ผู้ใช้:ผู้ใช้:Narisara yana/กระบะทราย

วิถีชุมชนคนโฮมสคูล : เครือข่ายบ้านเรียนล้านนา แก้

ไฟล์:เด็ก homeschool.jpg
เด็ก homeschool.jpg
         การจัดการศึกษาโดยครอบครัว (Homeschool) ในประเทศไทยนิยมเรียกกันในหมู่ครอบครัวผู้จัดว่า “บ้านเรียน” หมายถึง การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัวให้แก่ผู้เรียนที่มีบ้านเป็นฐานการเรียนรู้ บนฐานของวัฒนธรรมไทย เป็นการศึกษารายบุคคลบนฐานของความรัก ความเมตตา ผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น สอดคล้องกับความสนใจ ความถนัดของผู้เรียน เน้นให้ผู้เรียนมีพัฒนาการ และประสบความสำเร็จตามศักยภาพ (กระทรวงศึกษาธิการ, 2555: 4)  ซึ่งมีรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่บูรณาการทั้งวิชาการและวิถีชีวิต โดยครอบครัวจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับเด็กได้เรียนรู้ในทุกวิถีทาง ทุกที่ ทุกเวลา ท่ามกลางการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยอาจจัดกิจกรรมเป็นการเฉพาะ เน้นปฏิบัติจริง และยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ ในส่วนของการประเมินผล มีการสะท้อนพหุปัญญา ตามสภาพจริงของผู้เรียน และดูความก้าวหน้าตามศักยภาพ ซึ่งการที่บ้านและครอบครัวเป็นฐานของการศึกษาเรียนรู้ มีความสำคัญคือ ช่วยสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ให้เกิดในครอบครัว ฟื้นคืนความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว ช่วยพัฒนาวิถีชีวิตทั้งหมดของคนในครอบครัว รวมทั้งยังช่วยเพิ่มความสัมพันธ์ที่ดีกับญาติ มิตร ชุมชน และสังคมรอบตัวอีกด้วย ซึ่งสิ่งนี้เป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกิดการศึกษาที่พอดีสำหรับเด็กแต่ละคน จึงถือเป็นการเรียนรู้เพื่อการใช้ชีวิต ตามบริบทของแต่ละครอบครัวอย่างแท้จริง 
         ในปีการศึกษา 2557 ประเทศไทยมีครอบครัวที่จัดการศึกษาให้กับลูก จำนวน 225 ครอบครัว มีผู้เรียน 397 คน (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2558 : 4) โดยในจำนวนนี้เป็นผู้จดทะเบียนในเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวนกว่า 100 ครอบครัว (โจน จันได, 2557 : การบรรยาย) ซึ่งแต่ละครอบครัวมีรูปแบบการจัดการศึกษาที่แตกต่างกัน ตามแต่ความรัก ความชอบ และความถนัด ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของแต่ละครอบครัว ทั้งแบบกลุ่มประสบการณ์ตามความสนใจของผู้เรียน และแบบกลุ่มสาระการเรียนรู้ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 และด้วยวิถีที่หลากหลาย แต่มีความเชื่อและอุดมการณ์ทางการศึกษาเหมือนกัน จึงก่อให้เกิดการรวมตัวกันของพ่อแม่ที่จัดการศึกษาให้กับลูกในจังหวัดเชียงใหม่และในเขตภาคเหนือตอนบน เกิดเป็นเครือข่ายบ้านเรียนล้านนาขึ้น ซึ่งเป็นเครือข่ายความร่วมมือที่ช่วยในการสร้างความมั่นใจให้แก่กันและกัน แลกเปลี่ยนแนวคิดและความรู้ต่อสภาพปัญหาที่เผชิญอยู่ ตลอดจนเป็นแหล่งเรียนรู้ซึ่งกันและกันของลูก ๆ โดยเด็ก ๆ แต่ละบ้าน จะสับเปลี่ยนกันไปเรียนกับครอบครัวหนึ่ง ๆ ที่มีความรู้ความชำนาญในเรื่องหรือวิชาที่จะถ่ายทอดประสบการณ์ ความรู้ที่มีอยู่ให้ได้ นอกจากนี้เครือข่ายบ้านเรียนล้านนา ยังเป็นตัวกลางในการประสานงานบ้านเรียนต่าง ๆ กับเจ้าหน้าที่รัฐ การแลกเปลี่ยนในทัศนะที่เห็นแตกต่างกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับครอบครัวบ้านเรียน ให้สามารถมีทางออกที่ยอมรับร่วมกันได้ ในหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมา (สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2557 : 183-184)

รูปแบบและกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายของเครือข่ายบ้านเรียนล้านนา แก้

การเรียนรู้วิถีการพึ่งพาตนเองได้ แก้

ไฟล์:การเรียนรู้วิถีการพึ่งพาตนเองได้.jpg
การเรียนรู้วิถีการพึ่งพาตนเองได้.jpg
         จากแนวคิดที่ว่า “การเกษตรเป็นพื้นฐานของวิถีชีวิต รากเหง้าของชีวิตคนเราคือต้องเข้าใจเรื่องการเกษตร” ของบ้านเรียนพันพรรณ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ (สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2557 : 128-129) ครอบครัวจึงเลือกจัดการศึกษาให้ลูก โดยมุ่งที่กิจกรรมการผลิตอาหาร เพราะมองว่าการเกษตรเป็นพื้นฐานของทุกชีวิตไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ ประกอบกับสวนพันพรรณเองก็เป็นแหล่งเรียนรู้ทางการเกษตรอินทรีย์ และการสร้างบ้านดินที่สำคัญแหล่งหนึ่งของทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เป็นชุมชนเล็ก ๆ ที่อยู่ด้วยหลักการพึ่งตนเอง ด้วยการผลิตอาหารเอง ดูแลร่างกายด้วยวิถีธรรมชาติ สร้างบ้านด้วยวัสดุธรรมชาติ ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ละเลยเรื่องวิชาการ โดยคุณแม่ทำหน้าที่เป็นครูผู้สอนเพื่อให้อ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น มีการจัดคาบเรียน สอนประจำทุกวันโดยการกำหนดช่วงเวลาไว้เพื่อให้รู้ว่าช่วงเวลานั้น ๆ ต้องเรียนหนังสือ แต่เป็นเวลาไม่นานนัก มีการจัดหาหนังสือให้อ่านตามความสนใจของผู้เรียน แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากคุณแม่เป็นชาวอเมริกันจึงสอนลูกเป็นภาษาอังกฤษ ไม่ถนัดในการสอนภาษาไทย จึงหาอาสาสมัครในชุมชนมาช่วยสอนภาษาไทย การเรียนรู้ของลูกส่วนใหญ่จึงเป็นแบบบูรณาการผ่านโครงงานที่ทำร่วมกันกับเพื่อน ๆ ในชุมชน เช่น ทำเล้าไก่ ซึ่งสามารถบูรณาการวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ การอ่าน การเขียน เทคโนโลยี เข้าด้วยกัน หรือการทำคุกกี้ ซึ่งเด็ก ๆ ต้องฝึกหาข้อมูล ซื้อของ ลงมือทำขนม จากนั้นก็นำไปขาย นับเงิน แบ่งเงินในกลุ่ม ทำบ้านดิน ต้องมีการออกแบบ การแสดงละครต้องเขียนสคริปต์ ขายตั๋ว การเรียนรู้ผ่านโครงงานและกิจกรรมในลักษณะดังกล่าวเป็นเรื่องสนุกทำให้เด็กไม่รู้สึกว่าตัวเองกำลังเรียนอยู่

การเรียนรู้วิถีชีวิตเกษตรอินทรีย์ แก้

ไฟล์:การเรียนรู้วิถีชีวิตเกษตรอินทรีย์.jpg
การเรียนรู้วิถีชีวิตเกษตรอินทรีย์.jpg
         ในอ้อมกอดของความรักและธรรมชาติ “เป็นลูกชาวไร่ชาวนา ถ้าลูกทำนาไม่เป็นปลูกผักไม่ได้ ผมทำใจไม่ได้” พ่อผู้จัดการศึกษาบ้านเรียนต้นกล้า อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ (สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2557 : 128-131) ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจถึงการเรียนรู้วิถีชีวิตเกษตรอินทรีย์ว่า เป็นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงในชีวิตประจำวัน ด้วยการซึมซับวิถีชีวิตของครอบครัวชาวนา สามารถทำนาได้ ปลูกผักเป็น เลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง ขายไข่ ปลูกผักขาย เป็นต้น กิจกรรมการเรียนรู้ของต้นกล้าทำให้มีรายได้เป็นเงินเก็บสำหรับอนาคต นอกจากนี้ ยังได้ฝึกทำงานบ้าน ดูแลตัวเอง เลี้ยงน้องไปด้วย รวมไปถึงการเข้าร่วมกิจกรรมชุมชน อย่างงานบวชป่า ทำฝายแม้ว งานวัด การเรียนรู้เนื้อหาวิชาการ อิงหลักสูตรแกนกลาง มีการจัดตารางเรียนวันละ 2-3 ชั่วโมง เนื้อหาการเรียนมีทั้งในตำราและนอกตำรา การเรียนการสอนยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์ของครอบครัว ไปร่วมกิจกรรมและร่วมเรียนรู้ร่วมกับบ้านเรียนอื่น เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ มีการเข้าค่ายกิจกรรมทัศนศึกษา เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้ทำโครงการบูรณาการ ซึ่งเป็นการเรียนรู้แบบองค์รวมที่ให้เด็กสร้างโครงงานและดูแลโครงงานของตัวเอง เช่น โครงงานทำยาดมสมุนไพร ทำน้ำหวานสมุนไพร ซึ่งนอกจากจะได้เรียนรู้เรื่องสมุนไพร การทำอาหาร การคิดเลข การจดบันทึก ฝึกความรับผิดชอบแล้ว ยังมีรายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นค่าขนมด้วย 

