ปัญหาชาวยิว (อังกฤษ: Jewish question) ครอบคลุมปัญหาและการแก้ปัญหาแวดล้อมสถานะพลเมือง กฎหมายและสัญชาติอันไม่เท่าเทียมทางประวัติศาสตร์ระหว่างชนกลุ่มน้อยชาวยิวอัชเคนาซิและผู้ที่มิใช่ยิว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปยุโรป ปัญหาแรกอภิปรายและถกเถียงกันในหมู่ชนชั้นสูง นักการเมืองและนักเขียนในยุโรปตะวันตกและยุโรปกลางระหว่างยุคภูมิธรรมและการปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งปัญหานี้รวมไปถึงการขาดคุณสมบัติทางพลเมืองทางเศรษฐกิจและกฎหมายของยิว ความเท่าเทียม การปลดปล่อยชาวยิวให้เป็นอิสระและภูมิธรรมยิว (Jewish Enlightenment) ปัญหา ซึ่งรวมไปถึงการผสมกลมกลืนในการพลัดถิ่นและลัทธิไซออนิสต์ ยังคงดำเนินต่อไปถึงคริสต์ศตวรรษที่ยี่สิบ คำดังกล่าวเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับช่วงที่การต่อต้านยิวเพิ่มขึ้นเมื่อคริสต์ทศวรรษ 1880 เช่นเดียวกับความพยายามในการสถาปนารัฐยิว

ประวัติ แก้

คำว่า "ปัญหาชาวยิว" ใช้ครั้งแรกในบริเตนใหญ่นับแต่ประมาณ ค.ศ. 1750 ตามข้อมูลนักวิชาการการล้างชาติโดยนาซี ลูซี ดาวีโดวิกซ์ (Lucy Dawidowicz) คำว่า "ปัญหาชาวยิว" ดังที่เริ่มปรากฏใช้ในยุโรปตะวันตกนี้ เป็นการแสดงออกอย่างเป็นกลางถึงทัศนะในแง่ลบต่อลักษณะเฉพาะภายนอกและติดตาของยิวในฐานะผู้คนต่อเบื้องหลังของชาตินิยมทางการเมืองและรัฐชาติใหม่ที่กำลังรุ่งเรืองขึ้น ดาวีโดวิกซ์เขียนว่า "ประวัติศาสตร์การปลดปล่อยชาวยิวและการต่อต้านยิวยุโรปนั้นเต็มด้วย 'หนทางแก้ไขปัญหาชาวยิว' ที่มีการเสนอ"[1] ปัญหานั้นอภิปรายกันต่อไปในฝรั่งเศส (เรียกว่า "la question juive") หลังการปฏิวัติฝรั่งเศสใน ค.ศ. 1789 ก่อนขยายไปยังเยอรมนีผ่านบทความ "Die Judenfrage" (ดี ยูเดนฟราเกอ) ของบรูโน เบาเออร์

นับแต่จุดนั้น บทความ จุลสาร บทความหนังสือพิมพ์และหนังสืออื่นอีกนับร้อยถูกเขียนขึ้นว่าด้วยหัวข้อดังกล่าว โดยมีการเสนอ "ทางแก้" หลากหลาย รวมทั้งการโยกย้ายถิ่นฐาน การเนรเทศ และการดูดกลืนประชากรยิว คล้ายกัน งานวรรณกรรมอีกนับร้อยชิ้นเขียนขึ้นเพื่อคัดค้าน "ทางแก้" เหล่านี้ และเสนอทางแก้เช่น บูรณาการใหม่ และการศึกษา

อย่างไรก็ดี การถกเถียงนี้ไม่อาจตัดสินได้ว่าปัญหาชาวยิวข้องเกี่ยวกับปัญหาที่คู่ปรับของชาวยิวเยอรมันก่อขึ้นมากกว่าหรือกลับกัน อันเป็นปัญหาซึ่งเกิดขึ้นจากการมีชาวยิวเยอรมันต่อคู่ปรับของพวกเขา

นับแต่ราว ค.ศ. 1860 เป็นต้นมา แนวคิดนี้ได้มีแนวโน้มต่อต้านยิวเพิ่มขึ้น ชาวยิวได้รับการอธิบายภายใต้ชื่อนี้ว่าเป็นอุปสรรคกีดขวางต่ออัตลักษณ์และความเชื่อมแน่นของชาติเยอรมันและในฐานะศัตรูภายในประเทศของชาวเยอรมันเอง ผู้ต่อต้านชาวยิวเช่น วิลเฮล์ม มาร์, คาร์ล ออยเกน ดือริง, เธโอดอร์ ฟริทช์, ฮิวสตัน สจวร์ต เชมเบอร์เลน, พอล เดอ ลาการ์ด เป็นต้น ประกาศว่า ปัญหาชาวยิวเป็นปัญหาทางเชื้อชาติซึ่งไม่อาจแก้ไขได้ด้วยการผสานกลืน เพื่อที่จะเสนอข้อเรียกร้องสำหรับ "การนำยิวออกจาก" สื่อ การศึกษา รัฐและเศรษฐกิจ ความเข้าทีทางวัฒนธรรม ร่วมกับข้อเรียกร้องให้บังคับมิให้มีการแต่งงานระหว่างยิวกับผู้ที่ไม่ใช่ยิว พวกเขายังใช้นิยามนี้ขับยิวออกจากตำแหน่งครอบงำทางสังคมที่มากกว่าของพวกเขา

การใช้สำนวนนี้อย่างไม่เป็นทางการมากที่สุดใช้โดยนาซีในช่วงต้นและกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 ซึ่งลงเอยด้วยการนำ "ทางแก้ปัญหาชาวยิวสุดท้าย" ไปปฏิบัติระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง[2][3]

อ้างอิง แก้

  1. Lucy Dawidowicz, The War Against the Jews, 1933-1945 (New York, 1975), pp. xxi-xxiii.
  2. Stig Hornshoj-Moller (1998-10-24). "Hitler's speech to the Reichstag of January 30, 1939". The Holocaust History Project. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-03-14. สืบค้นเมื่อ 2008-03-25.
  3. Furet, François. Unanswered Questions: Nazi Germany and the Genocide of the Jews. Schocken Books (1989), p. 182; ISBN 0805240519