ปอแก้ว

พืชที่ให้เส้นใย

ปอแก้ว (ชื่อวิทยาศาสตร์: Hibiscus cannabinus; อังกฤษ: Kenaf)[2] เป็นพืชในวงศ์ชบา (Malvaceae) มีชื่อสามัญภาษาอังกฤษอื่น ๆ เช่น Deccan hemp, Java jute เป็นต้น โดย H. cannabinus อยู่ในสกุล Hibiscus มีถิ่นกำเนิดในเอเชียใต้ แม้ว่าจะไม่ทราบที่มาที่แน่นอน คำว่า Kenaf ถูกใช้กับเส้นใยที่ได้จากพืชชนิดนี้ เป็นหนึ่งในเส้นใยที่ใช้ร่วมกับปอกระเจาซึ่งมีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน

ปอแก้ว
Kenaf
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
อาณาจักร: พืช
เคลด: พืชมีท่อลำเลียง
เคลด: พืชดอก
เคลด: พืชใบเลี้ยงคู่แท้
เคลด: โรสิด
อันดับ: ชบา
วงศ์: ชบา
สกุล: สกุลชบา
L.
สปีชีส์: Hibiscus cannabinus
ชื่อทวินาม
Hibiscus cannabinus
L.
ชื่อพ้อง[1]
  • Abelmoschus congener Walp.
  • Abelmoschus verrucosus Walp.
  • Furcaria cannabina Ulbr.
  • Furcaria cavanillesii Kostel.
  • Hibiscus malangensis Baker f.
  • Hibiscus vanderystii De Wild.
  • Hibiscus vitifolius Mill. no. illeg.

ชื่อสามัญ แก้

ปอแก้วมีชื่อสามัญในภาษาต่าง ๆ มากกว่า 129 ชื่อ[3] ตัวอย่างเช่น

ฝรั่งเศส: chanvre de Bombay, chanvre de roselle, jute de Java, jute de Siam; เยอรมัน: Javajute, Kenaf, Rosellahanf, Roselle, Siamjute; โปรตุเกส: cânhamo rosella, juta-de-java, juta-do-sião, quenafe; สเปน: cáñamo Rosella, pavona encendida, yute de Java, yute de Siam

มราฐี: अंबाडी, อักษรโรมัน: Ambaadi; เตลูกู: గోంగూర, อักษรโรมัน: Gongura;[4] เปอร์เซีย: کنف, อักษรโรมัน: Kanaf; จีน: 红麻; พินอิน: hóng má (เปลี่ยนอย่างเป็นทางการจาก 洋麻; yáng má ระหว่างการปฏิวัติวัฒนธรรม)

ลักษณะ แก้

 
ต้นปอแก้วที่ตากแห้งแล้ว

เป็นไม้ล้มลุกอายุปีเดียวหรือสองปี (ส่วนน้อยเป็นไม้ยืนต้นอายุสั้น) สูง 1.5–3.5 เมตร โคนต้นมีเนื้อไม้ ลำต้นมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1–2 เซนติเมตร มักไม่แตกแขนง ใบมีความยาว 10–15 เซนติเมตร มีรูปร่างหลายแบบ โดยใบใกล้โคนก้านจะเว้าลึกเป็น 3–7 แฉก ส่วนใบใกล้ยอดลำต้นจะเป็นรูปใบหอกตื้นหรือไม่มีแฉก ดอกมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 8–15 เซนติเมตร สีขาว, สีเหลือง หรือสีม่วง โดยดอกที่มีสีขาวหรือสีเหลืองตรงกลางจะเป็นสีม่วงเข้ม ผลเป็นกระเปาะเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 เซนติเมตร ภายในมีหลายเมล็ด

