวกันภายหลังประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงในวงสังคมเช่น ดร.เชาว์ ณ ศีลวันต์ (องคมนตรี), ศาสตราจารย์นิวัติ ดารานันท์, อาจารย์ไพโรจน์ เฟื่องธุระ, นายพารณ อิศรเสนา (อดีตผู้จัดการใหญ่บริษัทปูนซีเมนต์ไทย), คุณประวิทย์ รุยาพร (อดีตเลขาธิการการพลังงานแห่งชาติ), คุณอาทร ปทุมสูตร (รองปลัดกระทรวงพัฒนาการ) เป็นต้น

ชีวิตการทำงานสมัยแรก แก้

เมื่อจบการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาไฟฟ้า จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2493 เศรษฐกิจของประเทศไทยหลังสงครามในตอนนั้นก็ไม่ถือว่าดีนัก บริษัทห้างร้านต่างๆยังเปิดดำเนินการได้ไม่เต็มที่ส่งผลให้การจ้างงานน้อยไปด้วย ประกอบกับความฝันที่ต้องการรับราชการทหารทำให้อาจารย์วิชัยสมัครเข้ารับราชการเป็นทหารอากาศ จากกฎเก่า ผู้ที่จบจากมหาวิทยาลัยต้องเป็นพลทหารและเข้าฝึกราบ สำหรับอาจารย์วิชัยได้ถูกส่งไปฝึกที่โรงเรียนจ่าอากาศเป็นเวลาเดือนกว่า แล้วกรมสื่อสารเรียกตัวกลับ กฎเก่าบอกว่าจะต้องเป็นพันจ่าเอก 6 เดือนจึงจะได้เลื่อนยศเป็นว่าที่เรืออากาศตรี แต่กฎใหม่เมื่อถูกรับเข้าเป็นทหารแล้วไม่ต้องไปฝึกราบ เพียงแต่รอรับคำสั่งแต่งตั้งเป็นว่าที่เรืออากาศตรีเท่านั้น

เหมือนความพยายามที่จะเข้าเป็นนายทหารครั้งอดีตมาบรรลุเป็นผลสำเร็จขึ้นจริงๆ น่าจะทำให้เกิดความสุขในการทำงานขึ้นได้ แต่หลังจากรับราชการเป็นทหารอากาศได้ปีกว่าๆ ท่านก็ค้นพบว่าท่านไม่มีความสุขในการทำงานจึงได้ตัดสินใจลาออก ประจวบเหมาะกับในช่วงนั้นทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขาดแคลนอาจารย์ผู้สอนโดยเฉพาะภาคไฟฟ้าที่ท่านได้ศึกษาจบมา ได้เปิดรับสมัครตำแหน่งอาจารย์ผู้สอนขึ้น อาจารย์วิชัยได้สมัครเข้าเป็นอาจารย์ประจำในปี พ.ศ. 2495 เริ่มต้นสอนภาควิชาไฟฟ้าที่เป็นนิสิตชั้นปีที่ 3

การเริ่มต้นเป็นอาจารย์ในวัยหนุ่มที่มีอายุห่างกับนิสิต 3-4 ปีนั้นไม่ค่อยราบรื่นนัก เนื่องจากนิสิตยังไม่มีความเชื่อถือในภูมิความรู้ของผู้สอน บ่อยครั้งมีการลองภูมิหรือถามคำถามไล่ต้อนจะให้อาจารย์จนมุมให้ได้ ทั้งหลายเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้อาจารย์วิชัยต้องพยายามศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมจนแตกฉาน สามารถถ่ายทอดความรู้จนเป็นที่ยอมรับของนิสิตได้ในที่สุด