การเรียนรู้วิถีชีวิตที่แตกต่าง แก้

ไฟล์:การเรียนรู้วิถีชีวิตที่แตกต่าง.jpg
การเรียนรู้วิถีชีวิตที่แตกต่าง.jpg
         ปลูกทักษะให้ชีวิตกับบ้านเรียนพิมพ์ปาน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ (สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2557 : 133-135) แนวทางในการจัดการศึกษาของบ้านเรียนพิมพ์ปานเป็นการศึกษาแบบบูรณาการ และเรียนรู้ผ่านโครงงาน โดยเน้นกระบวนการพัฒนาของสมองและความสนใจของผู้เรียนเป็นหลัก โดยกรอบการเรียนรู้อิงเนื้อหาสาระและมาตรฐานการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อให้สามารถเทียบโอนกับการศึกษาในระบบโรงเรียนได้ เสริมด้วยเนื้อหาและการพัฒนาทักษะตามความจำเป็นในการดำรงชีวิต คือ ทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ในอนาคต ได้แก่ ทักษะการเรียน การคิด และสื่อสาร ทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการทำงาน ได้แก่ ทักษะการจัดการ ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น มีความขยัน อดทน ประหยัด และอดออม ทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการอยู่ร่วมในสังคม ได้แก่ การควบคุมตนเอง ความรับผิดชอบ ความมีวินัยในตนเอง การช่วยเหลือผู้อื่น ความเสียสละ เป็นต้น กิจกรรมการเรียนรู้จึงเน้นตามสถานการณ์และความสนใจของผู้เรียน แม้ลูกสาวฝาแฝดจะมีความแตกต่างกันในหลาย ๆ ด้าน แต่สิ่งหนึ่งที่มีความสนใจร่วมกันคือการขี่ม้า เพราะเด็ก ๆ จะกระตือรือร้นในการเรียนรู้เป็นพิเศษ คุณแม่จึงใช้เรื่องม้าและการขี่ม้าเป็นแกนนำในการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ และใช้เป็นเงื่อนไขในการกระตุ้นการเรียนรู้เรื่องอื่น ๆ ที่ตามมาอีกหลายเรื่อง นอกจากนี้ยังช่วยให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น มีสมาธิในการเรียนรู้ดีขึ้น และการได้อยู่ใกล้ชิดกันตลอดเวลา ทำให้เข้าใจปัญหาของลูกมากขึ้น

