ปาฏิหาริย์แห่งแม่น้ำฮัน

ปาฏิหาริย์แห่งแม่น้ำฮัน (เกาหลี: 한강의 기적 , ฮันจา:漢江의 奇蹟, Hangangui Gijeok; อังกฤษ: Miracle on the Han River) เป็นปรากฏการณ์การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเกาหลีใต้อย่างรวดเร็วในช่วงหลังสงครามเกาหลี ซึ่งทำให้เกาหลีใต้กลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเป็นผลจากการที่เกาหลีใต้กลายเป็นประชาธิปไตย และการที่เกาหลีใต้ได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อน 1988 กับฟุตบอลโลก 2002 จนทำให้ปัจจุบันเกาหลีใต้มีเศรษฐกิจระดับล้านล้านดอลลาร์สหรัฐและมีบรรษัทข้ามชาติที่เป็นที่รู้จักกันทั่วโลกอย่างเช่น ซัมซุง แอลจี และกลุ่มบริษัทฮุนได[1]

เศรษฐกิจเกาหลีใต้เติบโตไม่หยุดจากระดับใกล้ศูนย์เป็นกว่าล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐในเวลาไม่ถึงครึ่งศตวรรษ

คำว่า "ปาฏิหาริย์แห่งแม่น้ำฮัน" หมายถึงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของกรุงโซล ซึ่งเป็นสถานที่ที่แม่น้ำฮันไหลผ่าน โดยมีที่มาจากคำว่า "ปาฏิหาริย์แห่งแม่น้ำไรน์" ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศเยอรมนีตะวันตกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง คำว่า "ปาฏิหารณ์แห่งแม่น้ำฮัน" หมายถึงช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ. 2496 - พ.ศ. 2539 ซึ่งเป็นช่วงที่เกาหลีใต้พัฒนาอย่างก้าวกระโดด ถ้าพิจารณาสถานการณ์ในสมัยนั้น จะเห็นว่าการพัฒนาประเทศเกาหลีใต้นั้นไม่อาจเป็นไปได้ เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานของกรุงโซลถูกทำลายไปในสงครามเกาหลี และชาวเกาหลีใต้หลายล้านคนตกอยู่ในสภาพยากจนและมีคนว่างงานอีกเป็นจำนวนมาก เมื่อนายพลพัก จ็อง-ฮี ยึดอำนาจในปี พ.ศ. 2504 คนเกาหลีใต้มีอัตรารายได้เฉลี่ยต่อหัวในอัตราต่ำกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี และประเทศเกาหลีใต้ยังต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากต่างประเทศ โครงการพัฒนาชุมชนใหม่ของประธานาธิบดีพัก จ็อง-ฮี มุ่งพัฒนาชนบทของประเทศเกาหลีใต้ โดยความเข้มแข็งของรัฐบาลเผด็จการและความมีประสิทธิภาพของการใช้แรงงานราคาถูกซึ่งทำให้เศรษฐกิจของเกาหลีใต้เริ่มเติบโต ในระยะเวลาไม่ถึงสี่ทศวรรษ เกาหลีใต้เปลี่ยนผ่านไปเป็นประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลก เป็นศูนย์กลางทางด้านธุรกิจและการค้าของเอเชีย เป็นประเทศเศรษฐกิจที่สำคัญของโลกทั้งเป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจและมีโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีขั้นสูง ทำให้ชาวเกาหลีถือว่าปรากฏการณ์นี้เป็นความภูมิใจของชาติ และเป็นหลักฐานแสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะทำทุกอย่างได้

เศรษฐกิจหลังสงครามเกาหลี แก้

เศรษฐกิจของเกาหลีใต้หลังสงครามเกาหลีทรุดโทรมอย่างรุนแรง รายได้ประชาชาติต่ำลงเรื่อยๆ รัฐบาลมีฐานะทางการเงินย่ำแย่ การลงทุนมีน้อย ถึงแม้จะได้รับการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจากสหรัฐอเมริกาอย่างมากมาย รวมทั้งความช่วยเหลือจากสัมพันธมิตรอื่นๆด้วย แต่สภาพเศรษฐกิจโดยรวมไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ แม้ว่ารัฐบาลจะมีการใช้จ่ายอย่างมหาศาลเพื่อบูรณะประเทศแล้วก็ตาม

กิจกรรมทางเศรษฐกิจของเกาหลีในช่วงนี้ส่วนใหญ่ถูกผูกขาดจากนายทุนเพียงไม่กี่ราย โดยมีอิทธิพลของนักการเมืองและระบบราชการหนุนหลัง กิจการผูกขาดส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งมีผลทำให้คนส่วนใหญ่ยากจนโดยที่คนชั้นผู้นำไม่ได้เอาใจใส่ดูแลประชาชนเท่าที่ควร [2]