ประสบอุบัติเหตุ แก้

ช่วงเวลาในชีวิตที่เป็นอาจารย์สอนของอาจารย์วิชัยกำลังไปได้ดีอยู่นั้น กรมโยธาธิการในสมัยหลวงบุรกรรมโกวิท เป็นอธิบดีได้มีการเดินสายส่งไฟฟ้าจากโรงงานปูนซีเมนต์ที่อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพื่อจ่ายไฟฟ้าให้จังหวัดลพบุรีแทนโรงไฟฟ้าเดิมที่กำลังจะหมดสัญญา โดยโรงไฟฟ้าของโรงงานปูนซีเมนต์นี้เดิมผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับโรงงานเฉพาะตอนกลางวันเท่านั้น เมื่อต้องจ่ายไฟฟ้าให้กับจังหวัดลพบุรีจึงต้องเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าตลอดทั้งคืน เมื่อโครงการสำเร็จแล้วตัวเมืองลพบุรีจะมีไฟฟ้าใช้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยอธิบดีกรมโยธาธิการสั่งให้การไฟฟ้าไปจัดการ มีอาจารย์สอนพิเศษสังกัดการไฟฟ้าเป็นผู้จัดการงานนี้ด้วย และเนื่องจากสภาวะขาดแคลนแรงงานมีฝีมือหลังสงครามได้มีการนำเอานิสิตไฟฟ้าไปช่วยทำงานด้วยส่วนหนึ่ง

เมื่อโครงการสำเร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้วอาจารย์สอนพิเศษ สังกัดการไฟฟ้านครหลวง นำนิสิตไปดูงานเพราะมีส่วนร่วมในผลงานนี้ด้วย มีการนัดหมายกันล่วงหน้าว่าจะดูงานกันในวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2497 ซึ่งเป็นวันเสาร์ชาวคณะดูงานพร้อมกันที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเวลาเช้า โดยเจ้าหน้าที่จากการไฟฟ้านำรถมารับ รถคันที่อาจารย์วิชัยโดยสารไปนั้นรวมพนักงานขับรถแล้วมีทั้งสิ้น 13 คน แต่ก่อนจะเคลื่อนขบวนออกนั้นนายช่างที่มาในรถคันนั้นได้ขึ้นรถทำหน้าที่ขับเอง ทำให้พนักงานขับรถต้องไปเป็นผู้โดยสารแบบงงๆ

คณะดูงานเดินทางออกจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วยรถ Chevrolet Canopy มุ่งหน้าสู่จังหวัดลพบุรีทางถนนพหลโยธินแต่ไปไม่ตลอดรอดฝั่ง เพราะเดินทางไปถึงตำบลหนองจิก อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี รถคันที่อาจารย์วิชัยโดยสารมาเกิดการเฉี่ยวกับรถโดยสารที่วิ่งสวนมาเนื่องจากถนนยังเป็นแบบวิ่งสวนกัน ทำให้รถเกิดเสียหลัก(หมุน) อาจารย์วิชัยถูกเหวี่ยงหลุดออกนอกตัวรถตกลงไปข้างทาง ส่วนรถก็พลิกคว่ำลงข้างทางด้วยเช่นกัน

อุบัติเหตุครั้งนี้มีผู้เสียชีวิต 1 คน ผู้บาดเจ็บต้องนำส่งโรงพยาบาล 3 คน คือ

  1. อาจารย์วิชัย ศังขจันทรานนท์
  2. นายวิลาศ อุทัยฉาย (นิสิตชั้นปีที่ 3) อดีต ผอ.เขื่อนน้ำพอง จ.ขอนแก่น
  3. นายโพธิ์ อิ่มจิตร (นิสิตชั้นปีที่ 3) อดีต รองผู้ว่าการไฟฟ้านครหลวง

ได้มีการนำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลที่จังหวัดสระบุรี อยู่ที่สระบุรีเป็นเวลา 2 คืน แล้วจึงส่งต่อมาที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อนิสิตทั้งสองคนรักษาตัวจนหายเป็นปกติแล้วจึงได้ออกจากโรงพยาบาลไป เหลือเพียงแต่อาจารย์วิชัยเท่านั้นที่ยังต้องนอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลต่อไป เมื่อท่านรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลผ่านไปได้ 3 เดือน ก็เกิดปัญหาเรื่องค่าครองชีพและการรักษาพยาบาลตามมาเนื่องจากถูกงดเงินเดือน นอกจากเรื่องร้ายๆที่ผ่านเข้ามาแล้วยังมีสิ่งดีๆผ่านเข้ามาบ้างคือนิสิตปี 4 ในรุ่นนั้นเมื่อจบการศึกษาแล้วไปอยู่ที่การไฟฟ้าฯ ได้เรี่ยไรเงินเดือนกันคนละ 50 บาท สมทบกับนายช่างที่เป็นคนขับรถอีกเดือนละ 700 กว่าบาท มาเป็นรายได้ช่วยเหลือทดแทน อาจารย์วิชัยใช้เวลารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชรวมเวลา 1 ปี 2 เดือน จึงได้ออกจากโรงพยาบาลและไปรายงานตัวเข้าทำงานที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งแรกเนื่องจากท่านไม่สามารถยืนสอนด้วยขาของตัวเองได้อีกต่อไป