การเรียนรู้วิถีชีวิตแห่งความสุข แก้

ไฟล์:การเรียนรู้วิถีชีวิตแห่งความสุข.jpg
การเรียนรู้วิถีชีวิตแห่งความสุข.jpg
         ใช้ความสุขปลุกพลังจินตนาการ “ขบวนการเรียนรู้ทุกขั้นตอนยึดหลักความสุขเป็นที่ตั้ง” บ้านเรียนสู่ขวัญ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ (สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2557 : 138-140) ได้เล่าถึงหลักในการจัดกระบวนการเรียนรู้ ดังนี้
         1. เน้นความสุข นำการเรียนรู้ ไม่กำหนดเวลา และยืดหยุ่นตามสถานการณ์
         2. การเรียนรู้มีฐานจากความรัก ความชอบในศาสตร์แขนงนั้น เพื่อสร้างแรงจูงใจ มุ่งมั่นที่จะเรียนรู้
         3. เน้นการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ สร้างกระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวเอง 
         4. การเรียนรู้กับกลุ่มความรู้เฉพาะด้าน เช่น กลุ่มเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน กลุ่มเต้น กลุ่มขี่ม้า 
         5. เรียนรู้จากการสร้างมนุษย์สัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ทุกคนในโลกทั้งคนไทย และชาวต่างชาติ
         ผลที่ได้จากการจัดการศึกษาโดยยึดหลักความสุขก่อเกิดเป็นผลงานเขียนกว่า 100 เรื่อง ภาพวาดลายเส้นกว่า 18,000 ภาพ ภาพวาดสีอะคริลิกราว 200 ภาพ เรื่องสั้นกว่า 100 เรื่อง พร้อมภาพวาดลายเส้นประกอบ รวมทั้งบทเพลงอีกมากมายหลายบทที่แต่งทั้งเนื้อร้องและทำนอง พลังแห่งจินตนาการได้ถูกถ่ายทอดออกมาจากแรงบันดาลใจต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาภายในห้วงแห่งจิตวิญญาณ อารมณ์ และความรู้สึกของผู้เรียนตลอดเวลา เป็นพลังแห่งจินตนาการ ที่ทำให้ผู้เรียนเริ่มก่อร่างสร้างเป็นมโนภาพขึ้นมาจนสามารถมองเห็นภาพนั้นได้อย่างชัดเจน
         แม้วิถีชุมชนคนโฮมสคูลในจังหวัดเชียงใหม่ จะมีความแตกต่างหลากหลาย แต่สิ่งที่ทำให้พวกเรารวมตัวกันเป็นเครือข่ายบ้านเรียนล้านนาได้อย่างเหนียวแน่นมาจนถึงปัจจุบันคือ ความเชื่อในศักยภาพของเด็ก เชื่อในการเรียนรู้บนฐานของความรักจากครอบครัว และเชื่อในการศึกษาที่พอดีสำหรับแต่ละบุคคล

แหล่งเรียนรู้สุดประทับใจในดินแดนล้านนา แก้

บ้านไร่ไผ่งาม พิพิธภัณฑ์ผ้าป้าดา แก้

ไฟล์:กี่ทอผ้า.jpeg
กี่ทอผ้า.jpeg
         บ้านไร่ไผ่งาม เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับการทอผ้า และย้อมสีผ้าฝ้ายด้วยสีสมุนไพรแบบโบราณ ตั้งอยู่เลขที่ 105 หมู่ 8 ถนนเชียงใหม่-ฮอด ตำบลสบเตี๊ยะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ณ ที่แห่งนี้มีการรวมตัวกันของแม่บ้านในชุมชน เป็นกลุ่มผลิตผ้าฝ้ายทอมือแบบโบราณที่มีคุณภาพและมีชื่อเสียงของจังหวัดเชียงใหม่ โดยกลุ่มแม่บ้านได้รับการถ่ายทอดความรู้ในการผลิตผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติจากคุณป้าแสงดา บันสิทธิ์ ศิลปินพื้นบ้านแห่งชาติ สาขาหัตถกรรมในเรื่องของสิ่งถักทอ ป้าแสงดา บันสิทธิ์ เกิดวันอังคารที่ 14 เมษายน 2462 ที่บ้านห้วยม่วง หมู่ที่ 6 ตำบลสบเต๊ยะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ตอนเป็นเด็กไม่เคยเข้าโรงเรียน แต่ได้ฝึกเรียนด้วยตัวเองกับลุง จนมีความสามารถอ่านออกเขียนได้ เมื่อเป็นเด็กได้อยู่ใกล้ชิดกับแม่อุ๊ยเลี่ยม (ยายเลี่ยม) ผู้ซึ่งมีความชำนาญในการย้อมผ้า ทอผ้า และย้อมสีผ้าฝ้ายด้วยสัสมุนไพรแบบโบราณ ป้าแสงดา บันสิทธิ์ จึงได้สืบทอดความรู้จากแม่อุ๊ย (ยาย) มาส่วนหนึ่ง และได้พัฒนาความรู้ความสามารถเพิ่มเข้าไป ด้วยเหตุที่ว่าเป็นสิ่งที่ตนรักและชอบทำ
         ปัจจุบัน ป้าแสงดา บันสิทธิ์ ได้ตั้งกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร เพื่อผลิตผ้าพื้นเมือง ปั่นทอด้วยมือแท้ ๆ ออกสู่ตลาด ขณะนี้มีแม่บ้านทอผ้าประมาณ 40 คน ตั้งกี่ทอผ้ากันที่ใต้ถุนบ้านของ ป้าแสงดา บันสิทธิ์ ทอผ้าทุกวัน โดยนอกจากจะทอผ้าตามแบบดั้งเดิมแล้ว ป้าแสงดา ยังเป็นผู้คิดแบบใหม่ ๆ หรือประยุกต์ลวดลายต่าง ๆ สำหรับการทอเพื่อให้การทอผ้ามีการพัฒนาก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป และถึงแม้จะมีการออกแบบใหม่ ก็ตาม แต่ก็ยังรักษาเทคนิค และเอกลักษณ์ของท้องถิ่นเอาไว้ เช่น การย้อมสีด้วยเปลือกไม้ แก่นไม้ ผลไม้ ใบไม้ ที่เป็นสีธรรมชาติ

