ปลาม้า
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Perciformes
อันดับย่อย: Percoidei
วงศ์ใหญ่: Percoidea
วงศ์: Sciaenidae
สกุล: Boesemania
Trewavas, 1977
สปีชีส์: B.  microlepis
ชื่อทวินาม
Boesemania microlepis
(Bleeker, 1858)
ชื่อพ้อง[1]
  • Johnius microlepis Bleeker, 1858
  • Otolithoides aeneocorpus Fowler, 1935
  • Pseudosciaena microlepis (Bleeker, 1858)

ปลาม้า เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Boesemania microlepis อยู่ในวงศ์ปลาจวด (Sciaenidae)

มีรูปร่างเพรียวเล็กไปทางด้านท้ายลำตัว หัวค่อนข้างเล็ก หน้าผากเว้าลึก ตาอยู่สูงไปทางด้านบนของหัว ปากกว้างอยู่ด้านล่างของจะงอยปาก ใต้คางมีรูเล็ก ๆ 5 รู ครีบหลังยาวตลอดส่วนหลัง ตอนหน้าเป็นก้านแข็ง ตอนท้ายเป็นก้านอ่อน โคนหางเรียวเล็ก ครีบก้นมีก้าสนแข็งอันใหญ่หนา ครีบอกยาว ครีบท้องมีปลายเป็นเส้นยาวเช่นเดียวกับครีบหาง เกล็ดมีความเล็กมาก ลำตัวสีเทาอ่อนอ่อนเหลือบเงิน ด้านหลังมีสีคล้ำ ด้านข้างลำตัวมีแถบสีคล้ำจาง ๆ เป็นแนวเฉียงหลายแถบ ด้านท้องสีจาง ครีบใส จัดเป็นสิ่งมีชีวิตเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Boesemania[2]

มีความประมาณ 25–30 เซนติเมตร พบใหญ่สุดถึง 1 เมตร

อาศัยอยู่ในแม่น้ำขนาดใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และพบในแหล่งน้ำนิ่งบ้าง บ่อปลา หรือบ่อกุ้งที่อยู่ใกล้ทะเล พบมากในแม่น้ำตอนล่าง แต่ก็พบในแหล่งน้ำที่ไกลจากปากแม่น้ำมากเช่นกัน พบในภาคกลาง ภาคเหนือ และในแม่น้ำโขงในภาคอีสานของไทย โดยพบสูงสุดถึงที่จังหวัดเลย[1] ชื่อปลาม้ามาจากการที่มีครีบหลังยาวเหมือนแผงคอของม้า[3] ขณะที่ชื่อในภาษาอีสานเรียกว่า "ปลากวง"

พฤติกรรมมักกบดานอยู่นิ่งใต้พื้นน้ำ เมื่อว่ายน้ำจะเชื่องช้า แต่จะรวดเร็วมากเวลาไล่จับเหยื่อ ในธรรมชาติชอบอาศัยในเขตน้ำลึก กินอาหารจำพวกสัตว์น้ำขนาดเล็กกว่า

ปลาม้าเป็นปลาที่มีชื่อเสียงมากของจังหวัดสุพรรณบุรี จนถึงมีอำเภอชื่อ อำเภอบางปลาม้า เพราะความที่ในอดีตเคยชุกชุม เนื่องจากเป็นปลาที่มีรสชาติอร่อย เป็นที่นิยมมาก มีราคาขายที่สูง และเคยพบมากในบึงบอระเพ็ด แต่สถานภาพในปัจจุบันลดลงมาก อันเนื่องจากสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไป และการจับในปริมาณที่มาก

ปัจจุบัน กรมประมงสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้แล้ว ด้วยการฟักไข่ที่ได้จากพ่อแม่ปลาที่เลี้ยงรวมกันในบ่อเลี้ยง และนำลูกปลาที่ได้หลังจากเลี้ยงดูจนโตได้ที่แล้วไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ โดยเฉพาะที่เขื่อนกระเสียว ปลาม้ามีฤดูผสมพันธุ์ตลอดปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูหนาวในช่วงต้นปี สามารถส่งเสียงร้องได้ดังระงมเหมือนอึ่งอ่าง เพื่อดึงดูดปลาตัวเมียให้มาผสมพันธุ์ มักจะร้องในช่วงกลางคืนเริ่มตั้งแต่พลบค่ำ[3]กระเพาะของปลาม้า ขึ้นชื่อมากในการทำกระเพาะปลา เพราะมีกระเพาะขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถพองลมทำให้เกิดเสียงได้ นอกจากนี้แล้วกระเพาะปลาม้ายังใช้ทำเป็นยางในของรถจักรยานและทำกาวในอดีตอีกด้วย แต่ปลาม้าเป็นปลาที่ตายง่ายมากเมื่อจับพ้นจากน้ำ

นอกจากนี้ยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาตู้สวยงามอีกด้วย[4]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 I. Baird (2011). "Boesemania microlepis". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2014.2. สืบค้นเมื่อ October 26, 2014.
  2. "Boesemania". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
  3. 3.0 3.1 "อนุวัตจัดให้ : ซุ่มฟังเสียงปลาม้า จ.สุพรรณบุรี". ช่อง 7. July 5, 2016. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-05-03. สืบค้นเมื่อ August 13, 2016.
  4. สุรศักดิ์ วงศ์กิตติเวชสกุล. สารานุกรมปลาไทย. กรุงเทพฯ : เอม ซัพพลาย, 2540. 170 หน้า. ISBN 974-89900-2-8

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Boesemania microlepis ที่วิกิสปีชีส์