ชีวิตการทำงานหลังออกจากโรงพยาบาล แก้

ผลจากการประสบอุบัติเหตุในครั้งนั้นส่งผลให้อาจารย์วิชัยสูญเสียการควบคุมอวัยวะท่อนล่างไปทั้งหมด ซึ่งในช่วงแรกที่กลับมาสอนนั้นใช้วิธีดามเหล็กที่ขาทั้งสองข้างแล้วใช้ไม้ค้ำช่วยในการเคลื่อนที่ แต่ก็ไม่สะดวกและล้มได้ง่ายมาก

สมัยนั้นรถเข็นแบบวีลแชร์ยังไม่มีวางจำหน่ายทั่วไปแบบปัจจุบันต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศและมีราคาค่อนข้างแพง จึงเปลี่ยนวิธีมาเป็นนั่งบนเก้าอี้ที่นำล้อมาใส่ แต่เนื่องจากเป็นไม้ไม่มีการบุนวมที่รองนั่งก็สร้างปัญหาแผลกดทับตามมา ต้องรักษาแผลนี้ยาวนานจนถึงปัจจุบัน ต่อมาจึงได้สั่งวีลแชร์จากสหรัฐอเมริกามาใช้ ผ่านผู้ที่ไปศึกษาต่อที่นั่นเป็นผู้ส่งมาให้

ก่อนหน้านั้นไม่นานทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาไฟฟ้าขึ้น อาจารย์วิชัยได้สมัครเข้าเรียนด้วย โดยใช้เวลาที่ว่างจากการสอน แต่สามารถลงทะเบียนเรียนวิชาได้ครึ่งเดียว ทำให้หลักสูตรที่คนทั่วไปเรียนกัน 2 ปี ท่านต้องใช้เวลาเรียนถึง 4 ปี จึงจบการศึกษาในระดับมหาบัณฑิต

วิทยฐานะและผลงาน แก้

อาจารย์วิชัย ศังขจันทรานนท์ เติบโตในแวดวงวิชาการเรื่อยมาตามยุคสมัยและกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ในยุคสมัยหนึ่งผู้ที่จะเลื่อนวิทยฐานะเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์, รองศาสตราจารย์ หรือศาสตราจารย์ได้นั้นใช้ระดับขั้นเงินเดือนเป็นเกณฑ์ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับอายุงานเป็นหลัก อาจารย์วิชัยก็ผ่านหลักเกณฑ์นี้มาครั้งหนึ่งกับตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์

ต่อมามีการเปลี่ยนหลักเกณฑ์คือไม่นับอายุงาน แต่พิจารณาจากผลงานทางวิชาการเป็นหลัก อาจารย์วิชัย ได้ยื่นผลงาน “การใช้โทโปโลยีเข้าวิเคราะห์วงจรไฟฟ้าชนิดลีเนียร์” ผลปรากฏว่าผ่านการพิจารณาเลื่อนขึ้นเป็นรองศาสตราจารย์

หลังจากนั้นมีอาจารย์ที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศกลับมาสอนมากขึ้น วิชาที่อาจารย์วิชัยสอนหลายวิชาต้องแบ่งไปให้อาจารย์ท่านอื่นสอนแทนจนสุดท้ายเหลือเพียง 1 วิชาคือคณิตศาสตร์วิศวกรรมไฟฟ้า แต่ก็ไม่ได้สอนเพียงคนเดียวต้องแบ่งเป็นกลุ่มไปให้อาจารย์ท่านอื่นแยกไปสอนด้วย จึงมีบางรุ่นบางท่านที่จบการศึกษาไปโดยไม่เคยเรียนกับอาจารย์วิชัยก็มี