บุญสมฟาร์ม สาหร่ายเกลียวทอง แก้

 
บุญสมฟาร์ม
         บุญสมฟาร์ม ตั้งอยู่ที่ อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีที่ 30 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นระดับอุณหภูมิที่เหมาะสม ต่อการเจริญเติบโตของสาหร่าย ที่ 25 ถึง 35 องศาเซลเซียส และยังเป็นพื้นที่ที่ปราศจากมลภาวะมีอากาศที่บริสุทธิ์ ที่แห่งนี้เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงและผลิตสาหร่ายเกลียวทอง ซึ่งเป็นอาหารเสริมที่ให้คุณค่าทางอาหารสูง ทั้งยังเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่มนุษย์ใช้เป็นอาหารอย่างปลอดภัยมานานนับพันปี นอกจากนี้จากผลงานวิจัยขององค์การอนามัยโลก (WHO) ยังได้ยืนยันว่า "ไม่มีพืชชนิเใด ที่มีความหลากหลายในคุณค่าทางโภชนาการเท่ากับสาหร่ายเกลียวทอง" และในการประชุมเรื่องอาหารโลกขององค์การสหประชาชาติเมื่อปี พ.ศ.2517 ได้มีประกาศว่า "สาหร่ายเกลียวทองเป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับอนาคต ในประเทศไทยได้มีการค้นพบสาหร่ายเกลียวทองสายพันธ์ไทย โดยเริ่มวิจัยครั้งแรกในปี พ.ศ.2526 และได้เริ่มทดลองเพาะเลี้ยงในปร พ.ศ.2531 ณ บุญสมฟาร์ม แห่งนี้ ซึ่งผ่านขั้นตอนการคัดสรร และกรรมวิธีการผลิตที่ได้มาตรฐาน ISO22000 GMP HACCP จากฟาร์มที่อยู่ในแหล่งธรรมชาติ ปราศจากมลภาวะ ซึ่งทำให้สาหร่ายเกลียวทองสายพันธ์ไทยได้รับการยอมรับว่า "เป็นสายพันธ์ที่ดีที่สุด และเป็นอาหารเสริมที่คุณประโยชน์สูงสุด"


หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา แก้

ไฟล์:หอดูดาว.jpg
หอดูดาว
         หอดูดาวแห่งชาติ (Thai National Observatory) หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา เป็นหอดูดาวแห่งชาติของประเทศไทย ตั้งอยู่ที่สถานีทวนสัญญาณทีโอที บริเวณยอดดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ที่ระดับความสูง 2,478.50 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง หอดูดาวแห่งนี้สามารถสังเกตท้องฟ้าได้ทั้งซีกใต้และซีกเหนือ เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้กับเส้นศูนย์สูตร หอดูดาวแห่งชาติเริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2553 จนแล้วเสร็จในปลายปี พ.ศ.2555 และเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ.2556 ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
         หอดูดาวแห่งชาติใช้กล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสง ซึ่งใช้กระจกรวมแสงที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร จึงจัดเป็นหอดูดาวขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตัวกล้องติดตั้งบนโดมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 9 เมตร ซึ่งสามารถหมุนได้ 360 องศา และมีช่องเปิด-ปิด (shutter) กว้าง 3 เมตร จากการมีหอดูดาวขนาดกลางแห่งนี้ ทำให้การศึกษาและวิจัยด้านดาราศาสตร์ของไทยได้รับการพัฒนาและได้รับการยอมรับในระดับสากลขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้สหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (IAU) มีมติให้ประเทศไทยเป็นศูนย์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้านดาราศาสตร์