เส้นใย แก้

เส้นใยในปอแก้วพบในเปลือก (bast) และแก่น (เนื้อไม้) ส่วนเปลือกคิดเป็น 40% ของต้น "เส้นใยดิบ" ที่แยกจากเปลือกเป็นแบบหลายเซลล์ ประกอบด้วยเซลล์หลายเซลล์ติดกัน[5] เซลล์เส้นใยแต่ละเซลล์มีรูปร่างเรียวความยาวประมาณ 2–6 มิลลิเมตร ผนังเซลล์หนา (6.3 ไมโครเมตร) แก่นคิดเป็นประมาณ 60% ของต้น และมีเซลล์เส้นใยหนา (ประมาณ 38 ไมโครเมตร) แต่สั้น (0.5 มิลลิเมตร) และผนังเซลล์บาง (3 ไมโครเมตร)[6] เยื่อกระดาษผลิตจากทั้งก้าน จึงมีเส้นใยสองประเภท ทั้งจากเปลือกและแก่น คุณภาพของเยื่อจะใกล้เคียงกับของไม้เนื้อแข็ง

การใช้ประโยชน์ แก้

 
การเก็บเกี่ยวปอแก้ว

ปอแก้วปลูกเพื่อเก็บเกี่ยวเส้นใยในประเทศอินเดีย, บังกลาเทศ, สหรัฐ, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, แอฟริกาใต้, เวียดนาม, ไทย, บางส่วนของแอฟริกา และมีพื้นที่ปลูกเล็กน้อยทางตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปยุโรป ลำต้นผลิตเส้นใยสองประเภท: เส้นใยหยาบบริเวณเปลือกนอก (bast) และเส้นใยที่ละเอียดกว่าในแกนกลาง เส้นใยส่วนเปลือกใช้ทำเชือก ต้นปอแก้วครบกำหนดเก็บเกี่ยวใน 100 ถึง 200 วัน มีการปลูกเป็นครั้งแรกในอียิปต์เมื่อ 3,000 ปีที่แล้ว ใบของต้นปอแก้วเป็นส่วนประกอบของอาหารทั้งของมนุษย์และสัตว์ ในขณะที่เส้นใยส่วนเปลือกใช้ทำกระสอบ, เชือก และใบเรือสำหรับเรือใบอียิปต์ พืชไร่ชนิดนี้ถูกนำเข้าสู่ยุโรปตอนใต้ไม่เร็วกว่าช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1900 ทุกวันนี้พื้นที่เพาะปลูกหลักคือประเทศจีนและอินเดีย และยีงพบการปลูกในสหรัฐ, เม็กซิโก และเซเนกัล

เส้นใยจากปอแก้วใช้ทำเชือก, ผ้าดิบ (คล้ายกับปอกระเจา) และกระดาษ ในรัฐมิสซิสซิปปี, ลุยเซียนา, เท็กซัส และแคลิฟอร์เนีย มีการปลูกปอแก้วรวม 12,000 เอเคอร์ (48.5 ตารางกิโลเมตร)[7] ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เป็นอาหารและปูรองนอนสำหรับปศุสัตว์

เส้นใยปอแก้วใช้ทำไม้เทียม, ฉนวนกันความร้อน, ผ้าแบบสำหรับตัดเสื้อ, ส่วนผสมของภาชนะปลูกแบบไม่ใช้ดิน, ที่นอนสัตว์, บรรจุภัณฑ์ และวัสดุที่ใช้ดูดซับน้ำมันและของเหลว นอกจากนี้ยังใช้ประโยชนโดยการตัดเส้นใยส่วนเปลือกผสมกับเรซินในการทำพลาสติกคอมโพสิต, เป็นสารป้องกันการสูญเสียน้ำโคลนขุดเจาะสำหรับการขุดเจาะน้ำมัน และส่วนผสมในสารสำหรับการควบคุมการกัดเซาะหน้าดินแบบมีเมล็ดพืชคลุมดิน (hydromulch) ปอแก้วสามารถทำเป็นวัสดุปูพื้นเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้หลายประเภท เช่น แผ่นปูหญ้าที่มีเมล็ดพันธุ์สำหรับสนามหญ้าสำเร็จรูป และแผ่นขึ้นรูปสำหรับชิ้นส่วนการผลิตและบรรจุภัณฑ์ บริษัทพานาโซนิก ได้จัดตั้งโรงงานในประเทศมาเลเซียเพื่อผลิตแผ่นกระดานที่ใช้เส้นใยปอแก้วและส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น

