ปลาหมอแตงไทย
ปลาหมอแตงไทยตัวผู้เมื่อโตเต็มที่
ปลาหมอแตงไทยตัวเมียเมื่อโตเต็มที่
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Perciformes
วงศ์: Cichlidae
วงศ์ย่อย: Pseudocrenilabrinae
สกุล: Melanochromis
สปีชีส์: M.  auratus
ชื่อทวินาม
Melanochromis auratus
(Boulenger, 1897)
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์
ชื่อพ้อง
  • Pseudotropheus auratus (Boulenger, 1897)
  • Tilapia auratus (Boulenger, 1897)[2]

ปลาหมอแตงไทย (อังกฤษ: Auratus cichlid, Golden mbuna, Malawi golden cichlid, Turquoise-gold cichlid; ชื่อวิทยาศาสตร์: Melanochromis auratus) เป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็กชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลาหมอสี (Cichlidae)

มีลำตัวลักษณะเรียวยาวค่อนข้างกลม มีสีสันสวยงามเมื่อมีขนาดโตปานกลาง เมื่อโตเต็มที่ยาวประมาณ 13 เซนติเมตร ตัวผู้เมื่อโตเต็มที่มีสีคล้ำค่อนข้างดำ ลำตัวมีสีดำบริเวณใต้ท้อง และกลางลำตัววิ่งเป็นทางยาวตั้งแต่ปลายลูกตาไปจรดโคนหาง มีสีขาวคั่นกลางระหว่างสีดำวิ่งเป็นแนวเช่นเดียวกัน คล้ายกับสีของแตงไทยอันเป็นที่มาของชื่อเรียก ด้านหลังมีสีน้ำตาลอมเหลืองตลอดทั้งสองข้าง ครีบกระโดงหลังมีสีเหลืองอ่อน ๆ ปลายครีบมน และมีสีดำวิ่งเป็นริ้วไปตามเส้นครีบ หางแผ่ปลายหางมน ทั้งสองข้างมีสีดำวิ่งสลับกับสีฟ้าอ่อน ตามีสีดำขอบตามีสีเหลืองวิ่งโดยรอบ ปลายครีบใต้ท้องมีสีฟ้าอมขาว บริเวณปลายครีบส่วนล่างที่ติดโคนหางมีสีเหลือง และสีฟ้าอ่อนแต้มเป็นจุด ๆ ปากของปลาหมอแตงไทยค่อนข้างสั้น ริมฝีปากมีขอบสีดำ ตัวเมียมีความสดสวยกว่าตัวผู้ เกล็ดเล็กมีสีเหลืองสด ตามแนวยาวของลำตัวมีสีดำวิ่งเป็นแนวตั้งแต่กลางลำตัวจรดโคนหาง แนวสีดำนี้วิ่งตั้งแต่บริเวณหน้าผ่านตา และวิ่งทั้งสองข้างของลำตัว เหนือจากแนวเส้นดำก็มีแนวสีเหลืองสดคั่นแนวสีดำอีกแนวหนึ่ง ใต้ท้อง และบริเวณเหนือท้องที่ชนเส้น แนวสีดำมีสีเหลืองสดมองดูมีเงาเล็กน้อย ครีบกระโดงหลังสูงน้อยกว่าตัวผู้ และมีสีดำขอบครีบกระโดงมีสีเหลืองสดตลอดแนวขอบริมฝีปากบนมีสีน้ำตาลอมดำ ขอบริมฝีปากล่างมีสีเหลือง หางมีสีเหลืองสดมีแต้มสีดำเข้มเป็นจุด ๆ ครีบคู่ใต้ท้องมีสีเหลือง มีสีดำแซมเล็กน้อย บริเวณปลายครีบล่างใต้ท้องที่ติดกับโคนหางครีบมน และช่วงปลายมีสีเหลืองสด

พบกระจายพันธุ์อยู่ในทะเลสาบมาลาวี ในทวีปแอฟริกา

ปลาหมอแตงไทย เป็นปลาที่ขยายพันธุ์ด้วยการอมไข่ไว้ในปากปลาทั้งตัวผู้และตัวเมีย ซึ่งในช่วงผสมพันธุ์นี้ทั้งปลาตัวผู้และตัวเมียจะมีสีคล้ำขึ้นกว่าเดิม โดยตัวผู้เข้าไปเคล้าเคลียตัวเมียที่มีไข่พร้อมที่ผสม ว่ายวนไปมาต้อนปลาตัวเมียให้เข้ามาวางไข่ โดยตัวเมียวางไข่ครั้งละ 1 ฟอง ตัวผู้จะปล่อยน้ำเชื้อ ตัวเมียอมไข่ที่ผสมน้ำเชื้อแล้วเข้าไปในปาก ตัวเมียไข่ออกมาให้ตัวผู้ผสมให้หมดและอมไว้ ปากที่อมไข่สามารถมองได้ชัดเจนแก้มทั้งสองข้าง ไข่ใช้เวลาฟักประมาณ 8-10 วัน ลูกปลาแรกฟักมีความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ปลาที่สมบูรณ์พร้อมจะให้ลูกครอกละประมาณ 50-60 ตัว

ปลาหมอแตงไทย เป็นปลาหมอสีอีกชนิดหนึ่งที่นิยมเลี้ยงกันเป็นปลาสวยงาม ด้วยมีสีสันลวดลายที่สดใส และพฤติกรรมที่ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงไม่อยู่นิ่ง มักจะว่ายน้ำไปมาตลอด โดยผู้เลี้ยงมักจะเลี้ยงรวมกับปลาหมอสีขนาดไล่เลี่ยกันชนิดอื่น ๆ ร่วมกัน จัดเป็นปลาที่เลี้ยงง่ายมากและมีราคาซื้อขายที่ถูก[3]

อ้างอิง แก้

  1. Kasembe, J. 2006. Melanochromis auratus. In: IUCN 2012. IUCN Red List of Threatened Species. Version 2012.2. <www.iucnredlist.org>. Downloaded on 25 April 2013.
  2. จาก itis.gov (อังกฤษ)
  3. ปลาหมอแตงไทย จากกรมประมง

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Melanochromis auratus ที่วิกิสปีชีส์