ผู้ใช้:Ohm Thenizer/ทดลองเขียน

กิจกรรมทางน้ำ พายเรือคายัคชมพื้นที่ชุ่มน้ำภายในบึง ชื่นชมความหลากหลายของพรรณไม้น้ำ นก แมลง และ สัตว์น้ำในบึง

องค์การสวนพฤกษศาสตร์ ภายใต้การดูแลของ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เล็งเห็นคุณค่าความสำคัญของการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ[1] และ ทรัพยากรพืชในแต่ละภูมิภาคของประเทศที่มีความแตกต่างกัน จึงมีนโยบายที่จะจัดตั้งศูนย์รวมพรรณไม้ประจำแต่ละภูมิภาค อย่างน้อยภาคละ 1 แห่ง

สวนพฤกษศาสตร์ระยอง
ที่ตั้งตำบลซากพง อำเภอแกลง จังหวัดระยอง
พื้นที่3,800 ไร่ (6.08 ตร.กม.)
จัดตั้งพ.ศ. 2545
หน่วยราชการองค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

สวนพฤกษศาสตร์ภาคตะวันออก แก้

สำหรับภาคตะวันออก จึงหวัดระยองได้ประสานความร่วมมือกับองค์การฯ และหน่วยงานท้องถิ่น ได้ร่วมทำการสำรวจพื้นที่บึงสำนักใหญ่ (หนองจำรุง) ตำบลซากพง อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 3,800 ไร่ ในการนี้ ทางจังหวัดระยอง และประชาชนในท้องถิ่น เห็นชอบให้องค์การฯ ดูแลรับผิดชอบพื้นที่ในเบื้องต้น ประมาณ 831 ไร่ เมื่อปี พ.ศ. 2545 เพื่อพัฒนาจัดตั้งศูนย์รวมพรรณไม้ภาคตะวันออก ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ และให้บริการเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนในท้องถิ่นและผู้มาเยี่ยมชม เพื่อสร้างความเข้าใจในการอนุรักษ์ทรัพยากรพื้นที่ชุ่มน้ำและพรรณไม้ท้องถิ่นร่วมกันให้มากขึ้น

ทั้งนี้ เพื่อให้ทรัพยากรพรรณพืชของประเทศได้รับการดูแล และสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน ซึ่งต่อมาผู้นำท้องถิ่นและประชาชน ได้เห็นพ้องกันที่จะอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่แห่งนี้ ให้เป็นมรดกทางธรรรมชาติที่สำคัญของประชาชนในท้องถิ่นจังหวัดระยอง จึงได้เสนอยกระดับความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้ให้มีความสำคัญในระดับชาติ ตามประกาศคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552[2] ซึ่งมีข้อกำหนดแนวทางการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติที่ชัดเจน

ในปี พ.ศ. 2553 คณะกรรมการองค์การฯ ได้มีมติเปลี่ยนชื่อศูนย์รวมพรรณไม้ภาคตะวันออก จังหวัดระยองมาเป็นสวนพฤกษศาสตร์ระยอง[3] องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ เพื่อรองรับการขยายตัวและเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นสวนพฤกษศาสตร์ที่ได้มาตรฐานในระดับสากล เนื่องจากสวนพฤกษศาสตร์นั้นนานาอารยะประเทศให้ความสำคัญ และเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ในด้านเป็นแหล่งเรียนรู้และอนุรักษ์ทรัพยากรพืช และเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของแต่ละประเทศ และในปัจจุบันสังคมกลุ่มนิเวศป่าเสม็ดขาว สวนพฤกษศาสตร์ระยอง ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนให้เป็นรุกขมรดกของแผ่นดินประจำปี 2562 [4]โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม

วัตถุประสงค์ แก้

เพื่อการศึกษา วิจัย และรวบรวมข้อมูลองค์ความรู้เกี่ยวกับพรรณไม้ท้องถิ่น ในภาคตะวันออก และการอนุรักษ์ทรัพยากรพื้นที่ชุ่มน้ำธรรมชาติในภาคตะวันออก และเผยแพร่ความรู้เพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

วิสัยทัศน์ แก้

เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้คู่ชุมชน ด้านการอนุรักษ์พรรรณไม้ท้องถิ่น และทรัพยากรพื้นที่ชุ่มน้ำธรรมชาติ เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง

พันธกิจ แก้

  1. ศึกษารวบรวมข้อมูลพรรณไม้ท้องถิ่นภาคตะวันออก
  2. อนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งพื้นที่ชุ่มน้ำ และสังคมพืชป่าเสม็ด ให้คงความสมบูรณ์
  3. พัฒนาพื้นที่สวนพฤกศาสตร์ให้เป็นแหล่งเรียนรู้คู่ความเพลิดเพลิน ในด้านการอนุรักษ์พรรณไม้ท้องถิ่น และทรัพยากรพื้นที่ชุ่มน้ำธรรมชาติ สำหรับประชาชนผู้มาเยี่ยมชม ให้ได้รับความรู้และได้พักผ่อนตามอัธยาศัย
  4. ประชาสัมพันธ์เผยแผ่ความรู้ด้านพฤกษศาสตร์ที่ถูกต้องแก่ประชาชน
  5. พัฒนาแหล่งเรียนรู้และคืนพรรณไม้ท้องถิ่นสู่ชุมชน เพื่อความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน

พื้นที่ชุ่มน้ำ แก้

หมายความถึง ที่ลุ่ม ที่ราบลุ่ม ที่ลุ่มชื้นแฉะ พรุ แหล่งน้ำ ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และที่มนุษย์สร้างขึ้น ทั้งที่มีน้ำขังหรือท่วมอยู่ถาวรและชั่วครั้งชั่วคราว ทั้งที่เป็นแหล่งน้ำนิ่ง และน้ำไหล ทั้งที่เป็นน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม รวมไปถึง พื้นที่ชายฝั่งทะเลและในทะเล ในบริเวณซึ่งเมื่อน้ำลดลงต่ำสุด มีความลึกของระดับน้ำไม่เกิน 6 เมตร[5]

ความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำ แก้

  • เป็นแหล่งน้ำที่สำคัญสำหรับ คน พืช สัตว์
  • เป็นแหล่งเก็บกักน้ำ ช่วยลดและป้องกันปัญหาน้ำท่วม
  • ช่วยป้องกันมิให้น้ำเค็มรุกเข้ามาในแผ่นดิน
  • ช่วยลดการพังทลายของชายฝั่ง รวมถึงชายคลองติดทะเล
  • ชะลอการไหลของน้ำ ดักจับตะกอนที่ไหลมาจากตอนบน
  • ช่วยดักจับธาตุอาหารที่ถูกพัดมากับน้ำและตะกอนไว้
  • สิ่งมีชีวิตต่างๆ รวมถึงมนุษย์ ได้ใช้ประโยชน์จากธรรมชาติที่มีอยู่ร่วมกัน
  • มีความสำคัญต่อการคมนาคมในท้องถิ่น
  • เป็นแหล่งรวมพันธุ์พืช และ พันธุ์สัตว์ และเป็นแหล่งของผู้ผลิตที่สำคัญในห่วงโซ่อาหาร
  • เป็นแหล่งอาศัยของนกอพยพระหว่างประเทศ ต้องอาศัยแหล่งพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อการดำรงชีพ

ลักษณะพื้นที่ชุ่มน้ำ บึงสำนักใหญ่ (หนองจำรุง) แก้

บึงสำนักใหญ่ (หนองจำรุง) ครอบคลุมพื้นที่รวมกว่า 3,800 ไร่ เป็นบึงน้ำจืดธรรมชาติคล้ายแอ่งกระทะ รองรับน้ำที่ไหลมารวมกันในบริเวณพื้นที่ ต.ซากพง อ.แกลง จ.ระยอง โดยมีเกาะตั้งอยู่กลางบึง ซึ่งประกอบไปด้วย

  • ป่าเสม็ดขาวและสังคมพืชท้องถิ่น ซึ่งยังคงความอุดมสมบูรณ์ มีทรัพยากรพืชที่มีความโดดเด่น เช่น เสม็ดขาว เสม็ดแดง ชะมวง แต้ว ยางนา พะยอม หวาน กะพ้อ พรวด โคลงเคลง มันเทียน ฯลฯ
  • พรรณไม้น้ำ ประกอบไปด้วย กกกระจูด บัวสาย บัวหลวง สาหร่ายข้าวเหนียวดอกเหลือง ดอกชมพู และหม้อข้าวหม้อแกงลิง
  • แพหญ้าลอยน้ำ ชาวบ้านเรียกว่า “หนังหมา” เป็นการทับถมกันของหญ้าเป็นชั้นๆ รวมความหนามากว่า 50 เซนติเมตร ลอยเป็นผืนใหญ่ ซึ่งในบางส่วนของแพหญ้ามีความแข็งแรงให้มนุษย์สามารถเดินย่ำได้โดยไม่จมน้ำ
  • พรรณไม้หายาก ประกอบไปด้วย เอื้องอึ่งอ่าง ผักไผ่น้ำ แห้วชะครู เอื้องสีสนิม ซึ่งหาพบได้บนแพหญ้าหนังหมา

สภาพพื้นที่ภายในเกาะ ผสมผสานระหว่างบึงน้ำจืดและป่าพรุ รวมกันอยู่ในระบบนิเวศน์เดียวกัน เป็นลักษณะพิเศษที่หาได้ยากในประเทศไทย อีกทั้งยังเป็น “พื้นที่ชุ่มน้ำเพียงแห่งเดียวที่ยังสมบูรณ์ที่สุด” ในภาคตะวันออก

อ้างอิง แก้

  1. wetland.onep.go.th. "พื้นที่ชุ่มน้ำในประเทศไทย | Wetland For Thai". wetlands.onep.go.th (ภาษาอังกฤษ).
  2. wetland.onep.go.th (November 11, 2009). "มติคณะรัฐมนตรี 3 พฤศจิกายน 2552 | Wetland For Thai" (PDF). wetlands.onep.go.th (ภาษาอังกฤษ).{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  3. "สวนพฤกษศาสตร์ระยอง". องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง (ภาษาอังกฤษ).
  4. "8 เมษายน วันสถาปนาองค์การสวนพฤกษศาสตร์ - กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม". www.mnre.go.th.
  5. "พื้นที่ชุ่มน้ำ ความสำคัญ คุณค่า สถานการณ์ และภัยคุกคาม". www.wwf.or.th.