วัดเจ็ดยอด หรือ วัดโพธารามมหาวิหาร แก้

 
วัดเจ็ดยอด
         วัดโพธารามมหาวิหาร พระอารามหลวง เป็นวัดพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ (เดิมชื่อวัดเจดีย์เจ็ดยอด หรือ วัดเจ็ดยอด) ตั้งอยู่ที่ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. 1998 พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์องค์ที่ 11 แห่งราชวงศ์เม็งราย ทรงสร้างวัดโพธารามมหาวิหาร สร้างด้วยศิลาแลงประดับลวดลายปูนปั้น เป็นเจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดีย ในปี พ.ศ. 2020 วัดโพธารามมหาวิหาร เป็นสถานที่สังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 ของโลก ปัจจุบันเจดีย์เจ็ดยอดหักพังไปเกือบหมด วัดเจ็ดยอด ได้รับการประกาศเป็นโบราณสถานสำหรับชาติ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 วันที่ 8 มีนาคม 2478
         วัดเจ็ดยอด หรือ วัดโพธารามมหาวิหาร ได้ชื่อว่ามีเจดีย์รูปทรงแปลกที่สุด คือมียอดตั้งอยู่บนเรือนธาตุสี่เหลี่ยมถึงเจ็ดยอด เหมือนมหาโพธิเจดีย์พุทธคยาที่ประเทศอินเดีย จัดเป็นปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย โดยเจดีย์เจ็ดยอด เป็นโบราณสถานที่สำคัญที่สุดของวัด เชื่อว่าถ่ายแบบมาจากมหาโพธิเจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดีย สร้างประมาณพุทธศตวรรษที่ 19-20 เมื่อ พ.ศ.2020 พระเจ้าติโลกราชโปรดฯ ให้จัดการประชุมพระเถรานุเถระทั่วทุกหัวเมืองในอาจักรล้านนา และทรงคัดเลือกได้พระธรรมทิณ เจ้าอาวาสวัดป่าตาล ผู้จัดเจนในพระบาลีเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พระองค์ทรงเป็นประธานฝ่ายคฤหัสถ์ ทำการสังคายนาพระไตรปิฎก ณ วัดนี้ใช้เวลาปีหนึ่ง จึงสำเร็จ เป็นการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งใหญ่ลำดับที่ 8 โดยทำมาแล้วทั้งในอินเดียและศรีลังการวมเจ็ดครั้ง และเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในส่วนของลายปูนปั้น บนผนังด้านนอกองค์เจดีย์เจ็ดยอดมีงานประติมากรรมปูนปั้น เป็นภาพเทพยดานั่งขัดสมาธิเพชร ประนมหัตถ์อยู่กลางพระอุระ กับภาพเทพดาพนมมือยืน ทรงเครื่องภษาภรณ์ อันเป็นสมัยนิยมในหมู่ชนชั้นสูงสมัยโบราณ สวมเครื่องศิราภรณ์ทรงเทริด มีทั้งแบบทรงสูงและทรงเตี้ย สังเกตบนยอดศิราภรณ์ประดิษฐ์ด้วยลายวิจิตรแตกต่างกันไปในแต่ละองค์ เช่น ลายกระจับ ลายดอกบัว ลายหน้ากาล ลายดอกไม้ ฯลฯ เป็นที่น่าชมยิ่ง บนพื้นผนังเป็นลายดอกไม้ร่วงคล้ายลายถ้วยชามสมัย ราชวงศ์เหม็งของจีน นอกจากนี้ยังมีลายประดับหัวเสาซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของล้านนา แม้พม่ายังรับเอาไปและเรียกกว่า “ลายเชียงใหม่”


เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี แก้

 
ไนท์ซาฟารี
         เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เป็นสวนสัตว์เปิดที่ตั้งอยู่ในตำบลแม่เหียะ และ ตำบลหนองควาย จังหวัดเชียงใหม่ บริเวณด้านหลังทางทิศตะวันตกของอุทยานหลวงราชพฤกษ์ เป็นสวนสัตว์ของรัฐบาล ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) เปิดให้เข้าชมเป็นครั้งแรกเมื่อ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 และเปิดบริการอย่างเป็นทางการเมื่อ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 ในระยะเริ่มแรกอยู่ในภายใต้การดูแลขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ถือเป็นสวนสัตว์กลางคืนแห่งแรกในประเทศไทย และถือเป็นสวนสัตว์กลางคืนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยขนาดพื้นที่ 819 ไร่ ในปัจจุบันเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการที่สามารถท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งวัน ทั้งในเวลากลางวัน และในเวลากลางคืน ในบางบริเวณจะมีการปล่อยสัตว์ที่ไม่เป็นอันตรายให้สามารถเดินและใช้ชีวิตอย่างอิสระ ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถชมและสัมผัสสัตว์อย่างใกล้ชิด อาทิเส้นทางระหว่างประตูทางเข้าสวนสัตว์จนถึงทางเข้าอาคารหลัก จะมีการปล่อยเก้งและกวางไว้อยู่ถาวร รวมทั้งในบางช่วงของเส้นทางของในโซนเหนือและใต้


มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แก้

ไฟล์:มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.jpg
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
 
ศาลาธรรม
 
อ่างแก้ว
         มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นมหาวิทยาลัยโดยอยู่ในกำกับของรัฐ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทยที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นในส่วนภูมิภาค ตามโครงการพัฒนาการศึกษาในส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2501 พร้อมทั้งได้มีการเรียกร้องให้ขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษาออกสู่ภูมิภาค โดยขอให้รัฐบาลจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 นำโดยนายกีและนางกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งอยู่บริเวณเชิงดอยสุเทพ ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับการจัดอันดับเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 3 ในด้านการเรียนการสอนของประเทศไทย และเป็นอันดับ 5 ในด้านการวิจัยของประเทศไทยโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้จัดอันดับมหาวิทยาลัยของประเทศไทยใน "โครงการฐานข้อมูลออนไลน์เพื่อประเมินศักยภาพของมหาวิทยาลัยไทย" เมื่อปี พ.ศ. 2549 สถานที่สำคัญในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดังนี้
         ศาลาธรรม ซึ่งเป็นอาคาร 2 ชั้น ทรงไทย ตั้งอยู่ด้านหน้ามหาวิทยาลัย ตัวอาคารประกอบด้วยห้องโถงกว้าง12 เมตร ยาว 20 เมตร สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2507 ต่อมาได้มีการต่อเติมตัวอาคารด้านหลังและทำซุ้มเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปซึ่งเป็นพระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัย ในระยะแรกศาลาธรรมเป็นสถานที่จัดพิธีไหว้ครูของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อศาลาอ่างแก้วสร้างเสร็จจึงได้ประกอบพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและพิธีไหว้ครู ณ ศาลาอ่างแก้ว มหาวิทยาลัยจึงใช้ศาลาธรรมเป็นสถานที่เปลี่ยนฉลองพระองค์ และประทับพักพระอิริยาบถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯและพระบรมวงศานุวงศ์ในคราวเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตร ซึ่งเหล่าคณาจารย์ ข้าราชการ และนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็จะมาเฝ้ารอรับเสด็จ ณ สถานที่แห่งนี้ ต่อมาเมื่อหอประชุมมหาวิทยาลัยสร้างเสร็จจึงได้ย้ายสถานที่พระราชทานปริญญาบัตรและพิธีไหว้ครูไปยังหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยจึงได้ใช้ศาลาธรรมเป็นสถานที่จัดงานสำคัญๆของมหาวิทยาลัยในบางโอกาส เช่น การจัดงานแสดงความยินดี และงานเลี้ยงรับรองผู้มีเกียรติของมหาวิทยาลัย เป็นต้น  
         ศาลพระภูมิ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธฺิ์ของชาว มช. ที่อยู่บริเวณหน้าตึกมหาวิทยาลัยหรือศาลาธรรมในปัจจุบัน ซึ่งศาลพระภูมิของมหาวิทยาลัยเป็นเสมือนศูนย์รวมจิตใจของนักศึกษามหาวิทยาเชียงใหม่ สมัยหนึ่ง เคยมีผู้บริหารของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำริให้โค่นศาลพระภูมินี้ทิ้ง แต่ก็ไม่มีใครกล้าเป็นแกนนำ เพราะ ณ ที่นี้มีตำนานเก่าแก่โบราณเล่าขาน เคยมีนักศึกษาบางคนเห็นเจ้าที่โบกมือให้ เรื่องนี้เป็นเรื่องเล่าต่อๆกันมานับตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2514 รายละเอียดเพิ่มเติมของเรื่องลึกลับนี้ สามารถหาอ่านได้จากหนังสือ เรื่องลึกลับของวีรวัฒน์ กนกนุเคราะห์ในฐานะศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ซึ่งได้อ้างอิงและมีบันทึกเรื่องราวความลึกลับของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งหมดทุกแง่มุม  
         อ่างแก้ว เป็นอ่างเก็บน้ำของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของมหาวิทยาลัย ซึ่งอ่างแก้วนอกจากจะใช้กักเก็บน้ำเพื่อใช้ภายในมหาวิทยาลัยแล้วยังเป็นสถาที่สวยงามและที่พักผ่อนหย่อนใจของลูกช้าง มช ด้วยเช่นกัน  
         ศาลาอ่างแก้ว เป็นสถานที่พระราชทานปริญญาบัตรในอดีตก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นหอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปัจจุบันศาลาอ่างแก้วใช้ประกอบพิธีต่างๆเช่น การเตรียมตัวก่อนขึ้นดอยของนักศึกษาในกิจกรรมรับน้องขึ้นดอย การรับน้อง และการออกกำลังกาย เป็นต้น  
         หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นสถานที่รับพระราชทานปริญญาบัตรของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถานที่จัดกิจกรรมรับน้องรวม ปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ กิจกรรมเฟรชชีไนท์เป็นต้น  
         ตลาดร่มสัก หรือ ตลาดฝายหินเป็นตลาดขายอาหารที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมของชาว มช เป็นอย่างมากซึ่งอยู่คู่มหาวิทยาลัยแห่งนี้มายาวนานหลายยุคสมัย และในตลาดร่มสักมีเมนูอาหารที่ขึ้นชื่อคือ สลัดฝายหิน และน้ำผลไม้ ซึ่งอาหารที่นี่มีราคาถูกมาก
         นอกจากแหล่งเรียนรู้สุดประทับใจดังได้กล่าวมา ดินแดนล้านนาของเรายังมีแหล่งเรียนรู้อื่น ๆ อีกมากมาย ที่ผู้สนใจสามารถหาโอกาสมาแวะเวียน ศึกษาเรียนรู้ พักผ่อนกาย ใจ ได้ตามอัธยาศัย ทั้งแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ แหล่งเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรม และอื่น ๆ อีกมากมาย

