ปะหล่อง (พม่า: ပလောင် လူမျိုး, ออกเสียง: [pəlàʊ̯ɰ̃ lùmjó]) เป็นชนกลุ่มน้อยพวกหนึ่ง นับเป็นหนึ่งใน 56 กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศจีน นอกจากนี้ยังมีชาวปะหล่องอาศัยอยู่ในประเทศพม่า และมีบางส่วนที่อพยพเข้ามาประเทศไทยบริเวณชายแดน ใกล้ดอยอ่างขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ชาวปะหล่องพูดภาษาปะหล่อง ซึ่งเป็นภาษาตระกูลมอญ-เขมร

ปะหล่อง
สตรีชาวปะหล่องในรัฐฉาน ประเทศพม่า
ประชากรทั้งหมด
557,000 (est.)
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ
ประเทศพม่า ประชากรจำนวนน้อยในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน และประเทศไทย
ภาษา
ปะหล่อง
ศาสนา
พุทธเถรวาท

คำว่า "ปะหล่อง" เป็นคำที่ชาวไทใหญ่ใช้เรียก แต่ชนกลุ่มน้อยเหล่านี้จะเรียกตนเองว่า ดาราอั้ง[1] เป็นชาวเขาชนเผ่าหนึ่งที่มีที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บนดอยสูง กระจัดกระจายอยู่บริเวณรัฐฉาน รัฐกะชีน ประเทศพม่า และมณฑลยูนนาน ประเทศจีน แต่ด้วยภัยสงครามและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศพม่า ช่วงปี พ.ศ. 2511–2527 ชาวดาราอั้งจำนวนมากต้องข้ามน้ำสาละวินลัดเลาะจากเชียงตอง เมืองปั่น ในเขตเชียงตุง มายังฝั่งประเทศไทย มาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  ทรงโปรดเกล้าฯ ให้อาศัยบริเวณบ้านนอแล บ้านห้วยเลี้ยม บ้านแคะนุ ซึ่งเป็นหมู่บ้านใกล้กับพื้นที่รับผิดชอบของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อำเภอฝาง และส่วนหนึ่งจัดให้อยู่ บ้านปางแดง บ้านแม่จร บ้านห้วยโป่ง อำเภอเชียงดาว บ้านห้วยหวาย บ้านห้วยทรายขาว อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ และบ้านสันต้นปุย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ในส่วนของเรือนที่อยู่อาศัย ชาวดาราอั้งนิยมสร้างเรือนด้วยเสาไม้ ฟากและฝาเป็นไม้ไผ่สับ เป็นเรือนยกพื้นสูง ขึ้นอยู่กับความลาดชันบนไหล่เขา และหลังคามุงด้วยหญ้าคา ดำรงชีพด้วยการทำเกษตรกรรมปลูกข้าว ปลูกข้าวโพด และเลี้ยงสัตว์

ชาวดาราอั้ง มีภาษาพูดเป็นของตนเอง คือ ภาษาดาราอั้ง จัดอยู่ในกลุ่มภาษาปะหล่อง–วะ แต่โดยทั่วไปแล้วชาวดาราอั้งสามารถพูดภาษาไทยใหญ่ได้ เนื่องจากถิ่นฐานเดิมอยู่ใกล้ชิดและมีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มไทใหญ่ ชาวดาราอั้งมีชีวิตที่ค่อนข้างสงบและเรียบง่าย ด้วยเพราะศรัทธาในพระพุทธศาสนาควบคู่ไปกับความเชื่อเรื่องผีอันเป็นความเชื่อดั้งเดิมของบรรพบุรุษ

หมวกสำหรับเด็กชายของชาวดาราอั้ง เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแต่งกายชนเผ่าดาราอั้ง บ้านปางแดงใน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