ฟอร์ดและบีเอ็มดับเบิลยู กำลังพัฒนาวัสดุสำหรับตัวถังรถจากเส้นใยปอแก้ว โดยเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการทำให้ยานพาหนะมีความยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งนำมาใช้ครั้งแรกในรถยนต์ฟอร์ดรุ่น Escape (2013)[8] ส่วนบีเอ็มดับเบิลยู i3 ใช้เส้นใยปอแก้วในคิ้วสีดำรอบคัน[9] การใช้ปอแก้วคาดว่าจะสามารถชดเชยวัสดุเรซินที่ผลิตจากปิโตรเลียมคิดเป็นน้ำหนัก 300,000 ปอนด์ต่อปี สำหรับโรงงานผลิตในทวีปอเมริกาเหนือ และควรลดน้ำหนักของวัสดุหุ้มประตูรถลงร้อยละ 25

รายงานในปี ค.ศ. 2021 บริษัท Kenaf Ventures ซึ่งเป็นบริษัทของอิสราเอลกำลังพัฒนาและผลิตวัตถุดิบที่ยั่งยืนซึ่งทำจากปอแก้ว ด้วยความพยายามที่จะลดการปล่อยคาร์บอนในภาคการก่อสร้างโดยไม่ลดคุณภาพของผลิตภัณฑ์[10]

น้ำมันเมล็ดปอแก้ว แก้

เมล็ดปอแก้วให้ผลผลิตน้ำมันพืชที่รับประทานได้ น้ำมันยังใช้สำหรับทำเครื่องสำอาง, สารหล่อลื่นสำหรับอุตสาหกรรม และการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ น้ำมันปอแก้วมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (PUFAs) สูง ประกอบด้วยกรดลิโนเลอิก (โอเมก้า-6) เป็นส่วนใหญ่ โดยรวมประกอบด้วยกรดลิโนเลอิก (C18:2) ตามด้วยกรดโอเลอิก (C18:1) และกรดลิโนเลนิกอัลฟา (C18:3) มีปริมาณร้อยละ 2 ถึง 4

น้ำมันเมล็ดปอแก้วมีน้ำหนัก 20.4% ของน้ำหนักเมล็ดทั้งหมด ประกอบด้วย:

อุตสาหกรรมกระดาษ แก้

กระบวนการทั่วไปในการทำกระดาษจากเส้นใยปอแก้วคือการต้มเยื่อโดยวิธีโซดาก่อนแปรรูปในเครื่องทำกระดาษ

การใช้เส้นใยปอแก้วในการผลิตกระดาษมีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าการผลิตกระดาษจากต้นไม้ ปี ค.ศ. 1960 กระทรวงเกษตรสหรัฐ ได้สำรวจพืชมากกว่า 500 ชนิด และเลือกปอแก้วเป็นวัตถุดิบที่มีแนวโน้มมากที่สุดสำหรับการผลิตกระดาษหนังสือพิมพ์โดยไม่ใช้ต้นไม้ ในปี ค.ศ. 1970 กระดาษหนังสือพิมพ์จากใยปอแก้วได้รับการนำไปใช้กับหนังสือพิมพ์ 6 ฉบับของสหรัฐ และอีกครั้งในปี ค.ศ. 1987 โรงงานกระดาษในแคนาดาได้ผลิตกระดาษหนังสือพิมพ์จากใยปอแก้ว 13 ม้วน ให้กับหนังสือพิมพ์สี่ฉบับของสหรัฐใช้ในการทดลองพิมพ์[11] พวกเขาพบว่ากระดาษจากใบปอแก้ว มีความแข็งแรงกว่า, สว่างกว่า และสะอาดกว่ากระดาษจากเยื่อต้นสนมาตรฐาน รวมทั้งทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า ส่วนหนึ่งเนื่องจากเส้นใยของปอแก้วมีสีขาวตามธรรมชาติมากกว่าเนื้อไม้ จึงต้องใช้การฟอกสีน้อยลงในการสร้างแผ่นกระดาษที่สว่างขึ้น ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ซึ่งเป็นสารฟอกขาวที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมไม่สร้างสารไดออกซิน ถูกนำมาใช้เป็นหลักในการฟอกสีเส้นใยปอแก้ว