ในช่วงนี้มีอาจารย์ท่านหนึ่งเดิมทีทำงานกับการไฟฟ้า เป็นผู้มีความสามารถสูงมาก สามารถฟื้นฟูโรงไฟฟ้าวัดเลียบที่เสียหายยับเยินในช่วงสงครามให้สามารถกลับมาทำการได้อย่างเก่า อาจารย์ท่านนี้ได้สอบชิงทุนกพ.เพื่อไปศึกษาต่อต่างประเทศ หลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้าน Feedback Control มาแล้วทางกพ.ได้ส่งตัวมาเป็นอาจารย์ประจำที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เนื่องด้วยผลงานที่ท่านได้แสดงฝีมือไว้ในอดีตมีความโดดเด่นมาก ทางการไฟฟ้าจึงได้ขอตัวกลับไปช่วยทำงาน และทางคณะวิศวะฯก็ยอมส่งตัวให้กลับไปทำงานที่การไฟฟ้าได้ เพราะต้องใช้ความรู้ทางด้าน transmission ท่านจึงเอาตำรา Feedback Control ที่เป็นภาษาอังกฤษมาให้อาจารย์วิชัยศึกษาดูเพื่อสอนวิชานี้ แล้วตัวอาจารย์เองขอตำราทางด้าน Transmission, Distribution ของอาจารย์ วิชัย ไปดูเพื่อจะสอนแทนอาจารย์วิชัย ส่งผลให้อาจารย์วิชัยต้องสอนวิชาใหม่เพิ่มขึ้นมานั่นคือวิชา Feedback Control

วิชา Feedback Control เป็นวิชาที่อาจารย์วิชัย ไม่เคยศึกษามาก่อนจึงต้องทำการเรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อที่จะทำการสอน แต่ก็ยังไม่เป็นที่ไว้วางใจของหัวหน้าภาควิชาเท่าไรนัก บางครั้งมีผู้จบการศึกษาปริญญาโทด้าน Feedback Control กลับมามักจะได้รับมอบหมายให้มาสอนแทนอาจารย์วิชัยอยู่หลายครั้ง

อาจารย์จึงเกิดความคิดที่จะเขียนตำราของตนเองในช่วงที่มีเวลาว่างจนเขียนออกมาเป็นผลสำเร็จ แล้วจึงไปเสนอโรงพิมพ์โดยมีนิสิตช่วยวิ่งหา ปรากฏว่าโรงพิมพ์ไทยวัฒนพานิชย์มีความสนใจเนื่องจากเนื้อหาเป็นของใหม่ยังไม่มีใครเคยทำออกมา จึงได้พิมพ์ออกมาเป็นตำรา “วิศวกรรมระบบควบคุมเชิงเส้น” ในปีพ.ศ. 2520

อาจารย์วิชัย ได้ใช้ตำราเล่มนี้สอนนิสิตอยู่เป็นเวลาระยะหนึ่ง นานพอที่จะสามารถเลื่อนระดับเป็นศาสตราจารย์ได้ แต่เหตุการณ์ก็ยังดูเงียบเชียบไร้วี่แววว่าจะมีการดำเนินเรื่องเลื่อนวิทยฐานะแต่อย่างใด จนมีอาจารย์ท่านหนึ่งที่เป็นนายทะเบียนของมหาวิทยาลัยถือแบบฟอร์มมาหาพร้อมกับตำราของอาจารย์วิชัย เพื่อทำเรื่องเลื่อนระดับเป็นศาสตราจารย์ ซึ่งอาจารย์วิชัยก็ยังสงสัยว่าท่านรู้เรื่องนี้ได้อย่างไร หลังส่งเรื่องไปแล้วใช้เวลาพิจารณาอยู่ 2 ปี จึงได้เลื่อนตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ในปี 2523

สู่รั้วมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แก้

ศาสตราจารย์วิชัย ศังขจันทรานนท์ เกษียณอายุราชการจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปีพ.ศ. 2530

ชีวิตหลังเกษียณอายุราชการของศาสตราจารย์วิชัย ยังคงทำหน้าที่ทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากเป็นอาจารย์สอนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพ วิชาคณิตศาสตร์วิศวกรรม และ Feedback Control อยู่หลายปี ในปีพ.ศ. 2533 ศาสตราจารย์วิชัย ได้รับการติดต่อจากศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ศุภชัย ตั้งวงศ์ศานต์ (ขณะนั้นเป็นกรรมการสภาหอการค้าไทย และมีศาสตราจารย์ยุกต์ ณ ถลาง เป็นนายกสภาหอการค้าไทย) ให้มาเป็นคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในปี 2533 โดยมีศาสตราจารย์วิชัย ดำรงตำแหน่งเป็นคณบดีคนแรกของคณะฯ ในปีพ.ศ. 2534