สตรีชาวดาราอั้งนิยมสวมเสื้อแขนกระบอก ผ่าหน้า เอวลอย สีสันสดใส ส่วนมากนิยมสีดำ น้ำเงิน เขียว และม่วง ในส่วนของสาบเสื้อเย็บด้วยผ้าสีแดง ตกแต่งด้วยเลื่อมและลูกปัดหลากสี นุ่งซิ่นลายขวางสีแดงสลับลายริ้วขาวเส้นเล็ก ๆ ผืนยาวกรอมเท้า เคียนหัวด้วยผ้าพื้นสีขาว และที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น คือ การสวมเอวด้วยวงหวาย บางคนก็ใช้โลหะสีเงินหรือทองตัดเป็นแถบยาวตอกลาย แล้วขดเป็นวง สวมใส่ปนกัน เรียกว่า “หน่องว่อง” สำหรับบุรุษชาวดาราอั้งนิยมสวมเสื้อแขนยาวสีขาว กางเกงสะดอหรือกางเกงเซี่ยมสีน้ำเงิน เคียนหัวด้วยผ้าพื้นสีขาว และที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น คือ การแกะฟันและฝังด้วยทองคำหรืออัญมณี ถือดาบ สะพายย่าม สูบกล้องยาสูบ

ประวัติศาสตร์ แก้

ใน ค.ศ. 1949 ชาวปะหล่องในประเทศจีน มีชื่อเรียกว่า Benglong ครั้นปี ค.ศ. 1985 มีชื่อเรียกใหม่ว่าเต๋ออ๋าง (จีน: ; พินอิน: Déáng Zú) ตามคำเรียกร้องของสมาชิกในกลุ่มชาติพันธุ์นี้

กลุ่ม แก้

ชาวปะหล่องแบ่งออกเป็นสามกลุ่มย่อย ได้แก่: Palé, Shwe และ Rumai[2]

วัฒนธรรม แก้

 
การแต่งกายของชาวดาราอั้ง บ้านปางแดงใน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

บ้านเรือนส่วนใหญ่ของชาวปะหล่องทำจากไม้ไผ่ แต่โครงเป็นไม้จริง ประตูหันหน้าไปทางทิศตะวันออก แต่ละครอบครัวมีบ้านของตนเอง มักเป็นบ้านสองชั้น (แต่บ้านชั้นเดียวก็มี) ชั้นล่างเป็นที่เก็บข้าวเปลือกและเลี้ยงสัตว์ ส่วนชั้นบนเป็นที่อยู่อาศัย

ผู้หญิงชาวปะหล่องแต่งกายแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น ปกติจะมีเสื้อกั๊กสีดำ หรือขาวทับด้านนอก ตกแต่งด้วยแถบกำมะหยี่หลากสี และนิยมนุ่งผ้าถุง

ชายชาวปะหล่องสวมเสื้อกั๊กสีขาวหรือกรมท่า กางเกงขายาว ขาบาน นอกจากนี้ยังโพกศีรษะด้วยผ้าขาวหรือดำ ในบางท้องถิ่น ชาวปะหล่องยังนิยมสักบนร่างกายเป็นรูปเสือ นก หรือดอกไม้

ศาสนา แก้

ชาวปะหล่องส่วนใหญ่ยึดมั่นในพุทธศาสนา และมีการสร้างวัดในเมืองส่วนใหญ่ของพวกเขา นอกจากทำบุญตามประเพณีของชาวพุทธแล้ว ชาวปะหล่องยังนิยมส่งลูกหลานที่มีอายุประมาณ 10 ขวบไปบวชสามเณร และสึกออกมาเพื่อถึงวัยผู้ใหญ่

อ้างอิง แก้

  1. "ดาราอั้ง - สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่". The Center for the Promotion of Arts and Culture, Chiang Mai University.
  2. Ta'ang = The Peoples of the World Foundation

อ่านเพิ่ม แก้

  • Palaung Women's Organisation. (2006). Poisoned flowers: the impacts of spiralling drug addiction on Palaung women in Burma. Tak, Maesot, Thailand: Palaung Women's Organisation.
  • Ashley, S. (2006). Exorcising with Buddha palaung Buddhism in northern Thailand. Ottawa: Library and Archives Canada = Bibliothèque et Archives Canada. ISBN 0-494-03309-6
  • Howard, M. C., & Wattana Wattanapun. (2001). The Palaung in northern Thailand. Chiang Mai, Thailand: Silkworm Books. ISBN 974-88325-1-1
  • Cameron, A. A. (1912). Notes on the Palaung of the Kodaung Hill tracts of Mong Mit State. Rangoon: Govt. Printer.
  • Milne, Mrs. Leslie. The Home of an Eastern Clan: A Study of the Palaungs of the Shan State, Oxford, Clarendon Press (1924).

แหล่งข้อมูลอื่น แก้