รายงานหลายฉบับแนะนำว่าความต้องการพลังงานในการผลิตเยื่อกระดาษจากใยปอแก้วนั้นน้อยกว่าข้อกำหนดสำหรับเยื่อไม้ประมาณร้อยละ 20 ส่วนใหญ่เนื่องมาจากปริมาณลิกนินในปอแก้วที่ต่ำกว่า

พื้นที่ปลูกปอแก้ว 1 เอเคอร์ (4,000 ตารางเมตร) ให้ผลผลิต 5 ถึง 8 ตันสำหรับเส้นใยทั้งสองชนิดของปอแก้วในหนึ่งฤดูปลูก ในทางตรงกันข้าม ป่าไม้สน (Southern pine) ขนาด 1 เอเคอร์ ในสหรัฐ ผลิตเส้นใยได้ประมาณ 1.5 ถึง 3.5 ตันต่อปี ประมาณการว่าการปลูกปอแก้วบนพื้นที่ 5,000 เอเคอร์ (20 ตารางกิโลเมตร) สามารถผลิตเยื่อกระดาษได้เพียงพอต่อการป้อนโรงงานกระดาษที่มีกำลังการผลิต 200 ตันต่อวัน ในเวลา 20 ปี พื้นที่เพาะปลูก 1 เอเคอร์ จะสามารถผลิตเส้นใยได้ 10 ถึง 20 เท่าของปริมาณเส้นใยที่สามารถผลิตได้จากต้นสนในพื้นที่เท่ากัน[12]

ในฐานะที่เป็นหนึ่งในเส้นใยธรรมชาติที่สำคัญของโลก ปอแก้วจึงถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของการประกาศปีสากลแห่งเส้นใยธรรมชาติ 2009

อ้างอิง แก้

  1. "The Plant List: A Working List of All Plant Species". สืบค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 2015.
  2. Philip Babcock Gove, บ.ก. (มกราคม 1993). Webster's Third New International Dictionary, Unabridged. Merriam-Webster. ISBN 978-0-8777-9201-7.
  3. Miyake, B.; Suzuta, I. (1937). "[On the term of Hibiscus Cannabinus L.]". 臺灣農事報 (ภาษาญี่ปุ่น). 370: 71, 76. สืบค้นเมื่อ 11 มิถุนายน 2022.
  4. "Scientific Name: Hibiscus cannabinus". gardentia.net. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2010.
  5. Paridah Md. Tahir; Amel B. Ahmed; Syeed O. A. SaifulAzry; Zakiah Ahmed (2011). "Retting Process Of Some Bast Plant Fibres And Its Effect On Fibre Quality: A Review" (PDF). BioResources. 6 (4): 5260–5281.
  6. Nanko, Hirko; Button, Allan; Hillman, Dave (2005). The World of Market Pulp. Appleton, WI, USA: WOMP, LLC. p. 258. ISBN 0-615-13013-5.
  7. "New Uses for Kenaf". AgResearch Magazine. United States Department of Agriculture.
  8. "Ford Uses Kenaf Plant Inside Doors in the All-New Escape, Saving Weight and Energy". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 กันยายน 2012.
  9. "BMW's i3: A New Kind of Electric Vehicle".
  10. "A botanical cure for construction's heavy carbon emissions". 31 มีนาคม 2021.
  11. Justin Thomas (21 สิงหาคม 2006). "The Optimal Material to Make Paper: Kenaf". treehugger.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 มีนาคม 2010. สืบค้นเมื่อ 24 มิถุนายน 2022.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  12. Mahbubul Islam (2019). "Kenaf (Hibiscus cannabinus L., Malvaceae) Research and Development Advances in Bangladesh: A Review" (PDF). Journal of Nutrition and Food Processing. 2 (1). doi:10.31579/2637-8914/010.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้