ป้อมวิไชยประสิทธิ์

ป้อมปราการเก่าแก่ในกรุงเทพมหานคร
(เปลี่ยนทางจาก ป้อมวิไชยเยนทร์)

ป้อมวิไชยประสิทธิ์ เป็นป้อมปราการเก่าแก่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านตะวันตก ทางเหนือของปากคลองบางหลวง (คลองบางกอกใหญ่) ปัจจุบันอยู่ในบริเวณกองบัญชาการกองทัพเรือ พระราชวังเดิม ถนนอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร

ป้อมวิไชยประสิทธิ์
ส่วนหนึ่งของพระราชวังเดิม
แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร ในประเทศไทย
ป้อมวิไชยประสิทธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
ประเภทป้อมปราการ
ข้อมูล
ควบคุมโดยกองทัพเรือไทย
เปิดสู่
สาธารณะ
ปีละ 1 ครั้ง
สภาพยังใช้งานอยู่
ประวัติศาสตร์
สร้างรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
สร้างโดยพระยาวิไชเยนทร์
สถาปนิกเดอ ลามาร์
การใช้งานใช้ยิงสลุตหลวงของกองทัพเรือในพระราชพิธีต่าง ๆ
วัสดุอิฐ
การต่อสู้/สงครามการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2231
เหตุการณ์การสวรรคตของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนป้อมวิไชยประสิทธิ์
ขึ้นเมื่อ22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492
เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร
เลขอ้างอิง0000138
เป็นป้อมปราการสมัยกรุงศรีอยุธยาเพียงแห่งเดียวในกรุงเทพมหานคร
ป้อมวิไชยประสิทธิ์

ป้อมวิไชยประสิทธิ์เดิมเป็นป้อมหอรบตั้งอยู่มุมกำแพงเมืองบางกอก (ธนบุรี) ถูกสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเพื่ออารักขาปากแม่น้ำ ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าขายสำคัญ คาดว่าป้อมนี้ถูกสร้างขึ้นก่อนรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยอาจมีชาวโปรตุเกสช่วยออกแบบ[1]

ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ได้ทรงให้ปรับปรุงและสร้างป้อมเมืองบางกอกขึ้นใหม่ โดยอาจดำเนินการตามคำกราบบังคมทูลของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) การออกแบบและควบคุมการก่อสร้างป้อมทำโดยมองซิเออร์เดอ ลา มาร์ นายช่างชาวฝรั่งเศสผู้มีบทบาทในการก่อสร้างป้อมปราการหลายแห่งสมัยสมเด็จพระนารายณ์ โดยคุณพ่อ โทมัสโซ วัลกวาเนรา บาทหลวงคณะเยสุอิตชาวอิตาเลียน เป็นที่ปรึกษาด้านวิศวกรรม[2] ลา มาร์ได้วางแผนก่อสร้างป้อมดาวตามแบบตะวันตกทั้งสองฝั่งแม่น้ำ มีโซ่ขึงกั้นแม่น้ำเพื่อป้องกันเรือเข้าออก แต่มีเพียงป้อมฝั่งตะวันออกที่ได้สร้างจนสำเร็จ ก่อนจะเกิดการปฏิวัติเมื่อปลายแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ และถูกรื้อลงในสมัยรัตนโกสินทร์[1] (บางแหล่งกล่าวว่ารื้อลงในสมัยสมเด็จพระเพทราชา) ป้อมวิไชยประสิทธิ์จึงยังคงรูปลักษณ์เดิมอยู่

ป้อมทั้งสองฝั่งแม่น้ำนี้ แหล่งข้อมูลบางแหล่งระบุชื่อป้อมฝั่งตะวันออกว่า ป้อมวิไชยเยนทร์ และฝั่งตะวันตกว่าป้อมวิไชยประสิทธิ์ ขณะที่บางแหล่งเรียกรวมกันว่าป้อมวิไชยเยนทร์หรือ ป้อมบางกอก และระบุว่าต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี ได้ทรงสร้างพระราชวังขึ้นบริเวณป้อมฝั่งตะวันตก พร้อมกับปรับปรุงป้อมพระราชทานนามว่า "ป้อมวิไชยประสิทธิ์"

ป้อมวิไชยประสิทธิ์มีสถาปัตยกรรมเป็นป้อมก่ออิฐฉาบปูน มีกำแพงรูปแปดเหลี่ยม 2 ชั้น สร้างขนานกัน กำแพงชั้นในมีหอคอยกลมทรงสอบสองหลัง ตั้งอยู่บนกำแพงตรงมุมด้านทิศเหนือ และทิศใต้ [3]

ปัจจุบันป้อมวิไชยประสิทธิ์อยู่ในความดูแลของกองทัพเรือไทย ใช้เป็นที่ยิงสลุตในพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ และมีการติดตั้งเสาธงบริเวณทางเข้าป้อมทางทิศตะวันตกตรงกำแพงชั้นใน เพื่อชักธงราชนาวีและธงผู้บัญชาการทหารเรือ

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 พิพัฒน์ กระแจะจันทร์. (2560). การค้าในการเมือง กับ มองซิเออร์ เดอ ลามาร์ วิศวกรฝรั่งเศสผู้ออกแบบป้อมกำแพงเมืองในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์. วิจิตรศิลป์. 8(2): 185-264. https://www.tci-thaijo.org/index.php/fineartsJournal/article/view/78661.
  2. "160ปี ของคณะเยสุอิต ในกรุงศรีอยุธยา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-04-15. สืบค้นเมื่อ 2018-09-25.
  3. "สถานที่ท่องเที่ยว : ป้อมวิไชยประสิทธิ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-09-06. สืบค้นเมื่อ 2009-04-19.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

13°44′32″N 100°29′27″E / 13.742199°N 100.4907846°E / 13.742199; 100.4907846