เอกสารอ้างอิง แก้

[1] [2] [3] [4] [5] [6] [7] [8] [9] [10] [11] [12]

  1. กระทรวงศึกษาธิการ. (2555). คู่มือการดำเนินงานการจัดการศึกษาโดยครอบครัว. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ สกสค.
  2. โจน จันได. (2557). นักเรียนนอกกะลา การศึกษาเขย่าโลก. [การบรรยาย]. สวนพุทธธรรม สวนโมกข์กรุงเทพ : 29 พฤศจิกายน.
  3. สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. (2557). การจัดการศึกษาโดยครอบครัว พัฒนาผู้เรียนเฉพาะบุคคล จากการศึกษาพิเศษถึงการจัดการศึกษาโดยครอบครัว. นนทบุรี: รุ่งโรจน์อินเตอร์กรุ๊ป.
  4. JSTP 18. (2558). โคงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กและเยาวชน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รุ่นที่ 18 ครั้งที่ 2 ณ ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่.
  5. http://www.bloggang.com/m/mainblog.php?id=nugade&month=07-05-2013&group=6&gblog=73
  6. https://www.facebook.com/chittima.nitinakprach/photos_all
  7. https://www.facebook.com/sukhee.somngoen/photos_all
  8. http://www.thaiticketmajor.com/Travel-News/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%87%E0%B8%94%E0%B8%A2%E0%B8%AD%E0%B8%94-%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD-%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B9%82%E0%B8%9E%E0%B8%98%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3-%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88-1413-en.html
  9. https://www.youtube.com/watch?v=_S0zRt8PCpw
  10. https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B9%82%E0%B8%9E%E0%B8%98%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3
  11. https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%84%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B9%8C%E0%B8%8B%E0%B8%B2%E0%B8%9F%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B5
  12. https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88#.E0.B8.AA.E0.B8.96.E0.B8.B2.E0.B8.99.E0.B8.97.E0.B8.B5.E0.B9.88.E0.B8.AA.E0.B8.B3.E0.B8.84.E0.B8.B1.E0.B8.8D.E0.B9.83.E0.B8.99.E0.B8.A1.E0.B8.AB.E0.B8.B2.E0.B8.A7.E0.B8.B4.E0.B8.97.E0.B8.A2.E0.B8.B2.E0.B8.A5.E0.B8.B1.E0.B8.A2.E0.B9.80.E0.B8.8A.E0.B8.B5.E0.B8.A2.E0.B8.87.E0.B9.83.E0.B8.AB.E0.B8.A1.E0.B9.88