เศรษฐกิจสมัยพัก จองฮี แก้

เมื่อพัก จองฮีเถลิงอำนาจในปี ค.ศ. 1962 เกาหลีใต้จึงก้าวสู่การพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง ในสมัยของเขามีการวางแผนสำหรับอนาคตและหาทางเลือกที่ก่อประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติ รัฐบาลกำหนดนโยบายต่างๆ ออกมาเพื่อเร่งการพัฒนาประเทศเรียกว่าแผนพัฒนาห้าปี และด้วยนโยบายที่เน้นความสำคัญทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมากและความพยายามขจัดปัญหาความยากจน รัฐบาลเกาหลีใต้ภายใต้การนำของพัก จองฮีใช้กลยุทธ์ที่สำคัญคือการมองออกไปข้างนอกหรือการมีสัมพันธ์กับตลาดโลก (Outward-Looking Strategy) แทนกลยุทธ์เน้นตนเองหรือมองแต่ตลาดภายใน (Inward-Looking Strategy)

กลยุทธ์มองไปข้างนอก (Outward-Looking Strategy) คือการมีความสัมพันธ์กับตลาดโลกในด้านการค้า มีการผลิดเพื่อขายในตลาดโลกแทนการผลิตเพื่ออุปโภคบริโภคในประเทศ และที่สำคัญคือเป็นการทำอุตสหกรรมที่ส่งเสริมการใช้แรงงาน (labour-intensive) ในขณะเดียวกันรัฐบาลลดกฎเกณฑ์และความเข้มงวดในการนำเข้าลดน้อยลง

โดยที่รัฐบาลภายใต้การนำพัก จองฮี ใช้นโยบายเน้นอุตสหกรรมการส่งออกแทนนโยบายอุตสหกรรมผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า และไม่เน้นการพัฒนาเกษตรกรรมเป็นพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ก็มีเหตุผลว่าพื้นที่ประเทศเกาหลีมีขนาดไม่ใหญ่มากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรและมีพื้นที่ทำการเกษตรเพียงร้อยละ 20 ของประเทศเท่านั้น อีกประการหนึ่งคือการได้รับเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศลดลง ทำให้เกาหลีใต้จำเป็นต้องเน้นอุตสหกรรมส่งออกเพื่อที่จะสร้างรายได้ให้กับประเทศ รัฐบาลเกาหลีในยุคนี้ได้ตระหนังถึงข้อจำกัดของประเทศโดยมีการวางแผนในระยะยาวให้กับประเทศ และมีการส่งคนเกาหลีไปดูงานและศึกษาความเป็นไปได้ยังประเทศอุตหกรรมในยุโรป นอกจากนี้ตัวอย่างจากประเทศญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจก็รับการศึกษาอย่างละเอียดจากนักวิชาการเกาหลีด้วยเพื่อที่จะได้กำหนดแผนนโยบายการพัฒนาประเทศได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพมากที่สุด[3]

แผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ แก้

แผนพัฒนาห้าปีฉบับที่ 1 (ปี ค.ศ.1962-1966) แก้

ในปี ค.ศ.1962 เป็นปีที่เกาหลีใต้เริ่มใช้แผนพัฒนาห้าปีฉบับแรก ซื่งเน้นการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ (Infra-structure) และทุนสังคมอื่นๆ (Social-Capital Formation) และมีการส่งเสริมอุตสหกรรมโดยรัฐบาลเขาแทรกแซงโดยตรงในอุตสหกรรมหลักและกิจกรรมที่เกี่ยวกับอุตสหกรรมสำคัญๆ แต่ยังยึดนโยบายเศรษฐกิจเสรีหรือให้กลไกตลาดมีบทบาทในเศรษฐกิจได้พอสมควร

แผนพัฒนาห้าปีฉบับที่ 2 (ปี ค.ศ.1967-1971) แก้

แผนนี้มีรายละเอียดเพิ่มขึ้นโดยมีทั้งแผนเศรษฐกิจมหภาคและแผนสาขาย่อย พยายามสร้างเป้าหมายที่มีความเป็นไปได้มากขึ้น และในการสร้างแผนได้มีการเอาหลักการวิเคราะห์ผลตอบแทน (Cost-Benefit Analysis) มาใช้ด้วย