หลังรับตำแหน่งคณบดีคณะวิศวะกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้ 1 ปี ต้นปีการศึกษา 2535 เกิดปัญหาที่ต้องแก้ไขแบบเร่งด่วน 2 ประการคือ

  1. อาคารฝึกปฏิบัติการพื้นฐานฝีมือช่างยังสร้างไม่เสร็จ จนถึงวันเปิดภาคเรียนก็ยังไม่มีข้อสรุปถึงสถานที่ที่จะต้องไปเรียน
  2. ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้น มีอาจารย์ประจำบางส่วนลาออกกะทันหัน บางวิชาของนักศึกษาชั้นปีที่ 2 และ 3 ไม่มีอาจารย์ผู้สอน

ศาสตราจารย์วิชัย คือผู้นำพาคณะวิศวะฯ พ้นวิกฤติการณ์ครั้งนั้นมาได้ ผ่านการช่วยเหลือจากศิษย์เก่าที่มีอยู่ทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยฝากนักศึกษารุ่นแรกที่อยู่ปี 3 ในขณะนั้นไปเรียนวิชา Electromagnetic Field กับศาสตราจารย์ ดร. มงคล เดชนครินทร์ (ราชบัณฑิต) วิชา Electronics 2 กับ รศ.ดร. โคทม อารียา วิชา Passive and Active Network กับ ดร.สุริยัน ติษยาธิคม วิชาปฏิบัติการเครื่องจักรกลไฟฟ้า และฝีมือช่างที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นอกจากนี้ยังได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายท่านมาเป็นอาจารย์พิเศษเช่น ดร.สุรศักดิ์ ทองธรรมชาติ, นท.ดร.สมัย ใจอินทร์ (ยศในขณะนั้น), นท. ธานินทร์ อินทรจินดา (ยศในขณะนั้น), นต. สุวิทย์ พูลทัศฐาน (ยศในขณะนั้น), เรือเอก พิทักษ์ นิยาโส (ยศในขณะนั้น), รศ. พูลพร แสงบางปลา, รศ. เขื่อน อินทรสุวรรณ, อาจารย์ไสว ฐานีพานิชสกุล, อาจารย์โกวิท สูรพันธุ์, อาจารย์ชัยยง ว่องวุฒิกำจร, อาจารย์สมพร เมืองคุ้ม, อาจารย์วิวัฒน์ กุลวงศ์วิทย์, อาจารย์พรเทพ ก่อวัฒนมงคล เป็นต้น

หลังครบวาระ 4 ปี ศาสตราจารย์วิชัยก็หมดวาระดำรงตำแหน่งคณบดี แต่ยังทำหน้าที่เป็นอาจารย์พิเศษ, อาจารย์ที่ปรึกษา และอาจารย์อัตราจ้างโดยลำดับจนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2560)

งานวิจัยทางวิชาการ แก้

  1. การใช้โทโปโลยีเข้าวิเคราะห์วงจรไฟฟ้าชนิดลีเนียร์
  2. L.Q.G. Stochastic Optimal Estimation and Control
  3. Utilization of Transistor Circuits
  4. General Consideration of State Variable Approach to Electrical Circuits
  5. Analog Study of Relay Type Servo


ตำราวิชาการ แก้

  1. วิศวกรรมระบบควบคุมเชิงเส้น
  2. ขั้นตอนการคำนวณด้วยภาษาเบสิค
  3. คณิตศาสตร์วิศวกรรมไฟฟ้า
  4. ควบคุมเครื่องกลไฟฟ้าด้วยอิเล็กทรอนิกส์กำลัง 1
  5. ควบคุมเครื่องกลไฟฟ้าด้วยอิเล็กทรอนิกส์กำลัง 2
  6. Fuzzy Engineering (ยังไม่ได้เผยแพร่)
  7. Fuzzy Subset and fuzzy Logic (ยังไม่ได้เผยแพร่)
  8. Neural Engineering (ยังไม่ได้เผยแพร่)
  9. Neural Network (ยังไม่ได้เผยแพร่)
  10. Digi_Thai_Chap (ยังไม่ได้เผยแพร่)
  11. ระบบ-อนาล็อก-ดิจิตอล (ยังไม่ได้เผยแพร่)

อ้างอิง แก้

http://engineer.utcc.ac.th/?p=news&id=249