การพัฒนาชนบทของเกาหลีใต้ (Saemaul Undong) แซมาอึล อุนดง เกาหลีใต้ได้สร้างขบวนการพัฒนาชุมชนในช่วงปีค.ศ. 1971 ซื่งเป็นปีสุดท้ายของแผนพัฒนาห้าปีฉบับที่ 2 จุดกำเนิดของ“แซมาอึล อุนดง”อันเนื่องมาจากภายหลังเหตุการณ์น้ำท่วมในปีค.ศ. 1969 ซึ่งประชาชนต่างพากันซ่อมแซมหลังคาบ้านเรือนและถนนหนทางด้วยตนเอง โดยปราศจากการช่วยเหลือจากภาครัฐ ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญของประธานาธิบดี พัก จุงฮี ที่จะให้การช่วยเหลือชุมชนในชนบท พัก จุงฮี ตระหนักดีว่า ความช่วยเหลือของรัฐบาลย่อมจะไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิงเว้นแต่ว่าประชาชนจะลงมือกระทำสิ่งต่างๆ ด้วยจิตวิญญาณของการพึ่งพาตนเอง การโน้มน้าวชุมชนในชนบทให้รู้จักการพึ่งพาตนเองและร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาชนบท และแนวคิดเหล่านี้ก็คือหลักการพื้นฐานของแซมาอึล อุนดง หรือขบวนการสร้างหมู่บ้านใหม่

จิตวิญญาณซึ่งเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวของ แซมาอึล อุนดง มี 3 ประการ

  • ความขยันหมั่นเพียร (Diligence)
  • การพึ่งพาตนเอง (Self-help)
  • ความร่วมมือ (Cooperation)

การดำเนินงานของ แซมาอึล อุนดง ในช่วงปีค.ศ. 1970 ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะไม่มีเงินทุนมากพอที่จะสนับสนุนการจัดทำโครงการต่างๆ แต่ก็ใช่ว่าจะทำอะไรไม่ได้เลย เพราะการปรับปรุงสิ่งจำเป็นพื้นฐานหลายๆ ประการ ก็อาจกระทำได้โดยอาศัยความช่วยเหลือจากรัฐบาลที่มีเพียงเล็กน้อยได้ โดยรัฐบาลได้ทดลองจัดทำโครงการสำคัญ 10 โครงการ เพื่อพัฒนาพื้นที่ชนบทได้แก่ การขยายถนนในท้องถิ่น การปรับปรุงหลังคาบ้านเรือน ห้องครัว และรั้วบ้าน การจัดให้มีแหล่งบริการซักรีด การสร้างบ่อน้ำชุมชน การก่อสร้างสะพาน รวมถึงการปรับปรุงระบบชลประทาน [4]

แผนพัฒนาห้าปีฉบับที่ 3 (ปี ค.ศ.1972-1976) แก้

เป็นแผนที่เน้นความเสมอภาคและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

แผนพัฒนาห้าปีฉบับที่ 4 (ปี ค.ศ.1977-1981) แก้

เป็นแผนสุดท้ายของประธานาธิบดี พัก จุงฮี (โดนลอบสังหารในปี ค.ศ.1979)

แผนพัฒนาห้าปีฉบับที่ 5 (ปี ค.ศ.1982-1986) แก้

ในแผนนี้เน้นการพัฒนาให้มีเสถียรภาพ ประสิทธิภาพและความเสมอภาค รวมทั้งการแข่งขันอย่างเสรีในตลาดโลก

อัตราการขยายตัว แผนฯ 1 แผนฯ 2 แผนฯ 3 แผนฯ 4 แผนฯ 5
อัตราการเจริญเติบโตของ GNP 8.3 11.4 11.2 5.7 8.5
ประมง 5.5 2.0 5.8 1.0 3.8
เหมืองแร่และอุตสหกรรม 14.8 20.9 20.1 10.0 9.7
สาธารณูปโภคและบริการอื่นๆ 8.9 13.2 8.5 5.3 8.8
การลงทุนต่อ GNP 16.9 15.5 27.0 30.1 29.5
การออมภายในประเทศ 6.7 15.5 17.0 23.5 27.1
การออมจากต่างประเทศ 10.2 15.1 11.8 5.9 3.2

อ้างอิง แก้

  1. Park Chung-hee Admired for Making Something Out of Nothing The Korea Times, 2009-10-25
  2. ญาดา ประภาพันธ์, ประวัติการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมใหม่, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, กรุงเทพ พิมพ์ครั้งที่ 1 2538, หน้า 33, ISBN 974-599-414-6
  3. [1] เก็บถาวร 2017-11-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนยุทธศาสตร์การพัฒนาของสาธารณรัฐเกาหลี,2548
  4. [2] เก็บถาวร 2021-08-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน แซมาอึล อุน ดง,

แหล่งข้อมูลอื่น แก้